คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1859/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อเดือน มิถุนายน 2519 จำเลยสั่งสินค้าประเภทอะไหล่รถยนต์มีเฟืองเกียร์ และเดือยหมูจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรและได้ สำแดงราคาสินค้าเพื่อเสียภาษีอากรชุด ละ 41.86 เหรียญสหรัฐเจ้าพนักงานประเมินไม่อาจประเมินราคาสินค้าได้ ในขณะนั้น จึงชักตัวอย่างไว้ตรวจสอบ ต่อมาเจ้าพนักงานได้ วิเคราะห์ข้อมูลจากสินค้าประเภทและแหล่ง เดียว กันที่มีผู้นำเข้า ปรากฏว่ามีการนำเข้าในเดือน ตุลาคม 2517 กำหนดราคาชุดละ 47.87 เหรียญสหรัฐและนำเข้าในเดือน พฤศจิกายน 2519 กำหนดราคาชุด ละ 54.90เหรียญสหรัฐ เจ้าพนักงานประเมินจึงกำหนดราคาแท้จริงในท้องตลาดสำหรับสินค้าที่จำเลยนำเข้าเท่ากับ 47.87 เหรียญสหรัฐโดย เปรียบเทียบราคาแรกกับราคาหลังซึ่ง ขึ้นลงได้ การเรียกเก็บค่าภาษีอากรกฎหมายศุลกากรให้ประเมินอากรตาม ราคาแท้จริงในท้องตลาดแห่งของนั้น เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงเพื่อเสียภาษีต่ำ กว่าราคาที่โจทก์ถือ เป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเพื่อเป็นการประเมินเรียกเก็บภาษี ดังนี้ถือ ไม่ ได้ว่าจำเลยได้ สำแดงราคาสินค้าไว้ต่ำ กว่าราคาแท้จริงในท้องตลาด.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2519 จำเลยได้นำสินค้าประเภทอะไหล่รถยนต์เฟืองเกียร์ และเดือยหมู สำหรับใช้กับรถยนต์บรรทุก อี ซู ซุ จำนวน 1,100 ชุด ได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการสำหรับสินค้าที่นำเข้าโดยสำแดงราคาสินค้าเป็นเงิน 49,557 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 1,010,131.69 บาทและได้ชำระอากรตามราคาสินค้าที่สำแดงไว้เป็นค่าอากรขาเข้า505,065.69 บาท ภาษีการค้า 130,967.58 บาท ภาษีบำรุงเทศบาล13,096.76 บาท เนื่องจากสินค้าดังกล่าวไม่มีบัตรเทียบราคาทำให้ไม่อาจจะประเมินราคาสินค้าในขณะนั้นได้ พนักงานประเมินของโจทก์จึงชักตัวอย่างสินค้าดังกล่าวเพื่อตรวจสอบประเภทของสินค้าและประเมินราคา ให้จำเลยวางเงินประกันค่าภาษีอากร 40,000 บาทจึงปล่อยให้จำเลยนำสินค้าออก ต่อมาพนักงานประเมินได้ตรวจตัวอย่างสินค้าแล้วกำหนดเกณฑ์ประเมินภาษีอากรที่จะต้องเสีย โดยประเมินราคาสินค้าเป็นเงิน 1,144,830.50 บาท อากรขาเข้า 572,415.25 บาทภาษีการค้า 148,588.27 บาท ภาษีบำรุงเทศบาล 14,858.82 บาท เมื่อหักเงินภาษีอากรและเงินประกันที่จำเลยได้ชำระแล้ว จำเลยจะต้องเสียเพิ่มอากรขาเข้า 38,349.56 บาท ภาษีการค้า 7,620.07 บาทภาษีบำรุงเทศบาล 762.07 บาท รวมภาษีอากรที่ต้องเสียเพิ่มเป็นเงิน46,732.32 บาท เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้แจ้งผลการประเมินให้จำเลยทราบและชำระภายใน 30 วัน จำเลยเพิกเฉยไม่นำเงินภาษีอากรมาชำระ หรือโต้แย้งราคาภายในกำหนดดังกล่าว จึงต้องเสียเพิ่มร้อยละ20 ของอากรขาเข้าที่ต้องเสียเพิ่มเป็นเงิน 7,669.91 บาท เงินเพิ่มร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือน ภาษีการค้าที่ต้องเสียเพิ่มเป็นเงิน 6,325.43 บาท และเงินเพิ่มร้อยละ 10 ของภาษีบำรุงเทศบาลที่ต้องเสียเพิ่มเป็นเงิน 632.46 บาท และเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1ต่อเดือนของอากรขาเข้าที่ต้องเสียเพิ่มเป็นเงิน 39,500.50 บาท รวมเงินภาษีอากรที่จำเลยจะต้องชำระทั้งสิ้น 100,860 บาท ขอให้ศาลพิพากษา และบังคับให้จำเลยชำระเงินค่าอากรขาเข้าภาษีการค้าภาษีบำรุงเทศบาล และเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 100,860 บาท พร้อมด้วยเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนในต้นเงินอากรขาเข้า 38,349.56บาท และในต้นเงินภาษีการค้า 3,620.07 บาท และเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลในอัตราร้อยละ 10 ของเงินเพิ่มภาษีการค้าเป็นรายเดือนแก่โจทก์นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ไม่เคยได้รับแจ้งการประเมินอากรขาเข้าและภาษีการค้าจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มตามฟ้องโจทก์โจทก์มิได้มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าราคาสินค้าที่จำเลยแจ้งไม่ตรงความจริงอย่างไร โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะไม่บรรยายว่าโจทก์ประเมินราคาสินค้าต่อหน่วย หน่วยละเท่าใดในการเรียกเก็บอากรและภาษีขาเข้าราคาสินค้าที่จำเลยสั่งซื้อเข้ามาเป็นราคาท้องตลาดของสินค้าในขณะที่สั่งซื้อ การประเมินราคาของโจทก์ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง และราคาประเมินมาตรฐานที่โจทก์กำหนดขึ้นในภายหลัง ไม่มีผลผูกพันจำเลยให้ต้องรับผิดต่อโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยร่วมกันชำระเงินค่าอากรขาเข้าภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาล และเงินเพิ่มรวม 100,860 บาท แก่โจทก์กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินเพิ่มค่าอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ1 ต่อเดือนของค่าอากร 38,349.56 บาท เงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1ต่อเดือน หรือเศษของเดือนจากต้นเงินภาษีการค้าจำนวน 7,620.07 บาทเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลในอัตราร้อยละ 10 ของเงินเพิ่มภาษีการค้าเป็นเงินเดือนละ 7.62 บาท แต่ทั้งนี้เงินเพิ่มภาษีการค้าภาษีเทศบาลที่คิดแล้วก่อนฟ้องและจะติดต่อไปต้องไม่เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระคือจำนวน 7,620.07 บาท และ 762 บาท ตามลำดับ นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยได้สั่งสินค้าประเภทอะไหล่รถยนต์มีเฟืองเกียร์และเดือยหมูจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรและได้สำแดงราคาสินค้าเพื่อเสียค่าภาษีอากรตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ที่ 1 ไม่อาจประเมินราคาสินค้าในขณะนั้น จึงได้ชักตัวอย่างไว้ตรวจสอบ ต่อมาเจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากสินค้าประเภทและแหล่งเดียวกันที่มีผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรและได้สำแดงราคาไว้ตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5เป็นราคาที่สูงกว่าราคาที่จำเลยสำแดงไว้ในเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ที่ 1 จึงเอาราคาสินค้าตามที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 เป็นเกณฑ์ในการประเมินภาษีรายนี้ข้อต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองมีว่า จำเลยได้สำแดงราคาสินค้าไว้ต่ำกว่าราคาแท้จริงในท้องตลาดหรือไม่ เห็นว่าสินค้าที่จำเลยนำเข้าตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 นั้นได้นำเข้าเมื่อเดือนมิถุนายน 2519 กำหนดราคาชุดละ 41.86 เหรียญสหรัฐ เมื่อเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ที่ 1 ได้ตรวจสอบและวิเคราะห์โดยเทียบกับราคาสินค้าตามที่สำแดงไว้ในเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ซึ่งในเอกสารหมาย จ.4 กำหนดราคาชุดละ 47.87 เหรียญสหรัฐ และเอกสารหมาย จ.5 กำหนดราคาชุดละ 54.90 เหรียญสหรัฐ ตามเอกสารหมาย จ.4 เป็นราคาสินค้าในเดือนตุลาคม 2517 และตามเอกสารหมาย จ.5 เป็นราคาสินค้าในเดือนพฤศจิกายน 2519 เห็นได้ว่าราคาที่นำมาเปรียบเทียบ ราคาแรกเป็นราคาก่อนที่จำเลยนำเข้าปีเศษ และอีกราคาหนึ่งเป็นราคาหลังจากที่จำเลยนำเข้าประมาณ 5 เดือนเห็นว่าการเรียกเก็บค่าภาษีอากรและกฎหมายศุลกากรให้ประเมินอากรตามราคาแท้จริงในท้องตลาดแห่งของนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ที่ 1 กำหนดราคาของที่นำเข้าให้จำเลยเสียค่าภาษีอากรโดยเปรียบเทียบกับราคาของที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5ราคาดังกล่าวจะเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดในขณะที่จำเลยนำเข้าหรือไม่ พยานโจทก์มีนายประพฤติ ราชูภิมล ซึ่งเป็นผู้ประเมินอากรรายนี้เบิกความว่า ได้ค้นพบเอกสารหมาย จ.4 ที่กองประเมินเก็บไว้ในแฟ้ม ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของสินค้าประเภทนี้ พยานจึงเอามาเป็นเกณฑ์ในการประเมิน โดยถือว่าเป็นราคาท้องตลาดของสินค้าและพยานยังเบิกความต่อไปว่าราคาสินค้านั้นอาจขึ้นลงได้ ตามคำของพยานปากนี้ แสดงว่าถือเอาราคาตามเอกสารหมาย จ.4 เป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดสำหรับสินค้ารายนี้ เพราะเป็นราคาสูงสุดของสินค้าประเภทนี้ที่เคยนำเข้า แต่ราคาสูงสุดดังกล่าวเป็นราคาสินค้าที่ได้นำเข้าก่อนสินค้าจำเลยถึงปีเศษ ราคาย่อมเปลี่ยนแปลงเสมอ ราคาที่นำมาเปรียบเทียบจึงไม่มีหลักฐานใดสนับสนุนว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดสำหรับสินค้าที่จำเลยนำเข้าส่วนสินค้าที่นำเข้าภายหลังมีราคาสูงขึ้นนั้นก็มิใช่เป็นข้อที่แสดงว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดในขณะที่จำเลยนำเข้าจะมีราคาสูงตามไปด้วยดังที่เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 ประเมิน เมื่อจำเลยมีหลักฐานเกี่ยวกับราคาสินค้าที่ซื้อขายและสำแดงไว้ในเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 โจทก์นำสืบไม่ได้ว่าราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงเพื่อเสียภาษีต่ำกว่าราคาที่โจทก์ถือเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเพื่อเป็นการประเมินเรียกเก็บภาษี จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้สำแดงราคาสินค้าไว้ต่ำกว่าราคาแท้จริงในท้องตลาด…”
พิพากษายืน.

Share