แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้ขนส่งเป็นฝ่ายกล่าวอ้างข้อเท็จจริงว่าบริษัท พ. ผู้รับตราส่งได้รับสินค้าไว้แล้วโดยไม่อิดเอื้อนและได้ชำระค่าระวางไว้แล้วเพื่อให้พ้นจากความรับผิดต่อการที่สินค้าเสียหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 623 วรรคแรก จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีภาระพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าว
สินค้าม้วนแผ่นเหล็กพิพาทตกจากที่สูงจนบิดเบี้ยวเสียรูปทรง ดังเห็นได้จากรูปถ่ายในรายงานการสำรวจความเสียหาย แสดงว่าเมื่อตกจากที่สูงแล้วปรากฏร่องรอยให้เห็นได้ด้วยสายตาว่าเป็นรอยหรือบุบ (Dent) ดังนั้นการที่เจ้าหน้าที่ของบริษัท พ. บันทึกไว้ในใบรับสินค้าว่า “Coil เด็นมาจากท่าเรือ” จึงถือได้แล้วว่าเป็นการอิดเอื้อน ความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังไม่สิ้นสุดลง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 218,462.37 บาท และค่าสำรวจภัยและค่าบรรเทาความเสียหายของสินค้า 29,328.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง 14,076 บาท รวมเป็นเงิน 261,867 บาท และดอกเบี้ยของต้นเงิน 247,790.71 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ขอให้หมายเรียกบริษัทคูเนียประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด หรือ บริษัทเคเอสเคประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า บริษัทโพสโค (ประเทศไทย) จำกัด ซื้อม้วนแผ่นเหล็กรีดเย็นเคลือบสังกะสีด้วยไฟฟ้า 66 ม้วน จากบริษัทซัมซุง ซี แอนด์ ที คอร์ ปอร์เรชัน จำกัด บริษัทศรีอยุธยาประกันภัยจำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับประกันภัย โจทก์เป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากบริษัทศรีอยุธยาประกันภัยจำกัด (มหาชน) สินค้าได้รับการขนส่งทางทะเลจากประเทศสาธารณรัฐเกาหลีมาถึงท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2554 สินค้าได้รับการขนถ่ายลงจากเรือเดินทะเลเก็บไว้ในคลังสินค้าที่ท่าเรือ ในการขนถ่ายดังกล่าวพบว่ามีสินค้าบางม้วนเสียหายเล็กน้อย จำเลยที่ 1 ได้รับการว่าจ้างจากบริษัทโพสโค (ประเทศไทย) จำกัด ให้ขนส่งสินค้าจากท่าเรือแหลมฉบังมายังคลังสินค้าของบริษัทที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ต่อมาวันที่ 4 สิงหาคม 2554 เวลาประมาณ 10 นาฬิกา จำเลยที่ 2 โดยนายเจริญ พนักงานขับรถได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้รับสินค้าเพื่อขนส่งด้วยรถบรรทุกของจำเลยที่ 2 ที่มีนายเจริญเป็นคนขับไปยังคลังสินค้าของบริษัทโพสโค (ประเทศไทย) จำกัด ผู้รับตราส่ง เมื่อไปถึงในเวลาประมาณ 13 นาฬิกา นายเจริญได้ส่งมอบสินค้าทั้งหมดแก่เจ้าหน้าที่ของบริษัทโพสโค (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้บันทึกไว้ในใบรับสินค้า (ฉบับสำเนาให้ลูกค้า) และใบรับสินค้า (ต้นฉบับนำกลับบริษัท) ว่า “Coil เด็นมาจากท่าเรือ” ต่อมาบริษัทโพสโค (ประเทศไทย) จำกัด ตรวจพบว่าสินค้าม้วนหมายเลข CRU 0215A แกนบิดเบี้ยวเสียรูปทรง เนื่องจากการตกจากที่สูงตามรายงานการสำรวจความเสียหาย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 สิ้นสุดลงแล้วเพราะบริษัทโพสโค (ประเทศไทย) จำกัด รับสินค้าไว้โดยไม่อิดเอื้อน ทั้งได้ชำระค่าระวางแล้วด้วยหรือไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 623 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ความรับผิดของผู้ขนส่งย่อมสุดสิ้นลงในเมื่อผู้รับตราส่งได้รับเอาของไว้แล้วโดยไม่อิดเอื้อน และได้ใช้ค่าระวางพาหนะกับทั้งอุปกรณ์เสร็จแล้ว” จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นฝ่ายกล่าวอ้างข้อเท็จจริงว่าบริษัทโพสโค (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับสินค้าไว้โดยไม่อิดเอื้อนและได้ชำระค่าระวางแล้วเพื่อให้พ้นจากความรับผิดต่อการที่สินค้าเสียหาย จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า บริษัทโพสโค (ประเทศไทย) จำกัด ได้ชำระค่าระวางขนส่งในส่วนของจำเลยที่ 2 แล้ว ส่วนปัญหาว่าการที่เจ้าหน้าที่ของบริษัทโพสโค (ประเทศไทย) จำกัด ได้บันทึกไว้ในใบรับสินค้าว่า “Coil เด็นมาจากท่าเรือ” ถือว่าเป็นการอิดเอื้อนแล้วหรือไม่ เห็นว่า สินค้าม้วนพิพาทนี้ตกจากที่สูงจนบิดเบี้ยวเสียรูปทรง (Deformation) ดังเห็นได้จากรูปถ่ายในรายงานการสำรวจความเสียหาย แสดงว่าเมื่อตกจากที่สูงแล้วปรากฏร่องรอยให้เห็นได้ด้วยสายตาว่าเป็นรอยหรือบุบ (Dent) ส่วนความเสียหายที่แน่นอนเป็นอย่างไร และใครเป็นต้นเหตุเป็นเรื่องที่ยังต้องสอบสวนต่อไป ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ของบริษัทโพสโค (ประเทศไทย) จำกัด บันทึกไว้เช่นนั้นจึงถือได้แล้วว่าเป็นการอิดเอื้อน ความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงยังไม่สิ้นสุดลง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามา ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น แต่เนื่องจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังมิได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทเรื่องประเภทและจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้อง และประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยร่วมซึ่งอาจมีผลถึงสิทธิของคู่ความในการอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาใหม่ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243 (1)
พิพากษายกคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่เหลือต่อไปและพิพากษาใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่