คำวินิจฉัยที่ 4/2559

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนเจ้าของที่ดินมีโฉนดติดลำรางสาธารณะ ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จากการที่เมืองพัทยา จำเลย ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองถมลำรางสาธารณะดังกล่าวเป็นถนน ทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากลำรางสาธารณะได้ ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนถนน หรือสิ่งปลูกสร้างและปรับสภาพถนนให้กลับมาเป็นลำรางสาธารณะตามเดิม จำเลยให้การว่า เดิมที่ดินทั้งสองแปลงไม่ติดลำรางสาธารณะ แต่ติดทางสาธารณประโยชน์ ซึ่งเป็นทางเกวียนที่ประชาชนใช้สัญจรไปมา มิได้เป็นลำรางสาธารณะแต่อย่างใด จำเลยจึงปรับปรุงโดยก่อสร้างถนนพิพาท อันเป็นการคุ้มครองและดูแลรักษาทรัพย์สิน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามอำนาจหน้าที่ของจำเลย มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า ประเด็นแห่งคดีเป็นกรณีพิพาทที่เกิดจากการที่จำเลยซึ่งเป็นราชการส่วนท้องถิ่นและมีสถานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง จัดให้มีหรือปรับปรุงดูแลทางสาธารณะ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบมาตรา ๖๒ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยโจทก์เห็นว่า การถมดินเพื่อจัดให้มีถนนสาธารณะดังกล่าว เป็นการกระทำในลำรางสาธารณะ ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินติดลำรางสาธารณะไม่อาจใช้ประโยชน์จากลำรางสาธารณะได้ตามปกติ โดยคดีไม่มีประเด็นพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน เนื่องจากคู่ความต่างรับกันว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔/๒๕๕๙

วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙

เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลจังหวัดพัทยา
ระหว่าง
ศาลปกครองระยอง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดพัทยาส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๗ นายฤทธิรณ ศิริสิทธิ์พิทักษ์ โจทก์ ยื่นฟ้องเมืองพัทยา จำเลย ต่อศาลจังหวัดพัทยา เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๖๔๐/๒๕๕๗ ความว่า โจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรมและเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวนันทนา วงศ์วัฒนันท์ ซึ่งถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๗๑๕๑ และเลขที่ ๒๒๐๒๓ ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เดิมที่ดินทั้งสองแปลงติดลำรางสาธารณะ โจทก์จึงมีสิทธิใช้น้ำหรือใช้ประโยชน์ในลำรางสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๔ (๒) มาตรา ๑๓๓๖ มาตรา ๑๓๓๙ มาตรา ๑๓๔๐ และมาตรา ๑๓๐๕ เมื่อประมาณปี ๒๕๕๐ ต่อเนื่องถึงวันฟ้อง จำเลยถมลำรางสาธารณะดังกล่าวเป็นถนนกว้าง ๘ เมตร ยาว ๓๐๐ เมตร โดยจำเลยไม่มีสิทธิเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของการใช้ลำรางสาธารณะ จึงเป็นการขัดต่อกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเสียหายไม่สามารถใช้ประโยชน์จากลำรางสาธารณะได้ ขอให้บังคับจำเลยดำเนินการรื้อถอนถนน หรือสิ่งปลูกสร้างและปรับสภาพถนนให้กลับมาเป็นลำรางสาธารณะตามเดิม
จำเลยให้การว่า เดิมที่ดินทั้งสองแปลงไม่ติดลำรางสาธารณะ แต่ติดทางสาธารณประโยชน์ ซึ่งเป็นทางเกวียนที่ประชาชนใช้สัญจรไปมา เป็นทางดิน เป็นหลุมเป็นบ่อมีน้ำท่วมขัง มิได้เป็นลำรางสาธารณะแต่อย่างใด จำเลยจึงปรับปรุงโดยก่อสร้างถนนพิพาท ซึ่งเป็นการคุ้มครองและดูแลรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามอำนาจหน้าที่ของจำเลย มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดพัทยาพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าเดิมถนนพิพาทซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของนางสาวนันทนา เป็นลำรางสาธารณะ เจ้าของที่ดินจึงมีสิทธิใช้ประโยชน์ในลำรางสาธารณะได้ จำเลยกระทำละเมิดโดยถมลำรางสาธารณะและก่อสร้างถนนพิพาทขึ้น โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกและเป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมของนางสาวนันทนา ได้รับความเสียหาย จำเลยให้การว่า เดิมบริเวณที่ก่อสร้างถนนพิพาทไม่ได้เป็นลำรางสาธารณะ แต่เป็นทางสาธารณประโยชน์ที่จำเลยมีหน้าที่ดูแลรักษา คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทเพียงว่า เดิมบริเวณซึ่งก่อสร้างถนนพิพาทเป็นลำรางสาธารณะหรือไม่ ซึ่งการวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว ต้องพิจารณาถึงสภาพของที่ดินก่อนมีการก่อสร้างถนนพิพาทเป็นสำคัญ จำเลยไม่ได้ให้การรับว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นลำรางสาธารณะ และจำเลยมีอำนาจตามกฎหมายที่จะดำเนินการได้แต่อย่างใด จึงไม่เป็นคดีพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) ถึง (๖) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองระยองพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยเป็นราชการส่วนท้องถิ่น จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีอำนาจหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเองหลายประการ รวมทั้งจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ การผังเมือง คุ้มครองและดูแลรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ทั้งนี้ ตามมาตรา ๖๒ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ และมาตรา ๑๒๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ส่วนในกรณีที่จำเลยประสงค์จะเปลี่ยนสภาพการใช้ที่ดิน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันในเขตท้องที่ของตน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในท้องถิ่นที่เหมาะสม จำเลยต้องปฏิบัติตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินของโจทก์ติดลำรางสาธารณะ ซึ่งยังไม่มีการเปลี่ยนสภาพการใช้ตามกฎหมาย การที่จำเลยทำการถมลำรางสาธารณะและก่อสร้างถนน เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย ทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากลำรางสาธารณะได้ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายโดยก่อสร้างถนนในที่ดินซึ่งเดิมเป็นลำรางสาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันอันเป็นการเปลี่ยนลักษณะการใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณะจากลำรางสาธารณะมาเป็นถนนสาธารณะ โดยมิได้มีการเปลี่ยนสภาพการใช้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน พ.ศ. ๒๕๕๓ และระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการเปลี่ยนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันจากการใช้ประโยชน์อย่างหนึ่งเป็นอีกอย่างหนึ่ง พ.ศ. ๒๕๔๓ กำหนด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนถนนและปรับสภาพถนนให้กลับมาเป็นลำรางสาธารณะตามเดิม กรณีตามคำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การที่จำเลยอ้างว่าเดิมเป็นทางสาธารณะมิใช่ลำรางสาธารณะตามคำฟ้องของโจทก์นั้น เป็นข้อเท็จจริงในชั้นการแสวงหาข้อเท็จจริงมิใช่ในชั้นรับคำฟ้องไว้พิจารณา แม้จำเลยไม่ได้ให้การรับว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นลำรางสาธารณะและจำเลยมีอำนาจตามกฎหมายที่จะดำเนินการก่อสร้างถนนได้ แต่ประเด็นของคดีคือบริเวณที่จำเลยก่อสร้างถนนเป็นลำรางสาธารณะหรือไม่ และการที่จำเลยก่อสร้างถนนในบริเวณที่พิพาทเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ คดีนี้จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองอ้างว่า โจทก์เป็นทายาทผู้รับพินัยกรรมและผู้จัดการมรดกของนางสาวนันทนา วงศ์วัฒนันท์ ซึ่งถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๗๑๕๑ และเลขที่ ๒๒๐๒๓ ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เดิมที่ดินทั้งสองแปลงติดลำรางสาธารณะ แต่จำเลยได้ถมลำรางสาธารณะดังกล่าวเป็นถนน ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากลำรางสาธารณะได้ ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนถนน หรือสิ่งปลูกสร้างและปรับสภาพถนนให้กลับมาเป็นลำรางสาธารณะตามเดิม จำเลยให้การว่า เดิมที่ดินทั้งสองแปลงไม่ติดลำรางสาธารณะ แต่ติดทางสาธารณประโยชน์ ซึ่งเป็นทางเกวียนที่ประชาชนใช้สัญจรไปมา มิได้เป็นลำรางสาธารณะแต่อย่างใด จำเลยจึงปรับปรุงโดยก่อสร้างถนนพิพาท อันเป็นการคุ้มครองและดูแลรักษาทรัพย์สิน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามอำนาจหน้าที่ของจำเลย มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า ประเด็นแห่งคดีเป็นกรณีพิพาทที่เกิดจากการที่จำเลยซึ่งเป็นราชการส่วนท้องถิ่นและมีสถาน เป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จัดให้มีหรือปรับปรุงดูแลทางสาธารณะ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบมาตรา ๖๒ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยโจทก์เห็นว่า การถมดินเพื่อจัดให้มีถนนสาธารณะดังกล่าว เป็นการกระทำในลำรางสาธารณะ ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินติดลำรางสาธารณะไม่อาจใช้ประโยชน์จากลำรางสาธารณะได้ตามปกติโดยคดีไม่มีประเด็นพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน เนื่องจากคู่ความต่างรับกันว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายฤทธิรณ ศิริสิทธิ์พิทักษ์ โจทก์ เมืองพัทยา จำเลยอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share