คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2494-2495/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ได้เข้าไปร่วมทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมตามที่วางแผนกันไว้ โดยอยู่ที่รถจักรยานยนต์ซึ่งจอดอยู่ด้านหลังรถยนต์ของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นระยะที่ใกล้ชิดกับสถานที่เกิดเหตุ อยู่ในลักษณะที่อาจเข้าไปช่วยเหลือให้การกระทำความผิดสำเร็จ มีลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ แต่การที่พวกของจำเลยใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วม เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าอย่างกะทันหันโดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้คบคิดนัดหมายมาก่อน จึงถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าโจทก์ร่วมโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ต้องรับผลแห่งการกระทำของพวกด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงเป็นตัวการกระทำความผิดฐานทำร้ายจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมรับอันตรายสาหัสโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตาม ป.อ. มาตรา 298 อันเป็นความผิดหลายอย่างซึ่งรวมอยู่ในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลฎีกาลงโทษในความผิดดังกล่าวตามที่พิจารณาได้ความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 แม้โจทก์ไม่ได้ฎีกาขอให้ลงโทษก็ตาม เพราะการปรับบทลงโทษเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่เมื่อโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฐานร่วมกันทำร้ายจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมรับอันตรายสาหัสตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเท่านั้น จึงไม่อาจกำหนดโทษให้สูงขึ้นในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมรับอันตรายสาหัสโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตาม ป.อ. มาตรา 298 เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 และเรียกจำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 3 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 288, 289 (4), 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 3 แก้ไขคำให้การเป็นรับสารภาพข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย แต่ยังคงให้การปฏิเสธข้อหามีและพาอาวุธปืนฯ กับข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
ระหว่างพิจารณา นายจักรกฤษณ์ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ศาลชั้นต้นอนุญาต
โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาล 150,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรถยนต์ 20,000 บาท ค่าเสียหายทางสภาพร่างกายและจิตใจ 70,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเอากระสุนปืนที่ฝังอยู่ในร่างกายออก 100,000 บาท รวมเป็นค่าสินไหมทดแทน 340,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม
จำเลยทั้งสามให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอถอนคำร้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) (ที่ถูก ประกอบมาตรา 83) จำคุกคนละ 2 ปี จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 1 ปี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่ถูก (ที่แก้ไขใหม่)) ข้อหาอื่นให้ยก ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง นางสาวยอดกมล โทรศัพท์ชักชวนโจทก์ร่วมไปดูภาพยนตร์ที่ห้างสรรพสินค้า โจทก์ร่วมขับรถยนต์ไปถึงห้างสรรพสินค้าดังกล่าวแล้วโทรศัพท์ติดต่อนางสาวยอดกมล นางสาวยอดกมลบอกให้โจทก์ร่วมขับรถยนต์ไปที่ตลาดนัดบาซ่าด้านหลังห้างสรรพสินค้า โจทก์ร่วมขับรถยนต์ไปพบนางสาวยอดกมลที่ขับรถจักรยานยนต์มีจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นน้องสาวของนางสาวยอดกมลนั่งซ้อนท้าย นางสาวยอดกมลบอกว่าจะไปส่งจำเลยที่ 1 ก่อน ให้โจทก์ร่วมขับรถยนต์ติดตามไป นางสาวยอดกมลขับรถจักรยานยนต์ไปจอดริมถนนในซอยนารถมนตเสวี 30/10 ฝั่งตรงข้ามสวนท่านนารถซึ่งเป็นสวนสาธารณะขององค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี โจทก์ร่วมจอดรถยนต์ต่อท้ายรถจักรยานยนต์ของนางสาวยอดกมล จำเลยที่ 1 อยู่ที่รถจักรยานยนต์ของนางสาวยอดกมล ส่วนจำเลยที่ 3 ขับรถจักรยานยนต์มีนายศุภชัยหรือเดี่ยว นั่งซ้อนท้ายไปจอดต่อท้ายรถยนต์ของโจทก์ร่วม แล้วจำเลยที่ 3 รออยู่ที่รถจักรยานยนต์ ส่วนนายพลวัต นายศุภชัย และนายภูวรินทร์ เข้าไปใช้วัตถุของแข็งทุบรถยนต์ของโจทก์ร่วม โดยนายภูวรินทร์ใช้อาวุธปืนปากกาทุบรถยนต์ ของโจทก์ร่วมเป็นเหตุให้กระสุนปืนลั่นถูกนายภูวรินทร์ถึงแก่ความตาย ส่วนนายพลวัตถืออาวุธปืนจ่อยิงที่กระจกรถด้านขวา กระสุนปืนถูกที่ไหล่ขวาของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมขับรถยนต์หลบหนี โจทก์ร่วมได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลกระดูกไหล่ขวาหัก กระสุนฝังใน แพทย์ผ่าตัดกระสุนปืนที่ฝังในออกและลงความเห็นว่าใช้เวลารักษา 3 เดือน อาจจะแทรกซ้อนได้ เป็นอันตรายสาหัสต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน และจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน และข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่มีความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยเปิดเผย โดยไม่มีเหตุสมควร และโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามฟ้อง และจำเลยที่ 2 ไม่มีความผิดตามฟ้อง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำความผิดฐานร่วมกันทำร้ายจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมรับอันตรายสาหัสตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์และโจทก์ร่วมมีพันตำรวจโทวุฒินันท์ พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความว่า พยานแจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ว่า ร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต พาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้าน หรือที่ชุมนุมชน และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ระบุว่า