คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1182/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลแรงงานได้วินิจฉัยแล้วว่าสิทธิของจำเลยที่1ได้ระงับไปเนื่องจากจำเลยที่1ได้ฟ้องและประนีประนอมยอมความกับโจทก์ที่ศาลแรงงานและรับเงินจากโจทก์ไปแล้วเมื่อสิทธิของจำเลยที่1ในจำนวนค่าเสียหายตามคำสั่งของจำเลยที่4ถึงที่16ที่พึงได้รับจากโจทก์นั้นได้ระงับไปด้วยการประนีประนอมยอมความดังกล่าวแล้วและด้วยเหตุประนีประนอมยอมความเดียวกันนี้สิทธิของโจทก์ที่จะขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่4ถึงที่16ตามที่ฟ้องย่อมระงับไปด้วยเช่นกันศาลจึงไม่จำต้องพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่4ถึงที่16ในส่วนค่าเสียหายเกี่ยวกับจำเลยที่1ตามที่โจทก์ฟ้องตลอดจนที่โจทก์อุทธรณ์แต่อย่างใด คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่กำหนดให้โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งภายใน10วันแต่โจทก์ยื่นฟ้องคดีขอให้เพิกถอนคำสั่งเมื่อพ้นกำหนดนั้นระยะเวลาที่กำหนดตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าวมิใช่อายุความฟ้องร้องคดีทั้งมิใช่ขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522ตามมาตรา8วรรคท้ายเมื่อโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนั้นก็มีสิทธิฟ้องต่อศาลแรงงานขอให้เพิกถอนเสียได้ คำสั่งที่กำหนดจำนวนค่าเสียหายกรณีกระทำการอันไม่เป็นธรรมของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีผลก่อให้เกิดหนี้แก่โจทก์ที่จะต้องชำระแก่จำเลยที่2และที่3ซึ่งเป็นสิทธิและหน้าที่ทางแพ่งทั้งมิใช่เรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนนายจ้างและลูกจ้างซึ่งเป็นคู่กรณีย่อมมีสิทธิที่จะตกลงประนีประนอมยอมความเปลี่ยนแปลงหรือระงับได้ตามใจสมัครโดยชอบด้วยกฎหมายและมีผลบังคับ บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่2และที่3ระบุชัดแจ้งว่าโจทก์ยอมชำระเงินและจำเลยที่2กับที่3ตกลงยอมรับเป็นค่าตอบแทนเนื่องในการที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่2และที่3โดยจำเลยที่2และที่3ไม่ติดใจเรียกร้องเงินค่าตอบแทนใดๆมากกว่านั้นอีกแสดงชัดว่าเป็นการตกลงเพื่อระงับสิทธิหรือข้อพิพาทที่เนื่องมาจากการเลิกจ้างนั้นทุกประเภทจึงเป็นการประนีประนอมยอมความที่มีผลรวมถึงค่าเสียหายกรณีกระทำการอันไม่เป็นธรรมตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่2และที่3ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิดังกล่าวโดยตรงหาได้ติดใจโต้แย้งในปัญหานี้ไม่จึงเป็นเครื่องชี้ชัดถึงเจตนาของจำเลยที่2และที่3ในการทำความตกลงเป็นการประนีประนอมยอมความรวมถึงค่าเสียหายทั้งหมดทุกประเภทที่มีหรืออาจมีขึ้นเนื่องจากการเลิกจ้างอันเป็นมูลแห่งข้อพิพาทนั้นสิ้นเชิง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นลูกจ้างของโจทก์และเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานกับเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน ส่วนจำเลยที่ 4 ถึงที่ 16 เป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ เมื่อวันที่15 กุมภาพันธ์ 2539 โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รวมทั้งพนักงานอื่นของโจทก์บางส่วน เนื่องจากโจทก์ประสบภาวะขาดทุนต้องยุบแผนกส่งออกสินค้าเมลามีน ทั้งนี้เพื่อพยุงฐานะของโจทก์ให้ดำเนินการต่อไปได้ โจทก์จ่ายค่าชดเชยและเงินอื่นให้พนักงานที่เลิกจ้างทุกคนรวมทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับไปแล้ว จำเลยที่ 2และที่ 3 ได้รับรองเป็นลายลักษณ์อักษรว่าไม่ติดใจเรียกร้องอีกส่วนจำเลยที่ 1 ยังไม่ยอมรับเงินจากโจทก์ต่อมาจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งมีจำเลยที่ 4ถึงที่ 16 เป็นกรรมการกล่าวหาว่าโจทก์กระทำการอันไม่เป็นธรรมโดยเลิกจ้างจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เพราะเหตุเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานและกรรมการสหภาพแรงงาน ทั้งเป็นการเลิกจ้างระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับต่อมาจำเลยที่ 4 ถึงที่ 16 วินิจฉัยว่าโจทก์กระทำการอันไม่เป็นธรรม และสั่งให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คำสั่งของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 16 ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อเท็จจริง ทั้งนี้เพราะการเลิกจ้างจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 เป็นไปโดยสุจริตเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจของโจทก์ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 16 ที่วินิจฉัยว่าโจทก์กระทำการอันไม่เป็นธรรมดังกล่าวและพิพากษาว่าการเลิกจ้างจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 ของโจทก์ไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ให้การ
