คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 478/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยกระทำความผิดฐานแจ้งความเท็จเกี่ยวกับโฉนดที่ดิน ในขณะที่มารดาโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดนั้นยังมีชีวิตอยู่มารดาโจทก์จึงเป็นผู้เสียหาย แม้โจทก์ซึ่งเป็นบุตรเป็นทายาทผู้รับมรดกที่ดินตามโฉนดนั้นเพิ่งทราบการกระทำของจำเลยหลังจากที่มารดาโจทก์ตายแล้ว โจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองทราบดีว่านางสุกและโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ 4145 แล้ว เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2512 จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเจตนาทุจริต ให้จำเลยที่ 1 นำเอาความที่รู้ดีว่าเท็จ ไปแจ้งทำคำตราสินที่อำเภอเมืองสระบุรี ว่าโฉนดที่ 4145 หายแล้วนำเอาคำตราสินนั้นไปแสดงเป็นหลักฐานเพื่อขอให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดให้เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2512 เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อออกใบแทนโฉนดให้เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2512 แล้ว จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินโฉนดดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 ไปในวันเดียวกันและต่อมาเมื่อต้นเดือนเมษายน2512 จำเลยที่ 2 พาผู้ใหญ่บ้านไปห้ามมิให้โจทก์กับพวกตัดไม้ในที่ดิน และจำเลยที่ 2 ไปร้องต่ออำเภอและแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่านางสุกและนายแดงคนของโจทก์ลักตัดไม้ของจำเลยโดยจำเลยทราบดีว่าไม่มีการทำลายทรัพย์หรือลักทรัพย์ เหตุเกิดที่ตำบลปากเพรียว อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172, 173, 179, 180, 341, 83

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีมีมูลเฉพาะข้อหาแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงานแต่โจทก์อ้างบทกฎหมายมาท้ายฟ้องผิดพลาดให้ประทับฟ้องในข้อหาแจ้งความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ โฉนดที่กล่าวถูกขโมยลักไป จำเลยที่ 1 จึงขอออกใบแทนโฉนดและรับโอนมรดกโดยสุจริต ถูกต้องตามกฎหมายจำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ไม่รู้เห็นเกี่ยวข้องกับข้อหาแจ้งความเท็จ และจำเลยทั้งสองตัดฟ้องว่าโจทก์ไม่เป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158

โจทก์ขอเพิ่มเติมฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาต และพิจารณาแล้วฟังว่า เหตุเรื่องนี้เกิดขึ้นในขณะนางสุกซึ่งเป็นมารดาโจทก์ยังมีชีวิต นางสุกย่อมเป็นผู้เสียหายเมื่อนางสุกตายกรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 4, 5, 6 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ไม่เป็นผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาต่อมา

ศาลฎีกาพิจารณา คดีได้ความว่าเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2512จำเลยที่ 1 นำข้อความไปแจ้งต่อนายสวง เจริญวัย ปลัดอำเภอเมืองสระบุรี ว่าเมื่อประมาณวันที่ 1 มกราคม 2512 โฉนดเลขที่ 4145 ซึ่งมีชื่อนายบุน นางสะดี บิดามารดา จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ หายไปจากตู้เสื้อผ้าวันเดียวกันนั้นมีประกาศของสำนักงานที่ดินจังหวัดสระบุรี 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งใจความว่าจำเลยที่ 1 ขอออกใบแทนโฉนดเลขที่ 4145 อีกฉบับหนึ่งใจความว่า จำเลยที่ 1 ขอรับมรดกที่ดินตามโฉนดที่ดังกล่าว และนางสุกมารดาโจทก์ตายเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2512 ต่อมาวันที่27 มีนาคม 2512 เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสระบุรีออกใบแทนโฉนดเลขที่ 4145 ให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินตามโฉนดนั้นให้จำเลยที่ 2 ไปในวันเดียวกัน เห็นว่า แม้รับฟังตามฟ้องโจทก์ว่านางสะตีมารดาจำเลยที่ 1 ขายที่ดินตามโฉนดเลขที่ 4145 และมอบโฉนดนั้นให้นางสุกมารดาโจทก์ และจำเลยที่ 1 แจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานว่าโฉนดดังกล่าวหายไปก็ตาม แต่ในวันที่ 23 มกราคม 2512 ที่เกิดเหตุนี้นางสุกซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินและเป็นผู้ยึดถือโฉนดเลขที่ 4145 ยังมีชีวิตอยู่ นางสุกจึงเป็นผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำของจำเลยที่ 1 แต่เมื่อนางสุกตายแล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 4, 5, 6 ไม่ให้อำนาจโจทก์ฟ้องคดีแทนนางสุกได้ แม้โจทก์จะเป็นบุตรและทายาทผู้รับมรดกที่ดินตามโฉนดเลขที่ 4145 ของนางสุก และโจทก์เพิ่งทราบการกระทำของจำเลยที่ 1 หลังนางสุกตาย แต่สิทธิฟ้องคดีอาญาเป็นเรื่องเฉพาะตัวไม่ตกทอดมายังโจทก์ และที่ดินกับโฉนดเลขที่ 4145 ก็เพิ่งจะตกเป็นของโจทก์ภายหลังวันจำเลยที่ 1 กระทำผิด โจทก์จึงไม่เป็นผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ที่โจทก์ฟ้องโดยนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 149/2492 คดีระหว่าง พนักงานอัยการและพันเอกชิต ป.มัธยมจันทร์ กับพวก โจทก์ นายอิดหมิง แซ่เบ๊ กับพวก จำเลย ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ให้ยกฎีกาโจทก์

Share