แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
มูลนิธิสงเคราะห์เด็กอนาถาผู้คัดค้านตั้งมาประมาณ 6 ปีมีทรัพย์สินประมาณ 20 ล้านบาท เคยบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยและการกุศลต่าง ๆ รวมทั้งสร้างอาคารเรียน แต่ผู้คัดค้านทำบัญชีงบดุลเกี่ยวกับทรัพย์สินรายได้ประจำปีเพียงปีเดียวแล้วไม่เคยทำอีกเลย การหารายได้ของผู้คัดค้านที่ให้เจ้าหน้าที่ของผู้คัดค้านไปทำการเรี่ยไรโดย ขายดอกไม้และภาพถ่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487 ก็เป็นการหาทรัพย์สินโดยนอกเหนือจากบทบัญญัติข้อ 6 ในหมวด 3 และเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติข้อ 45 ของตราสารของผู้คัดค้าน กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 93(3) เดิม ศาลย่อมมีอำนาจสั่งให้เลิกมูลนิธิผู้คัดค้านได้
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อปลายปี 2529 ถึงเดือนกุมภาพันธ์2531 มูลนิธิสงเคราะห์เด็กอนาถาได้จัดให้มีการเรี่ยไรจากประชาชนทั่วไปโดยวิธีนำดอกไม้และภาพถ่ายกลุ่มคนซึ่งมีนายไก่เตี้ย แซ่นิ้งผู้จัดการยืนคู่กับพลตรีจำลอง ศรีเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครออกไปจำหน่ายพร้อมทั้งจัดทำหนังสือเชิญชวนให้ประชาชนสั่งซื้อดอกไม้และภาพถ่ายดังกล่าวออกเผยแพร่แก่ประชาชนโดย ไม่ได้รับอนุญาตจากทางราชการอันเป็นการขัดต่อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนทั้งกระทำการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติในตราสารจัดตั้งมูลนิธิและข้อไข ซึ่งรัฐบาลได้ให้อำนาจไว้ในเรื่องการได้มาซึ่งทรัพย์สินของมูลนิธิ และการเสนอรายงานกิจการรายงานการเงินและบัญชีงบดุลรายรับ-รายจ่าย ซึ่งกำหนดให้มูลนิธิต้องเสนอรายงานต่อกระทรวงมหาดไทยปีละครั้ง แต่ปรากฏว่าตั้งแต่มูลนิธิจัดตั้งขึ้นมาได้เสนอรายงานกิจการ รายงานการเงินและบัญชีงบดุลเฉพาะปี 2529 เพียงปีเดียวจึงขอศาลมีคำสั่งให้เลิกมูลนิธิสงเคราะห์เด็กอนาถาแล้วโอนทรัพย์สินทั้งหมดของมูลนิธิไปยังมูลนิธิฮั่วเคี้ยวป่อเต็กเซียงตึ้ง ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามที่ระบุในตราสารจัดตั้ง และแต่งตั้งให้นายปกรณ์ สิทธิกรไพศาลเป็นผู้ชำระบัญชี
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า มิได้ดำเนินการขัดต่อกฎหมายความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และมิได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติในตราสารจัดตั้งมูลนิธิและข้อไขของรัฐบาลซึ่งให้อำนาจไว้ระหว่างปลายปี 2529 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2531ผู้คัดค้านมิได้จัดให้มีการเรี่ยไรจากประชาชน ก่อนหน้านั้นผู้คัดค้านได้รับอนุญาตให้ทำการเรี่ยไรได้จากกระทรวงมหาดไทยโดยชอบแล้ว ส่วนเรื่องการเสนอรายงานกิจการ รายงานการเงินและบัญชีงบดุลรายรับ-รายจ่ายต่อกระทรวงมหาดไทยนั้น ตั้งแต่จดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิไม่มีรายได้หรือรายรับจากทางใด เว้นแต่ในปี 2528 ถึง 2529 ผู้คัดค้านได้รับอนุญาตให้ทำการเรี่ยไรเพื่อสร้างโรงเรียนมูลนิธิสงเคราะห์เด็กอนาถาที่จังหวัดสมุทรสาครจึงมีรายได้และสร้างโรงเรียนดังกล่าวเกือบจะแล้วเสร็จผู้คัดค้านจึงทำรายงานในปี 2529 ต่อกระทรวงมหาดไทย