คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7335/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ทำสัญญาจ้างโจทก์ต่อไปอีก ถือว่าเลิกจ้าง ณ วันสิ้นสุดสัญญานั้น มิได้มีการแจ้งเหตุเลิกจ้างอื่นนอกไปจากนี้ แล้ววินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้าง มิได้ยกเหตุเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ ดังนี้ เป็นการวินิจฉัยแล้วว่า จำเลยที่ 1 มิได้ยกเหตุที่ว่าโจทก์กระทำความผิดโดยทุจริตต่อหน้าที่ และกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง ซึ่งเป็นเหตุเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119 ขึ้นเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างจะยกเหตุตามมาตรา 119 ดังกล่าวขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้ ตามมาตรา 17 วรรคสาม ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยประเด็นตามคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยชอบแล้ว
ข้อยกเว้นที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย นอกจากต้องเป็นลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้นแล้ว ต้องเป็นการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้าง ซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงานหรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสามและวรรคสี่ จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์เพียงว่าสัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไม่แน่นอน และจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ตามกำหนดระยะเวลานั้น โดยไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่า เป็นการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลยที่ 1 หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาล ดังนี้ ไม่ว่าจะวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ไปในทางใด ก็ไม่มีผลให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไปจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด (มหาชน) มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2543 จำเลยทั้งสามได้จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราวทำหน้าที่เร่งรัดหนี้สิน ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 9,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน โดยจำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์รวม 5 ครั้ง แต่ละครั้งกำหนดระยะเวลาจ้างไม่เท่ากัน ในการต่อสัญญาแต่ละครั้งจำเลยไม่เคยแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้า จึงเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอน ต่อมาวันที่ 30 มิถุนายน 2546 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์อ้างว่าสัญญาจ้างสิ้นสุดลง โดยไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้า โจทก์จึงมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 60 วัน เป็นเงิน 18,000 บาท และมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน เป็นเงิน 27,000 บาท แต่จำเลยทั้งสามไม่ยอมจ่ายให้โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากเงินค่าชดเชยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ทุก ๆ 7 วัน นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2546 คิดถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ย 192,731.06 บาท และเนื่องจากสัญญาจ้างทั้ง 5 ฉบับ จำเลยได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดสัญญาตามความต้องการของจำเลย และยังสงวนสิทธิในการเลิกจ้างโดยปราศจากเงื่อนไข อีกทั้งยังระบุในสัญญาจ้างว่าถ้าจำเลยเลิกจ้างจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหาย เป็นสัญญาที่เอารัดเอาเปรียบลูกจ้างไม่เป็นธรรม ขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่สามารถบังคับโจทก์ได้ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม โจทก์ยังสามารถทำงานให้จำเลยได้จนกว่าอายุ 60 ปี หรือมากกว่า ขอคิดค่าเสียหาย 362 เดือน เป็นเงิน 3,258,000 บาท โจทก์ได้บอกกล่าวทวงถามจำเลยทั้งสามแล้ว แต่จำเลยทั้งสามไม่ยอมชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามจ่ายค่าชดเชยและดอกเบี้ยก่อนฟ้องรวมเป็นเงิน 219,741.06 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ทุก ๆ 7 วัน นับถัดจากวันฟ้อง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 18,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 3,258,000 บาท แก่โจทก์ด้วย
ระหว่างการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 2 โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาต และให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวมีลักษณะงานเป็นการครั้งคราวไม่ประจำ เป็นงานโครงการเปรียบเสมือนเป็นไปตามฤดูกาล เป็นภาวะมีความจำเป็นต้องว่าจ้างโจทก์ มีการกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้ไม่แน่นอน ดังนั้น เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการจ้างถือว่าเป็นการเลิกจ้างตามข้อตกลงในสัญญา เป็นการเลิกจ้างโจทก์ได้โดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างและไม่มีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ย ขณะทำงานโจทก์กระทำความผิดโดยทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย และกระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จำเลยที่ 1 เคยมีหนังสือตักเตือนโจทก์ก่อนครบกำหนดสัญญาจ้างแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินใด ๆ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 จ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 27,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2543 โดยทำสัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลาต่อเนื่องกันตลอดมารวม 5 ฉบับ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 9,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน เมื่อสิ้นกำหนดระยะเวลาการจ้างตามสัญญาจ้างฉบับสุดท้ายในวันที่ 30 มิถุนายน 2546 จำเลยที่ 1 ไม่ทำสัญญาจ้างโจทก์ต่อไปอีกถือว่าเลิกจ้าง ณ วันสิ้นสุดสัญญานั้น โดยหัวหน้าฝ่ายเร่งรัดหนี้สินได้แจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าประมาณ 3 วัน ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต่อสัญญาอีก มิได้มีการแจ้งเหตุเลิกจ้างอื่นนอกไปจากนี้ และศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ลักษณะงานที่จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์ทำเป็นงานอันเกิดขึ้นตามปกติของธุรกิจของจำเลยที่ 1 ซึ่งต้องมีอยู่ตลอดระยะเวลาที่ยังคงประกอบธุรกิจอยู่ เพียงแต่ต้องจ้างโจทก์เพิ่มขึ้นเป็นการชั่วคราวก็เนื่องจากจะเร่งฟ้องลูกหนี้ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากเพื่อแบ่งเบาภาระหน้าที่ของพนังงานประจำเท่านั้น ทั้งปรากฏด้วยว่าจำเลยที่ 1 ยังได้ทำสัญญาจ้างโจทก์มีกำหนดระยะเวลาต่อเนื่องกันรวมสัญญา 5 ฉบับ งานของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงมิใช่งานในโครงการเฉพาะที่มีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดที่แน่นอน ไม่มีลักษณะเป็นครั้งคราว หรืองานที่เป็นไปตามฤดูกาลตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสามและวรรคสี่ สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีกำหนดระยะเวลา เมื่อถึงกำหนดระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า จึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อเป็นการเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 1 ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ สำหรับค่าชดเชยนั้นเมื่อวินิจฉัยแล้วว่างานที่จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์มิใช่งานโครงการเฉพาะที่มีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดที่แน่นอน ไม่มีลักษณะครั้งคราว หรืองานที่เป็นไปตามฤดูกาลที่จำเลยที่ 1 ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 จำเลยที่ 1 เลิกจ้างเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างมิได้ยกเหตุเลิกจ้างตามมาตรา 119 แม้สัญญาจะมีข้อตกลงว่าเมื่อสิ้นสุดสัญญาตามระยะเวลาที่ระบุไว้ ไม่ถือเป็นการเลิกจ้าง ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย แต่เป็นข้อตกลงที่ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 อันเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าชดเชย จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางไม่ได้วินิจฉัยว่าโจทก์กระทำความผิดโดยทุจริตต่อหน้าที่ และกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างหรือไม่ตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การไว้ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ทำสัญญาจ้างโจทก์ต่อไปอีก ถือว่าเลิกจ้าง ณ วันสิ้นสุดสัญญานั้น มิได้มีการแจ้งเหตุเลิกจ้างอื่นนอกไปจากนี้ แล้ววินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้าง มิได้ยกเหตุเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ ดังนี้ เป็นการวินิจฉัยแล้วว่า จำเลยที่ 1 มิได้ยกเหตุที่ว่าโจทก์กระทำความผิดโดยทุจริตต่อหน้าที่ และกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง ซึ่งเป็นเหตุเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119 ขึ้นเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างจะยกเหตุตามมาตรา 119 ดังกล่าวขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสาม ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยประเด็นตามคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
สำหรับอุทธรณ์อีกข้อที่ว่า สัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ตามกำหนดระยะเวลานั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสาม นั้น เห็นว่า ข้อยกเว้นที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย นอกจากต้องเป็นลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้นแล้ว ต้องเป็นการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้าง ซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสามและวรรคสี่ จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์เพียงว่าสัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน และจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ตามกำหนดระยะเวลานั้น โดยไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่า เป็นการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลยที่ 1 หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาล ดังนี้ ไม่ว่าจะวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไปในทางใด ก็ไม่มีผลให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน

Share