คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2068/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สินค้าที่ผู้ขนส่งจ้างให้จำเลยทั้งสองขนส่งทางอากาศมีมูลค่าเกินกว่าจำนวนสูงสุดที่จำเลยที่ 2 อนุญาตให้สำแดงได้ คือ 500 ดอลลาร์สหรัฐ ไปมาก ผู้ส่งทราบถึงเงื่อนไขการขนส่งและข้อจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 แล้ว แต่สมัครใจเข้าทำสัญญารับขนกับจำเลยที่ 2 และไม่ได้แจ้งหรือระบุมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่งไว้ ทั้งยังได้ทำประกันภัยสินค้าระหว่างการขนส่งกับโจทก์เต็มมูลค่าของสินค้าโดยยอมเสียเบี้ยประกันภัย แสดงถึงเจตนาที่จะเข้าเอาประโยชน์จากการที่จะไม่ต้องเสียค่าระวางเพิ่มและหากสินค้าสูญหายหรือเสียหายผู้ส่งยังได้รับชดใช้ตามกรมธรรม์ประกันภัยเต็มตามมูลค่าของสินค้า นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่ประกอบกิจการรับขนสินค้าที่มีมูลค่าสูงโดยเฉพาะให้ผู้ส่งได้เลือกใช้บริการ แต่จะคิดค่าระวางขนส่งที่สูงกว่าจำเลยที่ 2 ดังนั้น ผู้ส่งจึงมิได้อยู่ในฐานะที่ต้องเสียเปรียบหรือต้องผูกมัดให้ทำสัญญาโดยไม่มีผู้ประกอบการรายอื่นที่จะเลือกใช้บริการเงื่อนไขการขนส่งและข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวมิได้มีผลให้ผู้ส่งซึ่งเป็นผู้เอาประกันรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติหรือทำให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ขนส่งได้เปรียบผู้เอาประกันภัยเกินสมควร จึงมิใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและบังคับได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2547 บริษัทไฟว์ พี. เจมส์ กรุ๊ป จำกัด ว่าจ้างให้จำเลยทั้งสองขนส่งสินค้าเครื่องประดับอัญมณี จำนวน 1 หีบห่อ ราคารวม 2,235,500 เยน ทางอากาศจากท่าอากาศยานกรุงเทพไปส่งให้แก่ชิเจมิตซุ โซไค ผู้ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งที่ประเทศญี่ปุ่น จำเลยที่ 1 ออกใบรับขนของทางอากาศให้แก่ผู้ส่งไว้เป็นหลักฐาน ผู้ส่งทำสัญญาประกันภัยการขนส่งสินค้าดังกล่าวไว้กับโจทก์เป็นทุนประกันรวม 2,459,050 เยน หรือ 912,270.66 บาท ผู้ส่งส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยทั้งสองในสภาพเรียบร้อยครบถ้วน เมื่อถึงกำหนดส่งมอบสินค้าผู้รับตราส่งแจ้งว่าไม่ได้รับสินค้า ตรวจสอบพบว่าสินค้าทั้งหมดสูญหายไปในระหว่างการขนส่ง ผู้ส่งทวงถามให้จำเลยทั้งสองรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ผู้ส่งจึงจำต้องส่งสินค้าใหม่ตามจำนวนมูลค่าสินค้าที่สูญหายให้แก่ผู้ซื้อแทนสินค้าเดิมและเรียกร้องให้โจทก์ชดใช้ตามสัญญาประกันภัย โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ส่งซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยไปเป็นเงิน 2,459,050 เยน หรือ 912,270,66 บาท เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2548 และรับช่วงสิทธิเรียกร้องจากผู้เอาประกันภัยให้จำเลยทั้งสองรับผิด โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่โจทก์ได้ใช้เงินไปจนถึงวันฟ้องคิดเป็นเงินดอกเบี้ยรวม 26,055.95 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 938,326.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 912,270.66 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า สินค้าไม่ได้สูญหายในระหว่างการขนส่งของจำเลยทั้งสอง สินค้าพิพาทคดีนี้เป็นเครื่องประดับอัญมณี ซึ่งถือเป็นของมีค่าอย่างอื่น ๆ ตามมาตรา 620 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ผู้ส่งมิได้บอกราคาหรือสภาพแห่งของไว้ในขณะที่ส่งมอบสินค้า จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อการสูญหายของสินค้า ผู้ส่งทราบดีอยู่แล้วว่าการระบุว่า “ตามใบกำกับสินค้า” หรือการสำแดงราคาในใบรับขนของทางอากาศในช่อง Value for Customs เพียงช่องเดียวเป็นเพียงเพื่อดำเนินพิธีการศุลกากรเท่านั้น มิใช่เป็นการบอกราคาที่แท้จริงของสินค้าตามความหมายของมาตรา 620 ซึ่งผู้ส่งจำเป็นต้องระบุหรือสำแดงราคาในช่อง Declared Value for Carriage หรือมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่ง การสำแดงราคาในช่อง Value for Customs ของผู้ส่งในใบรับขนของทางอากาศหาใช่เพื่อให้จำเลยทั้งสองมีความรับผิดเพิ่มขึ้นเต็มจำนวนราคาสินค้าในกรณีสินค้าเสียหาย สูญหาย และ/หรือเรียกเก็บค่าบริการประกันภัยเพิ่มขึ้นจากค่าบริการขนส่งปกติ ผู้ส่งทำสัญญาประกันภัยกับโจทก์เพื่อบรรเทาความเสี่ยงภัยจากการขนส่งทางอากาศซึ่งหากผู้ส่งจะได้รับการชดใช้โดยเต็มมูลค่าสินค้าจากผู้ขนส่งแล้วก็คงไม่มีความจำเป็นที่ผู้ส่งจะต้องซื้อประกันภัยเต็มมูลค่าสินค้าโดยมีภาระจ่ายเบี้ยประกันภัยกับโจทก์อีก การไม่บอกราคาหรือไม่สำแดงมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่งในช่อง Declared Value for Carriage จึงเป็นการไม่ชอบด้วยข้อตกลงและกฎหมายในอันที่ผู้ส่งจะมีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยทั้งสองเป็นพิเศษจากกรณีปกติทั่วไป จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดในมูลค่าของเครื่องประดับหรือของมีค่าอื่น ๆ ผู้ส่งหรือผู้เอาประกันภัยเป็นลูกค้าของจำเลยทั้งสองโดยได้เปิดบัญชีเครดิตเดินสะพัดโดยตกลงยกเว้นและจำกัดความรับผิดของจำเลยทั้งสองในกรณีของสูญหายหรือบุบสลายจากการขนส่งทางอากาศ ผู้ส่งเป็นผู้บรรจุสินค้าพร้อมปิดผนึกและพิมพ์ข้อความทั้งหมดในแบบฟอร์มใบรับขนของทางอากาศพร้อมลงลายมือชื่อและแจ้งให้จำเลยทั้งสองไปรับสินค้า โดยไม่ได้แจ้งมูลค่าของสินค้าที่เป็นของมีค่าไว้ ซึ่งหากมีการบอกราคาแห่งของไว้ในช่อง Declared Value for Carriage ขณะที่ส่งมอบสินค้า จะมีผลต่อราคาค่าบริการขนส่งหรือค่าระวางกับทั้งอุปกรณ์ในการขนส่งจำเลยทั้งสองจะเรียกเก็บค่าบริการประกันภัยกับผู้ส่งเพิ่มเติมจากค่าขนส่งปกติ การที่ผู้ส่งทำประกันภัยกับโจทก์แสดงว่าผู้ส่งทราบถึงข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งที่จำกัดความรับผิดของจำเลยทั้งสองในกรณีสินค้าเสียหายหรือสูญหายไว้ที่ 20 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม หรือไม่เกิน 100ดอลลาร์สหรัฐ แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า สินค้าพิพาทมีน้ำหนัก 0.5 กิโลกรัมและผู้ส่งไม่ได้สำแดงมูลค่าเพื่อการขนส่งไว้ ดังนั้น หากจำเลยทั้งสองต้องรับผิดก็จำกัดไว้เพียงไม่เกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐ พฤติการณ์ของผู้ส่งมิได้มีเจตนาเพื่อให้จำเลยทั้งสองมีโอกาสใช้ความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้นและเรียกเก็บค่าบริการประกันภัยจากผู้ส่งเพิ่มจากค่าขนส่งตามปกติ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อผู้ส่งซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองถึงวันฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า ข้อตกลงจำกัดความรับผิดด้านหลังใบรับขนของทางอากาศมีลักษณะข้อตกลงที่ได้ทำไว้ล่วงหน้าเพื่อยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดเพื่อละเมิดหรือผิดสัญญาในความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เกิดจากการกระทำของลูกหนี้เองหรือของบุคคลอื่นที่ลูกหนี้ต้องรับผิดด้วยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 8 วรรคสอง จึงมีผลบังคับได้เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีตามมาตรา 10 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 414,685.25 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 18 มีนาคม 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 กรกฎาคม 2548) ต้องไม่เกิน 26,055.95 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ทดแทนจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัย “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2547 บริษัทไฟว์ พี. เจมส์ กรุ๊ป จำกัด ได้ว่าจ้างให้จำเลยทั้งสองขนส่งสินค้าประเภทเครื่องประดับอัญมณี จำนวน 1 หีบห่อ ราคารวม 2,235,500 เยน จากต้นทางท่าอากาศยานกรุงเทพไปส่งให้แก่ชิเจมิตซุ โซไค ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้รับตราส่งที่จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น ตามใบกำกับสินค้าและใบรับขนของทางอากาศ เอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ซึ่งด้านหลังใบรับขนของทางอากาศ เอกสารหมาย จ.4 มีข้อความจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง ในกรณีสินค้าสูญหาย เสียหายหรือส่งมอบบอกชักช้าไม่เกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 20 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม แล้วแต่ว่าจำนวนใดจะมากกว่ากัน ในการขนส่งสินค้าดังกล่าว ผู้ส่งได้ทำสัญญาประกันภัยไว้กับโจทก์ ซึ่งโจทก์ตกลงรับประกันภัยความเสียหายหรือสูญหายของสินค้าระหว่างการขนส่งสินค้าทางอากาศจากต้นทางจนถึงปลายทางที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นทุนประกันภัย 2,459,050 เยน หรือ 912,270.66 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน 37.10 บาท เท่ากับ 100 เยน) ผู้ส่งส่งมอบสินค้าให้จำเลยทั้งสองครบถ้วนแล้ว ต่อมาปรากฏว่า ผู้รับตราส่งไม่ได้รับสินค้า เนื่องจากสินค้าทั้งหมดสูญหายไประหว่างการขนส่ง ผู้ส่งทวงถามให้จำเลยทั้งสองรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ผู้ส่งจึงเรียกร้องจากโจทก์ โจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ส่งไปเป็นเงิน 912,270.66 บาท เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2548 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า เงื่อนไขการขนส่งและข้อจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 ตามใบรับขนของทางอากาศเอกสารหมาย จ.4 เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 หรือไม่”
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หรือในสัญญาสำเร็จรูป หรือในสัญญาขายฝากที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปหรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น และในวรรคสาม (1) กำหนดให้ข้อตกลงเว้นหรือจำกัดความรับผิดที่เกิดจากการผิดสัญญาที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติเป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น การจะพิจารณาว่าข้อจำกัดความรับผิดของจำเลยทั้งสองตามใบรับขนของทางอากาศเอกสารหมาย จ.4 เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าข้อจำกัดความรับผิดนั้นเป็นผลให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขและข้อจำกัดความรับผิดนั้นได้เปรียบผู้ส่งซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรหรือไม่ ส่วนนี้ ข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของจำเลยทั้งสองโดยโจทก์มิได้โต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่า ใบรับขนของทางอากาศซึ่งเป็นแบบฟอร์มของจำเลยที่ 2 ด้านหน้ามีช่องให้ผู้ส่งกรอกรายละเอียดของสินค้า โดยรายการสำแดงราคาสินค้าแยกออกเป็น 2 ช่องย่อย คือ ช่องสำแดงราคาสินค้าเพื่อดำเนินพิธีการศุลกากรซึ่งผู้ส่งทุกรายจำเป็นต้องระบุไว้เพื่อคำนวณการเสียภาษีกับช่องสำแดงราคาสินค้าเพื่อการขนส่ง ซึ่งไม่บังคับให้ผู้ส่งต้องสำแดง ผู้ส่งจะระบุหรือไม่ระบุก็ได้ แต่หากมีการระบุราคาสินค้าที่ช่องนี้จะส่งผลต่ออัตราการคิดค่าธรรมเนียมการขนส่งและข้อจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในกรณีสินค้าสูญหาย เสียหายหรือขนส่งล่าช้า กล่าวคือ หากผู้ส่งไม่สำแดงราคาเพื่อการขนส่งไว้ในใบรับขนของทางอากาศ ความรับผิดของจำเลยที่ 2 จะจำกัดไว้สูงสุดไม่เกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อการขนส่ง 1 เที่ยว หรือ 20 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า แต่หากผู้ส่งประสงค์จะให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามจำนวนราคาสินค้าที่สำแดงไว้ ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าข้อจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 กรณีทั่วไป ผู้ส่งจะต้องสำแดงราคาสินค้าเพื่อการขนส่งไว้ในใบรับขนของทางอากาศและกรณีนี้ผู้ส่งจะต้องเสียค่าธรรมเนียมการขนส่งบวกค่าบริการประกันภัยเพิ่มขึ้นในอัตรา 0.4 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 100 เหรียญ และหากเป็นสินค้าประเภทอัญมณี จำเลยที่ 2 จะอนุญาตให้ผู้ส่งสำแดงมูลค่าของสินค้าเพื่อการขนส่งเป็นเงินไม่เกิน 500 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหมายความว่าจำเลยที่ 2 จะจำกัดความรับผิดไว้ไม่เกินมูลค่าที่สำแดงไว้ แต่ทั้งต้องไม่เกิน 500 ดอลลาร์สหรัฐ และกรณีที่ผู้ส่งเลือกที่จะไม่สำแดงมูลค่าเพื่อการขนส่ง จำเลยที่ 2 จะคิดค่าธรรมเนียมการขนส่งตามน้ำหนักของสินค้า สำหรับสินค้าพิพาทรายนี้ ผู้ส่งไม่ได้สำแดงมูลค่าเพื่อการขนส่งไว้ในใบรับขนของทางอากาศ จำเลยที่ 2 จึงคิดค่าธรรมเนียมการขนส่งตามน้ำหนักของสินค้า เห็นว่า สัญญารับขนของทางอากาศระหว่างผู้ส่งกับจำเลยทั้งสองมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งคู่สัญญาต่างมีหนี้ที่จะต้องชำระตอบแทนกัน โดยหนี้ที่ผูกพันฝ่ายหนึ่งเป็นมูลฐานของการชำระหนี้ขออีกฝ่ายหนึ่ง จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ขนส่งมีหน้าที่จะต้องขนส่งสินค้าไปส่งให้แก่ผู้รับตราส่ง หากสินค้าสูญหายหรือเสียหายอันเกิดขึ้นจากการผิดสัญญาก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนผู้ส่งก็มีหน้าที่ที่ต้องชำระค่าระวางขนส่งตามอัตราที่ตกลงกัน ซึ่งจากเงื่อนไขการขนส่งที่กล่าวมาเห็นได้ชัดว่าอัตราค่าระวางที่ผู้ส่งต้องรับภาระจะสัมพันธ์โดยตรงกับมูลค่าสินค้าที่สำแดงเพื่อการขนส่งเช่นเดียวกับจำนวนความรับผิดกรณีสินค้าสูญหายหรือเสียหายโดยเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นตามกัน หากสำแดงราคาสินค้าไว้สูงผู้ส่งก็จะต้องเสียค่าขนส่งเพิ่มขึ้น แต่หากสินค้าสูญหายหรือเสียหายก็จะได้รับการชดใช้ตามมูลค่าที่สำแดงไว้แต่ไม่เกินจำนวน 500 ดอลลาร์สหรัฐ ตามที่จำเลยที่ 2 กำหนดเท่านั้น ดังนั้น มูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่งที่ระบุจึงเป็นเกณฑ์ในการคำนวณราคาค่าระวางขนส่งและจำนวนความรับผิด การที่ผู้ขนส่งคิดค่าระวางเพิ่มขึ้นก็เนื่องมาจากมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มภาระในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หนี้ที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะต้องชำระตอบแทนกัน ในส่วนนี้จึงถือเป็นหนี้ที่มีความสำคัญขนาดเดียวกัน หากผู้ส่งต้องการค่าสินไหมทดแทนที่มากขึ้นก็ต้องยอมจ่ายค่าระวางขนส่งสูงขึ้นจึงจะเป็นธรรมแก่คู่สัญญาทั้งสองฝ่าย พิเคราะห์จากข้อเท็จจริงที่ว่าสินค้าที่ผู้ขนส่งจ้างให้จำเลยทั้งสองขนส่งมีมูลค่า 2,235,500 เยน ซึ่งเกินกว่าจำนวนสูงสุดที่จำเลยที่ 2 อนุญาตให้สำแดงได้ คือ 500 ดอลลาร์สหรัฐ ไปมากประกอบพฤติการณ์ที่ผู้ส่งซึ่งเป็นลูกค้าที่ใช้บริการขนส่งสินค้าของจำเลยที่ 2 ไปต่างประเทศอยู่เป็นประจำ ย่อมทราบดีถึงเงื่อนไขการขนส่งและข้อจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 แต่สมัครใจเข้าทำสัญญารับขนของทางอากาศกับจำเลยที่ 2 และไม่ได้แจ้งหรือระบุมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่งไว้ ทั้งยังได้ทำประกันภัยเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงภัยจากการสูญหายหรือเสียหายของสินค้าระหว่างการขนส่งกับโจทก์เต็มมูลค่าของสินค้าโดยยอมเสียเบี้ยประกันภัยอันเป็นทางเลือกอย่างอื่น แสดงให้เห็นชัดถึงเจตนาที่จะเข้าเอาประโยชน์จากการที่จะไม่ต้องเสียค่าระวางเพิ่มและหากสินค้าสูญหายหรือเสียหายผู้ส่งยังรับชดใช้ตามกรมธรรม์ประกันภัยเต็มตามมูลค่าของสินค้า นอกจากนี้ยังได้ความว่ามีบริษัทที่ประกอบกิจการรับขนสินค้าที่มีมูลค่าสูงโดยเฉพาะให้ผู้ส่งได้เลือกใช้บริการ แต่บริษัทเหล่านี้จะคิดค่าระวางขนส่งที่สูงกว่าจำเลยที่ 2 เนื่องจากจะต้องทำประกันภัยสินค้าและจะต้องจัดให้มีระบบรักษาความปลอดภัยเพราะหากสินค้าสูญหาย ผู้ส่งจะได้รับค่าสินไหมทดแทนเต็มมูลค่าของสินค้า ดังนั้น เมื่อพิจารณาตามพฤติการณ์ ทางเลือกและทางได้เสียทุกอย่างของผู้ส่งกับจำเลยทั้งสองแล้ว เห็นว่า ผู้ส่งมิได้อยู่ในฐานะที่ต้องเสียเปรียบหรือต้องผูกมัดให้ทำสัญญาโดยไม่มีผู้ประกอบการรายอื่นที่จะเลือกใช้บริการ เงื่อนไขการขนส่งและข้อจำกัดความรับผิดตามใบรับขนของทางอากาศเอกสารหมาย จ.4 ดังกล่าวมิได้มีผลให้ผู้ส่งซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติหรือทำให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ขนส่งได้เปรียบผู้เอาประกันภัยเกินสมควรแต่อย่างใด ข้อจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 จึงมิใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและบังคับได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระเงินต่อโจทก์โดยนำบทบัญญัติตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาปรับใช้บังคับให้จำเลยทั้งสองต้องรับภาระเกินกว่าจำนวนความรับผิดที่ระบุในใบรับขนของทางอากาศ เอกสารหมาย จ.4 ในคดีนี้ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น เมื่อสินค้าที่สูญหายมีน้ำหนัก 0.5 กิโลกรัม จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัย เป็นเงิน 100 ดอลลาร์สหรัฐ ตามข้อจำกัดความรับผิดซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ขนส่งร่วมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วย กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยทั้งสองอีกเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 100 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2548 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share