คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15440/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป. ใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถกระบะพา ป. ไปทำธุรกิจที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี โดย ป. นั่งไปด้วย ย่อมถือได้ว่า ป. เป็นตัวการ จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของ ป. ในกิจการนี้โดยปริยาย เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถกระบะไปชนรถแท็กซี่เป็นเหตุให้ ป. กับ ส. ถึงแก่ความตาย และโจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ได้รับบาดเจ็บสาหัส จำเลยที่ 1 จึงทำละเมิดภายในขอบอำนาจของตัวแทน ป. ซึ่งเป็นตัวการต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 กระทำไป จำเลยที่ 2 เป็นภริยาของ ป. เป็นทายาทโดยธรรมต้องร่วมรับผิด

ย่อยาว

คดีสามสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์สำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์สำนวนที่สองว่า โจทก์ที่ 2 เรียกโจทก์ที่ 1 และที่ 2 สำนวนที่สามว่า โจทก์ที่ 3 และโจทก์ที่ 4 และเรียกนายวิชัยว่า จำเลยที่ 1 เรียกนางละออง ว่า จำเลยที่ 2 เรียกนายอุดม ว่า จำเลยที่ 3 เรียกบริษัทสตาร์ปิโตรเลียมริไฟน์นิ่ง จำกัด ว่า จำเลยที่ 4 เรียกบริษัททิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ว่า จำเลยที่ 5
โจทก์ที่ 3 และที่ 4 ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องทั้งสามสำนวนโดยโจทก์ที่ 1 ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 740,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 1,482,048 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง และร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 3 และที่ 4 คนละ 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งห้าให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 413,333 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่โจทก์ที่ 1 ฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 ตุลาคม 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 ไม่ต้องใช้เงินแก่โจทก์ที่ 1 เกินกว่าที่จำเลยที่ 2 ได้รับจากกองมรดกของนายปิยะและให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 206,667 บาท นับตั้งแต่วันที่โจทก์ที่ 1 ฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 850,667 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันละเมิด (วันที่ 20 ตุลาคม 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 และให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 425,333 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 (แต่ทั้งนี้ให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 2 ไม่เกินจำนวน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2) ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 613,333 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่โจทก์ที่ 3 ฟ้อง (ฟ้องวันที่ 19 ตุลาคม 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 3 และให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 306,667 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่โจทก์ที่ 3 ฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 3 (แต่ทั้งนี้ให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 3 ไม่เกินจำนวน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่โจทก์ที่ 3 ฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 3) ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 4 จำนวน 660,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่โจทก์ที่ 4 ฟ้อง (ฟ้องวันที่ 19 ตุลาคม 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 4 และให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 4 จำนวน 330,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่โจทก์ที่ 4 ฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 4 (แต่ทั้งนี้ให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 4 ไม่เกินจำนวน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่โจทก์ที่ 4 ฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 4) ให้จำเลยแต่ละสำนวนร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้โจทก์คนละ 10,000 บาท (เฉพาะค่าทนายความให้จำเลยที่ 2 ร่วมใช้ค่าทนายความแก่โจทก์ที่ 1 เท่านั้น) เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ร่วมใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์แต่ละคนชนะคดีในแต่ละคดี สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมที่โจทก์ที่ 3 และที่ 4 ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในสำนวนคดีที่ 3 นั้น ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันชำระต่อศาลในนามของโจทก์ที่ 3 และที่ 4 คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในส่วนจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ในส่วนจำเลยที่ 2 (ที่ถูก ระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 