คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7333/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ถูกกล่าวหาอ้างตนเองว่าเป็นอัยการและหลอกลวงผู้กล่าวหาในบริเวณศาลชั้นต้น ทั้งมีการรับเงินที่โรงอาหารซึ่งอยู่ภายในบริเวณศาลชั้นต้นด้วย แม้เหตุจะมิได้เกิดขึ้นต่อหน้าศาลแต่ก็เกิดในบริเวณศาล การกระทำของผู้ถูกกล่าวหา จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอันเป็นการกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษผู้ถูกกล่าวหาได้โดยหาจำต้องดำเนินการทางพนักงานสอบสวนดังที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างไม่
การที่ศาลจะออกข้อกำหนดใด ๆ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30ได้จะต้องเป็นกรณีที่จำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล และเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปตามเที่ยงธรรมและรวดเร็วด้วย แต่การออกข้อกำหนดห้ามผู้ถูกกล่าวหาเข้ามาในบริเวณศาลตามคำสั่งของศาลล่างทั้งสองไม่ปรากฏว่า กระทำเพื่อให้กระบวนพิจารณาเรื่องใดดำเนินไปตามเที่ยงธรรมและรวดเร็ว กรณีจึงไม่ต้องตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยแพ้คดีในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 447/2536 ของศาลชั้นต้น เรื่องที่ดิน ต่อมาวันที่ 6 กันยายน 2542 จำเลยเป็นผู้กล่าวหาร้องเรียนต่อศาลชั้นต้นว่าผู้กล่าวหามีความประสงค์จะยื่นฎีกา จึงเดินทางมาที่ศาลชั้นต้นเพื่อหาทนายความและเสียค่าธรรมเนียมศาลในชั้นฎีกา ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งอ้างตนเองว่าเป็นอัยการพร้อมกับมอบนามบัตรให้และจะจัดการเรื่องคดีให้ โดยตกลงค่าใช้จ่าย ค่าทนายความและค่าธรรมเนียมศาลเป็นเงิน 60,000 บาท หากแพ้คดีจะคืนเงินให้ผู้ถูกกล่าวหารับเงินจำนวนดังกล่าวไปจากผู้กล่าวหาเมื่อวันที่ 2ธันวาคม 2541 เวลาประมาณ 12 นาฬิกาที่บริเวณโรงอาหารหลังศาลชั้นต้น แล้วผู้ถูกกล่าวหาเขียนสัญญากู้เงินให้ผู้กล่าวหาไว้ต่อมาผู้ถูกกล่าวติดต่อให้นายชุมพล สว่างพลกรัง เป็นทนายความในชั้นฎีกาให้นายชุมพลบอกให้ผู้กล่าวหานำเงินมาเสียค่าธรรมเนียมศาล ผู้กล่าวหาจึงบอกให้ผู้ถูกกล่าวหานำเงินมาเสียค่าธรรมเนียมศาล แต่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ยอมเสีย ผู้กล่าวหาจึงเสียค่าธรรมเนียมศาลเอง หลังจากนั้นผู้กล่าวหาทราบว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ใช่อัยการแต่เป็นนายประกันที่ศาลชั้นต้น จึงรู้ว่าถูกผู้ถูกกล่าวหาหลอกลวง ผู้กล่าวหาต้องการเงินคืนจากผู้ถูกกล่าวหา

ผู้ถูกกล่าวหายื่นคำร้องว่า เมื่อประมาณต้นปี 2542 ญาติของผู้กล่าวหามารับผู้ถูกกล่าวหาไปที่บ้าน แล้วนำคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 มาให้ผู้ถูกกล่าวหาตรวจดูแล้วเห็นว่าจำเลยมีสิทธิจะยื่นฎีกาได้ตกลงค่าทนายความและค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดเป็นเงิน 60,000บาท โดยให้เงินที่บ้านญาติผู้กล่าวหาและถ้าหากแพ้คดีในชั้นฎีกาผู้ถูกกล่าวหาจะคืนเงินให้ทั้งหมด จึงทำสัญญากู้เงิน 60,000 บาทให้ผู้กล่าวหาไว้ ผู้ถูกกล่าวหาให้นายชุมพล สว่างพลกรัง เป็นทนายความให้และจ่ายค่าทนายความกับค่าธรรมเนียมศาล รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกเป็นเงิน 21,570 บาท

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ถูกกล่าวหาอ้างตนว่าเป็นอัยการทำงานที่ศาลชั้นต้นเรียกเงินค่าใช้จ่ายจากผู้กล่าวหาเพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาวิ่งเต้นให้ชนะคดี โดยรับเงินที่โรงอาหารของศาลชั้นต้น การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการกระทำที่ไม่ชอบและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ศาล จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ซึ่งเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1)อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 33 ให้จำคุกนายไสว จันทร์ภิรมย์ ผู้ถูกกล่าวหามีกำหนด6 เดือน และออกข้อกำหนดห้ามผู้ถูกกล่าวหาเข้ามาในบริเวณศาลชั้นต้นมีกำหนด 3 ปี นับแต่วันมีคำสั่งเว้นแต่จะเป็นคู่ความในคดีเสียเอง

