แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
พ.และย. ร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์มอบอำนาจให้ น. มีอำนาจกระทำการต่าง ๆตามที่ระบุไว้ รวมทั้งมีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีล้มละลายทุกศาลแทนโจทก์ได้ ขณะ พ. ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจนั้น พ. ยังเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงมีผลให้ น. มีอำนาจฟ้องคดีล้มละลายแทนโจทก์ได้ทั้งหนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ 30 บาท อันแสดงว่าโจทก์มอบอำนาจให้กระทำการแทนโจทก์ได้มากกว่าครั้งเดียวดังนี้ ตราบใดโจทก์ยังมิได้ยกเลิกหรือเพิกถอนหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว น. ย่อมมีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ทั้งหมดแทนโจทก์ได้ตลอดไป แม้ต่อมาภายหลังขณะยื่นฟ้องนั้นพ. จะมิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์อีกต่อไปก็ตามเพราะการที่ พ.และย. ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์นั้นเป็นการมอบอำนาจในนามโจทก์ น. จึงมีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ มูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องเป็นหนี้ที่จำเลยที่ 1เบิกเงินเกินบัญชีและหนี้ที่เกิดจากการที่จำเลยที่ 1ขายลดเช็คตามสัญญาขายลดเช็คพร้อมดอกเบี้ย หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ส่วนที่โจทก์ตีราคาหลักประกันมาในฟ้องเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติล้มละลายมาตรา 10(2) ที่ให้กระทำเช่นนั้น เพียงแต่เมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้ว เงินยังขาดอยู่สำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 บาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 500,000 บาทก็ฟ้องเป็นคดีล้มละลายได้โดยไม่จำต้องฟ้องเป็นคดีแพ่งและนำยึดหลักประกันออกขายทอดตลาดก่อน ที่จำเลยที่ 2ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ทั้งที่มีอยู่แล้วขณะค้ำประกันและที่จะมีขึ้นต่อไปในภายหน้า โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 5,000,000 บาทเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 8,423,598.91บาท โจทก์ตีราคาหลักประกันเป็นเงิน 3,856,300 บาทเมื่อหักกันจำนวนหนี้ดังกล่าวเงินยังขาดอยู่ 4,567,298.91บาท อันเป็นจำนวนเงินที่กำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนซึ่งจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในจำนวนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายได้ จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว 2 ครั้ง แต่ละครั้งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน และจำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ที่จำเลยที่ 2นำสืบว่า มีรถยนต์บรรทุกหลายคันคงมีแต่จำเลยที่ 2คนเดียวเบิกความลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ให้เห็นว่าเป็นความจริง ส่วนจำเลยที่ 2นำสืบว่าจำเลยที่ 2 ประกอบการขนส่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วมีรายได้เดือนละ 30,000 บาท ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทั้งที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในจำนวนหนี้ของจำเลยที่ 1 ดังวินิจฉัยมาข้างต้นหาใช่ไม่มีหน้าที่ต้องรับชำระหนี้แก่โจทก์ดังที่จำเลยที่ 2ฎีกาไม่ พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้ล้นพ้นตัว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งหกเด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลาย
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1ถึงที่ 4 และที่ 6 ไว้เด็ดขาด ยกฟ้องจำเลยที่ 5
