แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การซื้อขายรถยนต์พิพาทเป็นการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคากว่าห้าร้อยบาทขึ้นไป ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือได้วางประจำไว้หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้วจึงจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 456วรรคท้าย การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการดังกล่าว หากไม่มีการวางมัดจำหรือชำระหนี้บางส่วนแล้ว ก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 798 วรรคสอง
จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 มิได้แต่งตั้งหรือแสดงออกว่าจำเลยที่ 1ที่ 2 เป็นตัวแทนในการขายรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ และในขณะโจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 นั้น กรรมสิทธิ์ยังเป็นของจำเลยที่ 3 อยู่ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีอำนาจนำรถยนต์ดังกล่าวไปขายให้แก่โจทก์
ที่โจทก์ฎีกาว่าได้รถยนต์พิพาทมาโดยการซื้อจากพ่อค้าได้ค้าขายกันในท้องตลาดมีค่าตอบแทนโดยสุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1332 โจทก์จึงไม่จำต้องคืนรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 5 หรือใช้ราคาตามฟ้องแย้งนั้น โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งแต่เพียงว่า โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในราคาตามท้องตลาด ชำระราคาครบถ้วนและรับมอบรถยนต์แล้วโดยสุจริต มิได้ให้การว่าได้รถยนต์พิพาทโดยการซื้อจากพ่อค้าในท้องตลาดตามมาตรา 1332 แต่อย่างใด ฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยที่ 3 ฟ้องแย้งขอให้โจทก์คืนรถยนต์พิพาทในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ติดตามเอาทรัพย์สินของตนคืนและเรียกค่าเสียหายเนื่องจากโจทก์ครอบครองทรัพย์ไว้โดยมิชอบ เพราะซื้อทรัพย์จากบุคคลที่ไม่ใช่เจ้าของอันเป็นการกระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 3 จึงเป็นหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด โจทก์ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด ดังนั้น ก่อนฟ้องแย้งจำเลยที่ 3 หาจำต้องมีหนังสือทวงถามให้โจทก์ส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนหรือให้ชดใช้ค่าขาดประโยชน์ไม่ จำเลยที่ 3จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์
จำเลยที่ 5 เป็นเพียงหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 3 ซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ต่างหากจากจำเลยที่ 3 โดยไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทร่วมกับจำเลยที่ 3 ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 5 ในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 3 ถูกโต้แย้งสิทธิอันเนื่องจากรถยนต์พิพาท จำเลยที่ 5 จึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้งเรียกคืนรถยนต์พิพาทและเรียกค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์พิพาท อำนาจฟ้องแย้งเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์จะมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา249 วรรคสอง
เมื่อโจทก์ยังคงครอบครองรถยนต์พิพาทย่อมเป็นการละเมิดต่อจำเลยที่ 3 อยู่ตลอดเวลาจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์พิพาทคืน จำเลยที่ 3 มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ และเมื่อจำเลยที่ 3 เรียกค่าเสียหายนับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปซึ่งโจทก์ยังครอบครองรถยนต์พิพาทอันเป็นการละเมิดต่อจำเลยที่ 3 อยู่ จึงไม่มีปัญหาเรื่องอายุความว่าจะนับแต่เมื่อใด คดีจึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448