คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3401/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีรับขนส่งทางทะเลปรากฏว่าผู้ขายสัญชาติอเมริกันได้ส่งสินค้าประเภทอะไหล่รถแทรกเตอร์จำนวน 2 ตู้คอนเทนเนอร์จากประเทศสหรัฐอเมริกามาให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ผู้ซื้อที่กรุงเทพมหานครโดยบริษัทจำเลยสัญชาติเดนมาร์คซึ่งประกอบการพาณิชย์ในประเทศไทยเป็นผู้ขนส่ง จำเลยได้ออกใบตราส่งให้แก่ผู้ส่งสินค้าระบุเงื่อนไขไว้ด้านหลังใบตราส่งว่าผู้รับขนจะไม่มีความรับผิด สำหรับความสูญหายหรือเสียหายที่เกิดขึ้น หรือเกี่ยวข้องกับสินค้าเกินไปกว่า 500 เหรียญสหรัฐอเมริกาต่อหีบห่อหรือหน่วย แล้วผู้ขายได้มอบใบตราส่งดังกล่าวให้แก่ธนาคารและธนาคารได้สลักหลังส่งมอบให้แก่ผู้ซื้ออีกชั้นหนึ่ง ผู้ซื้อได้เอาสินค้าดังกล่าวประกันภัยไว้กับโจทก์ เมื่อเรือจำเลยมาถึงประเทศไทย ผู้ซื้อไปรับสินค้าปรากฏว่าตู้คอนเทนเนอร์ใบหนึ่งแตก สินค้าที่บรรจุมาส่วนหนึ่งสูญหาย โจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ซื้อแล้วรับช่วงสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง กรณีนี้ถือว่ามูลคดีเกิดขึ้นในประเทศไทย ต้องบังคับตามกฎหมายไทย หามีปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใดบังคับอันจะต้องวินิจฉัยตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481 ไม่ โดยให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะรับขนในหมวดรับขนของอันเป็นกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับแก่คดี
ใบรับ ใบตราส่งหรือเอกสารอื่น ๆ ทำนองนั้นซึ่งผู้ขนส่งออกให้แก่ผู้ส่งนั้นถ้ามีข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งประการใด ความนั้นเป็นโมฆะเว้นแต่ผู้ส่งจะได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้ง การที่จำเลยกำหนดเงื่อนไขไว้ด้านหลังใบตราส่งว่าจำเลยจะไม่ต้องรับผิดสำหรับความสูญหายหรือเสียหายของสินค้าเกินไปกว่า 500 เหรียญสหรัฐอเมริกา ก็คือการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดนั่นเอง เมื่อไม่มีลายมือชื่อของผู้ส่งสินค้าลงไว้ด้วย จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ส่งได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งข้อความจำกัดความรับผิดดังกล่าวไม่มีผลใช้ยันผู้ส่งได้และไม่อาจใช้ยันผู้รับตราส่งตลอดจนโจทก์ผู้รับประกันภัยซึ่งรับช่วงสิทธิของผู้รับตราส่งมาอีกทอดหนึ่ง โจทก์จึงหาผูกพันให้ต้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยเพียง 500 เหรียญสหรัฐอเมริกาไม่แต่มีสิทธิเรียกตามความเสียหายที่แท้จริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองรับขนสินค้าจากประเทศสหรัฐอเมริกา มาห้ห้างหุ้นส่วนจำกัดสหายแทรกเตอร์ที่ประเทศไทยและห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวได้เอาสินค้านั้นประกันภัยไว้กับโจทก์ ปรากฏว่าสินค้าบางส่วนสูญหายและโจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดสหายแทรกเตอร์ไปแล้วจึงรับช่วงสิทธิเรียกเอาค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองจำนวน ๕๔๐,๕๗๙.