แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อจำเลยที่ 3 ได้แต่งตั้งให้โจทก์เป็นที่ปรึกษา ทำการวิเคราะห์รวบรวมข้อมูล และเจรจากับการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเรื่องการประมูลก่อสร้างทางด่วนสายท่าเรือ-ดาวคะนอง เพื่อให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ประมูลได้และเข้าทำสัญญารับเหมาก่อสร้างทางด่วนดังกล่าวกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์เช่นนั้น สัญญาดังกล่าวมิได้มีวัตถุประสงค์ให้โจทก์ใช้อิทธิพลวิ่งเต้นหรือเข้าแทรกแซงในกิจการของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเพื่อให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ประมูลได้และเข้าทำสัญญากับการทางพิเศษแห่งประเทศไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือระเบียบแบบแผนของทางราชการแต่อย่างใด จึงไม่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน มีผลใช้บังคับกันได้โดยสมบูรณ์ และเมื่อจำเลยที่ 3 ว่าจ้างโจทก์ทำการงานให้จำเลยที่ 3 แม้โจทก์กับจำเลยที่ 3 มิได้ตกลงกันในเรื่องสินจ้างหรือค่าตอบแทนที่โจทก์เรียกว่าบำเหน็จและค่าใช้จ่ายโดยแจ้งชัด ก็ถือได้ว่าได้มีสัญญาผูกพันจำเลยที่ 3 ที่จะต้องจ่ายสินจ้างให้แก่โจทก์เพื่อผลสำเร็จแห่งการงานที่จำเลยที่ 3 ว่าจ้างให้โจทก์ทำนั้นแล้ว ซึ่งเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ทำงานที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 3 เป็นผลสำเร็จ ทำให้จำเลยที่ 3 กับกิจการร่วมค้าได้ทำสัญญาก่อสร้างงานตามโครง-การทางด่วนท่าเรือ-ดาวคะนอง ช่วงที่ 1 กับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จำเลย-ที่ 3 จึงต้องรับผิดจ่ายสินจ้างให้แก่โจทก์เพื่อผลสำเร็จแห่งการงานที่โจทก์ทำนั้น แต่เมื่อไม่มีข้อตกลงกันโดยชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 3 จะให้สินจ้างแก่โจทก์เป็นจำนวนเท่าใดก็จำเป็นที่จะต้องตีความสัญญาว่าจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 3 ไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย และศาลมีอำนาจกำหนดสินจ้างให้แก่โจทก์ได้ตามผลสำเร็จของงานโดยพิเคราะห์ความยากง่ายในการดำเนินการของการงานที่จำเลยที่ 3 จ้างให้โจทก์ทำประกอบด้วย และจำเลยที่ 3 ยังต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของสินจ้างที่จำเลยที่ 3 ต้องจ่ายให้โจทก์ในระหว่างเวลาผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง อีกด้วย