คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1721/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 นายจ้างร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 1 ลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธว่าจำเลยที่ 1 มิใช่ลูกจ้างการที่จำเลยที่ 2 ยกขึ้นอ้างอิงในอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะผู้รับจ้างทำของโดยเอาเงินของจำเลยที่ 2 ไปหาซื้อมะพร้าวได้ค่าจ้างเป็นเปอร์เซนต์ของจำนวนมะพร้าวที่ซื้อมาได้เป็นคราว ๆจำเลยที่ 2 ผู้ว่าจ้างย่อมไม่ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 1 นั้นเป็นข้อที่ไม่ได้กล่าวไว้ในคำให้การไม่มีสิทธินำสืบแม้จำเลยที่ 2 นำสืบและศาลชั้นต้นยกขึ้นวินิจฉัยให้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 11,500 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 11,100 บาท จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีคงมีปัญหาข้อกฎหมายว่า ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการรับจ้างทำของ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดนั้น ชอบด้วยวิธีพิจารณาหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถยนต์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยประมาท เป็นเหตุให้รถพลิกคว่ำทับรถยนต์ของโจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิด จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 มิใช่ลูกจ้างมิได้ปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 แต่อย่างใดทั้งสิ้น ดังนี้ เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 2 ยกขึ้นอ้างอิงในอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะผู้รับจ้างทำของโดยเอาเงินของจำเลยที่ 2 ไปหาซื้อมะพร้าว ได้ค่าจ้างจากจำเลยที่ 2 เป็นเปอร์เซ็นต์ของจำนวนมะพร้าวที่ซื้อมาได้เป็นคราว ๆ จำเลยที่ 2 ผู้ว่าจ้างย่อมไม่ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 1 ดังฟ้องนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่แสดงถึงเหตุแห่งการปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ตามฟ้องที่จำเลยที่ 2 มิได้กล่าวไว้ในคำให้การ ซึ่งจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธินำสืบถึงเหตุดังกล่าว แม้จำเลยที่ 2 นำสืบและศาลชั้นต้นยกขึ้นวินิจฉัยให้ดังที่จำเลยโต้เถียงมาในฎีกา ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นฉะนั้นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 165 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 มาตรา 4 ที่บัญญัติว่า ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างอิงในการยื่นอุทธรณ์นั้นคู่ความจะต้องกล่าวไว้ชัดแจ้งในอุทธรณ์ และเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น เหตุนี้ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวชอบแล้ว”

พิพากษายืน

Share