จำเลยที่ 4 ถึงที่ 16 ให้การว่า โจทก์ไม่มีเหตุผลและความจำเป็นเพียงพอในการเลิกจ้างจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และเป็นการเลิกจ้างในขณะที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างยังมีผลใช้บังคับอยู่โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยดังกล่าวได้กระทำความผิดที่กำหนดเป็นข้อยกเว้นไว้ในมาตรา 123(4) ถึง(5) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 แต่อย่างใด การที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 16ชอบแล้วไม่มีเหตุเพิกถอน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม คำสั่งที่ 5/2539ลงวันที่ 17 เมษายน 2539 ของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 16 เฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ไม่มีเหตุเพิกถอนแต่คำสั่งในส่วนที่ให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้นไม่ชอบเพราะสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ระงับไปแล้วด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 16 ดังกล่าวเฉพาะส่วนที่ให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นอกจากนั้นให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยดังกล่าว คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 16 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 16 ในส่วนค่าเสียหายของจำเลยที่ 1 ด้วยนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยแล้วว่าสิทธิของจำเลยที่ 1 ได้ระงับไปเนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้ฟ้องและประนีประนอมยอมความกับโจทก์ที่ศาลแรงงานกลาง และรับเงินจากโจทก์ไปแล้ว ซึ่งเป็นความหมายชัดว่าสิทธิของจำเลยที่ 1 ในจำนวนค่าเสียหายตามคำสั่งของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 16 ที่ฟังได้รับจากโจทก์นั้นได้ระงับไปด้วยการประนีประนอมยอมความดังกล่าวแล้ว และด้วยเหตุประนีประนอมยอมความเดียวกันนี้สิทธิของโจทก์ที่จะขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 16 ตามที่ฟ้องย่อมระงับไปด้วยเช่นกันคดีจึงไม่มีเหตุและความจำเป็นที่จะต้องเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 16 ในส่วนค่าเสียหายเกี่ยวกับจำเลยที่ 1ตามที่ฟ้องตลอดจนที่อุทธรณ์
สำหรับปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในข้อที่ว่าคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่กำหนดให้โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งภายใน 10 วัน แต่โจทก์ยื่นฟ้องคดีขอให้เพิกถอนคำสั่งเมื่อพ้นกำหนดดังกล่าวแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 นั้น เห็นว่า ระยะเวลาที่กำหนดตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าวมิใช่อายุความฟ้องร้องคดี ทั้งมิใช่ขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดโดยกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ตามมาตรา 8 วรรคท้ายแห่งบทกฎหมายดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนั้นก็มีสิทธิฟ้องต่อศาลแรงงานกลางขอให้เพิกถอนเสียได้
สำหรับปัญหาที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 16 อุทธรณ์เป็นใจความเดียวกันว่า คำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่สั่งให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น เป็นการสั่งโดยอาศัยบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ซึ่งเป็นกฎหมายมหาชนอันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าเสียหายดังกล่าวจึงขัดต่อกฎหมายที่กล่าวนี้ย่อมไม่มีผลบังคับนั้นเห็นว่า คำสั่งที่กำหนดจำนวนค่าเสียหายกรณีกระทำการอันไม่เป็นธรรมของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าวมีผลก่อให้เกิดหนี้แก่โจทก์ที่จะต้องชำระแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3ซึ่งเป็นสิทธิและหน้าที่ทางแพ่ง ทั้งมิใช่เรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน คู่กรณีย่อมมีสิทธิที่จะตกลงประนีประนอมยอมความเปลี่ยนแปลงหรือระงับได้ตามใจสมัครโดยชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนปัญหาที่จำเลยที่ 4 ถึงที่ 16 อุทธรณ์ว่า บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้มีผลเป็นการประนีประนอมยอมความที่รวมถึงจำนวนค่าเสียหายตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ด้วยนั้น เห็นว่าบันทึกข้อตกลงดังกล่าวระบุชัดแจ้งว่าโจทก์ยอมชำระเงินและจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ตกลงยอมรับเป็นค่าตอบแทนเนื่องในการที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ติดใจเรียกร้องเงินค่าตอบแทนใด ๆ มากกว่านั้นอีกแสดงให้เห็นชัดว่า เป็นการตกลงเพื่อระงับสิทธิหรือข้อพิพาทที่เนื่องมาจากการเลิกจ้างนั้นทุกประเภท จึงเป็นการประนีประนอมยอมความที่มีผลรวมถึงค่าเสียหายกรณีกระทำการอันไม่เป็นธรรมตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ 2และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิดังกล่าวโดยตรงหาได้ติดใจโต้แย้งในปัญหาที่จำเลยที่ 4 ถึงที่ 16 อุทธรณ์นั้นไม่ จึงเป็นเครื่องชี้ชัดถึงเจตนาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในการทำความตกลงเป็นการประนีประนอมยอมความรวมถึงค่าเสียหายทั้งหมดทุกประเภทที่มีหรืออาจมีขึ้นเนื่องจากการเลิกจ้างอันเป็นมูลแห่งข้อพิพาทนั้นสิ้นเชิง
พิพากษายืน

Share