คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1167/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อปรากฏว่าผู้ตายมีส่วนในการขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยว ชนกับรถยนต์ที่จำเลยขับสวนมาด้วยความประมาทเช่นเดียวกันดังนั้น ผู้ตายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ซึ่งเป็นบิดาเป็นผู้บุพการีย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย.

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นรวมการพิจารณาเข้าด้วยกัน โดยสำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์โดยสารประจำทางออกจากจังหวัดร้อยเอ็ดสู่จังหวัดมหาสารคามไปตามถนนแจ้งสนิทด้วยความประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถยนต์เก๋งส่วนบุคคลซึ่งมีนายสุรพล โคตะซึ่งตายไปแล้วเป็นผู้ขับสวนมาด้วยความเร็วและประมาทเช่นกันทำให้นายสุรพล และนายณรัฐ พุทธัสสะ ถึงแก่ความตาย ส่วนนายสุเชิดวิศวพงษ์ กับนายสุรัตน์ โพธิสุวรรณ ซึ่งนั่งมาด้วยกันในรถที่นายสุรพลขับได้รับอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291, 390, 91 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และให้เพิกถอนใบอนุญาตให้เป็นผู้ขับรถของจำเลยด้วย
สำนวนที่สองโจทก์ฟ้องว่าจำเลยขับรถยนต์โดยสารประจำทางด้วยความประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถยนต์ที่นายสุรพล โคตะ ซึ่งเป็นบุตรของโจทก์ขับสวนมา ทำให้นายสุรพลและนายณรัฐ ซึ่งนั่งมาในรถถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291
คดีสำนวนแรกนายนิภา พุทธัสสะ ภริยาของนายณรัฐ พุทธัสสะผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ศาลอนุญาตส่วนคดีสำนวนที่สองศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธทั้งสองสำนวน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยและนายสุรพล โคตะผู้ตายกระทำผิดโดยประมาททั้งสองฝ่าย โจทก์สำนวนที่สองจึงไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้อง ให้ยกฟ้อง สำหรับสำนวนแรกจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 390 วางโทษบทหนักตามมาตรา 291จำคุก 3 ปี และผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา78, 160 จำคุก 3 เดือน รวมจำคุก 3 ปี 3 เดือน คำขออื่นให้ยก
โจทก์สำนวนที่สองและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า โจทก์สำนวนที่สองมีอำนาจฟ้อง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ส่วนปัญหาว่านายสุรพล ผู้ตายได้ขับรถโดยประมาทด้วยหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายสุรพลผู้ตายขับรถยนต์เก๋งมาชิดหรือเกือบชิดเส้นประกึ่งกลางถนน รถทั้งสองคันจึงเกิดชนกัน การที่นายสุรพลผู้ตายขับรถจนชิดหรือเกือบชิดเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนทั้งที่อาจขับหลีกไปทางซ้ายมือได้ เพราะยังมีผิวจราจรว่างอยู่ กว้างประมาณ 2 เมตร และนายสุรพลผู้ตายย่อมจะต้องมองเห็นแล้วว่า มีรถยนต์โดยสารแล่นสวนทางมาแต่ไกลเพราะมีแสงไฟหน้ารถยนต์โดยสารและทางข้างหน้าเป็นทางตรง โดยวิสัยของนายสุรพลผู้ตายในภาวะเช่นนั้น ควรจักต้องขับรถด้วยความระมัดระวังโดยชะลอความเร็วและหลบหลีกให้ห่างจากเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนในระยะที่ปลอดภัย ซึ่งนายสุรพลผู้ตายอาจกระทำได้ แต่หาได้ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอไม่ กลับขับรถโดยไม่ชะลอความเร็วและขับชิดหรือเกือบชิดเส้นประกึ่งกลางถนนจนเป็นเหตุให้รถชนกัน นายสุรพลผู้ตายย่อมมีส่วนกระทำการโดยประมาทจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ซึ่งเป็นบิดาผู้บุพการีย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า โจทก์คดีนี้มีอำนาจฟ้องนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยสำหรับคดีนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำนวนที่สอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”.

Share