คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11753-11754/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ทรงสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ที่เรียกว่า คอนเทนเนอร์ไลเนอร์ ในต่างประเทศหลายประเทศ โจทก์ที่ 1 เคยว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าดังกล่าวในประเทศไทย หลังจากจำเลยที่ 1 มิได้เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าให้แก่โจทก์ที่ 1 แล้ว โจทก์ทั้งสองพบว่าจำเลยทั้งสี่ผลิตและจำหน่ายสินค้าคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ โดยใช้ชื่อทางการค้าว่า แครีบัลค์ (CarriBulk) เมื่อโจทก์ทั้งสองพิจารณารายละเอียดของผลิตภัณฑ์ (specification) และแบบพิมพ์ลายเส้นบรรจุภัณฑ์ (drawings) แล้วเชื่อว่ามีการลอกเลียนข้อมูล อันเป็นการกระทำที่โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง กรณีจึงมีเหตุผลสมควรให้โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่เพื่อปกป้องสิทธิของตนตามกฎหมายได้ การที่โจทก์ทั้งสองมอบหมายให้ทนายความมีหนังสือไปยังจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โดยกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ละเมิดสิทธิตามกฎหมายของโจทก์ทั้งสองและขอให้ยุติการกระทำละเมิด เป็นขั้นตอนตามปกติของการดำเนินการก่อนฟ้องคดี ส่วนการที่โจทก์ทั้งสองขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกพยานเอกสารก็เป็นสิทธิของคู่ความที่เห็นว่าเอกสารที่ตนประสงค์จะอ้างอิงเป็นพยานหลักฐานอยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก โดยคู่ความฝ่ายนั้นสามารถยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งให้บุคคลที่ครอบครองส่งต้นฉบับเอกสารนั้นได้ การที่โจทก์ทั้งสองขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกพยานเอกสารจึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีของตน แม้ภายหลังโจทก์ทั้งสองไม่ได้อ้างส่งเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานก็เป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสองเห็นว่าไม่จำเป็นต้องอ้างเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้างตามคำฟ้องของตน ข้อเท็จจริงยังไม่พอให้รับฟังว่าโจทก์ทั้งสองต้องการกลั่นแกล้งจำเลยทั้งสี่โดยมุ่งต่อผลที่จะให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยทั้งสี่ จึงไม่ใช่การที่โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 421 การดำเนินคดีนี้ของโจทก์ทั้งสองเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต
โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้กับตู้ขนส่งสินค้า และโจทก์ที่ 1 จัดตั้งบริษัทโจทก์ที่ 2 ในประเทศไทย เพื่อผลิตและจำหน่ายสินค้าคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ดังกล่าว โดยปรากฏในวัตถุประสงค์ ข้อ 1 ตามหนังสือรับรองบริษัทโจทก์ว่า “ทำการผลิต จำหน่ายในประเทศ และส่งออกไปยังต่างประเทศ ผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่อใช้ในการบรรจุสินค้าในอุตสาหกรรมขนส่ง…” การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์เลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 เกี่ยวข้องกับภาชนะอ่อนตัวสำหรับบรรจุสินค้าเพื่อการขนส่งด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์ภาชนะอ่อนตัวสำหรับบรรจุสินค้า (flexible liner) ก็คือบรรจุภัณฑ์ที่ใช้กับตู้ขนส่งสินค้าหรือคอนเทนเนอร์ไลเนอร์นั่นเอง สินค้าที่จำเลยที่ 2 ผลิตและจำหน่ายดังกล่าวจึงเป็นสินค้าประเภทเดียวกับสินค้าของโจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยที่ 2 ได้รับสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ภาชนะอ่อนตัวสำหรับบรรจุสินค้าประเภทผงหรือเม็ดเพื่อการขนส่งด้วยตู้ขนส่งสินค้าตามสิทธิบัตรเลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 36 วรรคหนึ่ง (1) ย่อมส่งผลกระทบต่อการผลิตและการขายสินค้าคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ของโจทก์ทั้งสองในประเทศไทย โจทก์ทั้งสองย่อมได้รับความเสียหายจากการออกสิทธิบัตรเลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 หากการออกสิทธิบัตรนั้นเป็นการออกสำหรับการประดิษฐ์ที่ไม่อาจขอรับสิทธิบัตรได้ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 จึงถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการฟ้องคดีเพื่อขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรนั้นได้ ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคสอง
การพิจารณาว่าการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ต้องพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างงานที่ปรากฏอยู่แล้วกับรายละเอียดของการประดิษฐ์ในข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรเลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 ซึ่งประกอบด้วย (1) ถุงลมหกเหลี่ยมด้านไม่เท่าเมื่อเติมอากาศเข้าไปในถุงลมจนเต็มแล้วจะขยายตัวออกเป็นรูปทรงปริซึมสามเหลี่ยมปลายตัดที่ก่อให้ผนังของตัวภาชนะสำหรับบรรจุสินค้าบริเวณที่ถุงลมติดตั้งอยู่ยกตัวดันให้สินค้าไหลมาสู่ช่องสำหรับเปิดให้สินค้าไหลออก ที่ถุงลมประกอบด้วยท่ออ่อนตัวสำหรับเป่าลมที่มีลิ้นเปิดปิดสำหรับควบคุมการไหลของอากาศเข้าสู่ถุงลม และมีวาล์วแบบเกลียวหมุนสำหรับปล่อยอากาศออกจากถุงลม (2) แถบอ่อนตัว ซึ่งมีสองชนิด ชนิดแรกเป็นแถบอ่อนตัวที่แต่ละอันติดอยู่ตรงรอยต่อของผนังด้านหน้าตัวภาชนะแต่ละด้านที่เชื่อมต่อกับผนังด้านข้าง มีรูตลอดแนวและแต่ละรูของแถบอ่อนตัวแต่ละอันอยู่ในตำแหน่งที่ตรงกัน ชนิดที่สองเป็นแถบอ่อนตัวแบบทึบ ติดอยู่ตรงรอยต่อของผนังด้านหน้าของตัวภาชนะแต่ละด้านที่เชื่อมต่อกับผนังด้านบนและผนังด้านข้าง (3) ชุดขอแขวนติดอยู่ที่ด้านนอกของผนังด้านบนของตัวภาชนะสำหรับบรรจุสินค้า ชุดขอแขวนประกอบด้วยแผ่นรับแรงที่มีรูกลมทะลุ แถบยางยืดหยุ่นที่สอดเข้ากับรูกลมทะลุของแผ่นรับแรงและขอแขวนเพื่อยึดผนังด้านบนของภาชนะอ่อนตัวสำหรับบรรจุสินค้าประเภทผงหรือเม็ดเข้ากับตู้ขนส่งสินค้า เมื่อพิจารณางานที่ปรากฏอยู่แล้วตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 5,489,037 และสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 6,481,598 บี 1 ของโจทก์ที่ 1 แล้ว ไม่ปรากฏว่ามีภาชนะสำหรับบรรจุสินค้าหรือคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ที่มีส่วนประกอบคือถุงลมที่เมื่อเติมอากาศเข้าไปจนเต็มแล้วจะขยายตัวออกเป็นรูปทรงปริซึมสามเหลี่ยมปลายตัดและที่ถุงลมมีท่ออ่อนตัวซึ่งมีลิ้นเปิดปิดและมีวาล์วแบบเกลียวหมุน ไม่ปรากฏว่ามีแถบอ่อนตัวติดอยู่ตรงรอยต่อของผนังด้านหน้าตัวภาชนะอ่อนตัวสำหรับบรรจุสินค้าแต่ละด้านที่เชื่อมต่อกับผนังด้านข้าง และไม่ปรากฏว่ามีชุดขอแขวนซึ่งประกอบด้วยแผ่นรับแรงที่มีรูกลมทะลุจำนวน 4 รู แถบยางยืดหยุ่นที่สอดเข้ากับรูกลมทะลุของแผ่นรับแรงและขอแขวนเพื่อยึดผนังด้านบนของภาชนะอ่อนตัวเข้ากับตู้ขนส่งสินค้า ดังนั้น การประดิษฐ์ในข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรเลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วไม่ใช่การประดิษฐ์ซึ่งเป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว จึงเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่
กรณีที่ข้อถือสิทธิมีความชัดเจน ลักษณะของการประดิษฐ์ต้องถือตามข้อความที่บรรยายในข้อถือสิทธินั้น ส่วนรูปเขียนประกอบเป็นเพียงสิ่งที่ช่วยให้ข้อความที่บรรยายชัดเจนขึ้น ในเรื่องถุงลม จำเลยที่ 2 บรรยายในข้อถือสิทธิว่า “…ถุงลมดังกล่าวเมื่อเติมอากาศเข้าไปในถุงลมจนเต็มแล้วจะขยายตัวออกเป็นรูปทรงปริซึมสามเหลี่ยมปลายตัด…” ซึ่งมีความชัดเจนเพียงพอ และไม่อาจตีความว่ารูปทรงของด้านปลายฐานกว้าง เป็นรูปวงรีปลายแหลมได้ จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่าภาชนะอ่อนตัวตามสิทธิบัตรเลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 เมื่อเติมอากาศเข้าไป ถุงลมสามารถขยายตัวออกเป็นรูปทรงปริซึมสามเหลี่ยมปลายตัด รูปร่างของถุงลมตามสิทธิบัตรเลขที่ 20818 จึงแตกต่างจากถุงลมซึ่งเป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้วตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 6,481,598 บี 1 ของโจทก์ที่ 1 การประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ภาชนะอ่อนตัวสำหรับบรรจุสินค้าประเภทผงหรือเม็ดเพื่อการขนส่งด้วยตู้ขนส่งสินค้าตามสิทธิบัตรเลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 ย่อมเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่
