คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1175/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาซื้อขายข้อ8และข้อ9มีความเกี่ยวพันกันโดยลำดับเกี่ยวกับการบังคับเอาแก่จำเลยผู้ขายกรณีผิดสัญญากล่าวคือเมื่อถึงกำหนดส่งมอบแล้วจำเลยผิดนัดไม่ส่งมอบโจทก์ขอใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันทีตามสัญญาข้อ8และริบหลักประกันตามสัญญาข้อ7เป็นจำนวนทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้และหากโจทก์จัดซื้อสิ่งของจากบุคคลอื่นจำเลยต้องรับผิดชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นจากราคาที่กำหนดไว้ในสัญญาหากโจทก์ไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับในอัตราร้อยละ0.2ของราคาของที่ยังไม่ได้รับมอบตามสัญญาข้อ9วรรคแรกและในกรณีใช้สิทธิเรียกค่าปรับถ้าโจทก์เห็นว่าในระหว่างที่มีการปรับนั้นจำเลยไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาริบหลักประกันและเรียกให้ชดใช้ราคาของที่เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการปรับได้ตามสัญญาข้อ9วรรคสองไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าในกรณีที่ได้มีการปฏิบัติตามสัญญาไปบ้างแล้วเท่านั้นจึงจะปรับเข้ากับสัญญาข้อ9ได้ดังนี้เมื่อปรากฏว่าจำเลยผิดสัญญาโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบและสงวนสิทธิ์ในอันที่จะดำเนินการตามเงื่อนไขที่อ้างถึงในสัญญาข้อ8ข้อ9และข้อ10ไว้ต่อมาได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยส่งมอบสิ่งของตามสัญญาและแจ้งไปด้วยว่าโจทก์ต้องทำการปรับจำเลยด้วยแต่จำเลยเพิกเฉยในระหว่างที่มีการปรับโจทก์เห็นว่าจำเลยไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้จึงได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาถือว่าโจทก์ใช้สิทธิตามสัญญาข้อ9หาใช่สิทธิตามสัญญาข้อ8ไม่โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าปรับในอัตราร้อยละ0.2ของราคาที่ยังไม่รับมอบตามสัญญาจากจำเลยได้ ราคาสิ่งของตามสัญญาซื้อขายมีเพียง92,720บาทโจทก์เรียกค่าปรับมาเป็นเงิน90,123.84บาทนับว่าสูงเกินเงินค่าปรับดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับอย่างหนึ่งซึ่งศาลมีอำนาจลดลดเป็นจำนวนสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา383

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2531 โจทก์และจำเลยได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายตลับลูกปืนต่าง ๆ ตามรายการละเอียดที่แนบท้ายสัญญาซื้อขายรวม 7 รายการ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 92,720 บาทโดยจำเลยผู้ขายสัญญาว่าจะส่งมอบสิ่งของที่ซื้อขายตามสัญญาให้แก่โจทก์ผู้ซื้อ ณ งานคลังพัสดุ 2 (คลังที่ 11) กรมชลประทาน ปากเกร็ดจังนนทบุรี ภายใน 90 วัน นับแต่วันลงนามในสัญญาซื้อขายเป็นต้นไปให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในข้อ 1 แห่งสัญญาซื้อขายดังกล่าวและในวันทำสัญญา จำเลยได้นำหลักประกันเป็นจำนวนร้อยละ 6 ของราคาสิ่งของทั้งหมดเป็นเงิน 5,564 บาท มามอบไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา ต่อมาเมื่อครบกำหนดที่จำเลยจะต้องส่งมอบสิ่งของให้โจทก์ตามกำหนดในสัญญาดังกล่าวคือภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2531 ปรากฏว่าหากจำเลยได้ประพฤติผิดสัญญาโดยไม่ส่งมอบสิ่งของที่ตกลงซื้อขายกันให้แก่โจทก์ โจทก์มีสิทธิปรับจำเลยได้เป็นรายวันในอัตราร้อยละศูนย์จุดสอง (0.2) ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบ จึงได้มีหนังสือลงวันที่ 22มิถุนายน 2531 แจ้งว่าจำเลยผิดนัดผิดสัญญาและโจทก์ขอสงวนสิทธิในอันที่จะดำเนินการตามเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายข้อ 8 ข้อ 9 และข้อ 10 ไว้ทุกประการ นอกจากนี้โจทก์ยังได้มีหนังสือลงวันที่ 25กรกฎาคม 2531 แจ้งเตือนให้จำเลยส่งสิ่งของและนำค่าปรับในการผิดนัดสัญญาไปชำระให้แก่โจทก์โดยแจ้งด้วยว่าโจทก์ยังมีความจำเป็นต้องใช้สิ่งของตามสัญญาซื้อขายอยู่ ขอให้จำเลยนำสิ่งของตามสัญญาไปส่งมอบให้โจทก์ให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วัน ถ้าไม่สามารถนำสิ่งของตามสัญญาไปส่งได้ขอให้แจ้งเหตุขัดข้องและกำหนดเวลาที่จะส่งสิ่งของได้ให้โจทก์ทราบด้วย