คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3779/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญาเช่าซื้อมีข้อความว่า “ถ้าเจ้าของได้ขายทรัพย์สินที่เช่าซื้อไปแล้วยังไม่คุ้มราคาค่าเช่าซื้อที่ต้องชำระทั้งหมดตามสัญญานี้กับค่าเสียหายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น ผู้เช่าซื้อจะชดใช้ให้เจ้าของจนครบถ้วน” เป็นเพียงวิธีการกำหนดค่าเสียหายประการหนึ่งซึ่งพอแปลความได้ว่า ในกรณีที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วโจทก์ได้รถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาในสภาพที่ทรุดโทรม โจทก์อาจไม่ซ่อมแซมรถยนต์นั้นและไม่เรียกค่าซ่อมแซมเป็นค่าเสียหาย แต่อาจขายรถยนต์นั้นไปในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรม ได้ราคาเท่าใดก็นำเอามาคำนวณค่าเสียหายโดยให้เป็นจำนวนที่นำเอาไปลบกับราคารถยนต์ที่อาจขายได้ในสภาพที่ซ่อมแซมดีแล้วผลต่างก็จะเป็นจำนวนค่าเสียหาย ข้อความตามสัญญาดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนและไม่ตกเป็นโมฆะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2526 จำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ 1 คันในราคา 195,384 บาท กำหนดชำระค่าเช่าซื้อ 42 งวด งวดละเดือน เดือนละ 4,652 บาท ทุกวันที่1 ของเดือน โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน หลังจากเช่าซื้อไปแล้วจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 12เป็นต้นไปซึ่งตามสัญญาถือว่าสัญญาเลิกกันทันที ค่าเช่าซื้อที่ชำระแล้วต้องถูกริบและจำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากไม่ส่งคืนและโจทก์ยึดคืนได้ จำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าติดตาม ค่าซ่อมแซม ค่าขาดประโยชน์และถ้าขายรถที่เช่าซื้อไปไม่คุ้มราคาค่าเช่าซื้อที่ต้องชำระกับค่าเสียหายอื่น ๆ จำเลยที่ 1ต้องชดใช้ให้โจทก์จนครบ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ส่งรถคืนโจทก์ต้องติดตามยึดคืนมาได้ รวมเวลาที่จำเลยที่ 1 ครอบครองรถโดยมิชอบอยู่ 3 เดือนโจทก์ต้องเสียหายเพราะขาดประโยชน์วันละ 150 บาท และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการติดตามเอารถคืนเป็นเงิน 1,000 บาท จำเลยที่ 1ใช้รถอย่างไม่ระมัดระวังเช่นวิญญูชนเป็นเหตุให้รถเสื่อมโทรมผิดธรรมดา เมื่อนำออกขายจึงได้เงินเพียง 86,000 บาท ยังขาดอีก59,186 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 73,686 บาท แต่โจทก์ขอคิดเพียง60,186 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉย จึงขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยทั้งสองให้การว่าจำเลยที่ 1 ดูแลรักษารถที่เช่าซื้ออย่างวิญญูชนสภาพรถที่เช่าซื้อมีแต่กระจกส่องหลังเท่านั้นที่ชำรุดเสียหายราคา 130 บาท นอกนั้นอยู่ในสภาพเรียบร้อย การเสื่อมราคาของรถไม่ใช่ความผิดของจำเลยทั้งสอง เพราะโจทก์ขายเนิ่นช้า ถ้าขายในเวลาไล่เลี่ยที่ยึดมาจะได้ราคาไม่น้อยกว่า 120,000 บาท สัญญาเช่าซื้อมีวัตถุประสงค์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะ มีผลทำให้สัญญาค้ำประกันเป็นโมฆะด้วย หากจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดก็ไม่เกิน 14,500 บาท ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 14,500 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน29,500 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีข้อวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายว่า ข้อความในสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 10 ที่ว่า “ถ้าเจ้าของได้ขายทรัพย์สินที่เช่าซื้อไปแล้วยังไม่คุ้มราคาค่าเช่าซื้อที่ต้องชำระทั้งหมดตามสัญญานี้กับค่าเสียหายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นผู้เช่าซื้อจะชดใช้ให้เจ้าของจนครบถ้วน” ตกเป็นโมฆะ เพราะขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ เห็นว่าในการวินิจฉัยปัญหากฎหมายข้อนี้ ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาจากพยานหลักฐานในสำนวน พิเคราะห์แล้ว ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงโดยสรุปว่า เมื่อจำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถจากโจทก์ไปแล้ว ได้ประพฤติผิดสัญญาโดยชำระค่าเช่าซื้อเพียง 11 งวดผิดนัดไม่ชำระตั้งแต่งวดที่ 12 เป็นต้นไป ซึ่งถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน และจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์ตามสัญญาโจทก์ต้องไปติดตามยึดคืนมาได้ในสภาพชำรุดทรุดโทรมขายไปได้เงินเพียง86,000 บาท เมื่อหักราคาที่ขายได้ดังกล่าวออกแล้ว ค่าเช่าซื้อยังขาดอยู่อีก 58,212 บาท ถือได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายและศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์15,000 บาท ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อมีการผิดสัญญาเช่าซื้อโดยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อและสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วนั้น จำเลยที่ 1ย่อมมีหน้าที่ต้องคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์ในสภาพที่ซ่อมแซมดีแล้วโดยเรียบร้อยด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 1 เองตามที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าซื้อข้อ 10 ตอนต้น ส่วนสัญญาเช่าซื้อข้อ 10 ตอนท้ายที่ว่า ถ้าเจ้าของได้ขายทรัพย์สินที่เช่าซื้อไปแล้วยังไม่คุ้มราคาค่าเช่าซื้อที่ต้องชำระทั้งหมดตามสัญญานี้กับค่าเสียหายอื่น ๆที่เกิดขึ้น ผู้เช่าซื้อจะชดใช้ให้เจ้าของจนครบถ้วนนั้น เมื่อได้อ่านข้อความตามที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าซื้อข้อ 10 ทั้งหมดแล้วเห็นได้ว่า ข้อความตอนท้ายของสัญญาเช่าซื้อข้อ 10 ดังกล่าวเป็นวิธีการกำหนดค่าเสียหายประการหนึ่งซึ่งพอแปลความได้ว่าในกรณีที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วโจทก์ได้รถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรม โจทก์อาจไม่ซ่อมแซมรถยนต์นั้นและไม่เรียกค่าซ่อมแซมเป็นค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 แต่อาจขายรถยนต์นั้นไปในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรมดังกล่าว ได้ราคาเท่าใดก็นำเอามาคำนวณค่าเสียหายโดยให้เป็นจำนวนที่นำเอาไปลบกับราคารถยนต์ที่อาจขายได้ในสภาพที่ซ่อมแซมดีแล้ว ผลต่างก็จะเป็นจำนวนค่าเสียหายซึ่งราคารถยนต์ที่ขายได้และราคารถยนต์ตามสภาพที่ซ่อมแซมดีแล้วควรจะเป็นเท่าใดนั้น พิสูจน์ได้จากพยานหลักฐานซึ่งศาลจะต้องพิจารณาแต่ละกรณีเป็นเรื่อง ๆ ไป ดังนั้น ข้อความตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 10ดังกล่าว จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนและไม่ตกเป็นโมฆะ”
พิพากษายืน

Share