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วที่จำเลยที่ 2 ฎีกาในประการแรกว่า ขณะยื่นฟ้องนายพิชัย สุวรรณมาศมิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ นายนพรัตน์ ณ ระนองจึงไม่อาจอาศัยหนังสือมอบอำนาจ ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ฟ้องคดีนี้ เห็นว่า นายพิชัยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ระหว่างวันที่ 2 พฤษภาคม 2526ถึงวันที่ 30 กันยายน 2528 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2527นายพิชัยกับนายยศ เอื้อชูเกียรติ ร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์มอบอำนาจให้นายนพรัตน์มีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้รวมทั้งมีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแพ่งคดีอาญาตลอดจนคดีล้มละลายทุกศาลแทนโจทก์ได้ ดังนั้นขณะนายพิชัยลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจนั้น นายพิชัยยังเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงมีผลให้นายนพรัตน์มีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้รวมทั้งมีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแพ่ง คดีอาญา ตลอดจนคดีล้มละลายแทนโจทก์ ทั้งปรากฏว่าหนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ 30 บาทอันแสดงว่าโจทก์มอบอำนาจให้กระทำการแทนโจทก์ได้มากกว่าครั้งเดียวดังนี้ ตราบใดโจทก์ยังมิได้ยกเลิกหรือเพิกถอนหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว นายนพรัตน์ย่อมมีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ทั้งหมดแทนโจทก์ได้ตลอดไป แม้ต่อมาภายหลังนายพิชัยจะมิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์อีกต่อไป เพราะการที่นายพิชัยกับนายยศลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์นั้นเป็นการมอบอำนาจในนามโจทก์ เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้ยกเลิกหรือเพิกถอนหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว นายนพรัตน์จึงมีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ แม้ขณะยื่นฟ้องนายพิชัยจะมิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ก็ตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า นายนพรัตน์มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาประการต่อมาว่า โจทก์มิได้ฟ้องคดีแพ่งและไม่มีการยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นหลักประกันออกขายทอดตลาดก่อน แต่โจทก์ตีราคาหลักประกันตามอำเภอใจแล้วนำไปหักกับจำนวนหนี้และที่โจทก์นำเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยที่ 1 ไปหักชำระหนี้ไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1หนี้ส่วนที่เหลือที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้ จึงเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนทั้งหลักประกันมีราคาถึง 9,000,000 บาทเห็นว่า มูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องเป็นหนี้ที่จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีและหนี้ที่เกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ขายลดเช็คตามสัญญาขายลดเช็คพร้อมดอกเบี้ย หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ส่วนที่โจทก์ตีราคาหลักประกันมาในฟ้องเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 10(2)ที่ให้กระทำเช่นนั้น เพียงแต่เมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้วเงินยังขาดอยู่สำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 บาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 500,000 บาท ก็ฟ้องเป็นคดีล้มละลายได้โดยไม่จำต้องฟ้องเป็นคดีแพ่งและนำยึดหลักประกันออกขายทอดตลาดก่อนจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ทั้งที่มีอยู่แล้วขณะค้ำประกันและที่จะมีขึ้นต่อไปในภายหน้าโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 เป็นจำนวนถึง 5,000,000 บาท และได้ความจากคำเบิกความของนายเด่นชัย เสมารัตน์กับนายสิงห์ชัย ทรัพย์มณีนันท์ พนักงานสินเชื่อของโจทก์ว่าเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2531 โจทก์นำเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยที่ 1 จำนวน 3,497,395.05 บาท ไปหักชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ตามข้อตกลงแล้วคงเหลือหนี้เบิกเงินเกินบัญชี 5,741,021.64 บาท และโจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ย 1,181,172.40 บาท รวมกับต้นเงินแล้วจำเลยที่ 1เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีถึงวันฟ้อง 7,278,041.40 บาท (ที่ถูก7,234,811.45 บาท) นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้ขายลดเช็คตามสัญญาขายลดเช็ค 5 ฉบับ เป็นเงิน 821.701 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินตามเช็คแต่ละฉบับนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ย 367,086.41 บาท รวมกับต้นเงินตามเช็คแล้วจำเลยที่ 