แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บรรยายฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นพยานโจทก์ในคดีปล้นทรัพย์ เบิกความเท็จต่อศาลว่าจำคนร้ายไม่ได้ อันเป็นความเท็จและเป็นข้อสำคัญในคดี ซึ่งความจริงจำเลยเคยให้การในฐานะพยานในชั้นสอบสวนว่าจำคนร้ายได้ ดังนี้ แม้จะมิได้กล่าวให้ปรากฏชัดว่าความจริงเป็นดังที่จำเลยเบิกความหรือเป็นดังที่จำเลยให้การ ก็ย่อมเข้าใจได้แล้วว่าโจทก์กล่าวอ้างว่าคำเบิกความของจำเลยเป็นความเท็จ ส่วนความจริงเป็นดังที่จำเลยได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวนนั่นเอง และในคดีอาญาเรื่องปล้นทรัพย์ คำเบิกความของพยานในข้อที่ว่าจำคนร้ายได้หรือไม่นั้น ย่อมเป็นข้อสำคัญในคดี คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 ที่สมบูรณ์แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นพยานโจทก์ในคดีอาญาเรื่องปล้นทรัพย์ บังอาจเบิกความเท็จต่อศาลว่า “มีคนร้าย ๓ คนเข้าปล้นทรัพย์ แล้วให้การใหม่ว่ามีคนร้าย ๒ คนที่เข้าปล้นทรัพย์ แสงไฟตะเกียงที่จุดไว้ในที่เกิดเหตุสว่างนิดหน่อยเพียงสลัว ๆ ถ้าห่างกัน ๑ วาจำกันได้ ห่างกว่านั้นจำกันไม่ได้ มองไปที่รถเห็นคนไม่เห็นหน้า จำหน้าไม่ได้ คนร้ายสต๊าทรถให้ติดเครื่องนานราว ๕ นาทีก็ขับแล่นออกไปทางกรุงเทพฯ ” อันเป็นความเท็จและเป็นข้อสำคัญในคดี ซึ่งความจริงจำเลยเคยให้การในฐานะพยานในชั้นสอบสวนว่า “มีคนร้าย ๔ คน เห็นและจำจำเลยในคดีปล้นทรัพย์ได้ด้วยแสงไฟตะเกียงซึ่งอยู่ห่างจำเลยราว ๓ เมตรว่าเป็นคนทำหน้าที่เป็นผู้ขับรถเกรดออกไปจากที่เกิดเหตุในเวลาเกิดเหตุ และจำเลยยังได้ชี้ตัวจำเลยในคดีปล้นทรัพย์ดังกล่าวได้ถูกต้อง ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำบันทึกการชี้ตัวไว้อีกด้วย” ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าข้อความอันเป็นเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในเรื่องปล้นทรัพย์นั้นอย่างไร และมิได้บรรยายฟ้องว่าข้อความในคำให้การชั้นสอบสวนนั้นจริงหรือไม่ ฟังไม่ได้ว่าคำเบิกความของจำเลยหรือข้อความในคำให้การชั้นสอบสวนเป็นเท็จเพียงใด ไม่ชัดแจ้งว่าจำเลยเบิกความเท็จ พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องดังกล่าวข้างต้น โจทก์ได้บรรยายไว้แล้วว่า จำเลยได้เบิกความต่อศาลว่าอย่างไร และจำเลยได้ให้การเป็นพยานในชั้นสอบสวนว่าอย่างไร แม้โจทก์จะมิได้กล่าวให้ปรากฏชัดว่าความจริงเป็นดังที่จำเลยได้เบิกความหรือว่าเป็นดังที่จำเลยได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวน แต่ในตอนต้นเมื่อโจทก์จะบรรยายถึงคำเบิกความของจำเลยนั้น โจทก์ได้กล่าวไว้แล้วว่าจำเลยบังอาจเบิกความเท็จต่อศาล และเมื่อจบคำเบิกความของจำเลยซึ่งโจทก์นำมาบรรยายไว้แล้ว โจทก์ก็กล่าวว่าความจริงจำเลยเคยให้การในฐานะพยานในชั้นสอบสวนมีข้อความว่าอย่างไร เมื่ออ่านคำฟ้อง ๒ ตอนนี้ประกอบกัน ย่อมเข้าใจได้แล้วว่าโจทก์กล่าวอ้างว่าคำเบิกความของจำเลยนั้นเป็นความเท็จ ส่วนความจริงเป็นดังที่จำเลยได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวนนั่นเอง และในคดีอาญาเรื่องปล้นทรัพย์ คำเบิกความของพยานในข้อที่ว่าจำคนร้ายได้หรือไม่นั้น ย่อมเป็นข้อสำคัญในคดี คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗ ที่สมบูรณ์แล้ว ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองที่วินิจฉัยว่าคำฟ้องคดีนี้ขาดข้อที่เป็นสารสำคัญ และเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพแล้ว จึงสมควรพิพากษาความผิดของจำเลยไปทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวน
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗ ให้จำคุกจำเลยไว้มีกำหนด ๑ ปี จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี.