คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1014/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 3 ปี ตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335,83 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335,83 ประกอบด้วยมาตรา 336 ทวิ ส่วนโทษคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นการแก้ไขเฉพาะบทกฎหมายมิได้แก้ไขโทษ จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ดังนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,335, 336 ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน2514 ข้อ 13 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่5) พ.ศ. 2525 มาตรา 11 นับโทษจำเลยต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3033/2530 และหมายเลขแดงที่ 3034/2530 ของศาลแขวงพระนครเหนือ(ดุสิต)
จำเลยให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้ลักทรัพย์จริง แต่กระทำเพียงคนเดียว และมิได้ใช้จักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา335 ที่แก้ไขใหม่ ประกอบด้วยมาตรา 83 วางโทษจำคุก 3 ปีคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 แล้ว วางโทษจำคุก 2 ปี และนับโทษจำเลยต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3033/2530 หรือ หมายเลขแดงที่ 3034/2530 ของศาลแขวงพระนครเหนือ (ดุสิต) คดีใดคดีหนึ่งที่พิพากษาหลังสุดข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 83 (ที่ถูกเป็น 335 (7) วรรคแรก,83) ประกอบด้วยมาตรา 336 ทวิ และเห็นว่าที่ศาลชั้นต้นวางโทษจำคุกจำเลยถึง 3 ปี เป็นโทษที่หนักพอสมควรแก่รูปคดีแล้ว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 83 จำคุก 3 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335,83 ประกอบด้วยมาตรา 336 ทวิ ส่วนกำหนดโทษคงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์แก้ไขเฉพาะการปรับบทกฎหมายในการลงโทษโดยมิได้แก้ไขโทษแต่อย่างใด จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย จำเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ที่จำเลยฎีกาว่าในการลักทรัพย์จำเลยกับพวกไม่ได้ใช้จักรยานยนต์เป็นพาหนะในการกระทำความผิด และให้วางโทษจำเลยในสถานเบานั้น ล้วนเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้น จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาจำเลย

Share