ผู้คัดค้านได้ทรัพย์และเงินมาจากผู้บริจาคด้วยความศรัทธา และแจกจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบอัคคีภัย ขาดแคลนน้ำและช่วยอุทกภัยภาคใต้ผู้คัดค้านไม่ทราบว่าจะต้องทำรายงานทุกปีเพราะเข้าใจว่าการจัดทำบัญชีงบดุลต้องทำเมื่อมีรายรับหรือรายได้เท่านั้นเนื่องจากในตราสารจัดตั้งมูลนิธิ ข้อ 17.3 มิได้ระบุให้ส่งรายงานทุกปี ผู้คัดค้านไม่มีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติในตราสารจัดตั้ง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เลิกมูลนิธิสงเคราะห์เด็กอนาถา ให้โอนทรัพย์สินทั้งหมดของมูลนิธิให้แก่มูลนิธิฮั่วเคี้ยวป่อเต็กเซียงตึ้ง (ปอเต็กตึ้ง)และให้ตั้งให้นายปกรณ์ สิทธิกรไพศาลเป็นผู้ชำระบัญชี ผู้คัดค้านอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านนำสืบรับกันไม่ได้โต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่า ผู้คัดค้านได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อปี 2526 ชื่อมูลนิธิสงเคราะห์นักเรียนอนาถามีนายไก่เตี้ย แซ่นิ้ง เป็นผู้จัดการ สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 154/8 ถนนเจริญนคร แขวงบุคคโล เขตธนบุรีกรุงเทพมหานคร มีวัตถุประสงค์เพื่อสงเคราะห์เด็กนักเรียนยากจน บำเพ็ญทานการศาสนา ร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ยากจนซึ่งได้รับภัยพิบัติ ร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่นโดยไม่เกี่ยวกับการเมืองตามเอกสารหมาย ร.3 ร.4 ร.6 และ ร.ค.13ต่อมาวันที่ 21 เมษายน 2530 ผู้คัดค้านได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นมูลนิธิสงเคราะห์เด็กอนาถาตามเอกสารหมาย ร.5 ต่อมาระหว่างวันที่ 4 พฤศจิกายน 2528 ถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2529ผู้คัดค้านได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยให้ทำการเรี่ยไรได้มีกำหนด 1 ปี ตามเอกสารหมาย ร.8 และ ร.ค.2 ในระหว่างปี 2530-2531ผู้คัดค้านได้จัดให้มีการเรี่ยไรโดยขายภาพถ่ายนายไก่เตี้ยและพลตรีจำลอง ศรีเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยืนคู่กันภาพละ 10 บาท ตามภาพถ่ายหมาย ร.27 และขายดอกไม้ดอกละ10 บาท ตามหนังสือเชิญชวนเอกสารหมาย ร.28 ให้ประชาชนทั่วไปทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด มีกำไรเดือนละ 200,000 บาทเมื่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมมูลนิธิของสำนักงานเขตธนบุรี กรุงเทพมหานครทราบเหตุการเรี่ยไรโดยไม่รับอนุญาตจึงมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านระงับการเรี่ยไรตามเอกสารหมาย ร.9นายไก่เตี้ย ให้ถ้อยคำว่าได้รับหนังสือเอกสารหมาย ร.9 แล้วเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2530 และว่าได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ผู้เรี่ยไรของผู้คัดค้านหยุดขายตั้งแต่วันนั้นแล้ว หากฝ่าฝืนก็ยอมให้สำนักงานเขตธนบุรีขอให้ศาลสั่งเลิกกิจการของผู้คัดค้านได้ตามเอกสารหมาย ร.18 ต่อมามีผู้ร้องเรียนว่าผู้คัดค้านเรี่ยไรขายดอกไม้ที่จังหวัดจันทบุรี เจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตธนบุรีสอบปากคำนายไก่เตี้ยรับว่าจัดทำภาพโปสการ์ดจำหน่ายแก่ประชาชนภาพละ10 บาท โดยเข้าใจว่าถูกห้ามขายเฉพาะดอกไม้ และรับว่าจะไม่ขายภาพโปสการ์ดอีกต่อไปหากฝ่าฝืนให้ร้องต่อศาลสั่งเลิกมูลนิธิได้ปรากฏตามเอกสารหมาย ร.19 ต่อมาวันที่ 12 กุมภาพันธ์2531 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมเจ้าหน้าที่ของผู้คัดค้านจำนวน 6 คนขณะทำการเรี่ยไรโดยไม่ได้รับอนุญาตที่หมู่บ้านเศรษฐกิจเขตภาษีเจริญ ข้อหาทำการเรี่ยไรโดยไม่ได้รับอนุญาตทำการเปรียบเทียบปรับคนละ 100 บาท ตามเอกสารหมาย ร.26 ตั้งแต่ผู้คัดค้านดำเนินการจัดตั้งมา ผู้คัดค้านได้ยื่นรายงานบัญชีทรัพย์สินรับจ่ายต่อกระทรวงมหาดไทยเฉพาะปี 2529 เพียงปีเดียวในระหว่างผู้คัดค้านดำเนินการอยู่นั้น เมื่อเรี่ยไรได้เงินมาก็นำไปซื้อรถยนต์จำนวน 11 คันปรากฏตามคู่มือหนังสือจดทะเบียนเอกสารหมาย ร.ค.16-ร.ค.26 และเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2527นางสาววิไลลักษณ์ รัตนศรีเวคิน ได้ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 9602อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทสาคร เนื้อที่ 7 ไร่เศษให้ผู้คัดค้านปรากฏตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ร.ค.5และการจดทะเบียนการยกให้เอกสารหมาย ร.ค.29 ผู้คัดค้านได้สร้างตึก อาคารโรงเรียน5 ชั้นขึ้น 1 หลังบนที่ดินโฉนดเอกสารหมาย ร.ค.5 แต่ยังไม่แล้วเสร็จปรากฏตามภาพถ่ายหมาย ร.ค.7-ร.ค.11 ผู้คัดค้านมีเงินฝากในนามนายไก่เตี้ยที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาบุคคโลจำนวน2,000,000 บาท นอกจากนี้ผู้คัดค้านเคยบำรุงโรงเรียนราษฎร์บำรุงวิทยา และบริจาคให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยด้วย มีปัญหาต้องวินิจฉัยชั้นนี้ตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า การกระทำของผู้คัดค้านดังกล่าวกรณีต้องด้วยมาตรา 93 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิม ศาลจึงต้องมีคำสั่งยกเลิกมูลนิธิผู้คัดค้านหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า มาตรา 93 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิม ซึ่งใช้ขณะเกิดเหตุคดีนี้บัญญัติว่า “เมื่อพนักงานอัยการหรือผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งมีส่วนได้เสียด้วยยื่นคำร้องต่อศาลศาลจะมีคำสั่งให้เลิกมูลนิธินั้นเสีย และตั้งแต่งผู้ชำระบัญชีคนหนึ่งหรือหลายคน ในกรณีที่กล่าวต่อไปนี้อย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้คือ
(1) ถ้ามูลนิธินั้นได้ตั้งขึ้นขัดต่อบทบัญญัติในส่วนนี้หรือว่ามูลนิธินั้นทำการขัดต่อกฎหมายก็ดี หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนก็ด้วยเหมือนกัน
(2) ฯลฯ
(3) ถ้ามูลนิธิทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติในตราสารตั้งมูลนิธินั้นเองหรือฝ่าฝืนข้อไขซึ่งรัฐบาลได้ให้อำนาจไว้
อนึ่ง ศาลจะสั่งถอดถอนผู้จัดการทั้งหลายและแต่งตั้งผู้จัดการขึ้นใหม่คนหนึ่งหรือหลายคนแทนสั่งเลิกมูลนิธิก็ได้”
นอกจากนี้ตราสารของมูลนิธิผู้คัดค้านเอกสารหมาย ร.3 หมวด 3ว่าด้วยทุนทรัพย์ ทรัพย์สินและการได้มาซึ่งทรัพย์สิน ข้อ 6บัญญัติตราไว้ว่า “มูลนิธิอาจได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยวิธีต่อไปนี้
6.1 เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้ยกให้โดยพินัยกรรมหรือนิติกรรมอื่น ๆ โดยมิได้มีเงื่อนไขผูกพันให้มูลนิธิต้องรับผิดชอบในหนี้สินหรือภาระติดพันอื่นใด
6.2 เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคให้
6.3 ดอกผลซึ่งเกิดจากทรัพย์สินของมูลนิธิ”
อีกประการหนึ่งข้อ 45 แห่งตราสารเอกสารหมาย ร.3 ดังกล่าวบัญญัติตราไว้ว่า “มูลนิธิจะต้องไม่กระทำการค้ากำไร และจะต้องไม่ดำเนินการนอกเหนือไปจากตราสารที่กำหนดไว้” ดังนี้การที่ผู้คัดค้านให้เจ้าหน้าที่ของผู้คัดค้านไปทำการเรี่ยไรโดยขายดอกไม้และภาพถ่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตระหว่างปี 2530-2531จนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ของเขตธนบุรี กรุงเทพมหานครต้องตักเตือนห้ามไม่ให้ดำเนินการขายดอกไม้ ภาพถ่าย และภาพโปสการ์ดอีกและนายไก่เตี้ยยอมรับว่าจะไม่ทำการเรี่ยไรขายดอกไม้ ภาพถ่ายและภาพโปสการ์ดดังกล่าวอีกโดยยอมรับถึงสองครั้งสองคราวปรากฏตามเอกสารหมาย ร.18 และ ร.19 แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์2531 เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลหลักสอง จับกุมพนักงานชาย2 คนและหญิง 4 คน รวม 6 คน ของผู้คัดค้านซึ่งทำการเรี่ยไรที่หมู่บ้านเศรษฐกิจ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานครอีก ในข้อหาทำการเรี่ยไรโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487 ปรับคนละ 100 บาท ปรากฏตามเอกสารหมาย ร.26 ได้ความดังนี้เห็นว่า ถึงแม้จะฟังได้ว่าผู้คัดค้านตั้งมาประมาณ 6 ปี มีทรัพย์สินจำนวนประมาณ 20 ล้านบาท และเคยบริจาคแก่ผู้ประสบภัยกับเคยบริจาคแก่การกุศลต่าง ๆ รวมทั้งสร้างอาคารเรียนตามที่ผู้คัดค้านฎีกาก็ตามแต่เมื่อผู้คัดค้านไม่เคยทำบัญชีงบดุลเกี่ยวกับทรัพย์สินรายได้ของผู้คัดค้านประจำปีโดยทำเพียงปีเดียวโดยที่ผู้คัดค้านฎีกาอ้างว่าดำเนินการมาโดยสุจริตตลอดมา การที่จะให้เชื่อถือตามที่อ้างจะต้องมีหลักฐานและพฤติการณ์ประกอบ แต่ก็ไม่มีหลักฐานอะไร บัญชีงบดุลเกี่ยวกับทรัพย์สินรายได้ประจำปีของผู้คัดค้านเป็นวิธีการหนึ่งหรือมาตรการหนึ่งที่จะตรวจสอบถึงการดำเนินการและรายได้ว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายและตามตราสารในการตั้งมูลนิธิหรือไม่ แต่ผู้คัดค้านก็มิได้กระทำดังนั้นระหว่างผู้คัดค้านดำเนินการอยู่นั้น หากเจ้าหน้าที่ของผู้คัดค้านหรือผู้คัดค้านรับเงินบริจาคหรือเรี่ยไรได้เงินมาจำนวน50 ล้านบาท แต่ใช้จ่ายนอกวัตถุประสงค์ของผู้คัดค้านเสีย 30ล้านบาท เช่นนี้จะตรวจสอบและรู้ได้อย่างไร การกระทำและพฤติการณ์การหารายได้ดังกล่าวแล้วของผู้คัดค้าน กรณีเป็นการหาทรัพย์สินโดยนอกเหนือจากบทบัญญัติข้อ 6 ในหมวด 3 และเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติในตราสารของบทบัญญัติข้อ 45 ของตราสารของผู้คัดค้านเอกสารหมาย ร.3 จึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 93(3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิมศาลย่อมมีอำนาจสั่งให้เลิกมูลนิธิผู้คัดค้านเสียได้ส่วนที่ผู้คัดค้านฎีกาว่าศาลควรมีคำสั่งถอดถอนผู้จัดการคนเดิมแล้วตั้งผู้จัดการคนใหม่คนเดียวหรือหลายคนแทนการยกเลิกมูลนิธิผู้คัดค้านเห็นว่า ปัญหาข้อนี้ผู้คัดค้านมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เป็นข้อฎีกาที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน