คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3131/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างกำหนดว่าห้ามลูกจ้างเสพสุราเครื่องดื่มดองของเมาหรือจนเป็นโรคติดสุราเรื้อรัง นายจ้างย่อมเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังได้ตามข้อบังคับดังกล่าว กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2525 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยกล่าวหาว่าบกพร่องในการทำงานเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ต้องเสียหายเป็นเงิน 16,500 บาท จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหาย 16,500 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 2,750 บาท

จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยชอบเพราะโจทก์มาทำงานสายและขาดงานบ่อย จำเลยเคยตักเตือนโจทก์แล้วและโจทก์มีสุขภาพไม่ค่อยดีปฏิบัติงานในหน้าที่ไม่ดีเท่าที่ควร จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นโรคพิษสุราเรื้อรังทำงานในหน้าที่ได้ไม่เต็มที่โดยขาดงานและทำงานสายบ่อย จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม แต่จำเลยเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 2,750 บาท ให้โจทก์ คำขออื่นให้ยก

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยหมวด 10 วินัยของพนักงานข้อ 8 กำหนดว่า “ห้ามเสพสุราเครื่องดื่มดองของเมาหรือยาเสพติดให้โทษที่ที่ทำงานของบริษัทฯ หรือจนเป็นโรคติดสุราเรื้อรังและติดยาเสพติดให้โทษ” และหมวด 11 การลงโทษข้อ 1 กำหนดว่า “โทษทางวินัยกำหนดไว้ 5 สถานคือ 1. ตักเตือนด้วยวาจา 2. ตักเตือนด้วยลายลักษณ์อักษร 3. ภาคทัณฑ์โดยการทำทัณฑ์บน 4. ตัดเงินค่าจ้าง 5. ไล่ออก” ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ทำงานในหน้าที่ได้ไม่เต็มที่โดยขาดงานและทำงานสายบ่อย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้ตามข้อบังคับดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม

พิพากษายืน

Share