คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1156/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ใบตราส่งระบุว่า จำเลยเป็นตัวแทนผู้ขนส่งในการส่งมอบสินค้า แสดงว่าจำเลยมิใช่ผู้ขนส่งแต่เป็นเพียงตัวแทนของผู้ขนส่ง จำเลยจึงมิได้เป็นคู่สัญญากับผู้ส่งของในสัญญารับขนของทางทะเล จำเลยได้รับคำสั่งจาก ค. ตัวแทนของผู้ขนส่งให้มอบใบสั่งปล่อยสินค้าพิพาทแก่จำเลยร่วมโดยแจ้งว่าต้นฉบับใบตราส่งได้มีการเวนคืนให้แก่ผู้ขนส่งแล้วที่ต้นทางโดยส่งโทรสารใบตราส่งมายืนยันให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวด้วย จำเลยจึงได้มอบใบสั่งปล่อยสินค้าให้จำเลยร่วมนำไปรับมอบสินค้าโดยไม่ได้มีการเวนคืนใบตราส่งจากจำเลยร่วม ตามโทรสารใบตราส่งก็ปรากฏชื่อจำเลยร่วมเป็นผู้รับตราส่ง กรณีไม่มีเหตุให้จำเลยทราบได้ว่าคำสั่งให้ปล่อยสินค้าพิพาทแก่จำเลยร่วมเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ การที่จำเลยปล่อยสินค้าพิพาทให้แก่จำเลยร่วมโดยไม่ได้เวนคืนใบตราส่งจึงเป็นการที่จำเลยซึ่งมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ขนส่งตามสัญญาตัวการตัวแทนระหว่างจำเลยกับผู้ขนส่งปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ขนส่งซึ่งเป็นตัวการโดยสุจริต ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตระบุเงื่อนไขไว้อย่างแจ้งชัดว่าเอกสารใบตราส่งให้ทำในนามโจทก์และให้แจ้งแก่จำเลยร่วม แม้ข้อความในตอนต่อมาจะระบุว่าเอกสารที่ใช้ในการส่งสินค้าทั้งหมดให้ออกในนามจำเลยร่วมก็ตาม ก็ย่อมหมายความว่าเอกสารที่ใช้ในการขนส่งทั้งหมดให้ออกในนามจำเลยร่วม เว้นแต่ใบตราส่งให้ทำในนามโจทก์กล่าวคือ ให้โจทก์เป็นผู้รับตราส่งและให้แจ้งการมาถึงประเทศไทยของเรือบรรทุกสินค้าพิพาทให้จำเลยร่วมทราบ นอกจากนี้ผู้บริหารของ ค. กับบริษัทจำเลยร่วมเป็นผู้บริหารกลุ่มเดียวกัน จำเลยร่วมรับสินค้าไปจากผู้ขนส่งตามคำสั่งของ ค. จึงเชื่อได้ว่าขณะที่จำเลยร่วมรับสินค้าพิพาทไปจากผู้ขนส่ง จำเลยร่วมย่อมทราบดีว่าผู้รับตราส่งคือโจทก์มิใช่จำเลยร่วม โดยจำเลยร่วมเป็นเพียงผู้รับแจ้งการมาถึงประเทศไทยของเรือบรรทุกสินค้าพิพาทเท่านั้น หามีสิทธิที่จะรับสินค้าพิพาทจากผู้ขนส่งได้ไม่ การที่จำเลยร่วมขอรับสินค้าพิพาทไปจากจำเลยตัวแทนผู้ขนส่งโดยไม่มีสิทธิ จึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์โดยจงใจทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งไม่ได้รับสินค้าและไม่ได้รับชำระค่าสินค้าที่โจทก์ได้ชำระให้แก่ผู้ขายไปแล้ว จำเลยร่วมจึงต้องรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตตามคำขอของบริษัทเคียว อินเตอร์เทรด จำกัด โดยมีข้อตกลงว่า เมื่อผู้ขายได้จัดส่งสินค้าลงเรือแล้ว ให้ผู้ขายเรียกเก็บเงินค่าสินค้าจากธนาคารตัวแทนของโจทก์ได้ โดยผู้ขายและบริษัทเคียวอินเตอร์เทรด จำกัด ตกลงมอบสินค้าทั้งหมดและใบตราส่ง กรมธรรม์ประกันภัยและเอกสารต่าง ๆ แก่โจทก์ ซึ่งอยู่ในฐานะผู้รับตราส่ง