๖๕ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะจำเลยทั้งสองไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย นอกจากที่คู่สัญญามีเจตนาที่จะให้ใช้กฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาบังคับและตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาจำเลยจะรับผิดในกรณีนี้เพียงไม่เกิน ๕๐๐ เหรียญสหรัฐอเมริกา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้โจทก์ตามฟ้องพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองฎีกาว่า กรณีนี้เป็นเรื่องบุคคลสัญชาติต่างกันทำสัญญากันที่ประเทศหนึ่ง เพื่อขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศ และต่อมามีการฟ้องร้องต่อศาลในอีกประเทศหนึ่ง จึงเป็นกรณีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช ๒๔๘๑ มาตรา ๑๓ เมื่อบริษัทเอ็กซ์สเป็คอิงค์ได้ตกลงโดยชัดแจ้งกับจำเลยให้นำกฎหมายว่าด้วยการขนส่งสินค้าทางทะเล ค.ศ. ๑๙๓๖ ของประเทศสหรัฐอเมริกามาใช้บังคับ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงไม่เกิน ๕๐๐ เหรียญสหรัฐอเมริกาตามกฎหมายดังกล่าว ข้อนี้ข้อเท็จจริงได้ความตามที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์รับประกันภัยในการขนส่งสินค้าทางทะเลยและทางอากาศ จำเลยทั้งสองเป็นนิติบุคคลสัญชาติเดนมาร์ก มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันประกอบกิจการเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนและประกอบการพาณิชย์ในประเทศไทย โดยใช้ชื่อว่าสายเดินเรือเมอสก์ สาขากรุงเทพ ฯ พระราชบัญญัติการขนส่งสินค้าทางทะเล ค.ศ. ๑๙๓๖ ของประเทศสหรัฐอเมริกา มาตรา ๔ (๕) บัญญัติใจความว่า ผู้รับขนหรือเรือไม่ต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายที่เกิดแก่สินค้าเกินกว่าจำนวน ๕๐๐ เหรียญสหรัฐอเมริกา ต่อ ๑ หีบห่อ เว้นแต่ผู้ส่งสินค้าจะได้สำแดงสภาพและราคาสินค้านั้นก่อนที่จะขนขึ้นเรือและจดไว้ในใบตราส่งแล้ว เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๒๓ บริษัทเอ็กซ์สเป็คอิงค์ ผู้ขาย สัญชาติอเมริกัน ได้ส่งสินค้าประเภทอะไหล่รถแทรกเตอร์ จำนวน ๒ ตู้คอนเทนเนอร์ จากเมืองโอคแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกามาให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดสหายแทรกเตอร์ ผู้ซื้อ ที่กรุงเทพมหานคร โดยให้สายเดินเรือเมอสก์เป็นผู้ขนส่งสายเดินเรือเมอสก์ได้ออกใบตราส่งให้แก่ผู้ส่งสินค้าตามเอกสารหมาย จ.๒ หรือ ล.๒ ระบุเงื่อนไขไว้ด้านหลังใบตราส่งในข้อ ๕ (๒) ว่า ผู้รับขนจะไม่มีความรับผิดสำหรับความสูญหายหรือเสียหายที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวข้องกับสินค้าเกินไปกว่าที่ได้กำหนดไว้ต่อหีบห่อหรือหน่วยตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔ (๕) แห่งกฎหมายว่าด้วยการขนส่งสินค้าทางทะเลยของประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วผู้ขายได้มองใบตราส่งแก่ธนาคาร และธนาคารได้สลักหลังส่งมองให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดสหายแทรกเตอร์ผู้ซื้ออีกชั้นหนึ่ง ห้างหุ้นส่วนจำกัดสหายแทรกเตอร์ได้เอาประกันภัยสินค้า ๒ ตู้คอนเทนเนอร์นั้นไว้กับบริษัทโจทก์เป็นจำนวนเงิน ๓๒,๗๖๔.๕๗ เหรียญสหรัฐอเมริกา ปรากฏตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.