คำว่า ลิ้นเปิดปิดตามสิทธิบัตรของจำเลยที่ 2 หมายถึงระบบวาล์ว นั่นเอง และเมื่อจำเลยที่ 2 ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ใช้ถ้อยคำว่า “a valve device for controlling air into the air bag” ซึ่งหมายความว่า วาล์วเป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อควบคุมปริมาณลมที่เข้าสู่ถุงลม ดังนั้น ลิ้นเปิดปิดกับวาล์วตามสิทธิบัตรของจำเลยที่ 2 จึงเป็นเรื่องเดียวกัน ในเรื่องการใช้วาล์วกับถุงลมนี้เคยปรากฏอยู่ในภูมิหลังของการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกา เลขที่ 6,837,391 บี 2 ซึ่งมีชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์ว่า วาล์วที่ใช้เปิดและปิดที่ติดตั้งกับถุงลม (Inflation/Deflation Valve for a bag to be filled with air) ระบุว่ามีการเสนอว่าถุงที่ผลิตจากผ้าสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายครั้ง ดังนั้น จึงต้องใช้วาล์วเพื่อให้ปล่อยลมจากถุงได้อย่างรวดเร็วแต่ไม่ทำให้ช่องที่เปิดในถุงฉีกขาด นอกจากนี้ การใช้วาล์วซึ่งทำให้ปล่อยลมได้อย่างรวดเร็วจะทำให้มีโอกาสเติมลมให้แก่ถุงลมก่อนใช้เพื่อทดสอบความแน่นของอากาศด้วย ภูมิหลังของการประดิษฐ์ดังกล่าวยังระบุด้วยว่า วาล์วที่ใช้ง่าย ๆ เพื่อเติมลมอย่างรวดเร็วต้องมีก้านวาล์ว (valve stem) กับหัวเติมลม ซึ่งสามารถนำมาติดบนก้านได้เพื่อให้ผู้ใช้เติมลมแก่ถุงลม ในหลายกรณีหัวเติมลมหรือหัวฉีดมีระบบสำหรับติดกับก้านวาล์วเพื่อให้อยู่กับที่ในระหว่างเติมลมโดยผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องถือเพื่อให้อยู่กับที่ ข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่าการติดตั้งลิ้นเปิดปิดที่ท่ออ่อนตัวและการติดตั้งวาล์วที่ถุงลมเป็นวิธีการสามัญที่ใช้กันทั่วไป ยิ่งกว่านั้นสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกายังเปิดเผยการใช้วาล์วที่ใช้เปิดปิดสำหรับการเติมอากาศเข้าไปในถุงลม ซึ่งมีส่วนประกอบคือกระบอกสวมสำหรับสอดเข้าไปในช่องที่เปิดในผนังของถุงวาล์วรวมทั้งส่วนประกอบวาล์ว และฝาสำหรับครอบกระบอกสวม อันเป็นการปรับปรุงวาล์วเพื่อใช้ควบคุมการเติมอากาศเข้าไปในถุงลมได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 5,335,820 ซึ่งมีชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์ว่า ภาชนะและระบบจ่ายของแข็งที่ไหลได้ (Container and Dispenser System for Flowable Solids) มีข้อความระบุถึงการใช้วาล์วกับถุงลมว่า “การวางหัวฉีด อาจจัดให้มีระบบวาล์วต่าง ๆ หรือระบบที่เหมือนกันอยู่ภายในนั้นเพื่อช่วยในการเติมลม เพื่อการบำรุงรักษาถุงลม ในภาวะที่มีลม และเพื่อการปล่อยลม ระบบวาล์วแบบธรรมดาอาจนำมาใช้ได้” และสิทธิบัตรดังกล่าวยังเปิดเผยโดยอ้างถึงรูปที่ 3 ว่า การจัดวางถุงลม ประกอบด้วยถุงก๊าซที่พองได้ ถุงก๊าซ สามารถเติมลมโดยผ่านการจัดวางหัวฉีด ในรูปที่ 3 ถุงก๊าซ ถูกแสดงให้เห็นว่าอยู่ติดกับแหล่งที่มา ของอากาศที่ถูกบีบอัดเพื่อใช้การเติมลม จากภูมิหลังการประดิษฐ์ประกอบการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาดังกล่าวแสดงว่าการติดตั้งลิ้นเปิดปิดที่ท่ออ่อนตัวและการติดตั้งวาล์วที่ถุงลมเป็นการประดิษฐ์ที่เป็นที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญที่จะดัดแปลงวาล์วให้เข้ากับถุงลมตามสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 นอกจากนี้ การทำงานของท่ออ่อนตัวที่มีลิ้นเปิดปิดและมีวาล์วแบบเกลียวหมุนตามข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรเลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลดการตกค้างของสินค้าที่อยู่ในคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ รวมทั้งตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 6,481,598 บี 1 ของโจทก์ที่ 1 ก็มีการใช้ท่ออ่อนตัว (flexible inflation tube) อยู่ก่อนแล้ว การติดตั้งลิ้นเปิดปิดที่ท่ออ่อนตัวหรือติดตั้งวาล์วที่ถุงลมจึงเป็นเพียงการนำสิ่งต่าง ๆ มาประกอบเข้าด้วยกัน (aggregation) โดยไม่ได้มีผลในการช่วยแก้ไขปัญหาทางเทคนิคในเรื่องการตกค้างของสินค้า การประกอบเข้าด้วยกันดังกล่าวจึงถือเป็นสิ่งที่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับการประดิษฐ์ดังกล่าวสามารถคาดหมายได้ ย่อมมิใช่การประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 5 (2) และมาตรา 7
สำหรับข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรเลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 ในเรื่องแถบอ่อนตัวซึ่งแต่ละอันที่ติดอยู่ตรงรอยต่อของผนังด้านหน้าตัวภาชนะแต่ละด้านที่เชื่อมต่อกับผนังด้านข้างมีรูตลอดแนวและแต่ละรูของแถบอ่อนตัวแต่ละอันอยู่ในตำแหน่งที่ตรงกัน และแถบอ่อนตัวซึ่งเป็นแบบทึบติดอยู่ตรงรอยต่อของผนังด้านหน้าของตัวภาชนะแต่ละด้านที่เชื่อมต่อกับผนังด้านบนและผนังด้านข้างนั้น จำเลยที่ 4 พบว่าเมื่อติดตั้งคอนเทนเนอร์ไลเนอร์เข้ากับตู้ขนส่งสินค้าแล้ว จะมีช่องว่างระหว่างผนังคอนเทนเนอร์ไลเนอร์กับผนังตู้ขนส่งสินค้าโดยเฉพาะด้านบน เนื่องจากเมื่อแขวนคอนเทนเนอร์ไลเนอร์แล้ว ส่วนผนังด้านบนจะหย่อนลงมาหรือที่เรียกว่า “ตกท้องช้าง” และเกิดช่องว่างซึ่งทำให้ในระหว่างการบรรจุสินค้าโดยเฉพาะในเวลากลางคืน จะมีแมลงหรือจิ้งจก รวมทั้งสิ่งปนเปื้อนเข้าไปในช่องว่างดังกล่าว จำเลยที่ 4 จึงคิดประดิษฐ์แถบพลาสติกตรงรอยต่อระหว่างผนังด้านข้างและผนังด้านบนของคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ หรือเรียกว่า แถบอ่อนตัว เพื่อนำมาปิดช่องว่างดังกล่าว จำเลยที่ 4 ประดิษฐ์แถบอ่อนตัวเป็น 2 แบบ คือ แถบอ่อนตัวแบบมีรู กับแบบไม่มีรู ซึ่งมีลักษณะการใช้งานต่างกัน แบบมีรูสามารถสอดแท่งเหล็กผ่านแถบอ่อนเข้ายังสายห่วงคล้องไปช่วยพยุงคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ไม่ให้มีรอยยับย่นและคงรูปทรงให้เรียบร้อย ส่วนแบบไม่มีรูจะปิดช่องว่างได้อย่างมิดชิด เหมาะสำหรับขนส่งสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์อาหารหรือเกี่ยวข้องกับอาหารที่เน้นไม่ให้มีสิ่งปนเปื้อนหรือแมลงเข้าไปในตู้ขนส่งสินค้า สำหรับในกรณีลูกค้าที่ใช้ลำเลียงผลิตภัณฑ์ด้วยสายพาน อาจจะดูดอากาศในช่องว่างระหว่างผนังตู้ขนส่งสินค้ากับคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ให้เกิดสุญญากาศ แถบอ่อนดังกล่าวยังช่วยให้คงสภาวะสุญญากาศที่ช่องว่างระหว่างผนังแต่ละด้านของตัวภาชนะบรรจุสินค้าได้ด้วย ในกรณีของแถบอ่อนตัวแบบมีรูนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อพยุงให้คอนเทนเนอร์ไลเนอร์คงรูปอยู่ได้เช่นเดียวกับแถบกันกระเทือนตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 6,837,391 บี 2 ซึ่งมีชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์ว่า ระบบกันกระเทือนสำหรับคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ที่ใช้ขนสินค้าเทกอง (Suspension System for Bulk Material Cargo Container Liner) เปิดเผยถึงการใช้แถบกันกระเทือนกับคอนเทนเนอร์ไลเนอร์สำหรับสินค้าเทกองว่า แถบกันกระเทือนดังกล่าวเป็นแถบคู่แนวตั้ง แถบติดตั้งอยู่คนละด้านที่ส่วนหัวมุมบนด้านหน้า ตรงกันข้ามกันที่ส่วนมุมบนด้านหน้าของคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ แถบกันกระเทือนแต่ละอันประกอบด้วยรูวงแหวนจำนวน 5 รู จะยึดแกนเหล็ก (finger bars) ไว้ แกนเหล็กดังกล่าวติดตั้งอย่างคงที่อยู่ที่ส่วนผนังด้านในของตู้ขนส่งสินค้าแบบเทกอง และจะสอดผ่านรูวงแหวนทำให้คอนเทนเนอร์ไลเนอร์คงรูปอยู่ได้ การประดิษฐ์ในส่วนนี้จึงเป็นการประดิษฐ์ที่เป็นที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับงานประเภทคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ที่จะดัดแปลงแถบกันกระเทือนดังกล่าวเข้ากับการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 6,481,598 บี 1 ของโจทก์ที่ 1 เพื่อให้เกิดความแข็งแรงและพยุงคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น แถบอ่อนตัวแบบมีรูตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีลักษณะเป็นการดัดแปลงแถบกันกระเทือนดังกล่าวจึงเป็นการประดิษฐ์ที่ไม่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้นตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 5 (2) และมาตรา 7
