แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 106 บัญญัติว่า “ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดประสงค์จะโอนใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนในระบบให้บุคคลอื่น ให้ยื่นคำขอต่อผู้อนุญาตตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด เมื่อผู้อนุญาตเห็นว่าผู้รับโอนมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 21 หรือมาตรา 22 แล้วแต่กรณี ให้อนุญาตโดยเร็ว” และมาตรา 107 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตตายหรือเป็นคนสาบสูญ และทายาทมีความประสงค์จะดำเนินกิจการโรงเรียนในระบบต่อไป ให้ทายาทซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม มาตรา 21 หรือในกรณีที่มีทายาทหลายคน ให้ทายาทด้วยกันนั้นตกลงตั้งทายาทคนหนึ่งซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม มาตรา 21 ยื่นคำขอรับโอนใบอนุญาตต่อผู้อนุญาตภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้รับใบอนุญาตตายหรือสาบสูญหรือภายในระยะเวลาที่ผู้อนุญาตขยายเวลาตามความจำเป็น…” แสดงให้เห็นว่าผู้รับใบอนุญาตอาจโอนโรงเรียนที่ตนได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการโอนระหว่างที่ตนมีชีวิต หรือการโอนทางมรดกเมื่อตนถึงแก่ความตายแล้ว และสิทธิของผู้รับใบอนุญาตซึ่งได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนดังกล่าวไม่ระงับหรือหมดสิ้นไปในทันทีที่ผู้รับใบอนุญาตนั้นถึงแก่ความตาย สิทธิดังกล่าวจึงไม่เป็นสิทธิที่เป็นการเฉพาะตัวของผู้รับใบอนุญาตโดยแท้ ส่วนการที่ทายาทผู้ยื่นคำขอเพื่อรับโอนโรงเรียนต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม มาตรา 21 เป็นเรื่องที่ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนฯ กำหนดไว้เพื่อประโยชน์ในการให้บริการทางการศึกษา ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมส่วนรวมในอันที่จะให้ผู้รับโอนมีทั้งความรู้ความสามารถและมีคุณธรรมในมาตรฐานเช่นเดียวกับผู้รับใบอนุญาต จึงไม่มีผลกระทบต่อสภาพแห่งสิทธิการเป็นผู้รับใบอนุญาตที่ทายาทอาจขอรับโอนได้ตาม มาตรา 107 วรรคหนึ่ง ดังนั้นการได้รับอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียน ส. จึงไม่เป็นการเฉพาะตัวของเจ้ามรดก สิทธิในการรับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนเป็นทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามให้ความยินยอมและหรือทำสัญญาเช่ามีกำหนดระยะเวลา 11 ปี และให้จดทะเบียนการยินยอมและหรือทำสัญญาเช่ามีกำหนดระยะเวลา 11 ปี ต่อสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระนคร แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ดำเนินการก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม เพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระนคร ดำเนินการรับจดทะเบียนการเช่ามีกำหนดระยะเวลา 11 ปี ให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์เป็นบุตรของนางจงจิตต์ เจ้ามรดกและนายมงคล มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน คือ นายณะธนภูมิ โจทก์ และจำเลยที่ 1 ก่อนจะสมรสกับนายมงคล เจ้ามรดกเคยอยู่กินฉันสามีภริยากับนายเหรี่ยง มีบุตรด้วยกัน 6 คน คือ จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 นายอดุลย์ พันเอกวิโรจน์ เรือเอกเดชา และนางวลี เมื่อประมาณปี 2480 นายมงคลและเจ้ามรดกร่วมกันก่อตั้งโรงเรียนสุพมาศพิทยาคม ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการโดยเช่าอาคารซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 340 ตำบลวัดชนะสงคราม อำเภอชนะสงคราม จังหวัดพระนคร เป็นอาคารเรียน นายมงคลเป็นผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียน ส่วนเจ้ามรดกเป็นผู้จัดการและเป็นครูใหญ่ ต่อมาปี 2507 นายมงคลกับเจ้ามรดกได้ร่วมกันซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวโดยวิธีผ่อนชำระและก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมในที่ดินและจดทะเบียนรับโอนที่ดินดังกล่าวเมื่อปี 2522 โดยลงชื่อโจทก์ จำเลยที่ 1 นายณะธนภูมิกับนางวลีเป็นผู้รับโอน เมื่อนายมงคลถึงแก่ความตาย เจ้ามรดกได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการต่อไป ต่อมาเจ้ามรดกป่วยและตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ มีโจทก์ นางสาวพัชรา และนางอำไพ เป็นผู้อนุบาลตามคำสั่งศาล นางศรีเพ็ญ ภริยา นายณะธนภูมิซึ่งถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดกเคยยื่นฟ้องโจทก์ จำเลยที่ 1 และนางวลี ขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงข้างต้น คดีถึงที่สุดในชั้นอุทธรณ์โดยข้อเท็จจริงยุติว่า เจ้ามรดกเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง นายณะธนภูมิเพียงลงชื่อแทนเจ้ามรดก เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2545 โดยทำพินัยกรรมยกสิทธิการเป็นผู้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงเรียนให้โจทก์ ในระหว่างจัดการมรดก โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อกระทรวงศึกษาธิการขอดำเนินกิจการของโรงเรียนไปพลางก่อนจนกว่าจะเปลี่ยนแปลงใบขอรับอนุญาตเดิม สำหรับกรณีขอรับใบอนุญาตต่อจากผู้รับใบอนุญาตเดิม หากผู้ขอไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่เป็นที่ตั้งโรงเรียนเพียงผู้เดียว ผู้ขอต้องให้เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทำสัญญาเช่าให้ผู้ขอเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 11 ปี เป็นหลักฐานประกอบคำขอ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมทำสัญญาเช่าให้โจทก์ คดีมีปัญหาตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยทั้งสามต้องให้ความยินยอมหรือทำสัญญาเช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 340 และ 1429 ให้โจทก์ตามฟ้องหรือไม่
พิเคราะห์ฎีกาของโจทก์แล้ว เห็นว่า โจทก์ฎีกาเพียงข้อเดียวความว่า สิทธิของเจ้ามรดกในการเป็นผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนสุพมาศพิทยาคมเป็นทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600 เพราะไม่เป็นสิทธิที่เป็นการเฉพาะตัวของเจ้ามรดกโดยแท้หรือไม่ เห็นว่า สิทธิที่เป็นการเฉพาะตัวของผู้ทรงสิทธิโดยแท้นั้นจะมีการโอนกันไม่ได้อย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นการโอนระหว่างที่ผู้ทรงสิทธิยังมีชีวิตหรือเป็นการโอนทางมรดก เมื่อผู้ทรงสิทธิถึงแก่ความตายแล้ว ดังเช่นสิทธิอาศัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1404 ซึ่งบัญญัติว่า “สิทธิอาศัยนั้นจะโอนกันไม่ได้ แม้โดยทางมรดก” สิทธิเก็บกิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1418 วรรคท้าย ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าผู้ทรงสิทธิเก็บกินถึงแก่ความตาย ท่านว่าสิทธินั้นย่อมสิ้นไปเสมอ” หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1431 ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในนิติกรรมอันก่อให้เกิดภาระติดพันไซร้ ท่านว่าภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์นั้นจะโอนกันไม่ได้ แม้โดยทางมรดก” ฯลฯ ดังนั้นเมื่อผู้ทรงสิทธิดังกล่าวถึงแก่ความตายสิทธินั้นย่อมระงับหรือหมดสิ้นไปในทันที แต่ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 106 บัญญัติว่า “ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดประสงค์จะโอนใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนในระบบให้บุคคลอื่น ให้ยื่นคำขอต่อผู้อนุญาตตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด เมื่อผู้อนุญาตเห็นว่าผู้รับโอนมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 21 หรือมาตรา 22 แล้วแต่กรณี ให้อนุญาตโดยเร็ว” และมาตรา 107 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตตายหรือเป็นคนสาบสูญ และทายาทมีความประสงค์จะดำเนินกิจการโรงเรียนในระบบต่อไป ให้ทายาทซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 21 หรือในกรณีที่มีทายาทหลายคน ให้ทายาทด้วยกันนั้นตกลงตั้งทายาทคนหนึ่งซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 21 ยื่นคำขอรับโอนใบอนุญาตต่อผู้อนุญาตภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้รับใบอนุญาตตายหรือสาบสูญหรือภายในระยะเวลาที่ผู้อนุญาตขยายเวลาตามความจำเป็น…” นั้น แสดงให้เห็นว่าผู้รับใบอนุญาตอาจโอนโรงเรียนที่ตนได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการโอนระหว่างที่ตนมีชีวิต หรือการโอนทางมรดกเมื่อตนถึงแก่ความตายแล้ว และสิทธิของผู้รับใบอนุญาตซึ่งได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนดังกล่าวไม่ระงับหรือหมดสิ้นไปในทันทีที่ผู้รับใบอนุญาตนั้นถึงแก่ความตาย