มิฉะนั้นโจทก์จะบอกเลิกสัญญาและดำเนินการตามเงื่อนไขสัญญาต่อไปและขอให้จำเลยนำเงินค่าปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละศูนย์จุดสองของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้ส่งมอบไปชำระให้โจทก์ด้วย โดยโจทก์ขอสงวนสิทธิในการปรับต่อไปจากวันที่แจ้งให้จำเลยทราบจนถึงวันที่จำเลยนำสิ่งของตามสัญญาไปส่งให้ครบถ้วนหรือวันที่บอกเลิกสัญญาและขอสงวนสิทธิตามเงื่อนไขสัญญาทุกประการ แต่ปรากฏว่าจำเลยไม่ส่งมอบสิ่งของที่ตกลงซื้อขายกันตามสัญญาให้แก่โจทก์ โจทก์เห็นว่าเป็นการปฏิบัติผิดสัญญา โจทก์จึงใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยโดยขอบอกเลิกสัญญาทั้งฉบับ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2532เป็นต้นไป และแจ้งการปรับตามเงื่อนไขแห่งสัญญาข้อ 9 เป็นจำนวนเงินร้อยละศูนย์จุดสองของราคาสิ่งของที่บอกเลิกตั้งแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนดอายุสัญญาจนถึงวันเลิกสัญญาเป็นเวลา 486 วันเป็นเงินค่าปรับทั้งสิ้น 90,123.84 บาท และโจทก์ได้สงวนสิทธิในอันที่จะเรียกค่าเสียหายจากจำเลยตามเงื่อนไขสัญญาทุกประการกับโจทก์ได้แจ้งด้วยว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิริบเงินมัดจำสัญญาทั้งหมดจำนวน 5,564 บาท แล้วขอให้จำเลยนำเงินค่าปรับจำนวน90,123.84 บาท ไปชำระให้โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือดังกล่าว จำเลยได้รับหนังสือของโจทก์ดังกล่าวแล้วตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2532 แต่จำเลยไม่ชำระ จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2532 เป็นต้นไป นอกจากนี้การที่จำเลยผิดสัญญาไม่ส่งมอบสิ่งของดังกล่าวทำให้โจทก์ต้องจัดซื้อสิ่งของจากบุคคลอื่นเต็มจำนวนภายในกำหนด 12 เดือน นับแต่วันที่บอกเลิกสัญญาโดยจัดซื้อสิ่งของทั้งหมดได้ในราคา 131,916 บาท แพงกว่าราคาที่โจทก์ตกลงซื้อขายกับจำเลยเป็นเงิน 39,196 บาท ซึ่งจำเลยต้องรับผิดชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามสัญญาข้อ 8อีกด้วย โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระเงินจำนวน 39,196 บาทให้แก่โจทก์ให้เสร็จเรียบร้อยภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือจำเลยได้รับหนังสือของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2533 และ31 มกราคม 2534 แต่จำเลยไม่ชำระจำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันที่ 3 มีนาคม 2534 เป็นต้นไปจำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินค่าปรับและเงินค่าซื้อสิ่งของที่เพิ่มขึ้นพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์คือค่าปรับ จำนวน 90,123.84 บาท จำเลยผิดนัดนับแต่วันที 21 ตุลาคม 2532 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 1 ปี 5 เดือนคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นดอกเบี้ย 9,575.64 บาทรวมเงิน 99,699.48 บาท และค่าซื้อสิ่งของที่เพิ่มขึ้นจำนวน39,196 บาท จำเลยผิดนัดนับแต่วันที่ 3 มีนาคม 2534 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 18 วัน คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นดอกเบี้ย 144.97 บาท รวมเงิน 39,340.97 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น139,040.45 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน139,040.45 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 129,319.84 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยตกลงทำสัญญาซื้อขายตามฟ้องกับโจทก์ และไม่เคยสัญญาว่าจะส่งมอบสิ่งของที่ซื้อขายตามสัญญาและไม่เคยมีเงื่อนไขอื่นใดตามฟ้อง จำเลยมิเคยประพฤติผิดสัญญาต่อโจทก์โจทก์ไม่มีสิทธิปรับจำเลยหรือเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสิ้นจำเลยไม่เคยได้รับแจ้งให้ส่งมอบหรือผิดสัญญาจากโจทก์แต่อย่างใดเลย โจทก์มิได้มีการซื้อสินค้าจากผู้อื่นแต่อย่างใด และที่อ้างว่าซื้อแพงกว่าเป็นเงิน 39,196 บาท นั้น ไม่เป็นความจริง และโจทก์มิได้เสียหายจริง โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากค่าเสียหายดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 