คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11727/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสามยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ซึ่งเป็นศาลยุติธรรม โดยยืนยันมาในคำฟ้องว่าคดีนี้เป็นคดีแพ่งไม่ใช่คดีปกครอง ซึ่งแสดงถึงเจตนาของโจทก์ทั้งสามว่าไม่มีความประสงค์ที่จะนำคดีนี้ไปฟ้องที่ศาลปกครอง และการพิจารณาวินิจฉัยคดีตลอดจนคำสั่งจำหน่ายคดีของศาลปกครองกลางโดยจำเลยทั้งสี่ในฐานะตุลาการศาลปกครองกลางตามที่โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามนั้น เป็นการใช้อำนาจตุลาการมิใช่เป็นการใช้อำนาจทางปกครองหรือการดำเนินกิจการทางปกครอง คำสั่งจำหน่ายคดีของศาลปกครองกลางดังกล่าวจึงมิใช่คำสั่งทางปกครองซึ่งไม่เข้ากรณีคดีพิพาทตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (1) ถึง (6) คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 271 ซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุและขณะที่โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีนี้ อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 233 อันเป็นบทบัญญัติในหมวด 8 ศาล ส่วนที่ 1 บททั่วไป บัญญัติว่า “การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาลซึ่งต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมายและในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” ทั้งยังมีบทบัญญัติในส่วนเดียวกัน มาตรา 249 รับรองอำนาจอิสระในการทำหน้าที่ของศาลด้วย ดังนี้
“ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของผู้พิพากษาและตุลาการไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาตามลำดับชั้น
การจ่ายสำนวนคดีให้ผู้พิพากษาและตุลาการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติ
การเรียกคืนสำนวนคดีหรือการโอนสำนวนคดีจะกระทำมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี
การโยกย้ายผู้พิพากษาและตุลาการโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิพากษาและตุลาการนั้น จะกระทำมิได้ เว้นแต่เป็นการโยกย้ายตามวาระตามที่กฎหมายบัญญัติ เป็นการเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น เป็นกรณีที่อยู่ในระหว่างถูกดำเนินการทางวินัย หรือตกเป็นจำเลยในคดีอาญา”
ตามบทบัญญัติในมาตรา 233 และมาตรา 249 ดังกล่าว เมื่อพิจารณาประกอบมาตรา 277 วรรคหนึ่ง อันเป็นบทบัญญัติหมวด 8 ศาล ส่วนที่ 4 ศาลปกครอง ที่บัญญัติว่า “การแต่งตั้งและการให้ตุลาการในศาลปกครองพ้นจากตำแหน่ง ต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองตามที่กฎหมายบัญญัติก่อน แล้วจึงนำความกราบบังคมทูล” ย่อมมีนัยสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ประสงค์ที่จะปกป้องคุ้มครองผู้พิพากษาและตุลาการในศาลทั้งหลายรวมทั้งตุลาการศาลปกครองให้สามารถทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้อย่างมีอิสระ ปราศจากการแทรกแซงครอบงำของบุคคล องค์กร หรืออำนาจอื่นใดทั้งสิ้น เพื่อให้ผู้พิพากษาและตุลาการสามารถดำรงสถานะของความเป็นกลางในการทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดคดีอำนวยความยุติธรรมให้แก่คู่ความในคดีได้อย่างแท้จริง ยิ่งกว่านั้นเพื่อให้ผู้พิพากษาและตุลาการสามารถทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาอรรถคดีได้อย่างเป็นอิสระไม่ต้องกังวลหวั่นเกรงว่าจะต้องรับผิดต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ในขณะเดียวกันก็เพื่อปกป้องผู้พิพากษาและตุลาการผู้ทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้รอดพ้นจากการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายของผู้ที่อาจเสียประโยชน์จากคำตัดสินชี้ขาดของศาล ดังนั้น อำนาจในการวินิจฉัยประเด็นปัญหาแห่งคดีจึงเป็นอำนาจอิสระของผู้พิพากษาหรือตุลาการ บุคคลใดจะฟ้องร้องให้ผู้พิพากษาหรือตุลาการรับผิดจากการใช้อำนาจทางตุลาการไม่ได้ เว้นแต่การใช้อำนาจดังกล่าวจะเป็นการใช้อำนาจโดยทุจริตหรือโดยมิชอบด้วยหน้าที่เท่านั้น เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามในคดีนี้ โจทก์ทั้งสามมิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่า จำเลยทั้งสี่ในฐานะตุลาการศาลปกครองกลางพิจารณาออกคำสั่งและวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีโดยทุจริตหรือโดยมิชอบด้วยหน้าที่ เพียงแต่กล่าวอ้างว่าคำสั่งจำหน่ายคดีของจำเลยทั้งสี่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะก่อนมีคำสั่งจำหน่ายคดี จำเลยทั้งสี่ได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีด้วยซึ่งเป็นการขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 132 โดยชัดแจ้งเท่านั้น อันมีผลเท่ากับว่าโจทก์ทั้งสามไม่พอใจและไม่เห็นพ้องด้วยในผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลาง ก็ชอบที่โจทก์ทั้งสามจะใช้สิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อตรวจสอบทบทวนแก้ไขให้ความเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสามต่อไปได้ ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 73 ประกอบ มาตรา 11 (4) ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามที่โจทก์ทั้งสามบรรยายมาในฟ้องจึงหาเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามไม่ ชอบที่ศาลฎีกาจะพิพากษายกฟ้องของโจทก์ทั้งสามได้ในชั้นตรวจคำฟ้องโดยไม่จำต้องมีคำสั่งรับฟ้องไว้ก่อน ทั้งนี้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสาม ประกอบมาตรา 131 (2)

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้อง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งตามหนังสือลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2545 ของโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 3 ที่มีไปถึงสถาบันการเงินต่าง ๆ และมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสามและผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ส่งคืนข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ และสำเนาที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมของผู้ฟ้องคดีที่ 4 ที่โจทก์ทั้งสามและผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้รับทั้งหมดให้แก่สถาบันการเงินดังกล่าว
ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้รวมพิจารณาคดีหมายเลขดำที่ 423/2545 เข้ากับคดีหมายเลขดำที่ 407/2545 เห็นว่า คำสั่งตามหนังสือลับที่ นร 2205 (45ตส0037) 1059 – 1075 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2545 เรื่อง ขอตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรมที่โจทก์ที่ 3 มีไปถึงสถาบันการเงินและสั่งให้สถาบันการเงินส่งให้กับโจทก์ที่ 1 ซึ่งข้อมูลหรือหลักฐานเกี่ยวกับข้อมูลรายการเงินฝาก – ถอน และยอดคงเหลือในบัญชีต่าง ๆ และข้อมูลการทำธุรกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินอื่น ๆ ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบันของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเหตุที่เจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะออกคำสั่งดังกล่าวได้ ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ โดยก่อนที่จะสั่งจำหน่ายคดีได้มีคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีในขณะเดียวกันด้วย โจทก์ทั้งสามเห็นว่าคำสั่งจำหน่ายคดีของจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ดังที่จำเลยทั้งสี่อ้างข้างต้นนั้น ไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติให้อำนาจศาลปกครองจำหน่ายคดีได้ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงต้องใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132 มาใช้บังคับในฐานะเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง คำสั่งของจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวประกอบการวินิจฉัยคดีของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นการกระทำโดยละเมิดกล่าวคือ ศาลปกครองกลางต้องมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ โดยไม่ต้องมีคำวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นเรื่องนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 132 จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นตุลาการศาลปกครองย่อมไม่มีสิทธิทำคำวินิจฉัยทั้งสิ้น เมื่อจำเลยทั้งสี่ทำคำวินิจฉัยจึงเป็นการขัดต่อกฎหมายโดยชัดแจ้ง มีผลเป็นการกระทำโดยละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม การวินิจฉัยของจำเลยทั้งสี่ในฐานะที่เป็นตุลาการศาลปกครองกลางจึงผิดข้อเท็จจริงเป็นการฝ่าฝืนความจริงที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามเห็นว่า