สิทธิดังกล่าวจึงไม่เป็นสิทธิที่เป็นการเฉพาะตัวของผู้รับใบอนุญาตโดยแท้ ส่วนการที่ทายาทผู้ยื่นคำขอเพื่อรับโอนโรงเรียนต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 21 เช่นเดียวกับผู้รับใบอนุญาตนั้นเป็นเรื่องที่พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชนฯ กำหนดไว้เพื่อประโยชน์ในการให้บริการทางการศึกษา ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมส่วนรวมในอันที่จะให้ผู้รับโอนมีทั้งความรู้ ความสามารถและมีคุณธรรมในมาตรฐานเช่นเดียวกับผู้รับใบอนุญาต จึงไม่มีผลกระทบต่อสภาพแห่งสิทธิการเป็นผู้รับใบอนุญาตที่ทายาทอาจขอรับโอนได้ตามมาตรา 107 วรรคหนึ่งแต่ประการใด ดังนั้นการได้รับอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนสุพมาศพิทยาคมจึงไม่เป็นการเฉพาะตัวของเจ้ามรดกผู้ตาย สิทธิในการรับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนจึงเป็นทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600 แต่แม้ข้อกำหนดของพินัยกรรม ยกสิทธิการเป็นผู้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงเรียนของโจทก์มีผลบังคับได้ตามที่โจทก์ฎีกา และแม้ตามข้อกำหนดในพินัยกรรม นอกจากจำเลยที่ 1 ได้รับส่วนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 340 แล้ว จำเลยที่ 1 ยังมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งผลกำไรที่จะเกิดขึ้นหลังจากโจทก์รับโอนโรงเรียนสุพมาศพิทยาคมด้วย แต่โจทก์ก็ไม่มีสิทธิขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาให้โจทก์เช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 340 ส่วนที่จำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์รวม เพราะเมื่อพินัยกรรม ไม่มีข้อกำหนดหรือเงื่อนไขให้จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องทำเช่นนั้น จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ที่จะใช้สอยหาประโยชน์จากทรัพย์สินของตนได้ตามที่เห็นสมควร ซึ่งรวมทั้งการปฏิเสธไม่ให้เช่าด้วย ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 1429 โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยอ้างว่าเจ้ามรดกใส่ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนเจ้ามรดก ซึ่งเท่ากับอ้างว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 1429 เป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยให้ เพราะเห็นว่าไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง โจทก์ก็ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งโดยขอให้มีการวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทนี้ด้วย ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังยุติตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 1429 ไม่ได้เป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก และแม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรของเจ้ามรดกเช่นเดียวกับโจทก์ แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็มิได้เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของเจ้ามรดกในฐานะผู้รับพินัยกรรมหรือทายาทโดยธรรม เพราะนอกจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่เป็นผู้รับประโยชน์จากพินัยกรรม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ไม่เป็นผู้รับพินัยกรรมแล้ว ยังถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นทายาทโดยธรรมที่ถูกตัดโดยพินัยกรรม มิให้ได้รับมรดกของเจ้ามรดกโดยผลของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1608 วรรคสอง อีกด้วย จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่มีหน้าที่และความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องทำสัญญาให้โจทก์เช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 1429 ของตนเช่นกัน ส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 แก้ฎีกาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 1429 ไม่ได้เป็นที่ตั้งส่วนหนึ่งของโรงเรียนสุพมาศพิทยาคมและการเป็นผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนสุพมาศพิทยาคมของเจ้ามรดกเป็นสิทธิเฉพาะตัว มิใช่มรดกนั้น ก็ไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง ศาลฎีกาเห็นด้วยในผลของศาลอุทธรณ์ที่ยกฟ้องโจทก์ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