แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
โจทก์เป็นเอกชนฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้รับจ้างเหมาปรับปรุงถนนสาธารณะ งดเว้นไม่กระทำการเพื่อแจ้งเตือนให้ผู้ใช้ถนน ทราบว่ากำลังมีการก่อสร้างปรับปรุงพื้นผิวถนนที่เกิดเหตุ เป็นเหตุให้รถยนต์ที่โจทก์ขับมาตามปกติ เสียหลักพลิกคว่ำไถลเข้าข้างทางได้รับบาดเจ็บสาหัสและรถยนต์คันเกิดเหตุเสียหาย เป็นกรณีที่เอกชนฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิด แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองในฐานะผู้ว่าจ้าง แต่จำเลยที่ ๑ จะมีความรับผิดในฐานะผู้ว่าจ้างหรือไม่จะต้องพิจารณาว่าจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ละเมิดต่อโจทก์หรือไม่เสียก่อน หากเป็นการกระทำละเมิด จึงจะพิจารณาต่อไปว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ผิดในการเลือกหาผู้รับจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๒๘ หรือไม่ ประเด็นแห่งคดีในส่วนการกระทำละเมิด ของจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ จึงเป็นส่วนสำคัญความรับผิดของจำเลยทั้งสามจึงมีมูลความแห่งคดีเดียวกันและเหตุละเมิดตามคำฟ้องของโจทก์จากการกระทำของจำเลยที่ ๑ มิได้เป็นผลโดยตรงจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๗/๒๕๕๗
วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๗
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลจังหวัดยโสธร
ระหว่าง
ศาลปกครองอุบลราชธานี
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดยโสธรโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๖ นายวีรชัช แสนสุข โจทก์ ยื่นฟ้อง กรมทางหลวง ที่ ๑ ห้างหุ้นส่วนจำกัด จั่วเซ้งค้าไม้ ที่ ๒ นางสุภาพร พงษ์นุเคราะห์ศิริ ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดยโสธร เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๐๒/๒๕๕๖ ความว่า จำเลยที่ ๒ รับจ้างเหมาปรับปรุงซ่อมแซมถนนทางหลวงหมายเลข ๒๓ ตอนทางแยกไปอำนาจเจริญ-ทางแยกไปมหาชนะชัย ที่เกิดเหตุกับจำเลยที่ ๑ โดยโจทก์เป็นผู้ครอบครองและขับขี่รถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน กค ๙๖๐๖ ยโสธร มาตามทางหลวงหมายเลข ๒๓ เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุ จำเลยที่ ๒ ได้ปรับปรุงและซ่อมแซมพื้นผิวถนน โดยการขูดลอกพื้นผิวถนนชั้นบน ทำให้พื้นผิวถนนต่ำกว่าระดับเดิมและขรุขระ มีก้อนหินที่ใช้ปรับปรุงทาง รวมทั้งเศษก้อนหินและดินจากการขูดลอกพื้นผิวถนนชั้นบนเต็มพื้นผิวถนนในช่องเดินรถที่โจทก์ขับมา จำเลยที่ ๑ ซึ่งมีหน้าที่ต้องติดตั้งหรือควบคุมกำกับดูแลให้จำเลยที่ ๒ ผู้รับจ้าง และจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๒ ติดตั้งไฟส่องสว่าง ไฟแจ้งเตือนฉุกเฉิน ป้ายแจ้งเตือน หรือติดตั้งเครื่องหมายจราจร รวมทั้งป้ายหรือวัตถุอื่นใด เพื่อให้ทราบว่ามีการก่อสร้างปรับปรุงพื้นผิวถนนเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้สัญจรในเวลากลางคืน แต่จำเลยทั้งสามงดเว้นไม่กระทำการติดตั้งไฟส่องสว่าง ไฟแจ้งเตือนฉุกเฉิน ป้ายแจ้งเตือน หรือติดตั้งเครื่องหมายจราจร รวมทั้งป้ายหรือวัตถุอื่นใด เพื่อแสดงให้ทราบว่ากำลังมีการก่อสร้างปรับปรุงพื้นผิวถนนที่เกิดเหตุ การกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสามดังกล่าว เป็นเหตุให้รถยนต์ที่โจทก์ขับมาตามปกติเสียหลักพลิกคว่ำไถลเข้าข้างทางชนต้นไม้และบริเวณบ้านของผู้อื่นได้รับความเสียหาย โจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายเกือบทั้งคัน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ การว่าจ้างจำเลยที่ ๒ ให้ทำการก่อสร้างบูรณะซ่อมแซมบริเวณถนนที่เกิดเหตุ จำเลยที่ ๑ ได้ดำเนินการ ควบคุม ดูแลให้จำเลยที่ ๒ ดำเนินการติดตั้งเครื่องหมายจราจร และติดตั้งไฟส่องสว่าง ไฟแจ้งเตือน เพื่อความปลอดภัยแก่ผู้อื่น