คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1157/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ ที่บัญญัติให้ลงโทษปรับ 4 เท่าของราคาของรวมค่าอากรนั้น เป็นบทบัญญัติต่อท้ายและเป็นความผิดต่อเนื่องจากมาตรา 27 ย่อมมีความหมายเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 ว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ดังนั้นการปรับจำเลยเรียงตัว คนละ 4 เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยกันย่อมเป็น การปรับจำเลยสำหรับความผิดครั้งหนึ่งเกินกว่า 4 เท่า ขัดต่อ บทกฎหมายดังกล่าว และในมาตรา 120 ก็บัญญัติไว้เป็นพิเศษ ว่าเมื่อบทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้ แตกต่างกับกฎหมายอื่น ให้ยกเอาพระราชบัญญัตินี้ขึ้นบังคับ กรณีจึงไม่อาจนำความ ในมาตรา 31 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 6, 9, 14, 31, 35พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11, 48, 73, 74,74 ทวิ, 74 จัตวา พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 83, 33 ริบของกลาง และจ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 48,73 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยที่ 4 และที่ 5 อายุไม่เกิน 17 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 แล้ว ฐานทำไม้เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 1 ปี จำคุกจำเลยที่ 4 และที่ 5คนละ 6 เดือน ฐานแปรรูปไม้จำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ4 เดือน จำคุกจำเลยที่ 4 และที่ 5 คนละ 2 เดือน ฐานมีไม้แปรรูปจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 4 เดือน จำคุกจำเลยที่ 4และที่ 5 คนละ 2 เดือน ฐานร่วมกันซื้อรับไว้ซึ่งของต้องห้ามอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรให้ปรับจำเลยทั้งห้ารวมกันเป็นเงิน 102,934 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 1 ปี 8 เดือน จำคุกจำเลยที่ 4 และที่ 5คนละ 10 เดือน และปรับจำเลยทั้งห้ารวมกันเป็นเงิน 102,934 บาทจำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3คนละ 10 เดือน จำคุกจำเลยที่ 4 และที่ 5 คนละ 5 เดือนและปรับจำเลยทั้งห้ารวมกันเป็นเงิน 51,467 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลางจ่ายเงินสินบนนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับ
โจทก์อุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายเฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรว่าศาลจะต้องปรับจำเลยเรียงตัวคนละ 4 เท่าของราคาของรวมค่าอากร
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายมาสู่ศาลฎีกาประเด็นแรกว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 27 ทวิ ที่บัญญัติให้ลงโทษปรับ 4 เท่า ของราคาของรวมค่าอากรนั้น ศาลจะต้องแยกปรับจำเลยรายตัวหรือรวมปรับ เห็นว่า มาตรา 27 ทวิ เป็นบทบัญญัติต่อท้ายและเป็นความผิดต่อเนื่องจากมาตรา 27 ดังนั้น แม้ความในมาตรา 27 ทวิ จะมิได้บัญญัติข้อความเจาะจงลงไปว่าความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ด้วยก็ตาม ความหมายในเรื่องโทษก็ย่อมมีความหมายเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 ว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ นั่นเอง ฉะนั้นถ้าศาลจะปรับจำเลยเรียงตัวคนละ 4 เท่า ราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วก็จะเป็นการปรับจำเลยสำหรับความผิดครั้งหนึ่งเกินกว่า 4 เท่าไปขัดต่อบทกฎหมายดังกล่าว และในมาตรา 120 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรมีบัญญัติไว้เป็นพิเศษแล้วว่าเมื่อบทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้แตกต่างกับกฎหมายอื่น ให้ยกเอาบทพระราชบัญญัตินี้ขึ้นบังคับกรณีนี้จึงไม่อาจนำความในมาตรา 31 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับได้ ซึ่งสอดคล้องกับบทบัญญัติในมาตรา 17 แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่โจทก์อ้างมา ส่วนที่โจทก์ฎีกาเป็นประเด็นที่สองว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ปรับจำเลยต่ำกว่าบทกฎหมายตามพระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา 27 ทวิ เพราะจำนวน 4 เท่าของราคาของรวมค่าอากรนั้นคือ 4 เท่าของ (13,910+11,823.50บาท) เท่ากับ 4 เท่าของ 35,723.50 บาท (ที่ถูก 25,733.50 บาท)ต้องเป็นเงินค่าปรับ 142,934.00 บาท มิใช่ 102,934 บาทดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยนั้นเห็นว่าปัญหานี้เป็นปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งโจทก์มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาในชั้นอุทธรณ์ แต่เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา เป็นการเถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share