ต่อมาเมื่อผู้ขายในต่างประเทศได้ส่งสินค้าพร้อมเอกสารการขนส่งสินค้าให้แก่โจทก์ โจทก์ได้จ่ายเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายแล้วสินค้าได้ถูกจัดส่งมาถึงประเทศไทยโดยจำเลยเป็นผู้รับขนและตัวแทนในการดำเนินงานอันเกี่ยวกับธุรกิจเนื่องจากการรับขนของทางทะเล แต่จำเลยได้ส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัทไทยคอมพิวเตอร์ แมนูแฟคเจอร์ริ่ง จำกัด โดยที่มิได้มีการเวนคืนใบตราส่ง และไม่ได้รับความยินยอมหรืออนุญาตจากโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์มิได้รับค่าสินค้าจากบริษัทเคียว อินเตอร์เทรด จำกัด และไม่สามารถรับหรือโอนขายสินค้าให้แก่บุคคลอื่น เพื่อชำระค่าสินค้าที่โจทก์ได้ชำระให้ผู้ขายไปแล้วได้ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 861,841 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น

จำเลยให้การว่า โจทก์กับจำเลยไม่ได้เป็นคู่สัญญาในการขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหาย จำเลยเป็นเพียงตัวแทนเรือและหรือตัวแทนผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นมีหน้าที่ในการทำพิธีการเรือโดยติดต่อหน่วยงานราชการต่าง ๆ จำเลยได้รับคำสั่งจากผู้ขนส่งและหรือตัวแทนให้ออกใบสั่งปล่อยสินค้าให้แก่บริษัทไทยคอมพิวเตอร์แมนูแฟคเจอร์ริ่ง จำกัด โดยแจ้งว่าต้นฉบับใบตราส่งได้มีการเวนคืนให้แก่ผู้ขนส่งแล้วที่ต้นทาง โดยได้ส่งโทรสารใบตราส่งซึ่งระบุชื่อบริษัทไทยคอมพิวเตอร์ แมนูแฟคเจอร์ริ่ง จำกัด เป็นผู้รับตราส่งไม่ใช่ชื่อโจทก์ มายืนยันให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งด้วย โจทก์ชอบที่จะไปเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทไทยคอมพิวเตอร์ แมนูแฟคเจอร์ริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับสินค้าและไม่นำเงินค่าสินค้ามาชำระแก่โจทก์ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทไทยคอมพิวเตอร์ แมนูแฟคเจอร์ริ่ง เข้ามาเป็นจำเลยร่วม

จำเลยร่วมให้การว่า บริษัทเคียว อินเตอร์เทรด จำกัด ได้ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับโจทก์เพื่อชำระค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายในประเทศญี่ปุ่น โดยคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตได้กำหนดไว้ว่า บรรดาเอกสารการขนส่งทางเรือให้ออกในนามจำเลยร่วม ผู้ขนส่งจึงได้ออกใบตราส่งระบุให้จำเลยร่วมเป็นผู้รับตราส่ง เมื่อของลงเรือแล้วจำเลยร่วมจึงได้เวนคืนใบตราส่งให้แก่ผู้ขนส่งและหรือผู้ขายหรือผู้ส่งออกโดยวิธีสลักหลัง ดังนั้น เมื่อสินค้ามาถึงประเทศไทยจำเลยร่วมย่อมมีสิทธิรับของจากผู้ขนส่งหรือตัวแทนของผู้ขนส่ง จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”…คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยและจำเลยร่วมต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่า ตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.8 ซึ่งถือได้ว่าเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเลสำหรับสินค้าพิพาทระบุว่า เป็นใบตราส่งของบริษัทซีเอชแอล คอนเทนเนอร์ ไลน์ จำกัด ที่ออกโดยบริษัทคาลเบอร์สัน (เอส.อี.เอ)พีทีอี จำกัด ในฐานะตัวแทนลงนามเพื่อและในนามผู้ขนส่งคือบริษัทซีเอชแอล คอนเทนเนอร์ ไลน์ จำกัด โดยมีจำเลยเป็นตัวแทนผู้ขนส่งในการปล่อยหรือส่งมอบสินค้าดังนี้ แสดงว่าจำเลยมิได้เป็นคู่สัญญากับผู้ส่งของในสัญญารับขนของทางทะเล จำเลยจึงมิใช่ผู้ขนส่งแต่เป็นเพียงตัวแทนของผู้ขนส่งเท่านั้น ข้อเท็จจริงได้ความต่อไปตามทางนำสืบของจำเลย โดยโจทก์ไม่ได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2540 ก่อนที่เรือเศรษฐภูมิจะเดินทางมาถึงประเทศไทยในวันที่ 27 กรกฎาคม2540 นั้น จำเลยได้รับคำสั่งจากบริษัทคาลเบอร์สัน (เอส.อี.เอ) พีทีอี จำกัด ตัวแทนในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ของผู้ขนส่งให้มอบใบสั่งปล่อยสินค้าพิพาทแก่จำเลยร่วมโดยแจ้งว่าต้นฉบับใบตราส่งได้มีการเวนคืนให้แก่ผู้ขนส่งแล้วที่ต้นทางประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ และบริษัทดังกล่าวยังได้ส่งโทรสารใบตราส่งตามเอกสารหมาย ล.2มายืนยันให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวด้วย ต่อมาเมื่อจำเลยร่วมมาขอรับมอบใบสั่งปล่อยสินค้าพิพาทจากจำเลย จำเลยจึงได้มอบใบสั่งปล่อยสินค้าให้จำเลยร่วมนำไปรับมอบสินค้าจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยโดยไม่ได้มีการเวนคืนใบตราส่งจากจำเลยร่วมทั้งตามโทรสารใบตราส่งเอกสารหมาย ล.2 ก็ปรากฏชื่อจำเลยร่วมเป็นผู้รับตราส่ง กรณีไม่มีเหตุให้จำเลยทราบหรือควรทราบได้ว่าคำสั่งที่ให้ปล่อยสินค้าพิพาทแก่จำเลยร่วมเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ การที่จำเลยปล่อยสินค้าพิพาทให้แก่จำเลยร่วมโดยไม่ได้เวนคืนใบตราส่งจึงเป็นการที่จำเลยซึ่งมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ขนส่งตามสัญญาตัวการตัวแทนระหว่างจำเลยกับผู้ขนส่งปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ขนส่งซึ่งเป็นตัวการโดยสุจริต ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นด้วยในผล อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนปัญหาว่าจำเลยร่วมต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใดนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า บริษัทซีเอชแอล คอนเทนเนอร์ ไลน์ จำกัด เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทจากประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์มายังประเทศไทยโดยเรือเศรษฐภูมิตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.8 ซึ่งเป็นต้นฉบับใบตราส่งรวม 3 ชุด โดยโจทก์เป็นผู้รับตราส่งตามใบตราส่งดังกล่าวจำเลยร่วมให้การต่อสู้ว่าการขนสินค้าพิพาทลงเรือได้กระทำที่เมืองท่าในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2540 