แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยใช้ขวานฟันพยายามฆ่าผู้เสียหาย จำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาโดยอ้างแต่เพียงว่า กระทำลงไปเพราะเมาสุราขาดสติสัมปชัญญะ ทั้งไม่ติดใจสืบพยานจำเลย เช่นนี้ จำเลยจะยกกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ว่าไม่เจตนาฆ่าผู้เสียหาย ไม่ได้ฟันแรงนัก ไม่ได้
จำเลยใช้ขวานด้ามยาว 12 นิ้ว คมขวานกว้าง 2.8 นิ้ว ฟันผู้เสียหายทั้งสองที่ศีรษะเต็มแรง แต่ผู้เสียหายทั้งสองหลบทัน คมขวานพลาดศีรษะแต่เกิดบาดแผลซึ่งอาจทำให้ถึงตายได้ และจำเลยยังทำท่าจะฟันซ้ำอีก เช่นนี้จำเลยมีเจตนาฆ่า การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสองมิใช่เพียงแต่ทำร้ายร่างกายเท่านั้น.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยใช้ขวานฟันนายจรัญ และนายปั๋นแก้ว ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านในขณะกระทำการตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย โดยเจตนาฆ่าแต่การกระทำไม่บรรลุผลเพราะนายจรัญหลบหนีได้ทันและนายปั๋นแก้วมีบาดแผลที่แพทย์รักษาได้ ทันท่วงที ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐, ๙๑, ๒๘๘, ๒๘๙ ที่แก้ไขแล้ว และริบขวานของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๒๘๙, ๘๐, ๙๑ ที่แก้ไขแล้ว ให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าผู้อื่นจำคุก ๕ ปี ฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่จำคุก ๒๕ ปี รวม ๒ กระทง จำคุกสามสิบปีของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕, ๒๙๘, ๙๑ ให้ลงโทษจำคุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ มีกำหนด ๖ เดือน และลงโทษจำคุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๘ มีกำหนด ๑ ปี ๖ เดือน รวมเป็นจำคุก ๒ ปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า คืนเกิดเหตุจำเลยเมาสุราไปชวนนายจรัญ ผู้เสียหายไปเล่นไพ่ นายจรัญปฏิเสธ จำเลยก็กลับไป ต่อมานายจรัญกับนายดวงคำ จะไปดูลิเกที่วัดน้ำดิบ เมื่อไปถึงประตูโรงเรียนบ้านน้ำดิบ จำเลยซึ่งมาดักอยู่ที่รั้วโรงเรียนพร้อมกับถือขวานออกมาจากข้างทาง เงื้อมือที่ถือขวานขึ้นสูงฟันนายจรัญเต็มแรงนายจรัญหลบ ขวานที่จำเลยฟันถูกบริเวณกระหม่อมข้างซ้ายเป็นแผลลึกครึ่งเซนติเมตร ยาว ๒ เซนติเมตร จำเลยทำท่าจะฟันซ้ำ นายจรัญวิ่งหนี จำเลยจะทำร้ายนายดวงคำอีก นายดวงคำวิ่งหนี ขณะนั้นนายปั๋นแก้วผู้ใหญ่บ้านซึ่งไปรักษาความสงบในงานที่วัดน้ำดิบและแต่งเครื่องแบบไปด้วย เห็นเหตุการณ์เช่นนั้นจึงเข้าไปร้องบอกจำเลยว่าเป็นผู้ใหญ่บ้านเพื่อจะเข้าจับกุมจำเลย จำเลยเงื้อขวานขึ้นสุดแขนฟันนายปั๋นแก้วเต็มแรง นายปั๋นแก้วหลบไม่พ้น คมขวานถูกบริเวณหูซ้ายมีบาดแผลยาวประมาณ ๕ เซนติเมตร ใบหูขาดห้อยติดอยู่และมีบาดแผลติดต่อมาถึงลำคอบริเวณหลังหูซ้ายยาวประมาณ ๖ เซนติเมตร บาดแผลลึกถึงกล้ามเนื้อ นายปั๋นแก้วเข้ากอดปล้ำแย่งขวานจับตัวจำเลยไว้ได้ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้คงมีว่า การกระทำของจำเลยเป็นการพยายามฆ่าหรือทำร้ายร่างกาย
เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยพยายามฆ่านายจรัญและพยายามฆ่านายปั๋นแก้ว เจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ จำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาเพียงแต่อ้างว่า กระทำลงไปเพราะเมาสุราขาดสติสัมปชัญญะเท่านั้น ทั้งไม่ติดใจสืบพยานจำเลย การที่จำเลยมากล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ว่าไม่เจตนาฆ่าผู้เสียหายทั้งสอง ไม่ได้ฟันแรงนักจึงฟังไม่ขึ้น และเมื่อพิเคราะห์ถึงการที่จำเลยใช้ขวานด้ามยาว ๑๒ นิ้ว คมขวานกว้าง ๒.๘ นิ้ว ฟันผู้เสียหายทั้งสองที่ศีรษะเต็มแรง แต่ผู้เสียหายทั้งสองหลบทัน คมขวานจึงพลาดไปก่อให้เกิดบาดแผลดังที่โจทก์นำสืบ นายสุชาติ แพทย์ผู้ตรวจชันสูตรบาดแผลผู้เสียหายทั้งสองเบิกความว่า บาดแผลของนายจรัญถ้าโดนฟันแรงกระโหลกศีรษะแตกร้าวเลือดออกมากก็อาจถึงตายได้ ส่วนบาดแผลของนายปั๋นแก้วถ้าเป็นบาดแผลตั้งฉากลึกเข้าไปตรงหูอาจทะลุถึงกระโหลกศีรษะทำให้กระโหลกศีรษะแตกร้าว อาจถึงตายได้ถ้ารักษาไม่ทัน แผลที่ลำคอถ้าลึกกว่านี้อีกเล็กน้อยถึงเส้นเลือดใหญ่ ก็อาจถึงตายได้ หลังจากฟันนายจรัญแล้วจำเลยยังทำท่าจะฟันซ้ำอีก การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสอง
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.