แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา 127,128 อันเป็นความผิดแผ่นดินนั้น ผู้ที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดนั้น ก็มีสิทธิเป็นโจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษผู้กระทำผิดได้
การกระทำโดยกรรมเดียววาระเดียว แม้จะเป็นการละเมิดกฎหมายหลายบท ก็จะฟ้องผู้กระทำผิดได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น เมื่อศาลพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้วจะยกกฎหมายบทอื่นที่จำเลย ทำละเมิด แต่ไม่ได้ฟ้องไว้ในครั้งก่อนมาฟ้องจำเลยอีกไม่ได้
จำเลยปลอมตนไปกระทำการเป็นเจ้าพนักงานโดยแสดงตนว่าเป็นเจ้าพนักงานสรรพสามิตต์ มาตรวจจับกุมผู้มเสียหายหาว่ากระทำผิดแล้วเรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหาย ๆ จึงเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา 127,268 ศาลไต่สวนแล้วสั่งว่าคดีมีมูลเฉพาะข้อหาตามมาตรา 268 เท่านั้น จำเลยยอมใช้เงิน ผู้เสียหายจึงถอนฟ้องดังนี้ ย่อมถือว่าความผิดตามมาตรา 127 นั้น ศาลได้ยกฟ้องเสียแล้ว สิทธินำคดีมาฟ้องจำเลยตามมาตรา 128 ก็ย่อมระงับไปด้วย อัยการจึงจะมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 127 หรือ 128 อีกไม่ได้
ย่อยาว
คดีนี้ อัยการโจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยปลอมตนไปกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน โดยแสดงตนว่าเป็นสรรพสามิตต์จังหวัดกาฬสินธ์ มาตรวจจับกุมหาว่านายยาฆ่าโคโดยไม่รับอนุญาต และนายเต่กับพวกซื้อเนื้อโคนั้นเป็นความผิด แล้วเรียกเอาเงินจากคนเหล่านั้น ขอให้ลงโทษตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๑๒๗,๑๒๘
จำเลยให้การรับสารภาพ แต่แถลงว่าเรื่องนี้นายเต่กับพวกได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลครั้งหนึ่งแล้วตามคดีแดงที่ ๓๒๔/๒๔๙๒ ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๑๒๗,๒๖๘, และ ๒๙๘ ข้อ ๒ คดีนั้นศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีมีมูลเฉพาะข้อหาตามมาตรา ๒๖๘ เท่านั้น และจำเลยได้ยอมใช้เงินให้ผู้เสียหาย ๆ ได้ถอนคดีนั้นไปแล้ว จำเลยเห็นว่า คดีระงับไปตาม ป.ม.วิ.อาญามาตรา ๓๙ (๔)
โจทก์แถลงรับตามที่จำเลยแถลงแล้ว โจทก์จำเลยไม่สืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา ๑๒๗,๑๒๘
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ความผิดตามมาตรา ๑๒๗ นั้น ต้องถือว่าศาลยกฟ้องแล้ว อัยการจะฟ้องอีกไม่ได้ จึงพิพากษาแก้ว่าจำเลยผิดตามมาตรา ๑๒๘ กะทงเดียว นอกจากที่แก้คงยืน
โจทก์จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามบทบัญญัติแห่งป.ม.วิ.อาญามาตรา ๓๙ (๔) นั้น ตามหลักทั่วไป คดีเดียวย่อมฟ้องร้องได้เพียงครั้งเดียว ฉะนั้นการกระทำผิดโดยกรรมเดียววาระเดียวกัน แม้จะเป็นการละเมิดกฎหมายหลายบท ก็จะฟ้องการกระทำผิดได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น เมื่อศาลพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว จะยกกฎหมายอื่นที่จำเลยทำละเมิด แต่ไม่ได้ฟ้องไว้ในครั้งก่อนมาฟ้องจำเลยอีกไม่ได้ (อ้างฎีกาที่ ๒๐๑๘/๒๔๙๒)
ในคดีก่อน การกระทำของจำเลยในเรื่องนี้ เป็นกรรมวาระเดียวกัน เป็นการละเมิดกฎหมายหลายบท คือ ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๑๒๗,๑๒๘, ฉะนั้นเมื่อคดีก่อนผู้เสียหายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา ๑๒๗ จนศาลพิพากษายกฟ้องคดีเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว สิทธินำคดีมาฟ้องจำเลยตามมาตรา ๑๒๘ ก็ย่อมระงับไปด้วย อัยการจะมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา ๑๒๘ อีกไม่ได้
ที่อัยการโจทก์ว่า ผู้อื่นนอกจากพนักงานอัยการไม่มีสิทธิฟ้องตามมาตรา นี้ นั้น ไม่ถูกต้องเพราะความผิดต่อแผ่นดินนั้น ผู้ที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดนั้นก็มีสิทธิฟ้องได้ ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.ม.วิ.อาญามาตรา ๒๘
จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องโจทก์เสีย และให้ยกฎีกาจำเลยเสียด้วย