ส่วนกรณีการใช้แถบอ่อนตัวแบบทึบนั้น ปรากฏจากสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 ในส่วนการเปิดเผยการประดิษฐ์ที่สมบูรณ์ว่า “…ปิดแถบอ่อนตัวในแนวตั้งแบบทึบ 10 บี ให้แนบกับผนังด้านข้างของตู้ขนส่งสินค้าทั้ง 2 ข้าง หลังจากใช้ท่อดูดอากาศ (ไม่ได้แสดงแบบไว้) ดูดอากาศระหว่างช่องว่างรอบตู้ขนส่งสินค้าออกจนหมดแล้ว…” การใช้ท่อดูดอากาศดังกล่าวแสดงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงว่าจำเลยที่ 2 ต้องการให้เกิดสภาวะสุญญากาศระหว่างผนังของคอนเทนเนอร์ไลเนอร์และผนังของตู้ขนส่งสินค้า ซึ่งเจือสมกับคำเบิกความของกรรมการบริษัทโจทก์ทั้งสอง ที่ว่า นอกจากจะใช้วิธีการแขวนกับห่วงหรือตัวเกี่ยวภายในตู้ขนส่งสินค้าเหมือนกับการกางมุ้งแล้ว ยังนำความเป็นสุญญากาศมาใช้ กล่าวคือ ดูดอากาศที่มีอยู่ระหว่างผนังภายในของตู้ขนส่งสินค้ากับพื้นผิวภายนอกของบรรจุภัณฑ์ออกเสียให้หมด เมื่อบรรจุภัณฑ์ซึ่งมีเนื้อที่อ่อนตัวและทึบ อากาศผ่านไม่ได้ จะถูกดูดติดกับผนังด้านในของตู้ขนส่งสินค้า อันเป็นปรากฏการณ์ของระบบสุญญากาศ ซึ่งเป็นที่รู้และใช้กันมานาน รวมทั้งโจทก์ทั้งสองใช้ระบบนี้กับบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ได้ใช้ห่วงหรือขอเกี่ยว นอกจากนี้ ตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 5,244,332 ซึ่งมีชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์ว่า วิธีการขนสินค้าเทกองและอุปกรณ์ (Bulk Loading Method and Apparatus) อ้างถึงผนึกสุญญากาศ โดยการดูดอากาศภายในเทรลเลอร์หรือตู้ขนส่งสินค้าที่อยู่ระหว่างพลาสติกไลเนอร์กับผนังด้านข้างของตู้ขนส่งสินค้า ซึ่งตามรูปที่ 7 ของสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกา ท่อดูดอากาศแนวตั้งคู่หนึ่ง ถูกสอดเข้าไปภายในผนังด้านข้างที่ท้ายของรถกึ่งเทรลเลอร์ใกล้ส่วนพับของประตู และสิทธิบัตรดังกล่าวยังอ้างถึงการปิดผนึกว่า เมื่อคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ เติมลมอย่างถูกต้องและปิดผนึกที่ประตูเทรลเลอร์แล้ว มีแนวโน้มที่จะคงอยู่ในสภาพที่มีลมเป็นระยะเวลานาน แม้ว่าปราศจากอากาศและการดูดช่วย หลังจากบรรจุสินค้าเข้าในเทรลเลอร์แล้ว ปิดเครื่องเป่า และมัดวัสดุส่วนที่เกินของคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ที่ส่วนปลายของสินค้า และปิดผนึกเพื่อให้แน่ใจว่าจะป้องกันความชื้นในพื้นที่บริเวณรอบ ๆ สินค้าทั้งหมด ตามรูปที่ 16 วิธีการทำให้เกิดสุญญากาศตลอดแนวผนังเป็นเรื่องที่ปฏิบัติกันอยู่แล้วเพื่อรักษารูปทรงของคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ในระหว่างการใช้งาน ดังนั้น การปิดแถบอ่อนตัวในแนวตั้งแบบทึบให้แนบกับผนังด้านข้างของตู้ขนส่งสินค้าทั้ง 2 ข้าง หลังจากการใช้ท่อดูดอากาศตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 เป็นเพียงการช่วยรักษาสภาวะสุญญากาศให้คงอยู่ การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรเลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 ในส่วนนี้จึงเป็นการประดิษฐ์ที่เป็นที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับงานประเภทคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ย่อมมิใช่การประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 5 (2) และมาตรา 7
ส่วนข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 ในเรื่องชุดขอแขวนที่ติดอยู่ที่ด้านนอกของผนังด้านบนของตัวภาชนะสำหรับบรรจุสินค้า ซึ่งประกอบด้วยแผ่นรับแรงที่มีรูกลมทะลุ แถบยางยืดหยุ่นที่สอดเข้ากับรูกลมทะลุของแผ่นรับแรงและขอแขวนเพื่อยึดผนังด้านบนของภาชนะอ่อนตัวสำหรับบรรจุสินค้าประเภทผงหรือเม็ดเข้ากับตู้ขนส่งสินค้านั้น จำเลยที่ 4 พบว่าคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ที่ใช้อยู่ทั่วไปมีขอแขวนประกอบด้วยแผ่นรับแรงที่มีรูกลมจำนวนสองรู หรือบางรายใช้เทปกาวติดระหว่างแผ่นรับแรงกับผนังคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ ทำให้หลุดร่อนและส่งผลทำให้คอนเทนเนอร์ไลเนอร์ฉีกขาดและเสียหาย จำเลยที่ 4 จึงคิดประดิษฐ์ชุดขอแขวนที่มีแถบยางยืดหยุ่นอยู่ด้านบนของตัวคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ให้แข็งแรงกว่าที่ใช้กันอยู่ในขณะนั้น โดยให้มีแผ่นรับแรงที่มีรูกลมจำนวนสี่รู ซึ่งแตกต่างจากผู้ผลิตทั่วไป และการที่ชุดขอแขวนที่มีแผ่นรองรับสี่รูสามารถรับน้ำหนักและพยุงคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ได้ดีกว่า และมีการใช้ชุดขอแขวนชนิดสองรูกับคอนเทนเนอร์ไลเนอร์มาก่อน แต่มีความแข็งแรงไม่เท่ากับชุดขอแขวนแบบสี่รู ชุดขอแขวนเป็นอุปกรณ์ที่ใช้กับคอนเทนเนอร์ไลเนอร์โดยทั่วไป ชุดขอแขวนจำเป็นต้องใช้ในการติดตั้งคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ทุกกรณี คอนเทนเนอร์ไลเนอร์ของโจทก์ทั้งสองและของผู้ผลิตรายอื่นมีชุดขอแขวนเช่นกัน เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงดังกล่าวประกอบสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 5,489,037 ซึ่งมีชื่อแสดงถึงการประดิษฐ์ว่า ระบบคอนเทนเนอร์ไลเนอร์สำหรับการย้ายสินค้าเทกอง (Container Liner System for Bulk Tranfer) แล้ว สิทธิบัตรดังกล่าวเปิดเผยแถบแขวนซึ่งใช้แขวนคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ทางด้านบน ตามรูปที่ 3 ของสิทธิบัตรดังกล่าว ปลายของผนังด้านหลัง ใส่เข้ากับแถบแขวน และทำนองเดียวกับปลายของผนังด้านหน้า ใส่เข้ากับเครื่องแขวน ซึ่งรวมทั้งแผ่นตะปู และแถบแขวน นอกจากนี้ ยังมีสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 6,533,137 บี 2 ซึ่งมีชื่อแสดงถึงการประดิษฐ์ว่า คอนเทนเนอร์สำหรับการเก็บและการส่งสินค้าเทกอง (Container for Storing and Handing Bulk Material) ตามรูปที่ 3 ของสิทธิบัตรดังกล่าว แถบยืดได้ที่มีห่วง เชื่อมต่อกับเครื่องยึด (anchors หรือ anchoring means) โดยใช้เครื่องมือที่สะดวกสบาย เช่น การรวมกันของขอสับและขอเกี่ยว ซึ่งเครื่องยึดดังกล่าวมีลักษณะเป็นแผ่นกลมสำหรับรับน้ำหนัก ดังนั้น การดัดแปลงในลักษณะต่าง ๆ เช่น เพิ่มจำนวนรูที่แผ่นรับแรง หรือการทำให้ชุดขอแขวนรับน้ำหนักได้มากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่คาดหมายได้ของบุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับงานประเภทคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ ไม่ถือว่าการประดิษฐ์ส่วนนี้มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 5 (2) และมาตรา 7 การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรเลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 ไม่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น จึงเป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์ ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 5 (2) และมาตรา 7

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกบริษัทแคร์เท็กซ์ เอ/เอส จำกัด และบริษัทแคร์เท็กซ์ เอเซีย จำกัด เป็นโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ ให้เรียกบริษัทแมททีเรียล เวิลด์ จำกัด บริษัทคาร์โก้ เพอร์เฟ็ค จำกัด นายสุทธิพงศ์ และนางสุนันท์ เป็นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 17,294,900 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองจำนวนเดือนละ 1,697,400 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะยุติการกระทำละเมิด และให้เพิกถอนสิทธิบัตรเลขที่ 20818 ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นำคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิบัตรไปดำเนินการขอจดทะเบียนแก้ไขและเพิกถอนสิทธิบัตร หากไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในการขอจดทะเบียนแก้ไขหรือเพิกถอนสิทธิบัตรเลขที่ 20818