จำเลยทั้งสี่เป็นตุลาการศาลปกครองกลาง ได้ร่วมกันวินิจฉัยและลงชื่อในคำพิพากษาและคำสั่งอันเป็นการกระทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 432 ต่อโจทก์ทั้งสามในคดีหมายเลขดำที่ 407/2545, 423/2545 คดีหมายเลขแดงที่ 1251 – 1252/2545 โดยคำสั่งจำหน่ายคดีได้วินิจฉัยกล่าวถึงโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ความเสียหายจึงเกิดแก่โจทก์ที่ 1 ด้วย เพราะโจทก์ที่ 2 เป็นผู้แทนตามกฎหมายของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล ส่วนโจทก์ที่ 3 เป็นผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศและติดตามประเมินผลของโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ต่างก็เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 เมื่อโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ถูกกระทำละเมิดในการปฏิบัติการตามหน้าที่จึงมีผลเสียหายถึงโจทก์ที่ 1 ถือว่าโจทก์ที่ 1 ถูกกระทำละเมิดด้วย จำเลยทั้งสี่จึงเป็นลูกหนี้ร่วมกันต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าหนี้ร่วมกันในมูลหนี้ละเมิด โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีนี้ต่อศาลเป็นคดีแพ่ง ไม่ใช่คดีปกครอง ศาลปกครองไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาและมีคำสั่ง ที่ว่ามิใช่คดีปกครองเพราะเป็นกรณีที่ไม่ต้องด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 276 และไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 ไม่ว่าอนุมาตราใด ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่โจทก์ทั้งสามได้รับเป็นจำนวนเงิน 100,000,000 บาท (หนึ่งร้อยล้านบาทถ้วน) และชดใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.50 ต่อปี ในจำนวนเงินดังกล่าวตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะใช้เงินแก่โจทก์ทั้งสามเสร็จ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันอย่างน้อยห้าฉบับ เพื่อให้ชื่อเสียงของโจทก์ทั้งสามกลับคืนดี มีกำหนดเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือน โดยให้จำเลยทั้งสี่เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในชั้นรับฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยทั้งสี่ในฐานะตุลาการศาลปกครองกลาง ทำคำสั่งในคดีปกครองไม่ถูกต้อง ทำให้โจทก์ทั้งสามเสียหายโจทก์ทั้งสามชอบที่อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง มาตรา 11 (4) สำหรับข้อโต้แย้งหลักการและเหตุผลในการทำคำสั่งว่าจะต้องทำอย่างไรตามที่โจทก์ทั้งสามอ้างนั้น เป็นการโต้แย้งกระบวนการและดุลพินิจในทางการปกครอง ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะรับไว้พิจารณา จึงมีคำสั่งไม่รับฟ้อง คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดให้โจทก์ทั้งสาม
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสามยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ซึ่งเป็นศาลยุติธรรม โดยยืนยันมาในคำฟ้องว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งไม่ใช่คดีปกครองซึ่งแสดงถึงเจตนาของโจทก์ทั้งสามว่าไม่มีความประสงค์ที่จะนำคดีนี้ไปฟ้องที่ศาลปกครองและการพิจารณาวินิจฉัยคดีตลอดจนคำสั่งจำหน่ายคดีของศาลปกครองกลางโดยจำเลยทั้งสี่ในฐานะตุลาการศาลปกครองกลางตามที่โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามนั้น เป็นการใช้อำนาจตุลาการมิใช่เป็นการใช้อำนาจทางปกครองหรือการดำเนินกิจการทางปกครอง คำสั่งจำหน่ายคดีของศาลปกครองกลางดังกล่าวจึงมิใช่คำสั่งทางปกครองซึ่งไม่เข้ากรณีคดีพิพาทตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (1) ถึง (6) คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 271 ซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุและขณะที่โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีนี้ อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 233 อันเป็นบทบัญญัติในหมวด 8 ศาล ส่วนที่ 1 บททั่วไป บัญญัติว่า “การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาลซึ่งต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมายและในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” ทั้งยังมีบทบัญญัติในส่วนเดียวกัน มาตรา 249 รับรองอำนาจอิสระในการทำหน้าที่ของศาลด้วย ดังนี้
“ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของผู้พิพากษาและตุลาการไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาตามลำดับชั้น
การจ่ายสำนวนคดีให้ผู้พิพากษาและตุลาการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติ
การเรียกคืนสำนวนคดีหรือการโอนสำนวนคดี จะกระทำมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี
การโยกย้ายผู้พิพากษาและตุลาการโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิพากษาและตุลาการนั้น จะกระทำมิได้ เว้นแต่เป็นการโยกย้ายตามวาระตามที่กฎหมายบัญญัติ เป็นการเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น เป็นกรณีที่อยู่ในระหว่างถูกดำเนินการทางวินัย หรือตกเป็นจำเลยในคดีอาญา”
ตามบทบัญญัติในมาตรา 233 และมาตรา 249 ดังกล่าว เมื่อพิจารณาประกอบมาตรา 277 วรรคหนึ่ง อันเป็นบทบัญญัติหมวด 8 ศาล ส่วนที่ 4 ศาลปกครอง ที่บัญญัติว่า “การแต่งตั้งและการให้ตุลาการในศาลปกครองพ้นจากตำแหน่ง ต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองตามที่กฎหมายบัญญัติก่อน แล้วจึงนำความกราบบังคมทูล” ย่อมมีนัยสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ประสงค์ที่จะปกป้องคุ้มครองผู้พิพากษาและตุลาการในศาลทั้งหลาย รวมทั้งตุลาการศาลปกครองให้สามารถทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้อย่างมีอิสระ ปราศจากการแทรกแซงครอบงำของบุคคล องค์กร หรืออำนาจอื่นใดทั้งสิ้น เพื่อให้ผู้พิพากษาและตุลาการสามารถดำรงสถานะของความเป็นกลางในการทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดคดีอำนวยความยุติธรรมให้แก่คู่ความในคดีได้อย่างแท้จริง ยิ่งกว่านั้นเพื่อให้ผู้พิพากษาและตุลาการสามารถทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาอรรถคดีได้อย่างเป็นอิสระ ไม่ต้องกังวลหวั่นเกรงว่าจะต้องรับผิดต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ในขณะเดียวกันก็เพื่อปกป้องผู้พิพากษาและตุลาการผู้ทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้รอดพ้นจากการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายของผู้ที่อาจเสียประโยชน์จากคำตัดสินชี้ขาดของศาล ดังนั้น อำนาจในการวินิจฉัยประเด็นปัญหาแห่งคดีจึงเป็นอำนาจอิสระของผู้พิพากษาหรือตุลาการ บุคคลใดจะฟ้องร้องให้ผู้พิพากษาหรือตุลาการรับผิดจากการใช้อำนาจทางตุลาการไม่ได้ เว้นแต่การใช้อำนาจดังกล่าวจะเป็นการใช้อำนาจโดยทุจริตหรือโดยมิชอบด้วยหน้าที่เท่านั้น เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามในคดีนี้โจทก์ทั้งสามมิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่า จำเลยทั้งสี่ในฐานะตุลาการศาลปกครองกลางพิจารณาออกคำสั่งและวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีโดยทุจริตหรือโดยมิชอบด้วยหน้าที่ เพียงแต่กล่าวอ้างว่าคำสั่งจำหน่ายคดีของจำเลยทั้งสี่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะก่อนมีคำสั่งจำหน่ายคดี จำเลยทั้งสี่ได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีด้วยซึ่งเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132 โดยชัดแจ้งเท่านั้น อันมีผลเท่ากับว่าโจทก์ทั้งสามไม่พอใจและไม่เห็นพ้องด้วยในผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลาง ก็ชอบที่โจทก์ทั้งสามจะใช้สิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อตรวจสอบทบทวนแก้ไขให้ความเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสามต่อไปได้ ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 73 ประกอบมาตรา 11 (4) ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามที่โจทก์ทั้งสามบรรยายมาในฟ้องจึงหาเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามไม่ ชอบที่ศาลฎีกาจะพิพากษายกฟ้องของโจทก์ทั้งสามได้ในชั้นตรวจคำฟ้องโดยไม่จำต้องมีคำสั่งรับฟ้องไว้ก่อน ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสาม ประกอบมาตรา 131 (2) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งไม่รับฟ้อง คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดให้แก่โจทก์ทั้งสามจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยให้ยกฟ้องของโจทก์ทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share