2) ให้เป็นพับ กับค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลในส่วนจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 (ที่ถูก ระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ทั้งสามสำนวน) ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสี่และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า นายสมประสงค์ บุตรของโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ขับรถแท็กซี่หมายเลขทะเบียน 5 ท – 8533 กรุงเทพมหานคร มีโจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 นั่งโดยสารมาในรถคันดังกล่าว จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถกระบะหมายเลขทะเบียน 7 ป – 7635 กรุงเทพมหานคร ของนายปิยะ ซึ่งเป็นสามีของจำเลยที่ 2 และนายปิยะนั่งโดยสารมาในรถคันดังกล่าว จำเลยที่ 3 เป็นผู้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 2 อ – 1648 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 4 นายจ้างไปในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 5 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวจากจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 ขับรถกระบะมาตามถนนเลี่ยงเมืองพัทยาสาย 36 จากอำเภอเมืองชลบุรีมุ่งหน้าเมืองพัทยา นายสมประสงค์ขับรถแท็กซี่ในช่องเดินรถ สวนทางมาจากเมืองพัทยามุ่งหน้าสู่อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี และจำเลยที่ 3 ขับรถยนต์ตามหลังรถแท็กซี่ที่นายสมประสงค์ขับ เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุบริเวณแยกหนองแขวะ ตำบลบึง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี รถยนต์ทั้งสามคันเฉี่ยวชนกันเป็นเหตุให้นายสมประสงค์และนายปิยะถึงแก่ความตาย และโจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ได้รับบาดเจ็บ ภายหลังเกิดเหตุพนักงานอัยการจังหวัดชลบุรีเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ข้อหาขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและรับอันตรายสาหัส
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 มิได้ขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อ นายปิยะผู้ตายมิได้เป็นตัวการในการขับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์พิพากษานอกคำฟ้องและค่าเสียหายที่กำหนดให้โจทก์ที่ 1 สูงเกินจริง นั้น เห็นว่า แม้ก่อนเกิดเหตุจะได้ความว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 4 นั่งหลับมาในรถแท็กซี่ แต่โจทก์ที่ 3 มิได้นั่งหลับมา เมื่อเห็นว่ารถแท็กซี่จะถูกชนแน่นอนแล้ว โจทก์ที่ 3 ได้รีบก้มศีรษะลง ดังนี้ การที่โจทก์ที่ 3 ก้มศีรษะลงหลบภยันตรายที่กำลังจะเกิดขึ้นข้างหน้า พฤติการณ์ย่อมแสดงให้เห็นว่าโจทก์ที่ 3 เห็นเหตุการณ์ขณะจำเลยที่ 1 ขับรถกระบะล้ำเข้ามาในช่องเดินรถของรถแท็กซี่ ข้อเท็จจริงฟังว่า จำเลยที่ 1 กับนายปิยะต่างประกอบอาชีพที่แตกต่างกัน เชื่อว่านายปิยะได้ใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถกระบะเพื่อพานายปิยะไปทำธุรกิจเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรีโดยนายปิยะนั่งไปด้วย ย่อมถือได้ว่านายปิยะเป็นตัวการ จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของนายปิยะในกิจการนี้โดยปริยาย เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถกระบะไปชนรถแท็กซี่จนเป็นเหตุให้นายปิยะกับนายสมประสงค์ถึงแก่ความตายและโจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ได้รับบาดเจ็บสาหัส จำเลยที่ 1 จึงทำละเมิดภายในขอบอำนาจของตัวแทน นายปิยะซึ่งเป็นตัวการย่อมต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 กระทำไป จำเลยที่ 2 เป็นภริยาของนายปิยะเป็นทายาทโดยธรรมของนายปิยะจึงต้องร่วมรับผิด สำหรับแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยที่ 2 อ้างมานั้นไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ ส่วนที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ประเด็นการเป็นตัวการตัวแทนดังกล่าวไม่เป็นการพิพากษานอกคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคแรก นั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบด้วยเหตุและผลแล้ว จึงไม่จำต้องกล่าวซ้ำ สำหรับค่าเสียหายที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ที่ 1 เสียค่ารักษาพยาบาลรวมกันแล้วไม่เกิน 300,000 บาท และศาลชั้นต้นกำหนดค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากขาดรายได้สูงเกินไปเพราะโจทก์ที่ 1 ไม่ได้ทำงานเป็นหลักแหล่งเพียงช่วยเหลือกิจการของบุตรเล็กน้อยและไม่ได้รับเงินเดือนจากบุตรนั้น เห็นว่า ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่ารักษาพยาบาล 500,000 บาท และค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากขาดรายได้ 120,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 ซึ่งทำงานเป็นครูบายศรี โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวสองในสามส่วนเป็นเงิน 413,333 บาท พร้อมดอกเบี้ยเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งละเมิดแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาทั้งสามสำนวนให้เป็นพับ

Share