แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ในวันสืบพยานจำเลยมาศาลแต่ได้กลับไปเสียก่อนที่ศาลจะสืบพยานโจทก์เสร็จ กรณีเช่นนี้ไม่ถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา จะมีคำขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ไม่ได้ เพราะคู่ความที่จะมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 207 นั้น จะต้องเป็นคู่ความที่ศาลแสดงว่าขาดนัดพิจารณา และมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แพ้คดีในประเด็นที่พิพาท
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตึกแถวเลขที่ 22/4-5-6 ถนนราชปรารถ แขวงและเขตพญาไท กรุงเทพมหานคร จำเลยเป็นผู้เช่า โจทก์บอกเลิกการเช่าแล้วจำเลยไม่ยอมออกไปจากตึกแถว จึงขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยออกไปจากตึกแถวและให้ใช้ค่าเสียหาย
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ในวันสืบพยานโจทก์ศาลสั่งรวมพิจารณาคดีกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 7497/2518 ซึ่งศาลสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา ส่วนจำเลยคดีนี้มาศาลเมื่อทนายโจทก์เบิกความเป็นพยาน (ปากแรก) และได้กลับไปขณะโจทก์เบิกความเป็นพยานยังไม่เสร็จ เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จ 2 ปาก คือ ทนายโจทก์และตัวโจทก์แล้วโจทก์แถลงหมดพยานศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รอฟังคำพิพากษา (มิได้สั่งขาดนัด)
สำหรับคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยออกจากตึกแถว และให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยมาศาลในวันที่ 14 ตุลาคม 2518 (วันสืบพยานและจำเลยลงชื่อในช่องจำเลยท้ายคำให้การนายรัตน์ ไวกวี ทนายโจทก์ และศาลได้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ได้มีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา จำเลยจึงขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้ เพราะกรณีไม่เข้าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 205 วรรคสอง และมาตรา 208 ให้ยกคำร้องของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นว่าจากรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฟังได้ว่า จำเลยมาศาลภายหลังที่ศาลได้เริ่มสืบพยานแล้ว ถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาแล้ว การที่ศาลชั้นต้นไม่ได้สั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาก่อนสืบพยานโจทก์ จึงไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยมาศาลในวันนัดสืบพยาน มิได้ขาดนัดพิจารณา การที่ศาลมิได้มีคำสั่งแสดงว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาจึงชอบแล้วและเมื่อศาลมิได้มีคำสั่งแสดงว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 207 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่าในเรื่องการมาศาลของจำเลยนั้น นอกจากโจทก์จะระบุในคำแก้อุทธรณ์ว่าในวันที่ 14 ตุลาคม 2518 (วันสืบพยาน) เวลา 13.00 นาฬิกา จำเลยมาศาลและนั่งฟังการพิจารณาอยู่ด้วยแล้ว จำเลยยังกล่าวในอุทธรณ์ของจำเลยว่าวันที่ 14 ตุลาคม 2518 (วันสืบพยาน)เวลา 13.00 นาฬิกา จำเลยไปที่ศาลแพ่งและเข้าไปร้องเรียนต่อผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาว่า ความจริงจำเลยไม่ทราบและรับหมายเกี่ยวกับคดีที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยมาก่อนเลยและเพิ่งทราบแน่นอน วันนี้ไม่สามารถจะหาทนายความมาช่วยแก้ต่างคดีได้ทัน ขอให้ศาลเลื่อนคดีให้โอกาสแก่จำเลยได้แก้คดีที่ถูกฟ้องตามกฎหมาย แต่ศาลพูดปลอบใจจำเลยว่า วันนี้ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาไปก่อนหากภายหลังจำเลยมีข้ออ้างอย่างใดก็ให้ยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ จำเลยได้ลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์ของศาลไว้หนึ่งชื่อ แล้วจำเลยก็ลาศาลกลับเพื่อหาทนายช่วยตรวจหลักฐานแก้ไขดำเนินคดีแทนจำเลย จึงเห็นได้ว่าจำเลยมาศาลตั้งแต่ก่อนศาลสืบพยานโจทก์ การที่จำเลยมาศาลก่อนศาลสืบพยานโจทก์แล้วจำเลยกลับไปเสียก่อนที่ศาลจะสืบพยานโจทก์เสร็จนั้น ไม่ถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา ที่ศาลชั้นต้นไม่สั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณานั้นชอบแล้ว คู่ความที่จะมีคำขอให้มีการพิจารณาใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 207 นั้น จะต้องเป็นคู่ความซึ่งศาลแสดงว่าขาดนัดพิจารณาและมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แพ้คดีในประเด็นที่พิพาท แต่จำเลยมิใช่เป็นคู่ความที่ศาลแสดงว่าขาดนัดพิจารณา จำเลยจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้มีการพิจารณาใหม่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน