คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2960/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้ กระทำความผิดครบองค์ประกอบความผิดตามที่โจทก์มีคำขอให้ ลงโทษจำเลยในคำขอท้ายฟ้องแล้ว แม้ตามคำฟ้องโจทก์จะมิได้ ระบุเลขที่บ้านของจำเลยก็ตาม แต่โจทก์ก็ได้ระบุว่าจำเลย ตั้งบ้านเรือนอยู่หมู่ที่ 9 ตำบลห้วยใหญ่อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ อันเป็นที่อยู่ของจำเลย และบรรยายด้วยว่า จำเลยชื่อ ก. อายุ 38 ปีเชื้อชาติไทย สัญชาติไทย ดังนี้ ถือได้ว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายชื่อตัว นามสกุล อายุ ที่อยู่ ชาติและบังคับของจำเลยครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(4) แล้ว ความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดต่างกรรมกับความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะหรือในที่ชุมนุมชนที่จัดให้มีขึ้นเพื่อ การรื่นเริง การมหรสพโดยเปิดเผย โดยไม่มีเหตุสมควรและโดย ไม่ได้รับอนุญาต เพราะความผิดทั้งสองฐานมีเจตนาในการกระทำผิดเป็นคนละอันแตกต่างกันและเป็นความผิดต่างฐานกัน แม้จำเลย จะกระทำความผิดทั้งสองฐานนี้ในวาระเดียวกัน การกระทำของจำเลย เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2540 เวลากลางวันจำเลยกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยมีอาวุธปืนสั้นขนาด 11 มม. ชนิดประกอบขึ้นเอง ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนประจำอาวุธปืนของเจ้าพนักงานประทับไว้ จำนวน 1 กระบอกและมีเครื่องกระสุนปืน คือกระสุนปืนขนาด 11 มม. จำนวน 3 นัดสามารถใช้ยิงได้ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมาย และจำเลยพาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปในบริเวณงานทำบุญร้อยวัน หมู่ที่ 9 ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ และในที่ชุมนุมชนที่จัดให้มีขึ้นเพื่อการรื่นเริง การมหรสพโดยเปิดเผยโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับอนุญาต เหตุเกิดที่ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ ตามวันเวลาดังกล่าวเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมยึดอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91, 371 ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคสอง, 72 วรรคหนึ่ง,72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน จำคุก 1 ปี ความผิดฐานพาอาวุธปืนไปโดยเปิดเผย ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี และริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า คำฟ้องของโจทก์บรรยายครบองค์ประกอบความผิดชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 หรือไม่เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าว โจทก์ได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิและประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ตามที่โจทก์มีคำขอให้ลงโทษจำเลยในคำขอท้ายฟ้องแล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์มิได้ระบุบ้านเลขที่ของจำเลย เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(4) ซึ่งบัญญัติว่า ต้องบรรยายที่อยู่ของจำเลยด้วยนั้นเห็นว่า แม้ตามคำฟ้องโจทก์จะมิได้ระบุเลขที่บ้านของจำเลยก็ตามแต่ก็ได้ระบุว่าจำเลยตั้งบ้านเรือนอยู่หมู่ที่ 9 ตำบลห้วยใหญ่อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ อันเป็นที่อยู่ของจำเลยประกอบกับบรรยายด้วยว่า จำเลยชื่อนายทองใหม่ นาคคำ อายุ38 ปี เชื้อชาติไทย สัญชาติไทย เช่นนี้ ถือได้ว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายชื่อตัว นามสกุล อายุ ที่อยู่ ชาติ และบังคับของจำเลยครบถ้วนตามมาตรา 158(4) แล้วเช่นกัน
จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า คำว่า “มี” และ “พา” เกี่ยวกับอาวุธปืนไว้ในครอบครองขณะเดียวกันอาวุธปืนก็อยู่ในตัวของจำเลยอยู่แล้ว จึงเป็นการกระทำในวาระเดียวกันอันเป็นกรรมเดียวกันศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดต่างกรรมกับความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้าน ทางสาธารณะหรือในที่ชุมนุมชนที่จัดให้มีขึ้นเพื่อการรื่นเริง การมหรสพโดยเปิดเผย โดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับอนุญาต เพราะความผิดทั้งสองฐานมีเจตนาในการกระทำผิดเป็นคนละอันแตกต่างกันและเป็นความผิดต่างฐานกัน แม้จำเลยจะกระทำความผิดทั้งสองฐานนี้ในวาระเดียวกัน การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ได้
พิพากษายืน

Share