แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4 บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปก่อนหรือในวันที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ เมื่อความผิดที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษจำเลยได้ต้องโทษและพ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่ พ.ร.บ. ดังกล่าวใช้บังคับ อันเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดแล้ว จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว โดยมิต้องคำนึงว่าเป็นกรณีตาม ป.อ. มาตรา 3 หรือไม่ แม้พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และคดีจำเลยจะถึงที่สุดไปก่อนวันที่ พ.ร.บ. ดังกล่าวใช้บังคับแล้ว แต่ปัญหาว่าเมื่อมีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่จะพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ใช้บังคับแล้วจะเพิ่มโทษจำเลยได้หรือไม่ เป็นปัญหาในชั้นบังคับคดีเพื่อบังคับให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว ไม่เป็นการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงผลของคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแต่อย่างใด กรณีมีเหตุที่จะไม่เพิ่มโทษและกำหนดโทษจำเลยใหม่
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2547 ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 371, 90, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียม อาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 1 ปี ฐานฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่น เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกตลอดชีวิต เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 1 ปี 4 เดือน ฐานพาอาวุธปืน จำคุก 1 ปี 4 เดือน ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น จำคุกตลอดชีวิตเพิ่มโทษไม่ได้ ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เป็นจำคุก 33 ปี 24 เดือน 40 วัน
วันที่ 7 มกราคม 2551 จำเลยยื่นคำร้องว่า ได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา พ.ศ.2550 ใช้บังคับเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2550 เป็นผลให้เพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ไม่ได้ เป็นกรณีที่กฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิด ศาลต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่คดี ขอให้งดเว้นการเพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) และกำหนดโทษจำเลยใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้ศาลเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามสำหรับความผิดในข้อหามีและพาอาวุธปืน เนื่องจากจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6895/2540 ของศาลนี้ และมากระทำผิดคดีนี้ภายในกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษคดีดังกล่าว ซึ่งเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายในขณะนั้นแล้ว แม้ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินฯ พ.ศ.2550 มาตรา 4 บัญญัติให้ล้างมลทินแก่ผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ ก็ตาม ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวย่อมหมายความว่า นับแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2550 ที่พระราชบัญญัติล้างมลทินฯ มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าจำเลยมิได้เคยถูกลงโทษตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6895/2540 อีกต่อไปเท่านั้นมิได้หมายความว่า การเพิ่มโทษจำเลยดังกล่าวที่ได้กระทำไปก่อนหน้านั้นโดยชอบแล้วจะกระทำมิได้ตามที่จำเลยอ้าง จึงไม่มีกรณีที่จะเพิกถอนการเพิ่มโทษและกำหนดโทษจำเลยใหม่ตามคำร้องของจำเลย ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน ฐานกระทำอนาจารตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6895/2540 ของศาลชั้นต้น ภายในกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษจำเลยกลับมากระทำความผิดคดีนี้อีก มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า มีเหตุที่จะงดเพิ่มโทษและกำหนดโทษให้จำเลยใหม่หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4 บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ ดังนั้น เมื่อความผิดที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษจำเลยได้ต้องโทษและพ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับอันเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดแล้ว จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวทั้งนี้ โดยมิต้องคำนึงว่าเป็นกรณีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 หรือไม่ แม้พระราชบัญญัติล้างมนทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และคดีจำเลยจะถึงที่สุดไปก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับแล้ว แต่ปัญหาว่าเมื่อมีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ใช้บังคับแล้วจะเพิ่มโทษจำเลยได้หรือไม่ เป็นปัญหาในชั้นบังคับคดีเพื่อบังคับให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่เป็นการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงผลของคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแต่อย่างใดกรณีมีเหตุที่จะไม่เพิ่มโทษและกำหนดโทษจำเลยใหม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับว่า ไม่เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ในความผิดฐานมีและพาอาวุธปืน คงจำคุกจำเลยฐานมีอาวุธปืน 1 ปี ฐานพาอาวุธปืน 1 ปี ฐานฆ่าผู้อื่น จำคุกตลอดชีวิต เมื่อลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 แล้ว คงจำคุกจำเลยฐานมีอาวุธปืน 8 เดือน ฐานพาอาวุธปืน 8 เดือน ฐานฆ่าผู้อื่น 33 ปี 4 เดือน รวมจำคุก 33 ปี 20 เดือน