ซึ่งเมื่อขนสินค้าลงเรือแล้วจำเลยร่วมได้เวนคืนใบตราส่งให้แก่ผู้ขนส่งและหรือผู้ขายหรือผู้ส่งออกสินค้าโดยวิธีสลักหลัง ณ ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ เพื่อให้ผู้รับประโยชน์นำใบตราส่งไปประกอบเอกสารอื่นในการขอรับเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตจากธนาคารผู้มีหน้าที่จ่ายเงิน ดังนี้แสดงว่าขณะจำเลยร่วมเวนคืนใบตราส่งสำหรับสินค้าพิพาท จำเลยร่วมย่อมทราบดีว่าใบตราส่งระบุว่าใครเป็นผู้รับตาส่ง เพราะใบตราส่งที่ผู้ขายสามารถนำไปประกอบเอกสารอื่นในการขอรับเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตจากธนาคารผู้มีหน้าที่จ่ายเงินจะต้องเป็นใบตราส่งที่มีเนื้อหาตรงตามเงื่อนไขในคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตที่จำเลยร่วมให้การและนำสืบอ้างว่าตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกำหนดไว้ว่าบรรดาเอกสารการขนส่งสินค้าให้ออกในนามจำเลยร่วม ผู้ขนส่งจึงออกใบตราส่งโดยระบุให้จำเลยร่วมเป็นผู้รับตราส่งนั้น เห็นว่า ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเอกสารหมาย จ.4 ระบุเงื่อนไขเกี่ยวกับเอกสารไว้ในตอนแรกอย่างแจ้งชัดว่า เอกสารใบตราส่งให้ทำในนามโจทก์และให้แจ้งแก่จำเลยร่วม แม้ข้อความในตอนต่อมาจะระบุว่าเอกสารที่ใช้ในการส่งสินค้าทั้งหมดให้ออกในนามจำเลยร่วมก็ตามก็ย่อมหมายความว่าเอกสารที่ใช้ในการขนส่งทั้งหมดให้ออกในนามจำเลยร่วม เว้นแต่ใบตราส่งให้ทำในนามโจทก์ กล่าวคือ ให้โจทก์เป็นผู้รับตราส่งและให้แจ้งการมาถึงประเทศไทยของเรือบรรทุกสินค้าพิพาทให้จำเลยร่วมทราบ ซึ่งก็ปรากฏว่าตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.8 ได้ระบุว่าโจทก์เป็นผู้รับตราส่ง และให้แจ้งแก่จำเลยร่วมตรงตามเงื่อนไขในเลตเตอร์ออฟเครดิต นอกจากนี้ พยานจำเลยร่วมปากนางสาวมยุรา หลงสมบุญ ก็เบิกความยอมรับว่าผู้บริหารของบริษัทเคียว อินเตอร์เทรด จำกัด กับบริษัทจำเลยร่วมเป็นผู้บริหารกลุ่มเดียวกัน จำเลยร่วมรับสินค้าไปจากผู้ขนส่งตามคำสั่งของบริษัทเคียว อินเตอร์เทรด จำกัด ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่าขณะที่จำเลยร่วมรับสินค้าพิพาทไปจากผู้ขนส่ง จำเลยร่วมย่อมทราบดีว่าผู้รับตราส่งคือโจทก์มิใช่จำเลยร่วม โดยจำเลยร่วมเป็นเพียงผู้รับแจ้งการมาถึงประเทศไทยของเรือบรรทุกสินค้าพิพาทเท่านั้น หามีสิทธิที่จะรับสินค้าพิพาทจากผู้ขนส่งได้ไม่ การที่จำเลยร่วมขอรับสินค้าพิพาทไปจากจำเลยตัวแทนผู้ขนส่งโดยไม่มีสิทธิจึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์โดยจงใจทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งและยังเป็นผู้ทรงใบตราส่งอยู่ได้รับความเสียหายไม่ได้รับสินค้าและไม่ได้รับชำระค่าสินค้าที่โจทก์ได้ชำระให้แก่ผู้ขายไปแล้วเป็นเงิน861,841 บาท จำเลยร่วมจึงต้องรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยร่วมชำระเงินจำนวน 861,841 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share