แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 อันจะต้องตกอยู่ในบังคับแห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 กรณีต้องเป็นเรื่องที่ลูกหนี้เป็นเจ้าของทรัพย์มีอำนาจทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์นั้น อันเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นที่ยุติว่า นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่าง ส. ผู้ขาย กับจำเลยที่ 1 ผู้ซื้อ เกิดจากเจตนาลวงตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทและไม่มีอำนาจขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 กรณีจึงไม่ใช่เป็นการฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องฟ้องภายในอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 แม้ขณะที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินแก่จำเลยที่ 2 ในคดีแพ่ง หมายเลขแดงที่ 1061/2556 ศาลฎีกายังไม่ได้พิพากษาเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่าง ส. กับจำเลยก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 2 รับโอนโดยไม่สุจริต จึงไม่ได้รับการคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงยังไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนขายที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 ผู้ขายกับจำเลยที่ 2 ผู้ซื้อตามหนังสือสัญญาขายที่ดินฉบับลงวันที่ 6 กันยายน 2556 และตามสารบัญจดทะเบียนด้านหลังโฉนดที่ดิน และห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 48108, 48591 ตำบลดินทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตามหนังสือสัญญาขายที่ดินฉบับลงวันที่ 6 กันยายน 2556 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความ 30,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามเอกสารที่คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันโดยไม่สืบพยานฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2554 นายสุเทพ ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ไปจำนวน 991,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระคืนในวันที่ 7 มีนาคม 2554 โดยนำโฉนดเลขที่ 48525 เนื้อที่ 2 งาน 15 ตารางวา ของภรรยา กับโฉนดเลขที่ 31715 เนื้อที่ 1 ไร่ 73 ตารางวา กับสมุดเงินฝากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรพร้อมบัตรเอทีเอ็ม บัตรประจำตัวประชาชนของตนเองให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันแล้วผิดนัดไม่ชำระให้โจทก์ วันที่ 25 มีนาคม 2554 โจทก์ฟ้องนายสุเทพต่อศาลชั้นต้นในคดีนี้ให้ชำระเงินดังกล่าว ปรากฏตามคำฟ้องคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 423/2554 หมายเลขแดงที่ 1254/2554 หลังจากถูกโจทก์ฟ้องแล้วต่อมาวันที่ 12 พฤษภาคม 2554 นายสุเทพจดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดพิพาททั้งสองแปลงในคดีนี้ให้จำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 5 ตุลาคม 2554 อันเป็นเวลาหลังจากจดทะเบียนขายที่ดินโฉนดพิพาททั้งสองแปลงในคดีนี้แล้ว 5 เดือน นายสุเทพได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ในคดีดังกล่าว โดยขอผ่อนชำระเงินกู้เป็นรายเดือน เดือนละไม่น้อยกว่า 5,000 บาท กำหนดชำระแล้วเสร็จภายในวันที่ 5 ตุลาคม 2555 คดีถึงที่สุดปรากฏตามสัญญาประนีประนอมยอมความ คำพิพากษาตามยอม และหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด แต่นายสุเทพไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ วันที่ 3 มกราคม 2556 โจทก์ฟ้องนายสุเทพและจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นในคดีนี้ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินโฉนดพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าว ปรากฏตามคำฟ้องคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 25/2556 หมายเลขแดงที่ 1061/2556 หลังจากยื่นฟ้องคดีที่สองได้ 10 วัน วันที่ 22 มกราคม 2556 โจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีนายสุเทพในคดีแรก ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีนายสุเทพให้ตามคำร้อง ต่อมาวันที่ 5 กันยายน 2556 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในคดีที่สอง รุ่งขึ้นวันที่ 6 กันยายน 2556 จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดพิพาททั้งสองแปลงให้จำเลยที่ 2 ในวันดังกล่าวโจทก์ได้ไปคัดค้านการจดทะเบียนซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสองต่อเจ้าพนักงานที่ดินแจ้งเหตุที่โจทก์ฟ้องร้องนายสุเทพและจำเลยที่ 1 ในคดีที่สอง ต่อจำเลยทั้งสองและเจ้าพนักงานที่ดินแล้ว แต่จำเลยทั้งสองยังยืนยันจะให้จดทะเบียนโอนขายที่ดินระหว่างกันอ้างเหตุว่าศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในคดีที่สองแล้ว เจ้าพนักงานที่ดินจึงดำเนินการจดทะเบียนการขายระหว่างจำเลยทั้งสอง โจทก์ได้ทำคำขออายัดที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดินไว้เป็นหลักฐาน ในส่วนคดีที่สองหลังจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินทั้งสองโฉนดระหว่างนายสุเทพและจำเลยที่ 1 ในคดีที่สอง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าวฎีกา ต่อมาศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ในฐานะจำเลยที่ 2 ในคดีที่สองทราบแล้วเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2558 วันที่ 6 ตุลาคม 2558 หลังจากศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่สองได้ 4 วัน โจทก์จึงยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองขอเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินทั้งสองโฉนดพิพาทเป็นคดีนี้
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองประการแรกมีว่า จำเลยที่ 2 จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตเสียค่าตอบแทนหรือไม่ เห็นว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างกัน สาเหตุที่จำเลย 2 ทราบว่าจำเลยที่ 1 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงและกำลังต้องการขายที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว รวมทั้งจำเลยที่ 1 ทราบว่าจำเลยที่ 2 มีความต้องการซื้อที่ดินทั้งสองแปลงได้อย่างไรแล้ว จำเลยทั้งสองยังไม่ได้นำสืบให้เห็นหลักฐานการชำระเงินค่าที่ดินพิพาทที่จดทะเบียนซื้อขายระหว่างกัน คงมีแต่สัญญาซื้อขายฉบับจดทะเบียนที่จำเลยทั้งสองร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดราคาที่ดินที่ซื้อขายและคำรับรองของจำเลยที่ 1 ผู้ขายว่าได้รับชำระเงินค่าที่ดินครบถ้วนแล้วเท่านั้น เจ้าพนักงานที่ดินผู้จดทะเบียนรวมทั้งสัญญาซื้อขายจึงเป็นเพียงพยานบอกเล่าไม่มีน้ำหนักให้น่าเชื่อถือ แม้ขณะจำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างกันจะอยู่ในช่วงเวลาที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในคดีที่สอง แต่คดียังไม่ถึงที่สุด จำเลยที่ 2 ทราบอยู่แล้วว่าหากคดีถึงที่สุดโดยศาลสูงพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างนายสุเทพและจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ โจทก์ย่อมเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาที่สามารถบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจากจำเลยที่ 1 มาเป็นของนายสุเทพได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดยไม่สุจริต ให้เพิกถอนการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสองนั้นชอบด้วยเหตุและผลแล้ว ฎีกาจำเลยทั้งสองประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองประการสุดท้ายมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 อันจะตกอยู่ในบังคับแห่งอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 กรณีต้องเป็นเรื่องที่ลูกหนี้เป็นเจ้าของทรัพย์มีอำนาจทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์นั้น อันเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์ แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติว่า นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนายสุเทพ ผู้ขาย กับจำเลยที่ 1 ผู้ซื้อ เกิดจากเจตนาลวงตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่เจ้าของไม่มีอำนาจขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า กรณีมิใช่การฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องฟ้องภายในอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 นั้น ชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าขณะที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ศาลฎีกายังมิได้พิพากษาเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างนายสุเทพกับจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 2 รับโอนโดยไม่สุจริตดังวินิจฉัยข้างต้น จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความในอัตราขั้นสูง 20,000 บาท