39,196 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 3 มีนาคม 2534จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติตามที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาว่า เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2531 จำเลยได้ทำสัญญาขายตลับลูกปืนต่าง ๆ ตามรายการละเอียดที่แนบท้ายสัญญาเอกสารหมาย จ.3 รวม 7 รายการ เป็นเงินทั้งสิ้น 92,720 บาท ให้โจทก์ต่อมาจำเลยผิดนัดไม่ส่งมอบตลับลูกปืนให้โจทก์ตามกำหนดสัญญาโจทก์จึงมีหนังสือแจ้งการผิดนัดสัญญาไปยังจำเลยและสงวนสิทธิในอันที่จะดำเนินการตามเงื่อนไขที่อ้างถึงในสัญญาข้อ 8 ข้อ 9และข้อ 10 ไว้ทุกประการ จำเลยเพิกเฉยมิได้ตอบให้โจทก์ทราบโจทก์จึงได้มีหนังสือแจ้งไปยังจำเลยว่าจำเป็นต้องใช้ของตามสัญญาอยู่ ให้จำเลยส่งมอบภายใน 7 วัน และนำเงินค่าปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาที่ยังไม่ได้ส่งมอบไปชำระหากไม่สามารถนำของตามสัญญาไปส่งได้ ขอให้แจ้งเหตุขัดข้องและกำหนดเวลาที่จะส่งของได้ให้ทราบด้วย แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญา แจ้ง ค่าเสียหายและใช้สิทธิริบเงินประกันสัญญาทั้งหมด คงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิปรับจำเลยเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาที่ยังไม่ได้รับมอบได้หรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 8และข้อ 9 มีความเกี่ยวพันกันโดยลำดับเกี่ยวกับการบังคับเอาแก่จำเลยผู้ขายกรณีผิดสัญญากล่าวคือ เมื่อถึงกำหนดส่งมอบแล้วจำเลยผิดนัดไม่ส่งมอบ โจทก์ขอใช้สิทธิบอกเบิกสัญญาได้ทันทีตามสัญญาข้อ 8 และริบหลักประกันตามสัญญาข้อ 7 เป็นจำนวนทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ และหากโจทก์จัดซื้อสิ่งของจากบุคคลอื่นจำเลยต้องรับผิดชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นจากราคาที่กำหนดไว้ในสัญญา หากโจทก์ไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับในอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาของที่ยังไม่ได้รับมอบตามสัญญาข้อ 9 วรรคแรก และในกรณีใช้สิทธิเรียกค่าปรับ ถ้าโจทก์เห็นว่าในระหว่างที่มีการปรับนั้นจำเลยไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาริบหลักประกัน และเรียกให้ชดใช้ราคาของที่เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการปรับได้ ตามสัญญาข้อ 9 วรรคสอง ไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าในกรณีที่ได้มีการปฏิบัติตามสัญญาไปบ้างแล้วเท่านั้นจึงจะปรับเข้ากับสัญญาข้อ 9 ได้ ดังนี้ เมื่อปรากฏว่าจำเลยผิดสัญญา โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบและสงวนสิทธิในอันที่จำดำเนินการตามเงื่อนไขที่อ้างถึงในสัญญาข้อ 8 ข้อ ข้อ 9 และข้อ 10 ไว้ ต่อมาได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยส่งมอบสิ่งของตามสัญญาและแจ้งไปด้วยว่าโจทก์ต้องทำการปรับจำเลยด้วย แต่จำเลยเพิกเฉย ในระหว่างที่มีการปรับ โจทก์เห็นว่าจำเลยไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ จึงได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาถือว่าโจทก์ใช้สิทธิตามสัญญาข้อ 9 หาใช่ใช้สิทธิตามสัญญาข้อ 8 ไม่ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าปรับตามฟ้องจากจำเลยได้ แต่เห็นว่าราคาสิ่งของตามสัญญาซื้อขายมีเพียง92,720 บาท โจทก์เรียกค่าปรับมาเป็นเงิน 90,123.84 บาท นับว่าสูงเกินส่วน เงินค่าปรับดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับอย่างหนึ่ง ซึ่งศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383 เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นว่าโจทก์ได้ริบหลักประกันจำนวน 5,564 บาท และเรียกให้จำเลยชดใช้เงินราคาของที่เพิ่มขึ้นจากราคาที่กำหนดไว้ในสัญญาอีก 396,196 บาท เป็นทางได้ของโจทก์อยู่แล้ว จึงเห็นสมควรกำหนดเบี้ยปรับในส่วนนี้ให้โจทก์ 40,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันผิดนัด
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินค่าปรับจำนวน 40,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 21ตุลาคม 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share