คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 584/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้คดีที่จำเลยขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะมีคำพิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นให้เพิกถอนการขายทอดตลาด และโจทก์มิได้ฎีกาทำให้คดีถึงที่สุด แต่ภายหลังพ้นกำหนดระยะเวลายื่นฎีกา โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการขอใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 (1) ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีส่งประกาศการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทให้จำเลยทราบโดยชอบแล้ว ขอให้ไต่สวนและมีคำสั่งใหม่ว่าการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเป็นไปโดยชอบ ซึ่งบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราดังกล่าวเปิดช่องให้สามารถทำได้ไม่ต้องห้าม เพราะเป็นกระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดี และหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเป็นไปโดยชอบตามที่โจทก์ยื่นคำร้อง ย่อมมีผลทำให้โจทก์ไม่จำต้องฟ้องเรียกดินที่ถมเป็นคดีนี้ แม้ต่อมาศาลฎีกาจะวินิจฉัยในปัญหาข้อนี้ว่าการยื่นคำร้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำในประเด็นที่ศาลได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ใช้สิทธิตามช่องทางที่มีกฎหมายรองรับ จึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายหาใช่เป็นการกระทำที่ไม่สุจริต เมื่อคดีที่โจทก์ขอให้ไต่สวนและมีคำสั่งใหม่ว่าการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเป็นไปโดยชอบถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาวันที่ 30 มีนาคม 2553 การที่โจทก์ฟ้องเรียกดินที่ถมในที่ดินพิพาทคืนเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2554 จึงยังไม่พ้นอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ
โจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งศาลโจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 แม้ต่อมาจำเลยจะขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท แต่ตราบใดคดีที่จำเลยขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดโจทก์ย่อมมีอำนาจในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่จะใช้สอยที่ดินพิพาทตามกฎหมาย การที่โจทก์ถมดินในที่ดินพิพาทก่อนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและคดีถึงที่สุดจึงย่อมมีสิทธิที่จะทำได้ และกรณีดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่โจทก์สมัครใจถมดินในที่ดินพิพาทตามอำเภอใจตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 โดยรู้อยู่ว่าอาจมีการเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทภายหลังได้ ส่วนข้อสัญญาที่โจทก์ทำไว้กับเจ้าพนักงานบังคับคดี จำเลยหาอาจนำมาอ้างให้เสื่อมสิทธิของโจทก์และเป็นประโยชน์แก่จำเลยได้ เพราะเป็นข้อตกลงที่โจทก์มีต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี หาได้เกี่ยวและมีผลผูกพันจำเลย แต่เมื่อจำเลยได้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของจำเลยตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งถึงที่สุดแล้วโดยได้ดินที่โจทก์ถมไว้โดยสุจริตในที่ดินพิพาทไปด้วย อันทำให้มูลค่าที่ดินพิพาทเพิ่มขึ้น ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สิ่งใดที่จำเลยได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ จึงเป็นลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 จำเลยต้องคืนดินที่ถมในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ได้ปรับปรุงถมดินเต็มเนื้อที่ในที่ดินพิพาทเพื่อจะปลูกสร้างบ้านเป็นเวลาล่วงเลยมานานถึง 12 ปี ดินที่โจทก์นำมาถมย่อมเปลี่ยนแปลงสภาพเกลื่อนกลืนกับที่ดินพิพาทของจำเลยไปตามกาลเวลากลายเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินจำเลยซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ไปแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 139 แม้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนดินที่ถมหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนก็ตาม ก็ไม่อาจคืนดินที่ถมไปแล้วให้แก่โจทก์ได้ แต่การที่โจทก์ขอให้ใช้ราคาแทนดินที่ถม ถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่เสียไปอันทำให้ที่ดินของจำเลยมีราคาสูงขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 417 ที่บัญญัติให้โจทก์เรียกจากจำเลยได้ก็เพียงเท่าราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น เมื่อที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 1 ไร่ 38 ตารางวา และโจทก์ถมดินไป 3,000 คิว ประกอบกับสภาพสถานที่ตั้งของที่ดิน ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีแล้วเห็นควรกำหนดให้จำเลยใช้ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์เป็นเงิน 510,000 บาท
ตราบใดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังมิได้มีคำพิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทและคดีถึงที่สุด การที่โจทก์ถมที่ดินเพื่อปลูกสร้างบ้าน และมีการตัดต้นไม้ในที่ดินพิพาทเพื่อถมดิน โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะทำได้ตามกฎหมายในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ หาเป็นการกระทำละเมิดต่อจำเลยไม่ และแม้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ถึงที่สุดดังกล่าวจะมีผลเท่ากับว่าไม่มีการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทมาแต่แรก ทำให้สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเอกสารหมาย ล.5 ไม่มีผลบังคับ แต่ก่อนที่ผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะถึงที่สุด สิทธิของโจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 อยู่ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยตามฟ้องแย้ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนดินที่โจทก์ได้ถมในที่ดินแก่โจทก์ จำนวน 3,360 คิว ถ้าคืนไม่ได้ให้จำเลยใช้ราคาดิน 571,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งบังคับโจทก์ให้ชดใช้ค่าเสียหาย 480,000 บาท ให้แก่จำเลย พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 480,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าโจทก์จะชำระเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนดินจำนวน 3,000 คิว ที่ถมบนที่ดินโฉนดเลขที่ 16111 ตำบลท่าอิฐ (บางบัวทอง) อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี หากไม่สามารถปฏิบัติได้ให้จำเลยใช้เงินจำนวน 510,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 มีนาคม 2554) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ให้ยกฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียม (ที่ถูก ตามฟ้องและฟ้องแย้ง) ในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 หรือไม่ เห็นว่า แม้คดีที่จำเลยขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะมีคำพิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นให้เพิกถอนการขายทอดตลาด และโจทก์มิได้ฎีกาทำให้คดีถึงที่สุดดังที่จำเลยอ้างก็ตาม แต่ภายหลังพ้นกำหนดระยะเวลายื่นฎีกา ได้ความว่าโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการขอใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 (1) ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีส่งประกาศการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทให้จำเลยทราบโดยชอบแล้ว ขอให้ไต่สวนและมีคำสั่งใหม่ว่าการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเป็นไปโดยชอบ ซึ่งบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราดังกล่าวเปิดช่องทางให้สามารถทำได้ ไม่ต้องห้าม เพราะเป็นกระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดี และหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเป็นไปโดยชอบตามที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ไต่สวนดังกล่าว ย่อมมีผลทำให้โจทก์ไม่จำต้องฟ้องเรียกดินที่ถมคืนเป็นคดีนี้ แม้ต่อมาศาลฎีกาจะวินิจฉัยในปัญหาข้อนี้ว่าการยื่นคำร้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำในประเด็นที่ศาลได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ใช้สิทธิตามช่องทางที่มีกฎหมายรองรับ จึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายหาใช่เป็นการกระทำที่ไม่สุจริตดังที่จำเลยอ้างมาในฎีกาไม่ ดังนั้น เมื่อคดีที่โจทก์ขอให้ไต่สวนและมีคำสั่งใหม่ว่าการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเป็นไปโดยชอบ ถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลฎีกาวันที่ 30 มีนาคม 2553 การที่โจทก์ฟ้องเรียกดินที่ถมในที่ดินพิพาทคืนเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2554 จึงยังไม่พ้นอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 419 ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างมานั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สองว่า จำเลยต้องรับผิดคืนดินที่โจทก์ได้ถมลงในที่ดินพิพาท ถ้าคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนหรือไม่ เห็นว่าข้อนี้ โจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งศาล โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 แม้ต่อมาจำเลยจะขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท แต่ตราบใดที่คดีที่จำเลยขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด โจทก์ย่อมมีอำนาจในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่จะใช้สอยที่ดินพิพาทตามกฎหมาย การที่โจทก์ถมดินในที่ดินพิพาทก่อนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทและคดีถึงที่สุด จึงย่อมมีสิทธิที่จะทำได้หาใช่ต้องรอให้คดีถึงที่สุดแล้วค่อยดำเนินการตามที่จำเลยอ้างไม่ และกรณีดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่โจทก์สมัครใจถมดินในที่ดินพิพาทตามอำเภอใจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 407 