คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1158/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้จำเลยเสียหายไม่ว่าการที่โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับนั้นจะต้องด้วยระเบียบว่าด้วยวินัยส่วนใดและมีโทษเป็นประการใด จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุดังกล่าวได้ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยมีระเบียบการจ่ายเงินโบนัสแก่ลูกจ้างที่มีความดีความชอบ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความขยันหมั่นเพียรเป็นประโยชน์แก่จำเลยไม่เป็น ผู้ได้รับการลงโทษจากจำเลยไม่ว่าสถานใดสถานหนึ่ง เมื่อโจทก์ปฏิบัติ หน้าที่โดยฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้ทรัพย์สินของจำเลยสูญหาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับโบนัสตามระเบียบ และการที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนระเบียบดังกล่าวในระหว่างวันที่ 21-25 กุมภาพันธ์ 2529 แต่จำเลยเพิ่งออกคำสั่งลงโทษไล่โจทก์ออกเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2530 เพราะต้องใช้เวลาสอบสวนความจริง ก็ถือได้ว่าโจทก์ทำผิดระเบียบข้อบังคับของจำเลยระหว่างวันที่ 21-25 กุมภาพันธ์ 2529 โจทก์จึงเป็นผู้ได้รับโทษจากจำเลยตามระเบียบการจ่ายโบนัสดังกล่าวแล้วตั้งแต่วันที่โจทก์กระทำผิด นับแต่นั้นมาจำเลยย่อมไม่ต้องจ่ายโบนัสให้โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยให้การว่าเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยเสียหายโดยปล่อยปละละเลยไม่เก็บรักษาลูกกุญแจประตูห้องมั่นคงไว้ในที่ปลอดภัย เป็นเหตุให้คนร้ายเอาลูกกุญแจไขเปิดตู้นิรภัยลักเงินสดจำนวน 1,460,000 บาท ของจำเลยไป จึงไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ประการแรกสรุปใจความได้ว่า ฟ้องของโจทก์ระบุว่า จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์พ้นสภาพการเป็นพนักงานของจำเลยด้วยการ “ไล่ออก” ถือว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เพราะการที่จำเลยไล่โจทก์ออกจากการเป็นลูกจ้างไม่ชอบด้วยระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.3กล่าวคือ ตามระเบียบข้อบังคับดังกล่าวไม่ได้ให้อำนาจจำเลยที่จะลงโทษด้วยการไล่ออกได้เพราะการลงโทษด้วยการ “ไล่ออก” อยู่ในส่วนที่ 4 ข้อ 1.1 ซึ่งระบุว่า “ต้องเป็นการฝ่าฝืนระเบียบว่าด้วยวินัยตามส่วนที่ 1 ในกรณีผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อ 10 และข้อ 12″ สำหรับโจทก์ถูกจำเลยพิจารณาลงโทษโดยหาว่าโจทก์ฝ่าฝืนวินัยในส่วนที่ 1 ข้อ 1. ข้อ 3, ข้อ 10 และข้อ 13 ตามเอกสารหมายจ.5 ซึ่งโทษที่จำเลยกล่าวหาโจทก์มีข้อ 10 เท่านั้นที่จะลงโทษถึงขั้นไล่ออกได้ ตามระเบียบข้อ 10 เป็นเรื่องของพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ซื่อสัตย์สุจริต กระทำหรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำหรือใช้อำนาจหน้าที่ของตนเองหรือของผู้อื่นแสวงหาประโยชน์หรือเจตนากระทำการใดให้เกิดความเสียหาย แต่คณะกรรมการที่จำเลยตั้งขึ้นสอบสวนโจทก์มีความเห็นว่า โจทก์จงใจหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุโดยตรงให้จำเลยได้รับความเสียหาย การกระทำของโจทก์ได้ความเพียงประมาทเลินเล่อเท่านั้น โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับข้อ 10 ที่จำเลยจะลงโทษด้วยการไล่ออกได้ ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 49 ซึ่งตามบทกฎหมายดังกล่าวการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหมายถึงการเลิกจ้างโดยไม่ปรากฏเหตุแห่งการเลิกจ้างแต่คดีของโจทก์ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้ตระหนักดีว่าลูกกุญแจทุกดอกที่อยู่ในความรับผิดชอบของโจทก์มีความสำคัญเกี่ยวกับความปลอดภัยของทรัพย์สินแต่กลับปล่อยปละละเลยมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบโดยให้ผู้อื่นซึ่งไม่มีอำนาจหน้าที่มีส่วนร่วมในการนำไปใช้และเก็บรักษากุญแจห้องมั่นคงและประตูลูกกรงเหล็กโดยอ้างว่าเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงาน เหตุทั้งนี้เกิดขึ้นเพราะโจทก์ไปทำงานสายอยู่เป็นประจำ ก่อนจะเกิดเหตุ โจทก์ลืมกุญแจตู้นิรภัยในห้องมั่นคงจำนวน 2 ดอกเป็นดอกที่โจทก์จะต้องรับผิดชอบ 1 ดอก ที่ผู้จัดการสาขาจะต้องรับผิดชอบอีก 1 ดอกไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงาน ทำให้คนร้ายนำกุญแจไปใช้ได้ ความเสียหายของจำเลยจึงเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่โดยการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุ กล่าวคือ เลิกจ้างเพราะโจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ และประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้จำเลยเสียหาย จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างได้และไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ไม่ว่าการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของโจทก์จะต้องด้วยระเบียบว่าด้วยวินัยส่วนใดข้อใดของจำเลย และโทษตามระเบียบดังกล่าวควรจะเป็นประการใดก็หาทำให้การเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมไม่ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์อุทธรณ์อีกประการหนึ่งว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้ที่ทำให้จำเลยเสียหาย จึงมีสิทธิได้เงินสะสมนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้จำเลยเสียหาย อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าโจทก์ไม่ใช่เป็นผู้ทำให้จำเลยเสียหาย จึงเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าเงินโบนัสหรือเงินช่วยเหลือค่าครองชีพพิเศษตามระเบียบระบุว่า ผู้ได้รับการลงโทษจากจำเลยไม่ว่าสถานใดไม่มีสิทธิได้รับ หมายความว่า ผู้นั้นได้รับการลงโทษจากจำเลยแล้ว ตามฟ้องของโจทก์และจากการนำสืบได้ความว่า จำเลยไม่ได้จ่ายโบนัสให้โจทก์ 2 ครั้ง ในระหว่างสอบสวน ในช่วงเวลาดังกล่าวจำเลยยังไม่ได้ชี้ชัดว่าผู้ใดจะได้รับการลงโทษจากจำเลยบ้าง โจทก์ยังมิใช่ผู้ได้รับการลงโทษจากจำเลย จึงยังมีสิทธิได้รับเงินโบนัส 22,700 บาทเพราะจำเลยเพิ่งมีคำสั่งลงโทษโจทก์เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2530 นั้น เห็นว่าตามระเบียบของจำเลยเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือค่าครองชีพพิเศษ ตามเอกสารหมายจ.6 ส่วนที่ 3 กำหนดว่า โดยที่ธนาคารได้พิจารณาเห็นว่า พนักงานหรือลูกจ้างของธนาคารที่ปฏิบัติหน้าที่มาด้วยความขยันหมั่นเพียรบำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของธนาคารสมควรที่จะได้รับประโยชน์เป็นการตอบแทน จึงได้กำหนดระเบียบการจ่ายเงินช่วยเหลือค่าครองชีพพิเศษขึ้นไว้ ดังนี้
ฯลฯ
2.3.2 ไม่เป็นผู้ที่ได้รับการลงโทษจากธนาคารไม่ว่า สถานใดสถานหนึ่ง แม้แต่ถูกตำหนิโทษหรือถูกภาคทัณฑ์ในระหว่างงวดการบัญชีดังกล่าวมาแล้วในข้อ 2.3.1
ฯลฯ
ตามระเบียบดังกล่าวของจำเลยเห็นได้ว่า จำเลยจะจ่ายเงินโบนัสให้กับพนักงานที่มีความดีความชอบ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความขยันหมั่นเพียรเป็นประโยชน์ต่อธนาคารเท่านั้น สำหรับโจทก์นั้นปรากฏว่าได้ปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของจำเลยสูญหายไปเป็นจำนวนถึง1,400,000 บาทเศษ โจทก์จึงไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับโบนัสตามระเบียบดังกล่าว และการที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนระเบียบเช่นนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ระหว่างวันที่ 21-25 กุมภาพันธ์ 2529 แล้ว แม้จำเลยเพิ่งออกคำสั่งลงโทษโจทก์ด้วยการไล่ออกเมื่อวันที่ 23กุมภาพันธ์ 2530 เพราะต้องใช้เวลาสอบสวนหาความจริงก็ต้องถือว่าโจทก์ทำผิดระเบียบข้อบังคับของจำเลยตั้งแต่ระหว่างวันที่ 21-25กุมภาพันธ์ 2529 โจทก์จึงเป็นผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ได้รับโทษจากธนาคารตามระเบียบตามเอกสารหมาย จ.6 ส่วนที่ 3 ข้อ 2.3.2ตั้งแต่วันที่โจทก์ทำผิดระเบียบข้อบังคับ นับแต่นั้นมาจำเลยย่อมไม่ต้องจ่ายโบนัสให้โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของโจทก์บางข้อฟังไม่ขึ้น บางข้อรับวินิจฉัยให้ไม่ได้”
พิพากษายืน

Share