คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 39/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยต่างสั่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าอย่างเดียวกัน เข้ามาจำหน่ายด้วยกัน กรณีจึงหาใช่เป็นเรื่องจำเลยเอาเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาใช้เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของโจทก์อันเป็นการเลียนเครื่องหมายการค้าซึ่งจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 274 ไม่ และเมื่อจำเลยไม่ได้เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้ว การนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายสินค้าดังกล่าวก็ย่อมไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ใช้สมญาในทางการค้า (ยี่ห้อ) ว่า “ห่านพงกี่” ได้สั่งสินค้ากรรไกรตัดผมจากบริษัทมิซุโฮเทรดิงคัมปะนีแห่งเมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ พ.ศ. 2497 ต่อมาโจทก์นำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่กองเครื่องหมายการค้า กรมทะเบียนการค้า กระทรวงเศรษฐการจำเลยบังอาจนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งกรรไกรตัดผมมีเครื่องหมายการค้าของโจทก์คือ เลข 339, 555 และ 999 เพื่อจำหน่าย โดยจำเลยกับพวกปลอมหรือสั่งให้บริษัทต่างประเทศผู้ประดิษฐ์กรรไกรปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ให้ปรากฏในกรรไกร หีบ ห่อและวัตถุที่ใช้หุ้มห่อเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของโจทก์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272(1) และวรรค 4,273, 274 และ 275 ขอให้ริบของกลาง

ศาลชั้นต้นประทับฟ้องเฉพาะกระทงที่มีมูลตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 274, 275

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ของกลางคืนเจ้าของ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ศาลชั้นต้นสั่งว่าคดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ให้รับฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ที่ว่าข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองฟังต้องกันมานั้นจะปรับบทเอาผิดแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 274, 275 ได้หรือไม่

โจทก์อุทธรณ์คำสั่งขอให้รับฎีกาทุกข้อ

ศาลฎีกาเห็นว่า ฎีกาโจทก์ข้อที่ว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์จำเลยผิดกันมาก ไม่สามารถทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงขึ้นใหม่นอกเหนือจากที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาว่าไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณานั้น ข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย

ข้อเท็จจริงได้ความว่า เครื่องหมายเลขอารบิค 338, 555 และ 999 ทั้ง 3 เครื่องหมายนี้ เป็นตัวเลขที่บริษัทโรงงานผู้ผลิตได้ทำขึ้นใช้เป็นเครื่องหมายสำหรับสินค้ากรรไกรมาแต่เดิม และคงใช้อยู่ตลอดมา โจทก์จำเลยต่างสั่งสินค้ากรรไกรที่มีตัวเลขดังกล่าวประทับนี้เข้ามาจำหน่ายด้วยกัน จำเลยสั่งเข้ามา 15 ปี แล้วซึ่งเป็นเวลาก่อนโจทก์เริ่มสั่งเข้ามาจำหน่าย 5 ปี โจทก์เพิ่งจะเอาเครื่องหมายตัวเลขอารบิคดังกล่าวไปประกอบรูปอาร์มนำไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นของโจทก์ในภายหลังเมื่อก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้กรณีจึงหาใช่เป็นเรื่องจำเลยเอาเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาใช้เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของโจทก์ อันเป็นการเลียนเครื่องหมายการค้าซึ่งจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 274 ไม่ และเมื่อฟังว่าจำเลยไม่ได้เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์การนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายซึ่งกรรไกรตราอย่างของจำเลยก็ย่อมจะไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ด้วย

พิพากษายืน

Share