โดยรู้อยู่ว่าอาจมีการเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทภายหลังได้ดังที่จำเลยอ้างมาในฎีกาไม่ ส่วนข้อสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทที่โจทก์ทำไว้กับเจ้าพนักงานบังคับคดีตามข้อ 5 นั้น จำเลยหาอาจนำข้อนี้มาอ้างให้เสื่อมสิทธิของโจทก์และเป็นประโยชน์แก่จำเลยได้ไม่ เพราะเป็นข้อตกลงที่โจทก์มีต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี หาได้เกี่ยวและมีผลผูกพันกับจำเลยดังที่อ้างมาในฎีกาไม่ แต่อย่างไรก็ดีเมื่อจำเลยได้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของจำเลยตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งถึงที่สุดแล้ว โดยได้ดินที่โจทก์ถมไว้โดยสุจริตในที่ดินพิพาทไปด้วย อันทำให้มูลค่าที่ดินพิพาทเพิ่มขึ้นเป็นการเพิ่มพูนทรัพย์สินของจำเลย ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สิ่งใดที่จำเลยได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบจึงเป็นลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 ดังนั้น เมื่อจำเลยต้องคืนดินที่ถมในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่านับตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2545 ที่โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดเป็นต้นมา โจทก์ได้ปรับปรุงถมดินเต็มเนื้อที่ในที่ดินพิพาท เพื่อจะปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัยจนถึงบัดนี้เป็นเวลาล่วงเลยมานานถึงประมาณ 12 ปี ดินที่โจทก์นำมาถมย่อมเปลี่ยนแปลงสภาพเกลื่อนกลืนกับที่ดินพิพาทของจำเลยไปตามกาลเวลาจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินจำเลยซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ไปแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 139 แม้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนดินที่ถม หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนก็ตาม ก็ไม่อาจคืนดินที่ถมไปแล้วให้แก่โจทก์ได้ แต่การที่โจทก์ขอให้ราคาแทนดินที่ถมนั้น ถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่เสียไปอันทำให้ที่ดินของจำเลยมีราคาสูงขึ้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 417 ที่บัญญัติให้โจทก์เรียกจากจำเลยได้ก็เพียงเท่าราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น เมื่อพิเคราะห์ถึงที่ดินพิพาทซึ่งมีเนื้อที่ 1 ไร่ 38 ตารางวา และดินที่โจทก์ถมไป 3,000 คิว ตามที่ศาลล่างวินิจฉัย ประกอบกับสภาพสถานที่ตั้งของที่ดิน ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีแล้ว เห็นควรกำหนดให้จำเลยใช้ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์เป็นเงิน 510,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สามว่า โจทก์ต้องรับผิดตามฟ้องแย้งจำเลยหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ข้อนี้ โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งศาล โดยไม่ปรากฏว่าไม่สุจริตสิทธิของโจทก์ดังกล่าวย่อมได้รับการคุ้มครองมิเสียไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท จำเลยขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด แต่ศาลชั้นต้นได้ยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์ ดังนั้น ตราบใดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังมิได้คำพิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นให้เพิกถอนการขายทอตดลาดที่ดินพิพาทและคดีถึงที่สุด กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของโจทก์ยังคงสมบูรณ์อยู่ การที่โจทก์ได้ถมดินในที่ดินพิพาทเพื่อปลูกสร้างบ้าน ซึ่งหากมีการตัดต้นไม้ในที่ดินพิพาทเพื่อถมดินดังกล่าว ย่อมมีสิทธิที่จะทำได้ตามกฎหมายในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ หาจำต้องรอให้ผลคดีถึงที่สุดก่อนแล้วค่อยกระทำ และหาเป็นการกระทำละเมิดต่อจำเลยดังที่จำเลยอ้างมาในฎีกา ส่วนที่จำเลยอ้างว่าเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทและคดีถึงที่สุด สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท ต้องยกเลิกไปและกลับสู่ฐานะเดิมนั้น เห็นว่า แม้ผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ถึงที่สุดแล้ว ซึ่งมีผลเท่ากับว่าไม่มีการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทมาแต่แรก ทำให้สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทไม่มีผลบังคับ แต่ก่อนที่ผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะถึงที่สุดดังกล่าว สิทธิของโจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทได้รับความคุ้มครองตาม มาตรา 1330 อยู่ โจทก์จึงไม่จำต้องรับผิดตามฟ้องแย้งจำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาต้องกันให้ยกฟ้องแย้งจำเลยนั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 510,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 28 มีนาคม 2554) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมตามฟ้องและฟ้องแย้งในชั้นฎีกาให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share