แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อความของบทบัญญัติมาตรา 340 ตรีแห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเพิ่มเติมโดยข้อ 15 ของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 นั้นแสดงความมุ่งหมายที่จะลงโทษให้หนักขึ้นเฉพาะตัวผู้ซึ่งต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้เป็นพิเศษนี้เท่านั้น มิใช่ว่าผู้ที่ร่วมกระทำการชิงทรัพย์หรือปล้นทรัพย์รายเดียวกันจะต้องระวางโทษหนักขึ้นเช่นนี้ทุกคนเสมอไปจำเลยที่ 1 ที่ 3 กับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ ขณะทำการปล้น จำเลยที่ 3 ได้ใช้อาวุธปืนยิงขู่ด้วย จำเลยที่ 3 จึงมีความผิดตามมาตรา 340 ตรี ต้องระวางโทษหนักกว่าโทษตามมาตรา 340 วรรคสี่อีกกึ่งหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 1 นั้นไม่ปรากฏว่าเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนด้วยจึงมีความผิดตามมาตรา 340วรรคสี่เท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันมีอาวุธปืนติดตัวไปลักโค 17 ตัวของนายโพลก จารุพงษ์ และนายอับดุลรามาน ปาทาน ซึ่งอยู่ในความดูแลรักษาของนายรักเกียรติ ประเสริฐสิทธิ์ กับพวกไป ในการลักทรัพย์นี้จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันใช้อาวุธปืนขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะยิงฆ่านายรักเกียรติ และใช้อาวุธปืนยิงขู่นายรักเกียรติหลายนัด ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ตรี, 83 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ข้อ 14, 15 และขอให้สั่งคืนโค10 ตัวของกลาง กับใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคสี่ 83 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ข้อ 14 ให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 18 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามมาตรา 78 คงจำคุกไว้คนละ 12 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้องโจทก์ โคของกลาง 10 ตัว ให้คืนเจ้าของ ส่วนนอกนั้นโจทก์สืบไม่สมจึงไม่คืนให้
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1, ที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 ตรี ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ข้อ 15 และให้ใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยที่ 1, ที่ 3 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 3 ด้วย
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 เป็นคนร้ายรายนี้โดยจำเลยที่ 3 เป็นคนร้ายที่ยิงปืนในขณะที่ปล้นโค จำเลยทั้งสองกับพวกปล้นโคของผู้เสียหายไปรวม 17 ตัว เจ้าพนักงานตำรวจจับตัวจำเลยได้และได้โค 10 ตัว ของผู้เสียหายเป็นของกลาง ผู้เสียหายจึงไม่ได้โคคืนอีก 7 ตัว คิดเป็นราคา 24,500 บาท
สำหรับปัญหาเรื่องการปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสอง ศาลฎีกาเห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสี่แก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ข้อ 14 บัญญัติว่า “ถ้าการปล้นทรัพย์ได้กระทำโดย….ฯลฯใช้ปืนยิง…….ฯลฯ…..ผู้กระทำต้องระวางโทษ……ฯลฯ” เมื่อการปล้นทรัพย์รายนี้คนร้ายได้ใช้ปืนยิงด้วย ผู้ที่ร่วมกระทำการปล้นทุกคนย่อมมีความผิดตามมาตรา 340 วรรคสี่ แต่การปล้นโดยใช้ปืนยิงนี้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี ซึ่งเพิ่มเติมโดยข้อ 15 ของประกาศของคณะปฏิวัติฉบับเดียวกันยังบัญญัติไว้อีกว่า “ผู้ใดกระทำผิดตามมาตรา 339 มาตรา 339 ทวิ มาตรา 340 หรือมาตรา 340 ทวิ……ฯลฯ……โดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด…..ฯลฯ….ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ กึ่งหนึ่ง” ข้อความของบทบัญญัติดังกล่าวแสดงความมุ่งหมายที่จะลงโทษให้หนักขึ้นเฉพาะตัวผู้ซึ่งต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้เป็นพิเศษนี้เท่านั้น มิใช่ว่าผู้ที่ร่วมกระทำการชิงทรัพย์หรือปล้นทรัพย์รายเดียวกันจะต้องระวางโทษหนักขึ้นเช่นนี้ทุกคนเสมอไป เฉพาะคดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า คนร้ายที่ยิงปืนคือจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงมีความผิดตามมาตรา 340 ตรี ต้องระวางโทษหนักกว่าโทษตามมาตรา 340 วรรคสี่อีกกึ่งหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 1 นั้นไม่ปรากฏว่าเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนด้วย จึงมีความผิดตามมาตรา 340 วรรคสี่เท่านั้น
พิพากษาแก้พิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสี่ตามที่แก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ข้อ 14 วางโทษจำคุก 18 ปี จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี ที่เพิ่มโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว ข้อ 15 วางโทษจำคุก 27 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 สิบสองปี จำคุกจำเลยที่ 3 สิบแปดปี โคของกลาง 10 ตัว ให้คืนเจ้าของและให้จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 คืนโคที่ยังไม่ได้คืนอีก 7 ตัวหรือใช้ราคา 24,500 บาท แก่เจ้าของด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์