คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3796-3797/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์มีความผูกพันที่จะต้องออกเงินช่วยค่าบดครั่ง ด้วยดังนั้น รายการค่าใช้จ่ายส่วนนี้ จึงมิใช่เป็นการให้อันมีสัญญาเป็นการส่วนตัวหรือเป็นการให้โดยเสน่หา ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (3) โจทก์จึงนำมาคิดหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้
แม้โจทก์จะโอนขายหุ้นที่ตนเป็นเจ้าของต่ำกว่าราคาตลาดแต่จำนวนหุ้นที่ขายมีเป็นจำนวนมาก และผู้ซื้อหุ้นของโจทก์ก็เป็นบริษัทที่โจทก์เองเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ด้วยแล้ว จึงเป็นการขายที่มีเหตุอันสมควรยิ่งกว่าขายให้กับผู้อื่นที่ไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกัน

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันมา โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าโจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำกว่าที่ควรเสีย สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี ๒๕๑๒ และ ๒๕๑๓ จึงประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มอีกรวมเป็นจำนวนเงิน ๕๓,๓๘๗.๔๐ บาท โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คณะกรรมการพิจารณาแล้วให้ยกอุทธรณ์ โจทก์เห็นว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยไม่ถูกต้อง จึงขอให้เพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า ปีบัญชี ๒๕๑๒ โจทก์มีกำไร ๒,๑๑๙,๓๙๓.๓๒ บาท คิดเป็นค่าภาษี ๔๕๔,๘๔๘.๓๓ บาท แต่โจทก์เสียภาษีไว้ ๒๓๗,๘๘๒ บาทจึงต้องเสียภาษีเพิ่ม ๒๑๖,๙๖๖.๓๓ บาทกับเงินเพิ่มอีก ๔๓,๓๙๓.๒๗ บาท ส่วนปีบัญชี ๒๕๑๓ กำไรสุทธิสูงขึ้น จึงต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นรวมเป็นเงิน ๕๓,๓๘๗.๔๐ บาท การประเมินภาษีของเจ้าหน้าที่ตลอดจนการวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเป็นไปโดยถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มเฉพาะรายการจ่ายค่าชดเชยบดครั่งและค่าขายหุ้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ส่วนค่าใช้จ่ายในการบดครั่งในรอบปีบัญชี ๒๕๑๒ จำนวนเงิน ๗๐๔,๕๕๔.๘๐ บาท ซึ่งจำเลยทั้งสี่ฎีกาว่าจะนำมาคิดหักเป็นค่าใช้จ่ายไม่ได้เพราะมิใช่จ่ายตามข้อผูกพัน จึงมีลักษณะเป็นการส่วนตัวหรือการให้โดยเสน่หา ตามมาตรา ๖๕ ตรี (๓) โดยจำเลยทั้งสี่อ้างคำให้การของนายอาร์. เอ็ม. อับดุลการ์เดอร์ สมุหบัญชี ตามเอกสารหมาย ล.๑๖ และ ล.๑๙ ซึ่งให้การไว้ต่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ว่า โจทก์จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวเพื่อชดเชยให้แก่บริษัทรัชตะนาวินจำกัด และห้างอุตสาหกรรมแชลแล็คธนบุรี เนื่องจากบริษัทและห้างดังกล่าวขาดทุนนั้น ได้พิเคราะห์ข้อความในเอกสารหมาย ล.๑๖ และ ล.๑๙ แล้ว ตามเอกสารหมาย ล.๑๙ นายอาร์. เอ็ม. อับดุลการ์เดอร์ให้การว่า การบดย่อยครั่งนี้ บริษัทรัชตะนาวิน จำกัด และห้างอุตสาหกรรมแชลแล็คธนบุรี จะต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง โดยโจทก์อาจจะช่วยค่าใช้จ่ายประเภทนี้บ้าง คำให้การของนายอาร์. เอ็ม. อับดุลการ์เดอร์ดังกล่าวแสดงว่า โจทก์มีความผูกพันที่จะต้องออกเงินช่วยค่าบดครั่งด้วย มิใช่บริษัทรัชตะนาวิน จำกัด และห้างอุตสาหกรรมแชลแล็คธนบุรีจะต้องเป็นผู้ออกแต่ฝ่ายเดียว และเมื่อพิเคราะห์หนังสือโต้ตอบระหว่างโจทก์กับบริษัทรัชตะนาวิน จำกัด และห้างอุตสาหกรรมแชลแล็คธนบุรีตามเอกสารหมาย จ.๕ ถึง ๑๓ แล้วก็จะเห็นได้ว่า ได้มีการต่อรองราคาค่าบดครั่งซึ่งทางฝ่ายบริษัทรัชตะนาวิน จำกัด และห้างอุตสาหกรรมแชลแล็คธนบุรี ได้อ้างเหตุผลในการต่อรองราคาว่า ตนต้องประสบการขาดทุน ค่าจ้างบดครั่งในส่วนที่โจทก์จะต้องออกร่วมด้วยทำให้ดูคล้ายกับมีลักษณะเป็นการช่วยเหลือบริษัทรัชตะนาวิน จำกัด และห้างอุตสาหกรรมแชลแล็คธนบุรีด้วยเท่านั้น หาใช่เป็นการให้อันมีสัญญาเป็นการส่วนตัวหรือเป็นการให้โดยเสน่หาไม่ ฎีกาจำเลยทั้งสี่ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนค่าขายหุ้นสำหรับปีบัญชี ๒๕๑๓ จำนวนเงิน ๑๕๓,๐๐๐ บาทซึ่งจำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า โจทก์ขายหุ้นราคาต่ำกว่าราคาตลาดตามมาตรา ๖๕ ทวิ (๔) นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ได้โอนขายหุ้นบริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด และหุ้นบริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้างจำกัด ให้แก่บริษัทเทวรายา จำกัด ต่ำกว่าราคาตลาดจริง โดยขณะซื้อขายนั้น หุ้นบริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด มีราคาซื้อขายในท้องตลาดหุ้นละ ๑๓๘ บาท แต่โจทก์ขายเพียงหุ้นละ ๑๒๕ บาท และหุ้นของบริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด มีราคาตามท้องตลาดหุ้นละ ๑๓๒ บาทแต่โจทก์ขายเพียงหุ้นละ ๑๒๐ บาท โจทก์อ้างว่าเหตุที่ขายหุ้นต่ำกว่าราคาตลาดก็เพราะขายเป็นจำนวนมาก คือ ๑๒,๐๐๐ หุ้น ทั้งผู้ที่ซื้อหุ้นของโจทก์ก็คือบริษัทเทวรายา จำกัด ซึ่งโจทก์เองก็เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทเทวรายาจำกัดด้วย และการซื้อขายนี้ไม่ต้องเสียค่านายหน้า ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้ออ้างดังกล่าวของโจทก์ถือไม่ได้ว่าไม่มีเหตุอันสมควรโดยเฉพาะในข้อที่ว่าโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทเทวรายา จำกัดซึ่งศาลฎีกากลับเห็นว่า เป็นเหตุผลที่สมควรยิ่งกว่าขายให้กับผู้ซื้อคนอื่นที่ไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกัน คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในปัญหานี้ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share