คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3934/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการรับขนของทางทะเลในประเทศไทยในการทำพิธีการรายงานเรือเข้าออกต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้รับแต่งตั้งมอบหมายให้สามารถลงชื่อในใบตราส่งในฐานะตัวแทนแทนนายเรือและเรียกเก็บเงินค่าระวางเพื่อโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยที่ 2 ได้ จำเลยที่ 1 จึงเป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการทำสัญญารับขนของทางทะเลเท่านั้น มิใช่ผู้ขนส่งร่วมกับจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 1 ได้เข้าทำสัญญารับขนสินค้าทางทะเลกับโจทก์ที่ 1 ผู้ส่งแทนจำเลยที่ 2 ผู้เป็นตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ แล้วจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาดังกล่าว จำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวแทนต้องรับผิดสำหรับความเสียหายเนื่องจากการผิดสัญญานั้นต่อโจทก์ที่ 1 ผู้ส่งและโจทก์ที่ 2 ผู้ทรงใบตราส่งแต่ลำพังตนเอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 824
ในเรื่องหนี้เงินต่างประเทศ ป.พ.พ. มาตรา 196 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้สิทธิลูกหนี้ชำระหนี้เป็นเงินไทยได้ และในวรรคสอง บัญญัติว่าการเปลี่ยนเงินนี้ให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน ดังนี้ จำนวนเงินบาทที่จำเลยที่ 2 จะต้องชำระแก่โจทก์จะเป็นจำนวนเท่าใดย่อมต้องคิดตามอัตราแลกเปลี่ยนในเวลาที่มีการชำระหนี้แก่โจทก์จริง การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนในวันที่มีคำพิพากษาหรือในวันสุดท้ายที่มีอัตราเช่นว่านั้นก่อนวันมีคำพิพากษา หากในวันดังกล่าวอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทจำนวนมากกว่าอัตราแลกเปลี่ยนในวันชำระหนี้กันจริง ก็จะมีผลให้จำเลยที่ 2 ต้องชำระหนี้มากกว่าจำนวนเงินที่ต้องชำระจริง จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกเหนือจากที่ปรากฏในคำฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 160,920 ดอลลาร์ฮ่องกง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 150,000 ดอลลาร์ฮ่องกง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม
ระหว่างการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยทั้งสอง โจทก์ที่ 3 ขอถอนฟ้องเฉพาะส่วนของตน ศาลมีคำสั่งอนุญาตแล้วดำเนินคดีระหว่างโจทก์ที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยทั้งสองต่อไป
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 100,000 ดอลลาร์ฮ่องกง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน 7,397 ดอลลาร์ฮ่องกง ทั้งนี้โดยให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนตามอัตราเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานคร โดยอาศัยประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นวันทำการในวันที่มีคำพิพากษาเป็นเกณฑ์ ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าว ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันมีคำพิพากษา
โจทก์ที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดในประเทศไทย โจทก์ที่ 2 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดที่เมืองฮ่องกง ส่วนจำเลยที่ 2 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลีและไม่มีสำนักงานหรือสาขาอยู่ในประเทศไทย จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการรับขนของทางทะเลในประเทศไทย เมื่อประมาณต้นเดือนธันวาคม 2540 โจทก์ที่ 1 ได้ขายข้าวสารให้แก่โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 1 ได้จองระวางเรือกับจำเลยที่ 1 เพื่อขนส่งข้าวสารจากท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ไปส่งมอบให้แก่โจทก์ที่ 2 ที่ท่าเรือปลายทางเมืองฮ่องกง โดยใช้เรือฮอลลาลิเบอร์ตี้ของจำเลยที่ 2 เมื่อเรือฮอลลาลิเบอร์ตี้เดินทางไปถึงท่าเรือปลายทางเมืองฮ่องกง ได้มีบริษัทหยวนฟัทวาร์ฟแอนด์โกดัง จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 2 ยึดหน่วงข้าวสารดังกล่าวไว้ เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 2 ไม่ได้รับมอบข้าวสาร ต่อมาโจทก์ที่ 2 ได้รับมอบข้าวสารจากบริษัทหยวนฟัทวาร์ฟแอนด์โกดัง จำกัด และโจทก์ที่ 1 ได้โอนเงินจำนวน 100,000 ดอลลาร์ฮ่องกง ให้โจทก์ที่ 2…
