คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1170/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อพฤติการณ์ของจำเลยฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนามาแต่แรกที่จะกระทำทุจริตโดยใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของตนโดยมิชอบจูงใจให้โจทก์ร่วมมอบเงินให้แก่จำเลยการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้วไม่จำเป็นต้องปรับบทความผิดตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 เป็นเรื่องที่ เริ่มต้นโดยใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของตนโดยชอบแล้วกลับทุจริตในภายหลัง การที่จำเลยกับพวกยึดไม้ของกลาง130 ชิ้น และกล่าวหาโจทก์ร่วมว่ามีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ในทางนำสืบของโจทก์ และโจทก์ร่วมไม่ได้ความแน่ชัดว่า เมื่อจำเลยกล่าวหาโจทก์ร่วม แล้วจำเลยได้เรียกเงินจากโจทก์ร่วมเพื่อมิให้ดำเนินคดี แก่โจทก์ร่วมจริงหรือไม่ จึงยังไม่พอฟังลงโทษจำเลย ในความผิดฐานนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91, 148, 149, 157
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายอนุเทพ ตันวีระ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148, 149 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบจูงใจเพื่อให้ผู้อื่นมอบทรัพย์สินแก่ตนจำคุก 15 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกทรัพย์สินในอำนาจหน้าที่โดยมิชอบจำคุก 15 ปี รวมจำคุก 30 ปี
โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้คำสั่งศาลชั้นต้นเป็นว่าอนุญาตให้ผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในความผิดตามฟ้องฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบและเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์สินเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 149 แล้วพิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยรับราชการที่กรมป่าไม้ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานป่าไม้ 6 หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ พง.2 (ท้ายเหมือง) อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงามีอำนาจหน้าที่ปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ ตลอดจนจับกุมผู้กระทำความผิด เมื่อวันที่ 21กรกฎาคม 2536 จำเลยกับพวกยึดไม้หัวโค้งแปรรูปรวม 130 ชิ้นจากโรงค้าไม้ของโจทก์ร่วมกล่าวหาว่าโจทก์ร่วมมีไม้กระบากแปรรูปเกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตคดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ร่วมนางสาวอักษร ใจทิพย์ ลูกจ้างโจทก์ร่วมซึ่งทำหน้าที่การเงินนายเบ่งท่วน ตันวีระ พี่ชายโจทก์ร่วมทำหน้าที่ดูแลกิจการโรงค้าไม้ของโจทก์ร่วม พยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความเป็นขั้นตอนเชื่อมโยงสาระสำคัญสอดคล้องต้องกันสมเหตุสมผลไม่มีเหตุที่จะระแวงสงสัยว่าจะเบิกความเพื่อกลั่นแกล้งจำเลย ทั้งมีข้อเท็จจริงโดยละเอียดนับตั้งแต่เมื่อต้นเดือนเมษายน 2536เวลาประมาณ 9 นาฬิกา มีรถยนต์กระบะซึ่งมีตรากรมป่าไม้ที่ข้างรถเข้าไปจอดบริเวณโรงค้าไม้ของโจทก์ร่วมแล้วจำเลยกับพวกรวม 5 ถึง 6 คน ลงจากรถไปเดินดูโรงค้าไม้วงกบของโจทก์ร่วมจากนั้นจำเลยไปพบนางสาวอักษรแนะนำตัวว่าเป็นหัวหน้าป่าไม้วังทังย้ายมาใหม่และถามว่านายหัวอยู่ไหม เมื่อนางสาวอักษรว่าไม่อยู่ จำเลยพูดขึ้นว่าบอกนายหัวด้วยพรุ่งนี้จะมาตรวจใหม่ในวันรุ่งขึ้นเวลาประมาณ 9 นาฬิกา จำเลยกับพวกนั่งรถยนต์กระบะคันเดิมไปที่โรงค้าไม้ของโจทก์ร่วมและสอบถามว่านายหัวอยู่ไหมอีกแต่นางสาวอักษรบอกว่าไม่อยู่ จำเลยกับพวกจึงกลับไปนางสาวอักษรได้แจ้งให้โจทก์ร่วมทราบว่าจำเลยเป็นหัวหน้าป่าไม้วังทังคนใหม่ ต่อมาวันที่ 26 เมษายน 2536 เวลาประมาณ 9 