คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1152/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เสียหายและจำเลยมีที่ดินติดต่อกัน ที่พิพาทอยู่ระหว่างที่สองแปลงนี้ แต่หลักหมุดเขตสูญหายไปหมด ทั้งสองฝ่ายต่างโต้เถียงกรรมสิทธิ์ในที่พิพาท และไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่าที่พิพาทเป็นของใคร เพียงแต่รับว่าเสารั้วลวดหนามเป็นของผู้เสียหาย ผู้เสียหายได้ปลูกต้นกกไว้ด้วย เมื่อจำเลยรื้อลวดหนาม ขุดทำลายโคกปลูกมะพร้าว ทั้งได้ถอนต้นกกในที่พิพาทออกทั้งหมด การกระทำของจำเลยเป็นการทำให้เสียทรัพย์ ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น จำเลยย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 จำเลยจะอ้างว่าตนมีสิทธิทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336, 1337 หาได้ไม่

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกได้ร่วมกันรื้อถอนทำลายรั้วลวดหนามร่วมกันขุดคันดิน ร่วมกันถอนทำลายต้นกก ของนางไน้ผู้เสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๘, ๘๓
จำเลยให้การว่า ได้ถอนรั้วและต้นกกของผู้เสียหายจริง แต่มิได้ทำให้เสียหาย ผู้เสียหายจงใจปักรั้วและปลูกต้นกกรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของจำเลยที่ ๑ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่จัดการอย่างใด จำเลยที่ ๑ จึงต้องรื้อเอง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยมีเจตนาเพียงแต่จะไม่ให้ทรัพย์ของผู้เสียหายมาอยู่ในที่ดินซึ่งจำเลยเข้าใจว่าเป็นของจำเลยที่ ๑ และเพื่อมิให้ผู้เสียหายครอบครองที่ดินส่วนนี้เท่านั้น หามีเจตนาจะทำให้ทรัพย์ของผู้เสียหายเสียหายทำลายเสื่อมค่าหรือไร้ประโยชน์ไม่ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการทำให้เสียหายทำลาย และทำให้ทรัพย์ดังกล่าวไร้ประโยชน์ พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นว่าจำเลยมีความผิดตาม
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๘, ๘๓ ให้ปรับคนละ ๕๐ บาท ถ้าจำเลยไม่เสียค่าปรับให้จัดการตามมาตรา ๒๙, ๓๐
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงว่า นางไน้ผู้เสียหายและจำเลยมีที่ดินติดต่อกัน ที่พิพาทคือที่ดินที่อยู่ในระหว่างที่สองแปลงนี้ ทั้งสองฝ่ายต่างโต้เถียงกรรมสิทธิในที่พิพาทในชั้นนี้ไม่สามารถชี้ชัดลงไปว่าที่พิพาทเป็นของผู้เสียหายหรือจำเลยที่ ๑ แต่จำเลยที่ ๑ รับว่าเสารั้วและลวดหนามเป็นของผู้เสียหายปักไว้ตามแนวเขตที่ผู้เสียหายเห็นว่าเป็นของตนและผู้เสียหายปลูกต้นกกไว้ในที่พิพาท จำเลยร่วมกันถอนเสารั้ว และรื้อลวดหนาม ขุดทำลายโคกปลูกต้นมะพร้าวที่ผู้เสียหายทำไว้ ทั้งได้ถอนต้นกกในที่พิพาทออกหมด การกระทำของจำเลยเป็นการทำให้เสียทรัพย์ ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น จำเลยจึงมีความผิดตาม มาตรา ๓๕๘ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมีสิทธิกระทำได้ตามมาตรา ๑๓๓๖, ๑๓๓๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นั้น เห็นว่า สถานการณ์ในคดีนี้ไม่ร้ายแรง ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่จำเลย ถึงขนาดจำเลยจะใช้สิทธิตามบทกฎหมายดังกล่าวได้ โดยเฉพาะการที่จำเลยเข้าใช้อำนาจโดยพลการถอนต้นพืชพันธ์ไม้ที่อีกฝ่ายหนึ่งปลูกไว้ในที่ดินซึ่งแย่งกรรมสิทธิ์กันอยู่นั้น ย่อมแสดงว่า จำเลยมีเจตนาทำให้เสียทรัพย์ คำพิพากษาฎีกาจำเลยอ้างมา ข้อเท็จจริงหาตรงกับคดีนี้ไม่ พิพากษายืน.

Share