รวมถึงโจทก์ในคดีนี้ และจำเลยที่ ๒ ได้มีการติดตั้งตามสัญญาจ้าง และได้ตามมาตรฐานตามกฎหมายแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นในคดีนี้เกิดจากความประมาทของโจทก์เอง โจทก์ขับมาด้วยความเร็วเกินสมควรปราศจากความระมัดระวัง และมีป้ายเครื่องหมายและไฟสัญญาณแจ้งเตือนให้ผู้ขับขี่ระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ในขณะนั้น โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายดังที่กล่าวอ้างจริง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การรับว่าเป็นคู่สัญญาจ้างรับเหมาปรับปรุงทางหลวงกับจำเลยที่ ๑ โดยมีจำเลยที่ ๓ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจริง จำเลยที่ ๒ ได้ติดตั้งไฟแจ้งเตือนฉุกเฉิน ป้ายแจ้งเตือน ตลอดแนวทางที่ก่อสร้างตามวิสัยและพฤติการณ์ในวิชาชีพ แต่โจทก์ขับรถด้วยความเร็วสูง เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจ ตามกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดยโสธรพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ปรับปรุงซ่อมแซมพื้นผิวถนนหลวงโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง ทำให้รถยนต์ที่โจทก์ขับและทรัพย์สินของผู้อื่นได้รับความเสียหาย ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นกรณีที่เอกชนฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดจากเอกชนด้วยกัน อันอยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม ที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองเพียงเพราะในฐานะผู้ว่าจ้าง โดยมีจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นเอกชนเป็นผู้รับจ้างเท่านั้น แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้ว่าจ้าง โดยอ้างว่าละเว้นไม่ควบคุมดูแลให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย แต่จำเลยที่ ๑ จะมีความรับผิดในฐานะผู้ว่าจ้างหรือไม่ จะต้องพิจารณาว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ หากเป็นการกระทำละเมิดจึงจะพิจารณาต่อไปว่า จำเลยที่ ๑ ละเว้นไม่ควบคุมดูแลให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือไม่ ประเด็นแห่งคดีของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงเป็นส่วนสำคัญ ความรับผิดของจำเลยทั้งสามจึงมีมูลความแห่งคดีเดียวกัน และเหตุละเมิดมิได้เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ ๑ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น และไม่ได้เกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้โดยตรงในการติดตั้งหรือควบคุมเพื่อติดตั้งและจัดให้มีเครื่องหมาย หรือป้าย และสัญญาณจราจรในบริเวณก่อสร้างซ่อมแซมถนน เพื่อความปลอดภัยในการจราจรแก่ประชาชนผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ใช้ทางหลวง โดยการดำเนินภารกิจตามกฎหมายจำเลยที่ ๑ อาจให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการเองหรือมอบหมายหรือว่าจ้างให้บุคคลอื่นดำเนินการแทนได้ แต่ก็หาเป็นเหตุให้ จำเลยที่ ๑ หลุดพ้นจากภาระหน้าที่ตามกฎหมายแต่อย่างใด จำเลยที่ ๑ จึงมีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลการดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการเดินทางตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นภาระหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ ย่อมมีหน้าที่ดูแลรักษาทางหลวงให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทางไม่ว่าทางหลวงดังกล่าวจะอยู่ระหว่างซ่อมแซมหรือไม่ก็ตาม โดยจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ไม่ได้มีหน้าที่และไม่อาจเข้ากระทำการดังกล่าวด้วยตนเองเพียงแต่ได้รับมอบหมายตามสัญญาให้ดำเนินการเท่านั้น การก่อสร้างบูรณะซ่อมแซม และบำรุงรักษาทางหลวง ถือเป็นบริการสาธารณะในหน้าที่ของหน่วยงานทางปกครอง มิใช่หน้าที่ตามกฎหมายเอกชน ไม่ว่าจำเลยที่ ๑ จะมอบหมายให้บุคคลภายนอกดำเนินการแทน ก็หาอาจยกขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธหน้าที่ของตนได้ไม่ ดังนั้นเมื่อความรับผิด (หากมีขึ้นตามผลแห่งคำพิพากษา) ถือเป็นความผิดบกพร่องของหน่วยงานทางปกครองในการควบคุมกำกับดูแลผู้รับจ้างก่อสร้างหรือบูรณะซ่อมแซมและบำรุงรักษาทางหลวงตามกฎหมาย กรณีจึงไม่เป็นคดีพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชน แต่เป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดทำบริการสาธารณะกับเอกชนผู้เสียหาย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ ๑ ทำสัญญาจ้างเหมาจำเลยที่ ๒ ให้ปรับปรุงซ่อมแซมถนนทางหลวงหมายเลข ๒๓ โดยโจทก์เป็นผู้ครอบครองและขับขี่รถยนต์กระบะมาตามทางหลวงหมายเลข ๒๓ เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุ จำเลยที่ ๑ ซึ่งมีหน้าที่ต้องติดตั้งหรือควบคุมกำกับดูแลให้จำเลยที่ ๒ ผู้รับจ้าง และจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ติดตั้งไฟส่องสว่าง ไฟแจ้งเตือนฉุกเฉิน ป้ายแจ้งเตือน หรือติดตั้งเครื่องหมายจราจร รวมทั้งป้ายหรือวัตถุอื่นใด เพื่อให้ทราบว่า มีการก่อสร้างปรับปรุงพื้นผิวถนนเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้สัญจรในเวลากลางคืน แต่จำเลยทั้งสามงดเว้นไม่กระทำการ เพื่อแสดงให้ทราบว่ากำลังมีการก่อสร้างปรับปรุงพื้นผิวถนนที่เกิดเหตุ การกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสามดังกล่าว เป็นเหตุให้รถยนต์ที่โจทก์ขับมาตามปกติเสียหลักพลิกคว่ำไถลเข้าข้างทาง ชนต้นไม้และบริเวณบ้านของผู้อื่นได้รับความเสียหาย โจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายเกือบทั้งคัน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ การว่าจ้างจำเลยที่ ๒ ให้ทำการก่อสร้างบูรณะซ่อมแซมบริเวณถนนที่เกิดเหตุ จำเลยที่ ๑ ได้ดำเนินการ ควบคุม ดูแลให้จำเลยที่ ๒ ดำเนินการติดตั้งเครื่องหมายจราจร และติดตั้งไฟส่องสว่าง ไฟแจ้งเตือน เพื่อความปลอดภัยแก่ผู้อื่น และจำเลยที่ ๒ ได้มีการติดตั้งตามสัญญาจ้าง และได้ตามมาตรฐานตามกฎหมายแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นในคดีนี้ เกิดจากความประมาทของโจทก์เอง ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การว่าจำเลยที่ ๒ ได้ติดตั้งไฟแจ้งเตือนฉุกเฉิน ป้ายแจ้งเตือน ตลอดแนวทางที่ก่อสร้างตามวิสัย และพฤติการณ์ในวิชาชีพ แต่โจทก์ขับรถด้วยความเร็วสูง เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากจำเลยที่ ๑ จ้างเหมา จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ปรับปรุงซ่อมแซมถนนทางหลวงหมายเลข ๒๓ โดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายตามคำฟ้อง ประเด็นแห่งคดี จึงเป็นกรณีที่เอกชนฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิด แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ในฐานะผู้ว่าจ้าง แต่จำเลยที่ ๑ จะมีความรับผิดในฐานะผู้ว่าจ้างหรือไม่จะต้องพิจารณาว่าจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ก่อน หากเป็นการกระทำละเมิด จึงจะพิจารณาต่อไปว่าจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ผิดในการเลือกหาผู้รับจ้าง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๒๘ หรือไม่ ประเด็นแห่งคดีในส่วนการกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ จึงเป็นส่วนสำคัญ ความรับผิดของจำเลยทั้งสามจึงมีมูลความแห่งคดีเดียวกันและเหตุละเมิดตามคำฟ้องของโจทก์จากการกระทำของจำเลยที่ ๑ มิได้เป็นผลโดยตรงจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายวีรชัช แสนสุข โจทก์ กรมทางหลวง ที่ ๑ ห้างหุ้นส่วนจำกัด จั่วเซ้งค้าไม้ ที่ ๒ นางสุภาพร พงษ์นุเคราะห์ศิริ ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) นายดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