๑ จำเลยขนส่งสินค้ารายนี้ด้วยเรือแอนนาเมอสก์ และเมื่อมาถึงเมืองสิงคโปร์ได้ถ่ายสินค้ามาขึ้นเรือเมอสก์ฟินโต ครั้นวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๒๓ เรือดังกล่าวมาถึงประเทศไทย เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดสหายแทรกเตอร์ไปรับสินค้าจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย ปรากฏว่าตู้คอนเทนเนอร์ใบหนึ่งแตก สินค้าที่บรรจุมาส่วนหนึ่งจำนวน ๔๐ รายการเศษสูญหายไป ปรากฏตามรายการสำรวจสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เอกสารหมาย จ.๔ เปรียบเทียบกับบัญชีบรรจุสินค้าและใบแจ้งราคาสินค้าเอกสารหมาย จ.๕ และ จ.๖ ห้างหุ้นส่วนจำกัดสหายแทรกเตอร์เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์ โจทก์ชำระให้เป็นเงิน ๕๒๓,๒๒๕.๔๒ บาทตามที่เรียกร้องแล้ว จึงมาเรียกร้องจากจำเลย จำเลยจะชำระให้เพียง ๕๐๐ เหรียญสหรัฐอเมริกา โจทก์ไม่ตกลง จึงฟ้องเป็นคดีนี้
พิจารณาแล้ว เมื่ออะไหล่รถยนต์ที่ขนส่งได้มาถึงท่าเรือกรุงเทพมหานครของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นตำบลที่กำหนดให้ส่ง และห้างหุ้นส่วนจำกัดสหายแทรกเตอร์ผู้รับตราส่งได้เรียกให้ส่งมอบของแล้ว แต่ปรากฏว่าตู้คอนเทนเนอร์ใบหนึ่งแตกสินค้าที่บรรจุบางส่วนสูญหายไป มูลคดีนี้จึงเกิดขึ้นในประเทศไทย ต้องบังคับกันตามกฎหมายแห่งประเทศไทย หามีปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใดบังคับ อันจะต้องวินิจฉัยตามมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช ๒๔๘๑ ไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๐๙ วรรคสอง บัญญัติว่า รับขนของทางทะเลให้บังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการนั้น แต่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการรับขนของทางทะเลใช้บังคับ และไม่ปรากฏว่ามีประเพณีการขนส่งทางทะเลที่ถือปฏิบัติกันอยู่ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะรับขนในหมวดรับขนของ อันเป็นกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับแก่คดี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๒๕ ห้ามผู้ขนส่งกำหนดข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดไว้ในใบรับ ใบตราส่งหรือเอกสารอื่น ๆ ทำนองนั้น เว้นแต่ผู้ส่งจะได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้ง การที่จำเลยได้ออกใบตราส่งเอกสารหมาย จ.๒ หรือ ล.๒ กำหนดเงื่อนไขไว้ด้านหลังว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดสำหรับความสูญหายหรือเสียหายของบริษัทของสินค้าเกินไปกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔ (๕) แห่งกฎหมายว่าด้วยการขนส่งสินค้าทางทะเลยของประเทศสหรัฐอเมริกา ก็คือการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๒๕ นั่นเอง เมื่อข้อความที่กล่าวนี้ระบุไว้ด้านหลังของใบตราส่งโดยไม่มีลายมือชื่อของผู้ส่งสินค้าลงไว้ด้วย จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ส่งได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้ง ข้อความจำกัดความรับผิดดังกล่าวไม่มีผลใช้ยันผู้ส่งได้ และไม่อาจใช้ยันห้างหุ้นส่วนจำกัดสหายแทรกเตอร์ซึ่งได้รับช่วงสิทธิมาจากผู้ส่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๒๗ ตลอดจนโจทก์ผู้รับประกันภัยซึ่งรับช่วงสิทธิของผู้รับตราส่งมาอีกทอดหนึ่ง โจทก์จึงหาผูกพันให้ต้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้เพียง ๕๐๐ เหรียญสหรัฐอเมริกาไม่ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยต้องรับผิดเกี่ยวกับสินค้าที่สูญหายตามฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share