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การและจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 20,000,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 พร้อมด้วยดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวนดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิบัตรเลขที่ 20818 ชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์ “ภาชนะอ่อนตัวสำหรับบรรจุสินค้าประเภทผงหรือเม็ดเพื่อการขนส่งด้วยตู้ขนส่งสินค้า” คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสี่ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่ไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายของประเทศเดนมาร์ก โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ทรงสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ “คอนเทนเนอร์ไลเนอร์” หรือ “ภาชนะอ่อนตัว” ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์หรือภาชนะ พร้อมด้วยวิธีการทำให้เคลื่อนเข้าแทนที่สำหรับช่วยในการนำสิ่งที่บรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์หรือภาชนะดังกล่าวที่มีคุณสมบัติพิเศษสามารถบรรจุสินค้าประเภทที่เป็นเมล็ดหรือเม็ดเล็ก ๆ เช่น แป้ง ข้าว น้ำตาลทราย หรือเมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งมีจำนวนมากให้สามารถขนถ่ายออกจากตู้ขนส่งสินค้าได้โดยรวดเร็วและไม่ตกค้าง โจทก์ที่ 1 ได้รับสิทธิบัตรจากกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ดินแดนไต้หวัน ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ ยกเว้นในประเทศไทย ตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 6,481,598 บี 1 เมื่อประมาณปี 2541 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนจำหน่ายบรรจุภัณฑ์หรือคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ หรือไลเนอร์ ในประเทศไทยให้โจทก์ที่ 1 ต่อมาในปี 2545 โจทก์ที่ 1 จัดตั้งบริษัทโจทก์ที่ 2 ในประเทศไทย เมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2548 โจทก์ทั้งสองบอกเลิกการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ต่อมาในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2548 จำเลยที่ 2 ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ภาชนะอ่อนตัวสำหรับบรรจุสินค้าประเภทผงหรือเม็ดเพื่อการขนส่งด้วยตู้ขนส่งสินค้าในประเทศไทย และต่อมาเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2549 กรมทรัพย์สินทางปัญญาออกสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 20818 ให้แก่จำเลยที่ 2 สิทธิบัตรของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวมีชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์ว่า “ภาชนะอ่อนตัวสำหรับบรรจุสินค้าประเภทผงหรือเม็ดเพื่อการขนส่งด้วยตู้ขนส่งสินค้า” จำเลยที่ 2 อ้างถึงศิลปะหรือวิทยาการที่เกี่ยวข้องคือ สิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 5,489,037 ของ “Insta-Bulk, Inc”. (บริษัทอินสตา – บัลค์ จำกัด) ซึ่งมีชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์ว่า “ระบบคอนเทนเนอร์ไลเนอร์สำหรับการย้ายสินค้าเทกอง” (Container liner system for bulk transfer) และสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 6,481,598 บี 1 ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งมีชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์ว่า “คอนเทนเนอร์ไลเนอร์พร้อมด้วยวิธีการทำให้เคลื่อนเข้าแทนที่สำหรับช่วยในการนำสิ่งที่บรรจุในบรรจุภัณฑ์หรือภาชนะดังกล่าวออก” (Container liner with displacement means for aiding the discharge of the contents of said container liner) ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2548 จำเลยที่ 2 ไปยื่นคำขอรับสิทธิบัตรที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ตามประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตร ต่อมาเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2552 ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ทั้งสองมีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้ยุติการทำซ้ำ คัดลอก เลียนแบบ ดัดแปลงแบบพิมพ์ การผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับตู้ขนส่งสินค้า รวมถึงการเผยแพร่แบบพิมพ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับตู้ขนส่งสินค้าแก่ลูกค้าและบุคคลทั่วไป โดยอ้างว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และสิทธิตามกฎหมายของโจทก์ทั้งสอง ตามหนังสือขอให้ยุติการกระทำละเมิดลงวันที่ 21 เมษายน 2552 สำหรับปัญหาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์รายละเอียดของผลิตภัณฑ์ (specification) และแบบพิมพ์ลายเส้นบรรจุภัณฑ์คอนเทนเนอร์ไลเนอร์ (drawings) ซึ่งเป็นงานที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าเป็นงานวรรณกรรมและงานจิตรกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองหรือไม่นั้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่ารายละเอียดของผลิตภัณฑ์และแบบพิมพ์ลายเส้นบรรจุภัณฑ์คอนเทนเนอร์ไลเนอร์ของโจทก์ทั้งสองเป็นรายละเอียดและรูปภาพของผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับขนาด วัสดุที่ใช้ผลิตและวัสดุที่ใช้ในการติดตั้งใช้งาน ไม่มีลักษณะเป็นงานนิพนธ์ และแบบพิมพ์ลายเส้นบรรจุภัณฑ์คอนเทนเนอร์ไลเนอร์ของโจทก์ทั้งสองไม่มีลักษณะเป็นงานสร้างสรรค์รูปทรงที่ประกอบด้วย เส้น แสง สี หรือสิ่งอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันลงบนวัสดุอย่างเดียวหรือหลายอย่างในทางศิลปะ จึงรับฟังไม่ได้ว่าเป็นงานสร้างสรรค์ประเภทงานวรรณกรรมและงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 และมาตรา 4 เมื่อรายละเอียดของผลิตภัณฑ์และแบบพิมพ์ลายเส้นบรรจุภัณฑ์คอนเทนเนอร์ไลเนอร์ของโจทก์ทั้งสองไม่ใช่งานอันมีลิขสิทธิ์ แม้จะฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันเผยแพร่รายละเอียดของผลิตภัณฑ์และแบบพิมพ์ลายเส้นบรรจุภัณฑ์คอนเทนเนอร์ไลเนอร์ของโจทก์ทั้งสอง การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ดังกล่าวก็ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ปัญหาดังกล่าวโจทก์ทั้งสองไม่อุทธรณ์ ปัญหานี้จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ประการแรกว่า การดำเนินคดีนี้ของโจทก์ทั้งสองเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ ที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่า ในช่วงปี 2549 ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ที่ 1 มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 แต่โจทก์ที่ 1 ไม่ดำเนินการฟ้องร้องหรือดำเนินการใด ๆ เหตุที่โจทก์ที่ 1 มีหนังสือดังกล่าวเพื่อนำไปใช้กล่าวอ้างต่อบุคคลทั่วไปโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีผลกระทบกับการจำหน่ายสินค้าของจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 1 ใช้วิธีกล่าวหา โดยไขข่าวแพร่หลายให้กลุ่มลูกค้าและบุคคลทั่วไปเข้าใจว่าสินค้าที่จำเลยที่ 1 จำหน่ายเป็นสินค้าผิดกฎหมาย ทั้งที่ในขณะนั้นยังไม่มีการฟ้องคดี การกระทำดังกล่าวเป็นการจงใจทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย จึงมิใช่การใช้สิทธิในการดำเนินคดีของโจทก์ทั้งสองโดยสุจริต หลังจากโจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องคดีแล้ว โจทก์ทั้งสองขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกเอกสารไปเฉพาะกลุ่มลูกค้าของจำเลยที่ 1 โดยไม่มีเจตนาที่จะใช้เอกสารดังกล่าวแต่เพื่อให้กลุ่มลูกค้าของจำเลยที่ 1 ทราบว่าจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องและไม่กล้าซื้อสินค้าของจำเลยที่ 1 การกระทำของโจทก์ทั้งสองเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตและจงใจไขข่าวแพร่หลายเพื่อขัดขวางและกีดกันการประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 1 การที่โจทก์ทั้งสองไม่ประสงค์จะใช้เอกสารแต่มีเจตนาที่จะให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย จึงเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ทรงสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ที่เรียกว่า คอนเทนเนอร์ไลเนอร์ ในต่างประเทศหลายประเทศ โจทก์ที่ 1 เคยว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าดังกล่าวในประเทศไทย หลังจากจำเลยที่ 1 มิได้เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าให้แก่โจทก์ที่ 1 แล้ว โจทก์ทั้งสองพบว่าจำเลยทั้งสี่ผลิตและจำหน่ายสินค้าคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ โดยใช้ชื่อทางการค้าว่า แครีบัลค์ (CarriBulk) เมื่อโจทก์ทั้งสองพิจารณารายละเอียดของผลิตภัณฑ์ (specification) และแบบพิมพ์ลายเส้นบรรจุภัณฑ์ (drawings) แล้วเชื่อว่ามีการลอกเลียนข้อมูล อันเป็นการกระทำที่โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง กรณีจึงมีเหตุผลสมควรให้โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่เพื่อปกป้องสิทธิของตนตามกฎหมายได้ การที่โจทก์ทั้งสองมอบหมายให้ทนายความมีหนังสือไปยังจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โดยกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ละเมิดลิขสิทธิ์และสิทธิตามกฎหมายของโจทก์ทั้งสองและขอให้ยุติการกระทำละเมิด เป็นขั้นตอนตามปกติของการดำเนินการก่อนฟ้องคดี ส่วนการที่โจทก์ทั้งสองขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกพยานเอกสารก็เป็นสิทธิของคู่ความที่เห็นว่าเอกสารที่ตนประสงค์จะอ้างอิงเป็นพยานหลักฐานอยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก โดยคู่ความฝ่ายนั้นสามารถยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งให้บุคคลที่ครอบครองส่งต้นฉบับเอกสารนั้นได้ การที่โจทก์ทั้งสองขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกพยานเอกสารจึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีของตน แม้ภายหลังโจทก์ทั้งสองไม่ได้อ้างส่งเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานก็เป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสองเห็นว่าไม่จำเป็นต้องอ้างเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้างตามคำฟ้องของตน ข้อเท็จจริงยังไม่พอให้รับฟังว่าโจทก์ทั้งสองต้องการกลั่นแกล้งจำเลยทั้งสี่โดยมุ่งต่อผลที่จะให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยทั้งสี่ จึงไม่ใช่การที่โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การดำเนินคดีนี้ของโจทก์ทั้งสองเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า การกระทำของโจทก์ทั้งสองมีลักษณะเป็นเพียงการใช้สิทธิในการดำเนินคดีของโจทก์ทั้งสอง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ประการนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ประการต่อไปว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการฟ้องขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 20818 หรือไม่ ที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่า โจทก์ที่ 1 ได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์สำหรับสินค้าคอนเทนเนอร์ไลเนอร์เฉพาะในทวีปยุโรป ตามคำขอรับสิทธิบัตรยุโรป (European Patent Application เลขที่ 95610059.8) และสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกา เฉพาะในส่วนถุงลม ตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 6,481,598 บี 1 โจทก์ทั้งสองไม่ได้รับสิทธิบัตรใด ๆ เกี่ยวกับสินค้าดังกล่าวในประเทศไทย อีกทั้งโจทก์ที่ 1 ก็ไม่ได้ผลิตและจำหน่ายคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ในประเทศไทย นอกจากนี้โจทก์ทั้งสองไม่ได้เป็นผู้ผลิตหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภาชนะอ่อนตัวสำหรับบรรจุสินค้าประเภทผงหรือเม็ดเพื่อการขนส่งด้วยตู้ขนส่งสินค้าที่มีลักษณะเช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรของจำเลยที่ 2 ในประเทศไทยด้วย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีส่วนได้เสียในการฟ้องคดีนั้น เห็นว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้กับตู้ขนส่งสินค้า และโจทก์ที่ 1 จัดตั้งบริษัทโจทก์ที่ 2 ในประเทศไทย เพื่อผลิตและจำหน่ายสินค้าคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ดังกล่าว โดยปรากฏในวัตถุประสงค์ ข้อ 1 ตามหนังสือรับรองว่า “ทำการผลิต จำหน่ายในประเทศ และส่งออกไปยังต่างประเทศ ผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่อใช้ในการบรรจุสินค้าในอุตสาหกรรมขนส่ง…” การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์เลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 เกี่ยวข้องกับภาชนะอ่อนตัวสำหรับบรรจุสินค้าเพื่อการขนส่งด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์ภาชนะอ่อนตัวสำหรับบรรจุสินค้า (flexible liner) ก็คือบรรจุภัณฑ์ที่ใช้กับตู้ขนส่งสินค้าหรือคอนเทนเนอร์ไลเนอร์นั่นเอง สินค้าที่จำเลยที่ 2 ผลิตและจำหน่ายดังกล่าวจึงเป็นสินค้าประเภทเดียวกับสินค้าของโจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยที่ 2 ได้รับสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ภาชนะอ่อนตัวสำหรับบรรจุสินค้าประเภทผงหรือเม็ดเพื่อการขนส่งด้วยตู้ขนส่งสินค้าตามสิทธิบัตรเลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 36 วรรคหนึ่ง (1) ย่อมส่งผลกระทบต่อการผลิตและการขายสินค้าคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ของโจทก์ทั้งสองในประเทศไทย โจทก์ทั้งสองย่อมได้รับความเสียหายจากการออกสิทธิบัตรเลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 หากการออกสิทธิบัตรนั้นเป็นการออกสำหรับการประดิษฐ์ที่ไม่อาจขอรับสิทธิบัตรได้ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 จึงถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการฟ้องคดีเพื่อขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรนั้นได้ ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคสอง อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ประการนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ประการต่อไปว่า สิทธิบัตรเลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 เป็นสิทธิบัตรที่สมบูรณ์หรือไม่ ในประเด็นที่ว่าการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรเลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่หรือไม่นั้น เห็นว่า การพิจารณาว่าการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ต้องพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างงานที่ปรากฏอยู่แล้วกับรายละเอียดของการประดิษฐ์ในข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรของจำเลยที่ 2 ซึ่งประกอบด้วย (1) ถุงลมหกเหลี่ยมด้านไม่เท่าเมื่อเติมอากาศเข้าไปในถุงลมจนเต็มแล้วจะขยายตัวออกเป็นรูปทรงปริซึมสามเหลี่ยมปลายตัดที่ก่อให้ผนังของตัวภาชนะสำหรับบรรจุสินค้าบริเวณที่ถุงลมติดตั้งอยู่ยกตัวดันให้สินค้าไหลมาสู่ช่องสำหรับเปิดให้สินค้าไหลออก ที่ถุงลมประกอบด้วยท่ออ่อนตัวสำหรับเป่าลมที่มีลิ้นเปิดปิดสำหรับควบคุมการไหลของอากาศเข้าสู่ถุงลม และมีวาล์วแบบเกลียวหมุนสำหรับปล่อยอากาศออกจากถุงลม (2) แถบอ่อนตัว ซึ่งมีสองชนิด ชนิดแรกเป็นแถบอ่อนตัวที่แต่ละอันติดอยู่ตรงรอยต่อของผนังด้านหน้าตัวภาชนะแต่ละด้านที่เชื่อมต่อกับผนังด้านข้าง มีรูตลอดแนวและแต่ละรูของแถบอ่อนตัวแต่ละอันอยู่ในตำแหน่งที่ตรงกัน ชนิดที่สองเป็นแถบอ่อนตัวแบบทึบ ติดอยู่ตรงรอยต่อของผนังด้านหน้าของตัวภาชนะแต่ละด้านที่เชื่อมต่อกับผนังด้านบนและผนังด้านข้าง (3) ชุดขอแขวนติดอยู่ที่ด้านนอกของผนังด้านบนของตัวภาชนะสำหรับบรรจุสินค้า ชุดขอแขวนประกอบด้วยแผ่นรับแรงที่มีรูกลมทะลุ แถบยางยืดหยุ่นที่สอดเข้ากับรูกลมทะลุของแผ่นรับแรงและขอแขวนเพื่อยึดผนังด้านบนของภาชนะอ่อนตัวสำหรับบรรจุสินค้าประเภทผงหรือเม็ดเข้ากับตู้ขนส่งสินค้า เมื่อพิจารณางานที่ปรากฏอยู่แล้วตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 5,489,037 ของบริษัทอินสตา – บัลค์ จำกัด และสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 6,481,598 บี 1 ของโจทก์ที่ 1 แล้ว ไม่ปรากฏว่ามีภาชนะสำหรับบรรจุสินค้าหรือคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ที่มีส่วนประกอบคือถุงลมที่เมื่อเติมอากาศเข้าไปจนเต็มแล้วจะขยายตัวออกเป็นรูปทรงปริซึมสามเหลี่ยมปลายตัดและที่ถุงลมมีท่ออ่อนตัวซึ่งมีลิ้นเปิดปิดและมีวาล์วแบบเกลียวหมุน ไม่ปรากฏว่ามีแถบอ่อนตัวติดอยู่ตรงรอยต่อของผนังด้านหน้าตัวภาชนะอ่อนตัวสำหรับบรรจุสินค้าแต่ละด้านที่เชื่อมต่อกับผนังด้านข้าง และไม่ปรากฏว่ามีชุดขอแขวนซึ่งประกอบด้วยแผ่นรับแรงที่มีรูกลมทะลุจำนวน 4 รู แถบยางยืดหยุ่นที่สอดเข้ากับรูกลมทะลุของแผ่นรับแรงและขอแขวนเพื่อยึดผนังด้านบนของภาชนะอ่อนตัวเข้ากับตู้ขนส่งสินค้า ดังนั้น การประดิษฐ์ในข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรเลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วไม่ใช่การประดิษฐ์ซึ่งเป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว จึงเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเห็นว่า เมื่อมีการเติมอากาศจนเต็ม รูปทรงไม่เป็นไปตามที่ระบุในสิทธิบัตรของจำเลยที่ 2 คือด้านปลายฐานกว้าง (14) ตรงข้ามด้านปลายฐานแคบ (100) แต่เป็นรูปวงรีปลายแหลมทำให้ด้านข้างของถุงลมโค้งออกตามรูปที่ 5 ในหน้าที่ 4 ของรูปเขียนประกอบสิทธิบัตร พื้นที่ในการยกตัวและความโค้งของถุงลมใกล้เคียงกับถุงลมของโจทก์ทั้งสอง เมื่อถุงลมพองตัวจากมุมด้านสูง ทำให้สินค้าไหลมาสู่มุมด้านต่ำเช่นเดียวกับถุงลมของโจทก์ทั้งสอง ถุงลมตามสิทธิบัตรของจำเลยที่ 2 มีคุณสมบัติการใช้สอยและทำให้เกิดผลในการทำงานเช่นเดียวกับถุงลมของโจทก์ทั้งสอง ไม่มีการพัฒนาที่ดีขึ้น จึงไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ซึ่งจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์โต้แย้งสรุปได้ว่า ถุงลมของจำเลยที่ 2 มีรูปทรงเป็นรูปหกเหลี่ยมด้านไม่เท่าและมีฐาน โดยไม่มีส่วนใดแหลม เมื่อขยายตัวออกจะเป็นรูปทรงปริซึมสามเหลี่ยมปลายตัดตามข้อถือสิทธิ แต่การแสดงภาพรูปทรงไม่อาจวาดในระบบ 2 มิติ ให้เหมือนของจริงได้ หากพิจารณารูปที่ 4 และรูปที่ 6 ประกอบกันแล้ว จะเห็นว่ารูปที่ 4 แสดงเป็นภาพซ้อนกันของฟิล์มที่ยึดติดกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมพับซ้อนอยู่ภายในเป็นรูปตัววี โดยอยู่ระหว่างแผ่นฟิล์มคู่บนและคู่ล่าง ซึ่งจะเห็นเพียงแผ่นฟิล์มซ้อนกัน 2 คู่ (4 แผ่น) ซ้อนทับกันอยู่ และรูปที่ 6 แนวเส้นประตามแนวนอนเหนือวาล์วแบบเกลียวหมุนคือ ส่วนแหลมของตัววีที่เกิดจากการพับฐานซ้อนอยู่ภายในเข้าหากันดังกล่าวนั้น เห็นว่า กรณีที่ข้อถือสิทธิมีความชัดเจน ลักษณะของการประดิษฐ์ต้องถือตามข้อความที่บรรยายในข้อถือสิทธินั้น ส่วนรูปเขียนประกอบเป็นเพียงสิ่งที่ช่วยให้ข้อความที่บรรยายชัดเจนขึ้น ในเรื่องถุงลมนี้ จำเลยที่ 2 บรรยายในข้อถือสิทธิว่า “…ถุงลมดังกล่าวเมื่อเติมอากาศเข้าไปในถุงลมจนเต็มแล้วจะขยายตัวออกเป็นรูปทรงปริซึมสามเหลี่ยมปลายตัด…” ซึ่งมีความชัดเจนเพียงพอ และไม่อาจตีความว่ารูปทรงของด้านปลายฐานกว้าง (14) เป็นรูปวงรีปลายแหลมได้ จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่าภาชนะอ่อนตัวตามสิทธิบัตรเลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 เมื่อเติมอากาศเข้าไป ถุงลมสามารถขยายตัวออกเป็นรูปทรงปริซึมสามเหลี่ยมปลายตัด รูปร่างของถุงลมตามสิทธิบัตรเลขที่ 20818 จึงแตกต่างจากถุงลมซึ่งเป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้วตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 6,481,598 บี 1 ของโจทก์ที่ 1 การประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ภาชนะอ่อนตัวสำหรับบรรจุสินค้าประเภทผงหรือเม็ดเพื่อการขนส่งด้วยตู้ขนส่งสินค้าตามสิทธิบัตรเลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 ย่อมเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ประการนี้ฟังขึ้น
ส่วนประเด็นที่ว่าการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรของจำเลยที่ 2 เป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้นหรือไม่ เห็นว่า ตามสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 ซึ่งโจทก์ที่ 1 ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2545 ก่อนที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรในประเทศไทยประมาณ 3 ปี ได้เปิดเผยภูมิหลังของการประดิษฐ์ว่า เดิมการขนถ่ายสินค้าออกจากคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ใช้การเอียงตู้คอนเทนเนอร์โดยให้สินค้าซึ่งเป็นวัตถุที่เป็นผง เม็ด หรือสามารถไหลได้ตามแรงโน้มถ่วงของโลกไปยังส่วนที่เปิดซึ่งอยู่ด้านล่างของคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ แต่มีปัญหาคือวัตถุที่เป็นผงหรือเป็นเม็ดบางส่วนมักติดอยู่บริเวณมุมด้านล่างของตู้ขนส่งสินค้า จึงมีการแก้ไขโดยติดตั้งวัสดุรูปสามเหลี่ยมที่มุม (triangular corners) เพื่อลดการสะสมของสินค้าที่บริเวณมุมในระหว่างการถ่ายสินค้า ตัวอย่างการติดตั้งวัสดุแข็งที่มุมซึ่งประกอบเข้ากับฝากั้น (bulkhead) ปรากฏในสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 4,799,607 ส่วนสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 5,531,361 ฝากั้นจะมีถุงลมรูปทรงพีระมิดติดตั้งอยู่มุมด้านล่างของด้านที่ถ่ายสินค้า ทำนองเดียวกับสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 5,489,037 ซึ่งเป็นถุงลมรูปทรงพีระมิดติดตั้งอยู่ภายในคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ นอกจากนี้ตามคำขอรับสิทธิบัตรนานาชาติ (International patent application) เลขที่ ดับเบิลยูโอ 95/01925 ได้แก้ปัญหาอีกทางหนึ่ง คือนำถุงลมสองถุงไปไว้ที่ด้านมุมล่างของแต่ละด้านซึ่งเป็นด้านที่ปล่อยสินค้าออกของคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ ภูมิหลังของการประดิษฐ์ดังกล่าวแสดงถึงพัฒนาการของการแก้ปัญหาสินค้าตกค้างอยู่ในคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ จนกระทั่งมีการใช้ถุงลมดันสินค้า ส่วนการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 ตามสรุปย่อการประดิษฐ์ปรากฏว่า วิธีปล่อยสินค้าประกอบด้วยถุงที่พองลมและอ่อนตัวได้อย่างน้อยหนึ่งใบ โดยมีรูปทรงสามเหลี่ยมหรือสี่เหลี่ยมคางหมูซึ่งติดอยู่กับผนังส่วนปลายผนังแรก ส่วนสามเหลี่ยม (triangular portion) ส่วนแรกยันกับผิวหน้าด้านนอกของพื้น สามเหลี่ยมส่วนที่สองยันส่วนผนังข้างของคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ที่ติดกัน ถุงรูปทรงสามเหลี่ยมประกอบด้วยสามมุม มีตำแหน่งอยู่ที่มุมของผนังส่วนปลายกับส่วนผนังข้าง ผนังส่วนปลายกับส่วนผนังด้านล่าง และผนังด้านข้างกับส่วนผนังด้านล่าง การประดิษฐ์ดังกล่าวถุงลมจะเคลื่อนสินค้าในคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ไปยังด้านข้างและไปยังช่องปล่อยสินค้า ถุงลมมีรูปทรงสามเหลี่ยมและอยู่ในแนวเดียวกับผนังด้านข้าง ทั้งยังติดกับคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ตามแนวขอบผนังด้านข้างและพื้นของคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ วิธีการนี้สินค้าไม่ถูกยกแต่ถูกดันไปด้านข้างออกจากผนังข้างที่อยู่บริเวณมุมของคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ ส่วนมุมบนของถุงลมจะมีท่ออ่อนตัวสำหรับเติมลมให้แก่ถุงลมด้วยอากาศที่มีความกด ทำให้การเติมลมไปจากส่วนบนเคลื่อนไปด้านล่างของถุงลม ขณะที่จำนวนของสินค้าในคอนเทนเนอร์ไลเนอร์จะลดลง ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ยังคงใช้วิธีเติมอากาศเข้าไปในถุงลมเพื่อให้ยกตัวและดันให้สินค้าออกมาสู่ช่องที่เปิดให้สินค้าออก จึงเป็นการใช้วิธีแก้ปัญหาที่เหมือนกับของโจทก์ที่ 1 และบุคคลอื่น เพียงแต่รูปทรงของถุงลมของจำเลยที่ 2 ขยายตัวเป็นรูปทรงปริซึมสามเหลี่ยมปลายตัด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีผู้ประดิษฐ์ถุงลมเป็นรูปทรงต่าง ๆ เช่นรูปทรงสามเหลี่ยมหรือทรงพีระมิดมาแล้ว และตามสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 ก็ยังมีถุงลมรูปทรงสามเหลี่ยมปลายตัดโดยเรียกว่ารูปร่างที่สอง ซึ่งปรากฏจากคำบรรยายรูปว่า การตกค้างของสินค้าอาจลดลงหรือถูกกำจัดโดยถุงลม (100) ตามรูปร่างที่สองของการประดิษฐ์ เช่นที่แสดงในรูปที่ 10 ในที่นี้ ส่วนที่ตั้งขึ้น (101) ของถุงลม (100) ถูกขยายเมื่อเทียบกับรูปร่างที่ 1 ตามรูปที่ 4 นี่หมายความว่าถุงลม (100) จะทำให้สินค้าออกจากจุดที่สูงกว่าไปยังส่วนกลาง และดันสินค้าออกจากส่วนผนังด้านข้างในขั้นตอนแรก ๆ ของกระบวนการปล่อยสินค้า และป้องกันสินค้าก่อตัวเป็นรูปกระเป๋าในคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ที่พื้นที่ (31) ของรูปที่ 9 การเปลี่ยนแปลงรูปทรงของถุงลมจึงเป็นเรื่องที่ประจักษ์หรือคาดหมายได้โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับงานการประดิษฐ์คอนเทนเนอร์ไลเนอร์ ดังนั้น ถุงลมที่เมื่อเติมอากาศเข้าไปจนเต็มแล้วจะขยายตัวออกเป็นรูปทรงปริซึมสามเหลี่ยมปลายตัดตามสิทธิบัตรเลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 จึงไม่ถือว่าเป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 5 (2) และ มาตรา 7
ส่วนกรณีที่จำเลยที่ 2 นำลิ้นเปิดปิดสำหรับควบคุมการไหลของอากาศเข้าสู่ถุงลมมาใช้กับท่ออ่อนตัวสำหรับเป่าลม และนำวาล์วแบบเกลียวหมุนมาใช้กับถุงลมเพื่อปล่อยอากาศออกจากถุงลมตามข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 4 เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่า พยานนำเอาลิ้นเปิดปิดมาติดตั้งที่ท่ออ่อนตัวเพื่อควบคุมการไหลของอากาศเข้าสู่ถุงลมและสามารถควบคุมลมไม่ให้ออกจากถุงลมได้ นอกจากนี้ ยังนำเอาวาล์วแบบเกลียวหมุนมาติดตั้งที่ถุงลมเพื่อปล่อยลมออกจากถุงลมหรือควบคุมปริมาณลมโดยพยานใช้แนวคิดมาจากถุงลมกันกระแทกที่พยานประดิษฐ์และได้รับสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรมาประยุกต์ใช้ พยานนำถุงลมที่มีลิ้นเปิดปิดและมีวาล์วแบบเกลียวหมุนมาทดลองใช้งาน พบว่าการใช้งานมีความสะดวกยิ่งขึ้น โดยเฉพาะไม่ต้องใช้แรงคนงานจับตลอดเวลาหรือใช้การผูกมัดท่ออ่อนตัวเพื่อไม่ให้ลมรั่วออก ทำให้ประหยัด ลดแรงงานคนขณะใช้งานได้ วาล์วแบบเกลียวหมุนยังควบคุมปริมาณลมและปรับระดับลมได้ตามที่ต้องการอีกด้วย นอกจากนี้ เหตุที่พยานนำเอาวาล์วมาใช้กับคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ก็เพื่อประโยชน์ให้ลูกค้านำไปใช้ใหม่ได้และลดการใช้พลาสติกเพื่อลดสภาวะโลกร้อน เห็นว่า คำว่า ลิ้นเปิดปิดตามสิทธิบัตรของจำเลยที่ 2 หมายถึงระบบวาล์ว นั่นเอง และเมื่อจำเลยที่ 2 ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ใช้ถ้อยคำว่า “a valve device for controlling air into the air bag” ซึ่งหมายความว่า วาล์วเป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อควบคุมปริมาณลมที่เข้าสู่ถุงลม ดังนั้น ลิ้นเปิดปิดกับวาล์วตามสิทธิบัตรของจำเลยที่ 2 จึงเป็นเรื่องเดียวกัน ในเรื่องการใช้วาล์วกับถุงลมนี้เคยปรากฏอยู่ในภูมิหลังของการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกา เลขที่ 6,837,391 บี 2 ซึ่งมีชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์ว่า วาล์วที่ใช้เปิดและปิดที่ติดตั้งกับถุงลม (Inflation/Deflation Valve for a bag to be filled with air) แผ่นที่ 6 ระบุว่ามีการเสนอว่าถุงที่ผลิตจากผ้าสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายครั้ง ดังนั้น จึงต้องใช้วาล์วเพื่อให้ปล่อยลมจากถุงได้อย่างรวดเร็วแต่ไม่ทำให้ช่องที่เปิดในถุงฉีกขาด นอกจากนี้ การใช้วาล์วซึ่งทำให้ปล่อยลมได้อย่างรวดเร็วจะทำให้มีโอกาสเติมลมให้แก่ถุงลมก่อนใช้เพื่อทดสอบความแน่นของอากาศด้วย ภูมิหลังของการประดิษฐ์ดังกล่าวยังระบุด้วยว่า วาล์วที่ใช้ง่าย ๆ เพื่อเติมลมอย่างรวดเร็วต้องมีก้านวาล์ว (valve stem) กับหัวเติมลม ซึ่งสามารถนำมาติดบนก้านได้เพื่อให้ผู้ใช้เติมลมแก่ถุงลม ในหลายกรณีหัวเติมลมหรือหัวฉีดมีระบบสำหรับติดกับก้านวาล์วเพื่อให้อยู่กับที่ในระหว่างเติมลมโดยผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องถือเพื่อให้อยู่กับที่ ข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่าการติดตั้งลิ้นเปิดปิดที่ท่ออ่อนตัวและการติดตั้งวาล์วที่ถุงลมเป็นวิธีการสามัญที่ใช้กันทั่วไป ยิ่งกว่านั้นสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกายังเปิดเผยการใช้วาล์วที่ใช้เปิดปิดสำหรับการเติมอากาศเข้าไปในถุงลม ซึ่งมีส่วนประกอบคือกระบอกสวมสำหรับสอดเข้าไปในช่องที่เปิดในผนังของถุงวาล์วรวมทั้งส่วนประกอบวาล์ว และฝาสำหรับครอบกระบอกสวม อันเป็นการปรับปรุงวาล์วเพื่อใช้ควบคุมการเติมอากาศเข้าไปในถุงลมได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 5,335,820 ซึ่งมีชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์ว่า ภาชนะและระบบจ่ายของแข็งที่ไหลได้ (Container and Dispenser System for Flowable Solids) เแผ่นที่ 10 มีข้อความระบุถึงการใช้วาล์วกับถุงลมว่า “การวางหัวฉีด (35) อาจจัดให้มีระบบวาล์วต่าง ๆ หรือระบบที่เหมือนกันอยู่ภายในนั้นเพื่อช่วยในการเติมลม เพื่อการบำรุงรักษาถุงลม (34) ในภาวะที่มีลม และเพื่อการปล่อยลม ระบบวาล์วแบบธรรมดาอาจนำมาใช้ได้” และสิทธิบัตรดังกล่าวยังเปิดเผยโดยอ้างถึงรูปที่ 3 ว่า การจัดวางถุงลม (33) ประกอบด้วยถุงก๊าซที่พองได้ (34) ถุงก๊าซ (34) สามารถเติมลมโดยผ่านการจัดวางหัวฉีด (35) ในรูปที่ 3 ถุงก๊าซ (34) ถูกแสดงให้เห็นว่าอยู่ติดกับแหล่งที่มา (36) ของอากาศที่ถูกบีบอัดเพื่อใช้การเติมลม จากภูมิหลังการประดิษฐ์ประกอบการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตร ดังกล่าวแสดงว่าการติดตั้งลิ้นเปิดปิดที่ท่ออ่อนตัวและการติดตั้งวาล์วที่ถุงลมเป็นการประดิษฐ์ที่เป็นที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญที่จะดัดแปลงวาล์วให้เข้ากับถุงลมตามสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 ดังนั้น แม้จำเลยที่ 4 จะเบิกความโต้แย้งว่าวาล์ว เป็นวาล์วประเภท “selective valve” (วาล์วที่เลือกสรร) และวาล์ว เป็นวาล์วที่ใช้สปริงเป็นกลไกในการเปิดปิดซึ่งเป็นวาล์วคนละประเภทกับวาล์วตามสิทธิบัตรของจำเลยที่ 2 ที่เป็นวาล์วประเภท “check valve” (วาล์วที่ใช้ตรวจสอบ) และเป็นวาล์วแบบไม่มีสปริงและเป็นแบบเกลียวหมุน เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อย ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองได้ นอกจากนี้ การทำงานของท่ออ่อนตัวที่มีลิ้นเปิดปิดและมีวาล์วแบบเกลียวหมุนตามข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรเลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลดการตกค้างของสินค้าที่อยู่ในคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ รวมทั้งตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 6,481,598 บี 1 ของโจทก์ที่ 1 ก็มีการใช้ท่ออ่อนตัว (flexible inflation tube) อยู่ก่อนแล้ว การติดตั้งลิ้นเปิดปิดที่ท่ออ่อนตัวหรือติดตั้งวาล์วที่ถุงลมจึงเป็นเพียงการนำสิ่งต่าง ๆ มาประกอบเข้าด้วยกัน (aggregation) โดยไม่ได้มีผลในการช่วยแก้ไขปัญหาทางเทคนิคในเรื่องการตกค้างของสินค้า การประกอบเข้าด้วยกันดังกล่าวจึงถือเป็นสิ่งที่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับการประดิษฐ์ดังกล่าวสามารถคาดหมายได้ ย่อมมิใช่การประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 5 (2) และมาตรา 7
สำหรับข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรเลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 ในเรื่องแถบอ่อนตัวซึ่งแต่ละอันที่ติดอยู่ตรงรอยต่อของผนังด้านหน้าตัวภาชนะแต่ละด้านที่เชื่อมต่อกับผนังด้านข้างมีรูตลอดแนวและแต่ละรูของแถบอ่อนตัวแต่ละอันอยู่ในตำแหน่งที่ตรงกัน และแถบอ่อนตัวซึ่งเป็นแบบทึบติดอยู่ตรงรอยต่อของผนังด้านหน้าของตัวภาชนะแต่ละด้านที่เชื่อมต่อกับผนังด้านบนและผนังด้านข้างนั้น จำเลยที่ 4 เบิกความเป็นพยานจำเลยทั้งสี่ประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่า พยานศึกษาพบว่าเมื่อติดตั้งคอนเทนเนอร์ไลเนอร์เข้ากับตู้ขนส่งสินค้าแล้ว จะมีช่องว่างระหว่างผนังคอนเทนเนอร์ไลเนอร์กับผนังตู้ขนส่งสินค้าโดยเฉพาะด้านบน เนื่องจากเมื่อแขวนคอนเทนเนอร์ไลเนอร์แล้ว ส่วนผนังด้านบนจะหย่อนลงมาหรือที่เรียกว่า “ตกท้องช้าง” และเกิดช่องว่างซึ่งทำให้ในระหว่างการบรรจุสินค้าโดยเฉพาะในเวลากลางคืน จะมีแมลงหรือจิ้งจก รวมทั้งสิ่งปนเปื้อนเข้าไปในช่องว่างดังกล่าว พยานจึงคิดประดิษฐ์แถบพลาสติกตรงรอยต่อระหว่างผนังด้านข้างและผนังด้านบนของคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ หรือเรียกว่า แถบอ่อนตัว เพื่อนำมาปิดช่องว่างดังกล่าว พยานประดิษฐ์แถบอ่อนตัวเป็น 2 แบบ คือ แถบอ่อนตัวแบบมีรู กับแบบไม่มีรู ซึ่งมีลักษณะการใช้งานต่างกัน แบบมีรูสามารถสอดแท่งเหล็กผ่านแถบอ่อนเข้ายังสายห่วงคล้องไปช่วยพยุงคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ไม่ให้มีรอยยับย่นและคงรูปทรงให้เรียบร้อย ส่วนแบบไม่มีรูจะปิดช่องว่างได้อย่างมิดชิด เหมาะสำหรับขนส่งสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์อาหารหรือเกี่ยวข้องกับอาหารที่เน้นไม่ให้มีสิ่งปนเปื้อนหรือแมลงเข้าไปในตู้ขนส่งสินค้า สำหรับในกรณีลูกค้าที่ใช้ลำเลียงผลิตภัณฑ์ด้วยสายพาน อาจจะดูดอากาศในช่องว่างระหว่างผนังตู้ขนส่งสินค้ากับคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ให้เกิดสุญญากาศ แถบอ่อนดังกล่าวยังช่วยให้คงสภาวะสุญญากาศที่ช่องว่างระหว่างผนังแต่ละด้านของตัวภาชนะบรรจุสินค้าได้ด้วย เห็นว่า ในกรณีของแถบอ่อนตัวแบบมีรูนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อพยุงให้คอนเทนเนอร์ไลเนอร์คงรูปอยู่ได้เช่นเดียวกับแถบกันกระเทือนตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 6,837,391 บี 2 ซึ่งมีชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์ว่า ระบบกันกระเทือนสำหรับคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ที่ใช้ขนสินค้าเทกอง (Suspension System for Bulk Material Cargo Container Liner) เปิดเผยถึงการใช้แถบกันกระเทือนกับคอนเทนเนอร์ไลเนอร์สำหรับสินค้าเทกองว่า แถบกันกระเทือนดังกล่าวเป็นแถบคู่แนวตั้ง แถบติดตั้งอยู่คนละด้านที่ส่วนหัวมุมบนด้านหน้า ตรงกันข้ามกันที่ส่วนมุมบนด้านหน้าของคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ แถบกันกระเทือนแต่ละอันประกอบด้วยรูวงแหวนจำนวน 5 รู จะยึดแกนเหล็ก (finger bars) ไว้ แกนเหล็กดังกล่าวติดตั้งอย่างคงที่อยู่ที่ส่วนผนังด้านในของตู้ขนส่งสินค้าแบบเทกอง และจะสอดผ่านรูวงแหวนทำให้คอนเทนเนอร์ไลเนอร์คงรูปอยู่ได้ การประดิษฐ์ในส่วนนี้จึงเป็นการประดิษฐ์ที่เป็นที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับงานประเภทคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ที่จะดัดแปลงแถบกันกระเทือนดังกล่าวเข้ากับการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 6,481,598 บี 1 ของโจทก์ที่ 1 เพื่อให้เกิดความแข็งแรงและพยุงคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น แถบอ่อนตัวแบบมีรูตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีลักษณะเป็นการดัดแปลงแถบกันกระเทือนดังกล่าวจึงเป็นการประดิษฐ์ที่ไม่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้นตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 5 (2) และมาตรา 7