นาฬิกาขณะที่นางสาวอักษรกับนายเบ่งทวนอยู่ในโรงค้าไม้ของโจทก์ร่วมส่วนโจทก์ร่วมไปทำธุระที่กรุงเทพมหานครจำเลยได้ไปที่โรงค้าไม้ของโจทก์ร่วมและขอเงินค่าใช้จ่ายเป็นค่าน้ำค่าไฟฟ้าในหน่วยงานจากนายเบ่งท่วนเดือนละ 1,000 บาท นายเบ่งท่วนจึงไปขอเบิกเงินจากนางสาวอักษรแต่นางสาวอักษรไม่ยอมจ่ายให้อ้างว่ารอให้โจทก์ร่วมกลับมาก่อน จำเลยจึงกลับไป ในวันเดียวกันเวลาประมาณเที่ยงวัน โจทก์ร่วมได้โทรศัพท์ทางไกลจากกรุงเทพมหานครมาสอบถามนายเบ่งท่วนเกี่ยวกับกิจการค้าไม้นายเบ่งท่วนจึงแจ้งให้โจทก์ร่วมทราบว่าหัวหน้าป่าไม้วังทังมาขอเงินค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าเดือนละ 1,000 บาท โจทก์ร่วมได้บอกนายเบ่งท่วนว่าไม่ต้องจ่าย ครั้นวันที่ 4 พฤษภาคม 2536เวลาประมาณ 9 นาฬิกา จำเลยได้ไปพบโจทก์ร่วมที่โรงค้าไม้ของโจทก์ร่วมแต่โจทก์ร่วมไม่อยู่ ต่อมาเวลาประมาณ 11 นาฬิกานายเฉียบเพื่อนโจทก์ร่วมซึ่งมีอาชีพค้าขายวัสดุก่อสร้างอยู่ที่อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ได้มาพบโจทก์ร่วมที่โรงค้าไม้ของโจทก์ร่วมและชวนกันไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารชายทะเลท้ายเหมือง ขณะที่โจทก์ร่วมจะไปขึ้นรถนายเฉียบ จำเลยได้ไปพบโจทก์ร่วมแจ้งว่าเพิ่งย้ายมาใหม่มีอำนาจตรวจสอบบัญชีและขอค่าใช้จ่ายเป็นค่าน้ำค่าไฟฟ้าในหน่วยรักษาป่า โจทก์ร่วมบอกว่าถ้าขอประจำไม่ได้ แต่ถ้าหากนาน ๆ ครั้งก็สามารถจ่ายให้ได้เพราะเจ้าพนักงานป่าไม้คนก่อน ๆ ที่มาตรวจโรงค้าไม้ไม่เคยขอค่าใช้จ่ายดังกล่าว จำเลยไม่พอใจเดินออกจากโรงค้าไม้ของโจทก์ร่วมไปและได้ความจากคำเบิกความของจำเลยว่า ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2536จำเลยและนายพงศ์สันต์กับพวกได้เข้าไปตรวจโรงค้าไม้ของโจทก์ร่วมยึดไม้แปรรูปหัวโค้งรวม 130 ชิ้น เป็นของกลาง กล่าวหาว่าโจทก์ร่วมมีไม้กระบาก แปรรูปเกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตรไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้ง ๆ ที่โจทก์ร่วมบอกจำเลยแล้วว่า ไม้ดังกล่าวมีหนังสือกำกับและปรากฏต่อมาว่าไม้แปรรูปหัวโค้งของกลางดังกล่าวมิใช่ไม้กระบาก แต่เป็นไม้ตะเคียนทองแสดงให้เห็นว่าในการตรวจยึดไม้ของกลางและตรวจโรงค้าไม้ของโจทก์ร่วมมีสาเหตุมาจากโจทก์ร่วมไม่ยอมจ่ายเงินให้จำเลยตามที่เรียกร้องนอกจากนี้ยังได้ความจากร้อยตำรวจเอกมนูญ แก้วประดิษฐ์พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอท้ายเหมืองว่าในวันที่ 21 กรกฎาคม 2536 เวลา 16 นาฬิกาเศษ ขณะทำหน้าที่ร้อยเวรสอบสวน โจทก์ร่วมได้นำความไปแจ้งให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ตามบันทึกคำร้องทุกข์เอกสารหมาย จ.1 คำร้องทุกข์กล่าวมีรายละเอียดเกี่ยวกับพฤติการณ์ของจำเลยตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2536 จนกระทั่งถึงวันที่โจทก์ร่วมนำความไปแจ้งสอดคล้องกับคำเบิกความของโจทก์ร่วมนางสาวอักษรและนายเบ่งท่วน ทั้งโจทก์ร่วมนำความไปแจ้งในทันทีที่จำเลยไปตรวจโรงค้าไม้ของโจทก์ร่วม จึงไม่น่าเชื่อว่าที่โจทก์ร่วมนำความไปแจ้งเป็นการสร้างพยานหลักฐานเท็จแกล้งกล่าวหาจำเลยเพราะโจทก์ร่วมประกอบอาชีพเกี่ยวกับการค้าไม้แปรรูป หากจำเลยมิได้เรียกเงินหรือแกล้งกล่าวหาโจทก์ร่วมแล้วก็ไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์ร่วมจะกล่าวหาจำเลยอันอาจทำให้เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจของโจทก์ร่วม นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของนางเยาวภักตร์ ฮ่อบุตร เจ้าของกิจการเตาเผาถ่านนายธีระ เจียสกุล เจ้าของบ่อเลี้ยงกุ้ง ตำบลลำแก่นอำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา พยานโจทก์และโจทก์ร่วมว่าจำเลยกับพวกเคยไปเรียกร้องเงินค่าใช้จ่ายในการตรวจเตาเผาถ่านและบ่อเลี้ยงกุ้ง ความข้อนี้นายศิโรจน์ เสนคุ้ม พยานจำเลยก็เบิกความตอบทนายโจทก์ร่วมถามค้านรับว่า