พนักงานสอบสวนแจ้งสิทธิและดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/1 มาตรา 134/3 และมาตรา 134/4 แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 3 เต็มใจให้การ โดยไม่ปรากฏว่า พนักงานสอบสวนทำหรือจัดให้ทำการใด ๆ ซึ่งเป็นการให้คำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง ทรมาน ใช้กำลังบังคับ หรือกระทำโดยมิชอบประการใด ๆ เพื่อจูงใจให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การอย่างใด ๆ ในเรื่องที่ต้องหานั้น เมื่อพิจารณาตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยซึ่งเป็นพยานบอกเล่านั้นน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ จึงรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/4 วรรคท้าย และมาตรา 226/3 วรรคสอง (1) ประกอบกับจำเลยที่ 1 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า นางสาวยอดกมลชักชวนจำเลยที่ 1 ไปเคลียร์ธุระกับโจทก์ร่วม ซึ่งจำเลยที่ 1 เข้าใจว่าการไปเคลียร์อาจมีการทำร้ายร่างกายกันซึ่งเจือสมคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 3 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า จำเลยที่ 1 บอกจำเลยที่ 3 ว่า นางสาวยอดกมลชักชวนจำเลยที่ 1 ไปเคลียร์กับโจทก์ร่วม เมื่อนางสาวยอดกมลขับรถจักรยานยนต์มีจำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้ายออกไปแล้ว จำเลยที่ 3 ขับรถจักรยานยนต์มีนายศุภชัยนั่งซ้อนท้ายติดตามรถจักรยานยนต์ของนางสาวยอดกมลไป ระหว่างทาง นายศุภชัยเล่าให้ฟังว่า โจทก์ร่วมกล่าวหานางสาวยอดกมลในทางเสียหาย จึงมีการนัดเคลียร์กัน จำเลยที่ 3 ทราบแต่เพียงว่า จำเลยที่ 3 เดินทางไปยังสถานที่เกิดเหตุเพื่อจะไปเคลียร์กับโจทก์ร่วมและยืนยันกับพนักงานสอบสวนตั้งแต่แรก แล้วจำเลยที่ 3 เบิกความตอบคำถามของทนายจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามที่ได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นว่า ขณะที่มีการวางแผนที่อู่ต้นตาลมีการพูดแต่เพียงว่าจะพากันไปเคลียร์กับโจทก์ร่วม ซึ่งเจือสมคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 3 คำเบิกความดังกล่าวของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ย่อมใช้ยันจำเลยที่ 1 และที่ 3 นั้นได้ และอาจรับฟังคำเบิกความนั้นประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 233 วรรคสอง พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมที่นำสืบมารับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีเจตนาร่วมกับนายพลวัต นายศุภชัย นายภูวรินทร์ และนางสาวยอดกมลทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเท่านั้น แม้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ได้เข้าไปร่วมทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วม แต่ขณะที่นายพลวัต นายศุภชัย และนายภูวรินทร์กับพวกเข้าไปทุบรถยนต์ของโจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 อยู่ที่รถจักรยานยนต์ของนางสาวยอดกมลซึ่งจอดอยู่ด้านหน้ารถยนต์ของโจทก์ร่วม และจำเลยที่ 3 อยู่ที่รถจักรยานยนต์ซึ่งจอดอยู่ด้านหลังรถยนต์ของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นระยะที่ใกล้ชิดกับสถานที่เกิดเหตุ อยู่ในลักษณะที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 อาจจะเข้าช่วยเหลือขจัดอุปสรรคอันอาจมีขึ้นได้ทันและสามารถช่วยเหลือให้การกระทำความผิดของนายพลวัต นายศุภชัย และนายภูวรินทร์กับพวกให้สำเร็จลุล่วงไปได้ ซึ่งมีลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ แต่การที่นายพลวัตใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าอย่างกะทันหันโดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้คบคิดนัดหมายกับนายพลวัตมาก่อน เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ได้เจตนาร่วมกัน และมีการกระทำร่วมกันกับนายพลวัตในการใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วม จึงถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นตัวการร่วมกับนายพลวัตกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าโจทก์ร่วมโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ก็ต้องรับผลแห่งการกระทำของนายพลวัตด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงเป็นตัวการกระทำความผิดฐานทำร้ายจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมรับอันตรายสาหัสโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 298 อันเป็นความผิดหลายอย่างซึ่งรวมอยู่ในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามที่โจทก์ฟ้อง และเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลฎีกาลงโทษในความผิดดังกล่าวตามที่พิจารณาได้ความได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 แม้โจทก์ไม่ได้ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฐานร่วมกันทำร้ายจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมรับอันตรายสาหัสโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 298 แต่การปรับบทลงโทษเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 อย่างไรก็ตาม โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฐานร่วมกันทำร้ายจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมรับอันตรายสาหัสตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเท่านั้น ศาลฎีกาจึงไม่อาจกำหนดโทษให้สูงขึ้นในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมรับอันตรายสาหัสโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 298 ได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2560 มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 4 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 298 และให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน โดยระวางโทษตามกฎหมายเดิมมีโทษจำคุกเพียงสถานเดียว แต่ระวางโทษตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ แม้จะมีระวางโทษจำคุกเท่ากัน แต่มีระวางโทษปรับด้วย ดังนั้น กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยที่ 1 และที่ 3
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 298 (เดิม) ส่วนโทษให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share