ส่วนกรณีการใช้แถบอ่อนตัวแบบทึบนั้น ปรากฏจากสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 ในส่วนการเปิดเผยการประดิษฐ์ที่สมบูรณ์ว่า “…ปิดแถบอ่อนตัวในแนวตั้งแบบทึบ 10 บี ให้แนบกับผนังด้านข้างของตู้ขนส่งสินค้าทั้ง 2 ข้าง หลังจากใช้ท่อดูดอากาศ (ไม่ได้แสดงแบบไว้) ดูดอากาศระหว่างช่องว่างรอบตู้ขนส่งสินค้าออกจนหมดแล้ว…” การใช้ท่อดูดอากาศดังกล่าวแสดงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงว่าจำเลยที่ 2 ต้องการให้เกิดสภาวะสุญญากาศระหว่างผนังของคอนเทนเนอร์ไลเนอร์และผนังของตู้ขนส่งสินค้า ซึ่งเจือสมกับคำเบิกความของนางแมร์เร็ตเต วินเธอร์ โยร์เก็นเซ็น กรรมการบริษัทโจทก์ทั้งสอง ซึ่งเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่า นอกจากจะใช้วิธีการแขวนกับห่วงหรือตัวเกี่ยวภายในตู้ขนส่งสินค้าเหมือนกับการกางมุ้งแล้ว ยังนำความเป็นสุญญากาศมาใช้ กล่าวคือ ดูดอากาศที่มีอยู่ระหว่างผนังภายในของตู้ขนส่งสินค้ากับพื้นผิวภายนอกของบรรจุภัณฑ์ออกเสียให้หมด เมื่อบรรจุภัณฑ์ซึ่งมีเนื้อที่อ่อนตัวและทึบ อากาศผ่านไม่ได้ จะถูกดูดติดกับผนังด้านในของตู้ขนส่งสินค้า อันเป็นปรากฏการณ์ของระบบสุญญากาศ ซึ่งเป็นที่รู้และใช้กันมานาน รวมทั้งโจทก์ทั้งสองใช้ระบบนี้กับบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ได้ใช้ห่วงหรือขอเกี่ยว นอกจากนี้ ตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 5,244,332 ซึ่งมีชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์ว่า วิธีการขนสินค้าเทกองและอุปกรณ์ (Bulk Loading Method and Apparatus) อ้างถึงผนึกสุญญากาศ โดยการดูดอากาศภายในเทรลเลอร์หรือตู้ขนส่งสินค้าที่อยู่ระหว่างพลาสติกไลเนอร์กับผนังด้านข้างของตู้ขนส่งสินค้า ซึ่งตามรูปที่ 7 ของสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกา ท่อดูดอากาศแนวตั้งคู่หนึ่ง (24) ถูกสอดเข้าไปภายในผนังด้านข้างที่ท้ายของรถกึ่งเทรลเลอร์ใกล้ส่วนพับของประตู (14) และสิทธิบัตรดังกล่าวยังอ้างถึงการปิดผนึกว่า เมื่อคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ (16) เติมลมอย่างถูกต้องและปิดผนึกที่ประตูเทรลเลอร์แล้ว มีแนวโน้มที่จะคงอยู่ในสภาพที่มีลมเป็นระยะเวลานาน แม้ว่าปราศจากอากาศและการดูดช่วย หลังจากบรรจุสินค้าเข้าในเทรลเลอร์แล้ว ปิดเครื่องเป่า และมัดวัสดุส่วนที่เกินของคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ที่ส่วนปลายของสินค้า และปิดผนึกเพื่อให้แน่ใจว่าจะป้องกันความชื้นในพื้นที่บริเวณรอบ ๆ สินค้าทั้งหมด ตามรูปที่ 16 ข้อเท็จจริงจากคำเบิกความและหลักฐานตามสิทธิบัตรดังกล่าวรับฟังได้ว่า วิธีการทำให้เกิดสุญญากาศตลอดแนวผนังเป็นเรื่องที่ปฏิบัติกันอยู่แล้วเพื่อรักษารูปทรงของคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ในระหว่างการใช้งาน ดังนั้น การปิดแถบอ่อนตัวในแนวตั้งแบบทึบให้แนบกับผนังด้านข้างของตู้ขนส่งสินค้าทั้ง 2 ข้าง หลังจากการใช้ท่อดูดอากาศตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 เป็นเพียงการช่วยรักษาสภาวะสุญญากาศให้คงอยู่ การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรเลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 ในส่วนนี้จึงเป็นการประดิษฐ์ที่เป็นที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับงานประเภทคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ย่อมมิใช่การประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 5 (2) และมาตรา 7
ส่วนข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 ในเรื่องชุดขอแขวนที่ติดอยู่ที่ด้านนอกของผนังด้านบนของตัวภาชนะสำหรับบรรจุสินค้า ซึ่งประกอบด้วยแผ่นรับแรงที่มีรูกลมทะลุ แถบยางยืดหยุ่นที่สอดเข้ากับรูกลมทะลุของแผ่นรับแรงและขอแขวนเพื่อยึดผนังด้านบนของภาชนะอ่อนตัวสำหรับบรรจุสินค้าประเภทผงหรือเม็ดเข้ากับตู้ขนส่งสินค้านั้น จำเลยที่ 4 เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่า พยานศึกษาพบว่าคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ที่ใช้อยู่ทั่วไปมีขอแขวนประกอบด้วยแผ่นรับแรงที่มีรูกลมจำนวนสองรู หรือบางรายใช้เทปกาวติดระหว่างแผ่นรับแรงกับผนังคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ ทำให้หลุดร่อนและส่งผลทำให้คอนเทนเนอร์ไลเนอร์ฉีกขาดและเสียหาย พยานจึงคิดประดิษฐ์ชุดขอแขวนที่มีแถบยางยืดหยุ่นอยู่ด้านบนของตัวคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ให้แข็งแรงกว่าที่ใช้กันอยู่ในขณะนั้น โดยให้มีแผ่นรับแรงที่มีรูกลมจำนวนสี่รู ซึ่งแตกต่างจากผู้ผลิตทั่วไป และการที่ชุดขอแขวนที่มีแผ่นรองรับสี่รูสามารถรับน้ำหนักและพยุงคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ได้ดีกว่า และจำเลยที่ 4 เบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งสองถามค้านว่า มีการใช้ชุดขอแขวนชนิดสองรูกับคอนเทนเนอร์ไลเนอร์มาก่อน แต่มีความแข็งแรงไม่เท่ากับชุดขอแขวนแบบสี่รูตามภาพ เห็นว่า พยานเบิกความยอมรับว่าชุดขอแขวนเป็นอุปกรณ์ที่ใช้กับคอนเทนเนอร์ไลเนอร์โดยทั่วไป สอดคล้องกับคำเบิกความของนายโอเฟอร์ แอสราฟ ลูกจ้างโจทก์ที่ 1 ซึ่งตอบทนายโจทก์ทั้งสองถามเพิ่มเติมว่า ชุดขอแขวนจำเป็นต้องใช้ในการติดตั้งคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ทุกกรณี คอนเทนเนอร์ไลเนอร์ของโจทก์ทั้งสองและของผู้ผลิตรายอื่นมีชุดขอแขวนเช่นกัน เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงดังกล่าวประกอบสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 5,489,037 ซึ่งมีชื่อแสดงถึงการประดิษฐ์ว่า ระบบคอนเทนเนอร์ไลเนอร์สำหรับการย้ายสินค้าเทกอง (Container Liner System for Bulk Tranfer) แล้ว สิทธิบัตรดังกล่าวเปิดเผยแถบแขวนซึ่งใช้แขวนคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ทางด้านบน ตามรูปที่ 3 ของสิทธิบัตรดังกล่าว ปลายของผนังด้านหลัง (42) ใส่เข้ากับแถบแขวน (88) และ (90) ทำนองเดียวกับปลายของผนังด้านหน้า (32) ใส่เข้ากับเครื่องแขวน ซึ่งรวมทั้งแผ่นตะปู (82) และแถบแขวน (84) และ (86) นอกจากนี้ ยังมีสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 6,533,137 บี 2 ซึ่งมีชื่อแสดงถึงการประดิษฐ์ว่า คอนเทนเนอร์สำหรับการเก็บและการส่งสินค้าเทกอง (Container for Storing and Handing Bulk Material) ตามรูปที่ 3 ของสิทธิบัตรดังกล่าว แถบยืดได้ที่มีห่วง (58) เชื่อมต่อกับเครื่องยึด (anchors หรือ anchoring means) (56) โดยใช้เครื่องมือที่สะดวกสบาย (60) เช่น การรวมกันของขอสับและขอเกี่ยว ซึ่งเครื่องยึดดังกล่าวมีลักษณะเป็นแผ่นกลมสำหรับรับน้ำหนัก ดังนั้น การดัดแปลงในลักษณะต่าง ๆ เช่น เพิ่มจำนวนรูที่แผ่นรับแรง หรือการทำให้ชุดขอแขวนรับน้ำหนักได้มากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่คาดหมายได้ของบุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับงานประเภทคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ ไม่ถือว่าการประดิษฐ์ส่วนนี้มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้นตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 5 (2) และมาตรา 7 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรเลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 ไม่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น จึงเป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 5 (2) และมาตรา 7 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิบัตรดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ทั้งสองสำนวนให้เป็นพับ

Share