จำเลยกับพวกเคยไปตรวจเตาเผาถ่านที่ตำบลลำแก่น ซึ่งนางเยาวภักตร์เป็นผู้ดำเนินกิจการเตาเผาถ่านที่ตำบลลำแก่นด้วย ข้อที่จำเลยนำสืบต่อสู้ทำนองว่า จำเลยไม่เคยเรียกร้องเงินจากโจทก์ร่วมที่โรงค้าไม้ของโจทก์ร่วม โดยวันที่ 26 เมษายน 2536 จำเลยกับพวกออกตรวจบริเวณป่าสงวนแห่งชาติคลองติงเต๊ะ อำเภอตะกั่วทุ่งจังหวัดพังงา วันที่ 4 พฤษภาคม 2536 เวลา 6 นาฬิกาเศษจำเลยและผู้ใต้บังคับบัญชาพร้อมด้วยเจ้าพนักงานตำรวจตระเวนชายแดนออกตรวจบริเวณป่าสงวนแห่งชาติพานพอ จนเวลาประมาณ 11 นาฬิกาเมื่อไปถึงหมู่บ้านช้างนอน หมู่ที่ 2 ตำบลลำภี อำเภอท้ายเหมืองจังหวัดพังงา พบไม้ตะเคียนทรายแปรรูปผิดกฎหมาย 22 ชิ้นจึงยึดไว้เป็นของกลาง ส่วนคนร้ายหลบหนีไปได้ แม้จำเลยจะมีนายศิโรจน์ เสนคุ้ม นายปิยะฉัตร แกนแปะ เจ้าพนักงานป่าไม้นายดาบตำรวจวีระ เถรว่อง และสิบตำรวจเอกนิพนธ์ พลอยขาวเจ้าพนักงานตำรวจตระเวนชายแดนมาเป็นพยานเบิกความสนับสนุนและอ้างส่งสำเนารายงานผลการปฏิบัติงานประจำวันเดือนเมษายน 2536เดือนพฤษภาคม 2536 และแบบรายงานการเดินทางไปราชการเอกสารหมาย ป.ล.1 ถึง ป.ล.4 เป็นพยาน แต่คำเบิกความของพยานจำเลยดังกล่าวแตกต่างและขัดแย้งกันหลายขั้นตอนและหลายประการทั้งเอกสารที่อ้างส่งส่อพิรุธดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้ว พยานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2536ช่วงระยะเวลาที่โจทก์ร่วมเดินทางไปทำธุระที่กรุงเทพมหานครนั้นจำเลยได้ไปเรียกเงินค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าเดือนละ 1,000 บาทจากโรงค้าไม้ของโจทก์ร่วมแต่ไม่ได้ ต่อมาวันที่ 4 พฤษภาคม 2536จำเลยไปเรียกเงินค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าอีก แต่โจทก์ร่วมไม่ยอมจ่ายให้จนเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2536 จำเลยกับพวกเข้าไปตรวจโรงค้าไม้ของโจทก์ร่วมยึดไม้แปรรูปหัวโค้งจำนวน 130 ชิ้น กล่าวหาโจทก์ร่วมว่ามีไม้กระบากแปรรูปเกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้ง ๆ ที่ไม้แปรรูปของกลางดังกล่าวปรากฏต่อมาว่าเป็นไม้ตะเคียนทองและศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุดเนื่องจากฟังไม่ได้ว่า โจทก์ร่วมมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นหัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ พง.2 (ท้ายเหมือง) เป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ตลอดจนจับกุมผู้กระทำความผิดพฤติการณ์ของจำเลยถือได้ว่าจำเลยมีเจตนามาแต่แรกที่จะกระทำการทุจริตโดยใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของตนโดยมิชอบจูงใจให้โจทก์ร่วมมอบเงินให้แก่จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยสำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 นั้น เป็นเรื่องที่เริ่มต้นโดยใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของตนโดยชอบแล้วกลับทุจริตในภายหลังการที่จำเลยกับพวกยึดไม้ของกลางจำนวน130 ชิ้น และกล่าวหาโจทก์ร่วมนั้นข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ได้ความแน่ชัดว่า เมื่อจำเลยกล่าวหาโจทก์ร่วมแล้ว จำเลยได้เรียกเงินจากโจทก์ร่วมเพื่อมิให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ร่วมจริงหรือไม่ พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมจึงยังไม่พอฟังลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าว ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้น เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ซึ่งเป็นบทเฉพาะดังได้วินิจฉัยมาแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องปรับบทความผิดตามมาตรา 157ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 จำคุก 8 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share