คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2200/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินอากรเพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงเป็นอันสิ้นไปเมื่อครบกำหนดสองปีนับจากวันที่นำของเข้า ตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ มาตรา 10 วรรคห้านั้น ใช้กับผู้นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งมีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าภาษี และได้ชำระเงินค่าภาษีเกินไปจากที่ต้องเสียจริงกรณีของจำเลยที่ 1 เป็นการสั่งซื้อและนำของเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผู้ขายส่งสินค้ามาให้โดยสับสนผิดพลาด จำเลยที่ 1 จึงมิใช่ผู้สั่งซื้อและนำของเข้ามาในราชอาณาจักรไม่ต้องรับผิดเสียอากรกรณีไม่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกเงินคืนได้ภายในอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 เดิม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระค่าภาษีอากรจำนวน578,635.60 บาท ให้โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า สินค้า 94 หีบห่อ ที่ส่งมานั้นไม่ใช่เป็นสินค้าที่จำเลยทั้งสองได้สั่งซื้อ สินค้าที่จำเลยทั้งสองสั่งซื้อจำนวน 94 หีบห่อ ยังคงเก็บอยู่ในโรงเก็บสินค้าของบริษัทไทวาแมชินเนอรี่เทรดิ้ง จำกัด ในประเทศญี่ปุ่น และยืนยันว่าสินค้าหมุดย้ำและกระดุมกดจำนวน 94 หีบห่อ ที่โจทก์ที่ 1ยึดไว้เป็นสินค้าที่จะส่งให้บริษัทไฟว์สตรองเอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัดในประเทศสิงคโปร์ ขอให้ยกฟ้อง และเนื่องจากคดีนี้โจทก์ที่ 1ได้ยึดเอาสินค้าพิพาทไว้ทั้งหมด การกระทำของโจทก์ที่ 1 ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยทั้งสอง เพราะจำเลยทั้งสองได้ชำระค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าหมุดย้ำตามที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเป็นเงิน 69,150.42 บาท แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นผู้นำเข้าสำหรับสินค้ารายนี้จำเลยทั้งสองจึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษีอากร จึงฟ้องแย้งให้โจทก์ทั้งสองรับผิดคืนเงินค่าภาษีอากร 69,150.42 บาท แก่จำเลยทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้จำเลยทั้งสองเสร็จสิ้น
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งว่า เมื่อจำเลยทั้งสองให้การรับแล้วว่าเป็นผู้สั่งซื้อและนำเข้าหมุดย้ำยี่มูซ่า จำนวน 94 หีบห่อปริมาณ 16,920,000 ชุด จำเลยทั้งสองจึงต้องมีหน้าที่เสียภาษีตามมาตรา 10 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 จำเลยทั้งสองจะปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้สั่งเข้ามาไม่ได้ จำเลยทั้งสองจะต้องเสียภาษีให้โจทก์ทั้งสอง ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าโจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจยึดสินค้าของจำเลยทั้งสองไว้นั้นไม่ถูกต้อง เพราะโจทก์ที่ 1มีอำนาจกระทำได้เนื่องจากจำเลยทั้งสองยังชำระค่าภาษีอากรไม่ครบถ้วนจำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิที่จะขอคืนค่าภาษีอากรที่ชำระไว้ 69,150.42บาท เพราะเกินกำหนด 2 ปี ตามมาตรา 10 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 คดีขาดอายุความเพราะจำเลยทั้งสองได้สั่งสินค้าเข้ามาในวันที่ 20 พฤษภาคม 2526 แต่จำเลยมาขอคืนในปี 2533ถ้าหากศาลจะฟังว่าจำเลยทั้งสองไม่ใช่ผู้นำของเข้าแล้วจำเลยทั้งสองก็ยังไม่มีสิทธิได้รับคืนค่าภาษีทั้งหมดจำนวน 69,150.42 บาทเพราะเงินจำนวนดังกล่าวได้ชำระเป็นค่าภาษีสำหรับหมุดย้ำจำนวน16,920,000 ชุด และสินค้าที่ส่งเข้ามานั้นมีหมุดย้ำจำนวน 2,880,000ชุด ซึ่งจำเลยทั้งสองจะต้องชำระค่าภาษีอากร 11,830.91 บาทจำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิขอคืนเพียง 57,319.51 บาท ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันคืนเงินค่าภาษีอากรจำนวน 69,150.42 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยทั้งสอง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว..เห็นว่าจำเลยที่ 1 สั่งซื้อสินค้าหมุดย้ำตามใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.1แผ่นที่ 3 แต่ผู้ขายจากประเทศญี่ปุ่นส่งสินค้าหมุดย้ำและกระดุมกดรายพิพาทมาให้จำเลยที่ 1 ตามบันทึกเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 11ถึง 15 จำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ในประเทศไทย มิอาจทราบได้ว่าผู้ขายส่งสินค้าอะไรมาให้บ้าง คงเชื่อโดยสุจริตตามที่เคยค้าเคยขายกันว่าผู้ขายต้องส่งสินค้ามาให้ตามที่สั่ง ดังนั้น สินค้ารายพิพาทดังกล่าวจึงมิใช่สินค้าที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อและนำเข้ามาในราชอาณาจักรผู้ขายส่งมาให้จำเลยที่ 1 โดยสับสนผิดพลาด ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้แสดงสาเหตุของความผิดพลาดของผู้ขายตามที่นายอากิฮีโร มัตซูชีตะผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศของบริษัทไทยวาแมชชินเนอรี่เทรดิ้งจำกัด ได้อธิบายถึงความผิดพลาด ความจริงแล้วผู้ขายต้องการส่งให้ผู้ซื้อที่ประเทศสิงค์โปร์ แต่โจทก์ที่ 1 ไม่รับฟังเหตุผลปรากฏตามบันทึกความเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 16 และ 17 ไม่มีเหตุน่าระแวงสงสัยว่าจำเลยที่ 1 จะสำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงอากรดังที่โจทก์ที่ 1ตั้งข้อหา พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้สั่งซื้อและนำสินค้ารายพิพาทเข้ามาในราชอาณาจักร จำเลยที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดเสียภาษีอากรให้แก่โจทก์ทั้งสอง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไปว่า คดีที่จำเลยทั้งสองฟ้องแย้งเรียกเงินคืนจากโจทก์ทั้งสองขาดอายุความหรือไม่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า สิทธิเรียกร้องขอเงินคืนอยู่ในอายุความ 2 ปีตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 คดีของจำเลยทั้งสองขาดอายุความ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 10 วรรคห้า บัญญัติว่า “สิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินอากรเพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงเป็นอันสิ้นไปเมื่อครบกำหนดสองปี นับจากวันที่นำของเข้า ฯลฯ” บทบัญญัติดังกล่าวใช้กับผู้นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งมีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าภาษีและได้ชำระเงินค่าภาษีเกินไปจากที่ต้องเสียจริง อาจเรียกเงินอากรคืนได้ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่นำของเข้า แต่กรณีของจำเลยที่ 1 เป็นการสั่งซื้อและนำของเข้ามาในราชอาณาจักร โดยผู้ขายส่งสินค้าพิพาทมาให้โดยสับสนผิดพลาด จำเลยที่ 1 จึงมิใช่ผู้สั่งซื้อและนำของพิพาทเข้ามาในราชอาณาจักร จำเลยที่ 1 ไม่ต้องมีหน้าที่รับผิดเสียอากรแก่โจทก์ที่ 1 กรณีไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 10 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองจึงไม่ขาดอายุความตามมาตราดังกล่าวจำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกเอาเงินดังกล่าวคืนได้ภายในอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 (เดิม) เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นผู้นำของพิพาททั้งหมดจำนวน 94 หีบห่อ เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าภาษีอากรแก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจะคิดค่าภาษีอากรจากหมุดย้ำที่ตรวจพบจำนวน 2,800,000 ชุดซึ่งจำเลยทั้งสองไม่มีเจตนานำเข้าและหักไว้แล้วคืนส่วนที่เหลือไม่ได้ แม้หมุดย้ำดังกล่าวเป็นสินค้าบางส่วนที่ตรงกับที่จำเลยทั้งสองประสงค์จะสั่งซื้อและนำเข้าก็ตาม โจทก์ต้องคืนเงินค่าภาษีอากรทั้งหมดจำนวน 69,150.42 บาท แก่จำเลยทั้งสอง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share