ผู้ถูกกล่าวหาอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกผู้ถูกกล่าวหามีกำหนด 3 เดือน และออกข้อกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 ห้ามผู้ถูกกล่าวหาเข้ามาในบริเวณศาลชั้นต้นมีกำหนด 1 ปี นับแต่วันฟังคำพิพากษานี้เว้นแต่เป็นคู่ความในคดีเสียเองหรือมีเหตุจำเป็นโดยต้องแจ้งให้ศาลชั้นต้นทราบก่อนทุกครั้งไป นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษา (ที่ถูกเป็นคำสั่ง) ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกกล่าวหาฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ผู้ถูกกล่าวหาฎีกาว่า ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนอย่างรวบรัด ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหานำพยานเข้าเบิกความครบทุกปาก ไม่มีรายงานกระบวนพิจารณาในวันไต่สวนคือวันที่ 13ตุลาคม 2542 ผู้ถูกกล่าวหาคัดค้านและขอนำพยานเข้าสืบต่อไปก็ไม่อนุญาต ทั้งไม่จดคำคัดค้านของผู้ถูกกล่าวหาไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 26 นั้น เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาได้ยื่นบัญชีพยานลงวันที่ 11 ตุลาคม 2542 ระบุพยานไว้ 5 อันดับ ซึ่งเป็นพยานบุคคล 3 ปาก ปรากฏว่าพยานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหาต่างได้เบิกความครบตามที่ผู้ถูกกล่าวหาระบุพยานไว้แล้ว รายงานกระบวนพิจารณาในวันไต่สวนทั้งวันที่ 11 และวันที่ 13ตุลาคม 2542 ก็มีอยู่ครบถ้วนโดยผู้ถูกกล่าวหาลงชื่อไว้ทุกฉบับ ตามเอกสารอันดับที่ 19 และ 22 ในสำนวนตามลำดับ หากผู้ถูกกล่าวหาจะขอนำพยานเข้าสืบต่อไปก็ไม่มีพยานของผู้ถูกกล่าวหาที่ระบุไว้แล้วทั้งตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 13ตุลาคม 2542 ก็ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาแถลงหมดพยานไว้เองข้ออ้างตามฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นเรื่องที่ไม่มีข้อเท็จจริงในสำนวน รับฟังไม่ได้ ฎีกาข้อนี้ของผู้ถูกกล่าวหาฟังไม่ขึ้น

ที่ผู้ถูกกล่าวหาฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า กรณีของผู้ถูกกล่าวหามิได้มีการจ่ายเงินและรับเงินกันต่อหน้าศาล จึงลงโทษผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยผู้ถูกกล่าวหามิได้ฎีกาโต้เถียงว่าผู้ถูกกล่าวหาอ้างตนเองว่าเป็นอัยการและหลอกลวงผู้กล่าวหาในบริเวณศาลชั้นต้น ทั้งมีการรับเงินกันที่โรงอาหารซึ่งอยู่ภายในบริเวณศาลชั้นต้นด้วย แม้เหตุจะมิได้เกิดขึ้นต่อหน้าศาลแต่ก็เกิดในบริเวณศาล การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอันเป็นการกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษผู้ถูกกล่าวหาได้โดยหาจำต้องดำเนินการทางพนักงานสอบสวนดังที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างในฎีกาไม่ ฎีกาข้อนี้ของผู้ถูกกล่าวหาฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ออกข้อกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 ห้ามผู้ถูกกล่าวหาเข้ามาในบริเวณศาลชั้นต้นมีกำหนด 1 ปี นับแต่วันฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เว้นแต่เป็นคู่ความเสียเองหรือมีเหตุจำเป็นโดยต้องแจ้งให้ศาลชั้นต้นทราบก่อนทุกครั้งนั้น เห็นว่า การที่ศาลจะออกข้อกำหนดใด ๆ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 30 ได้จะต้องเป็นกรณีที่เห็นจำเป็น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล และเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปตามเที่ยงธรรมและรวดเร็วด้วย แต่การออกข้อกำหนดแก่ผู้ถูกกล่าวหาตามคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ปรากฏว่ากระทำเพื่อให้กระบวนพิจารณาเรื่องใดดำเนินไปตามเที่ยงธรรมและรวดเร็ว กรณีจึงไม่ต้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 ในอันที่ศาลจะพึงออกข้อกำหนดแก่ผู้ถูกกล่าวหาได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”

พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ออกข้อกำหนดห้ามผู้ถูกกล่าวหาเข้ามาในบริเวณศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share