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 มีว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกันกับจำเลยที่ 2 รับขนส่งสินค้าข้าวสารบรรจุกระสอบหรือจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศเข้าทำสัญญารับขนทางทะเลแทนจำเลยที่ 2 และต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ทำบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า พยานได้ติดต่อกับจำเลยที่ 1 เพื่อจองระวางเรือสำหรับขนส่งสินค้าดังกล่าว โดยได้มีการตกลงกันทำสัญญารับขนแบบซีวาย/ซีวาย ซึ่งโจทก์ที่ 1 มีหน้าที่นำตู้คอนเทนเนอร์มาบรรจุสินค้าดังกล่าว ณ ที่ทำการของโจทก์ที่ 1 และนำเจ้าหน้าที่ศุลกากรมาตรวจสอบเพื่อปิดผนึกปากตู้คอนเทนเนอร์ จากนั้นโจทก์ที่ 1 ต้องนำตู้คอนเทนเนอร์ไปส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อนำเข้าระวางเรือ เมื่อจำเลยที่ 1 ได้นำตู้คอนเทนเนอร์เข้าระวางเรือแล้ว พยานได้ดำเนินการชำระค่าระวางขนส่งสินค้าดังกล่าว หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 จึงได้ออกใบตราส่งจำนวน 2 ฉบับ ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2 สำหรับการดำเนินธุรกิจการรับขนของทางทะเลในประเทศไทยมอบให้แก่พยาน ทั้งผู้จัดการฝ่ายบริการบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า ในคดีนี้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในประเทศไทยในการทำพิธีการรายงานเรือเข้าออกต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมเจ้าท่า กองตรวจคนเข้าเมือง กรมศุลกากร การท่าเรือแห่งประเทศไทยแทนเจ้าของเรือหรือนายเรือ นอกจากนั้นจำเลยที่ 1 ยังได้รับแต่งตั้งมอบหมายให้สามารถลงชื่อในใบตราส่งในฐานะตัวแทนแทนนายเรือและเรียกเก็บเงินค่าระวางเพื่อโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยที่ 2 ได้ด้วย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามโจทก์และจำเลยที่ 1 รับกันว่า จำเลยที่ 2 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำการแทนและจำเลยที่ 1 ได้เข้าทำสัญญารับขนสินค้าตามคำฟ้องทางทะเลกับโจทก์ที่ 1 ผู้ส่งแทนจำเลยที่ 2 เช่นนี้ เป็นการที่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวแทนทำสัญญาดังกล่าวแทนจำเลยที่ 2 ผู้เป็นตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ เมื่อจำเลยที่ 2 ผู้เป็นตัวการปฏิบัติผิดสัญญาดังกล่าวโดยไม่ส่งมอบสินค้าที่ขนส่งให้แก่โจทก์ที่ 2 ผู้ทรงใบตราส่งเมื่อสินค้านั้นถึงเมืองท่าปลายทาง จำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวแทนต้องรับผิดสำหรับความเสียหายเนื่องจากการผิดสัญญานั้นต่อโจทก์ที่ 1 ผู้ส่งและโจทก์ที่ 2 ผู้ทรงใบตราส่งแต่ลำพังตนเอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 824…
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระหนี้เป็นเงินดอลลาร์ฮ่องกงอันเป็นเงินต่างประเทศ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้เป็นเงินต่างประเทศนั้นตรงตามคำฟ้องของโจทก์ แต่ที่กำหนดให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนตามอัตราเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครโดยอาศัยประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นวันทำการในวันที่มีคำพิพากษาเป็นเกณฑ์ ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าว ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันมีคำพิพากษานั้นไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง และในเรื่องหนี้เงินต่างประเทศนี้ ป.พ.พ. มาตรา 196 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้สิทธิลูกหนี้ชำระหนี้เป็นเงินไทยได้ และในวรรคสอง บัญญัติไว้ว่าการเปลี่ยนเงินนี้ให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน ดังนี้ จำนวนเงินบาทที่จำเลยที่ 2 จะต้องชำระแก่โจทก์จะเป็นจำนวนเท่าใดย่อมต้องคิดตามอัตราแลกเปลี่ยนในเวลาที่มีการชำระหนี้แก่โจทก์จริง การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนในวันที่มีคำพิพากษาหรือในวันสุดท้ายที่มีอัตราเช่นว่านั้นก่อนวันมีคำพิพากษานั้น หากในวันดังกล่าวอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์ฮ่องกง เป็นเงินบาทจำนวนมากกว่าอัตราแลกเปลี่ยนในวันชำระหนี้กันจริง ก็จะมีผลทำให้จำเลยที่ 2 ต้องชำระหนี้ด้วยเงินบาทมากกว่าจำนวนเงินที่ต้องชำระจริง การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามาดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินจำนวน 100,000 ดอลลาร์ฮ่องกง พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน 7,397 ดอลลาร์ฮ่องกง หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะชำระเป็นเงินไทย ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และเวลาใช้เงิน แต่ต้องไม่เกินกว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์ฮ่องกงเป็นเงินบาทในวันที่มีคำพิพากษาหรือในวันสุดท้ายที่มีอัตราเช่นว่านั้นก่อนวันมีคำพิพากษาตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

Share