1เป็นหนี้ตามสัญญาขายลดเช็คถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,188,787.40 บาท(ที่ถูก 1,188,787.46 บาท) จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ถึงวันฟ้องเป็นเงินทั้งสิ้น 8,216,628.80 บาท (ที่ถูกเป็นเงิน 8,423,598.91 บาท)โจทก์ตีราคาหลักประกันเป็นเงิน 3,856,300 บาท เมื่อหักกับจำนวนหนี้ดังกล่าวเงินยังขาดอยู่ 4,370,328.80 บาท (ที่ถูก4,567,298.91 บาท) ดังนี้ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในจำนวนเงินดังกล่าวที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่าหลักประกันมีราคา 9,000,000 บาท นั้นได้ความตามคำเบิกความของนายเตียง หลอมทอง เจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินจังหวัดสระบุรี ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบราคาประเมินที่ดิน พยานโจทก์ว่า ขณะพยานเบิกความ (วันที่ 5 กันยายน 2534)ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 15183, 15184 ตำบลปากเพรียว (ปากข้าวสาร)อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี ราคาประเมินไร่ละ 140,000 บาทหรือตารางวาละ 350 บาท ส่วนที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 15652, 15653และ 9996 ตำบลปากเพรียว (แก่งขนุน) อำเภอเมืองสระบุรีจังหวัดสระบุรี ราคาไร่ละ 13,000 บาท หรือตารางวาละ 32.50 บาทส่วนการตีราคาหลักประกันของโจทก์ได้ความว่า เมื่อปี 2531โจทก์ตีราคาที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 15183, 15184 ตารางวาละ13,000 บาท ที่ดินทั้งสองแปลงเนื้อที่รวม 144 ตารางวามีราคา 1,872,000 บาท สิ่งปลูกสร้างเป็นตึกแถวสามชั้นครึ่ง2 คูหา และโกดังเก็บสินค้าซึ่งปลูกบนที่ดินดังกล่าวตีราคา1,500,000 บาท ส่วนที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 15652, 15653 และ 9996ตีราคาตารางวาละ 900 บาท ที่ดินทั้งสามแปลงเนื้อที่รวม527 ตารางวา มีราคา 474,300 บาท หลักประกันจึงมีราคาทั้งสิ้น3,846,300 บาท ราคาหลักประกันดังกล่าวจึงมีราคาสูงกว่าตอนที่จำเลยที่ 3 จดทะเบียนจำนอง ซึ่งโจทก์ตีราคาไว้ 3,300,000บาท ทั้งราคาที่ดินที่โจทก์ตีไว้นั้นก็สูงกว่าราคาประเมินของสำนักงานที่ดินจังหวัดสระบุรีมาก ส่วนที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าหลักประกันมีราคา 9,000,000 บาท คงมีแต่จำเลยที่ 2 เบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ราคาหลักประกันที่โจทก์ตีมาในฟ้องจึงมีน้ำหนักและเหตุผลให้เชื่อได้ว่ามีราคา 3,846,300 บาท จากข้อเท็จจริงดังวินิจฉัยมาข้างต้นฟังได้ว่า ราคาหลักประกันที่โจทก์ตีมาในฟ้องเมื่อหักกับจำนวนหนี้ของจำเลยที่ 1 แล้ว เงินยังขาดอยู่4,567,298.91 บาท อันเป็นจำนวนเงินที่กำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนซึ่งจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1ในจำนวนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาในประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2ประกอบกิจการขนส่งมีรถยนต์บรรทุกเป็นของตนเองหลายคัน มีรายได้เดือนละ 30,000 บาท ไม่มีหนี้สินรายอื่นอีก จำเลยที่ 2จึงไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งจำเลยที่ 2 มิได้ฎีกาโต้แย้งฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว2 ครั้ง แต่ละครั้งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วันและจำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้ จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่า มีรถยนต์บรรทุกหลายคันคงมีแต่จำเลยที่ 2 คนเดียวเบิกความลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ให้เห็นว่าเป็นความจริง ส่วนที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่าจำเลยที่ 2 ประกอบการขนส่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วมีรายได้เดือนละ 30,000 บาท ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ทั้งที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในจำนวนหนี้ของจำเลยที่ 1 ดังวินิจฉัยมาข้างต้นหาใช่ไม่มีหน้าที่ต้องรับชำระหนี้แก่โจทก์ดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาไม่ พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัวที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัวศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ทุกข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน