แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การเบิกความของ ธ. ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 3 เกี่ยวกับลายมือชื่อของ อ. เป็นการเบิกความไปตามความเห็นหรือความรู้สึกของ ธ. ในลายมือชื่อของ อ. ตามที่เห็นเท่านั้น กรณีไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานว่าลายมือชื่อที่ ธ. เห็นตามเอกสารที่ทนายจำเลยที่ 3 นำมาถามค้านนั้น เป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของ อ. หรือเป็นลายมือชื่อปลอม และความเห็นของ ธ. เป็นความเห็นในเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงิน ซึ่งมิใช่เช็คพิพาทในคดีนี้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์รับรู้ถึงการใช้ลายมือชื่อปลอมของ อ. ในเช็คพิพาท อันจะถือได้ว่าโจทก์อยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมหรือข้อลงลายมือชื่อโดยปราศจากอำนาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 โจทก์จึงฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินตามฟ้องได้
การที่โจทก์มอบให้จำเลยที่ 1 ผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงินของโจทก์เป็นผู้เก็บแบบพิมพ์เช็คและตราประทับของโจทก์ไว้ แล้วจำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาแบบพิมพ์เช็คพิพาทที่มีการปลอมลายมือชื่อของ อ. ผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็คของโจทก์นำไปเรียกเก็บเงินจากบัญชีของโจทก์ได้ถึง 43 ฉบับ ในช่วงระยะเวลานาน 3 ปี เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ละเลยไม่ระมัดระวังในการเก็บรักษาควบคุมดูแลแบบพิมพ์เช็คพิพาทและตราประทับของโจทก์ รวมทั้งไม่มีมาตรการในการตรวจสอบเพื่อป้องกันมิให้มีการนำแบบพิมพ์เช็คพิพาทไปปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายแล้วใช้ตราประทับของโจทก์ประทับลงในเช็คพิพาทนำไปเบิกเงินจากจำเลยที่ 3 แต่อย่างใด ทั้งจำเลยที่ 3 ได้ส่งรายการเดินบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ให้แก่โจทก์ทราบทุกเดือน หากโจทก์มีมาตรการตรวจสอบที่ดี ก็จะทราบถึงความผิดปกติในการใช้เช็คเบิกเงินออกจากบัญชีของโจทก์และสามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาที่รวดเร็วกว่านี้ แต่โจทก์กลับปล่อยปละไม่ตรวจสอบจนเวลาล่วงมาถึง 3 ปี จึงทราบเหตุละเมิดดังกล่าว ถือได้ว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย ดังนั้น การกำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใด ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 วรรคหนึ่ง, 438 และ 442
หนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นมูลหนี้ละเมิดที่จำเลยที่ 1 กระทำขึ้นแต่ฝ่ายเดียวเป็นการเฉพาะตัว โดยไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 2 ได้มีส่วนร่วมรู้เห็นในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ และมูลหนี้ละเมิดไม่อาจให้สัตยาบันได้ ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะนำเงินที่ได้จากการละเมิดต่อโจทก์มาซื้อทรัพย์สินหรือฝากไว้ในธนาคารระบุชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของร่วมกัน ก็มิใช่หนี้ร่วมตามความหมายแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1490 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ร่วม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 70,932,804.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 63,043,337.66 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ชำระเงิน 63,043,337.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 371,096 บาท นับแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2548 ของต้นเงิน 1,059,085 บาทนับแต่วันที่ 17 มีนาคม 2548 ของต้นเงิน 265,707 บาท นับแต่วันที่ 7 เมษายน 2548 ของต้นเงิน 233,419 บาท นับแต่วันที่ 7 เมษายน 2548 ของต้นเงิน 488,534 บาท นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2548 ของต้นเงิน 182,742 บาท นับแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2548 ของต้นเงิน 582,724 บาท นับแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2548 ของต้นเงิน 543,874 บาท นับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2548 ของต้นเงิน 731,528 บาท นับแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2548 ของต้นเงิน 157,154 บาท นับแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2548 ของต้นเงิน 229,182 บาท นับแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2548 ของต้นเงิน 831,262 บาท นับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2548 ของต้นเงิน 839,260 บาท นับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2548 ของต้นเงิน 87,688 บาท นับแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2548 ของต้นเงิน 452,006 บาท นับแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2548 ของต้นเงิน 710,087 บาท นับแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2548 ของต้นเงิน 260,469.25 บาท นับแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 ของต้นเงิน 450,165 บาท นับแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2549 ของต้นเงิน 3,524,559 บาท นับแต่วันที่ 20 เมษายน 2549 ของต้นเงิน 1,074,347.09 บาท นับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2549 ของต้นเงิน 557,502.84 บาท นับแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2549 ของต้นเงิน 505,471.16 บาท นับแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2549 ของต้นเงิน 2,702,344.14 บาท นับแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2549 ของต้นเงิน 1,656,721.20 บาท นับแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2549 ของต้นเงิน 2,645,000 บาท นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2549 ของต้นเงิน 1,523,900 บาท นับแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2549 ของต้นเงิน 1,734,870.63 บาท นับแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2549 ของต้นเงิน 2,800,246 บาท นับแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2549 ของต้นเงิน 2,041,000.60 บาท นับแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2549 ของต้นเงิน 3,067,704.14 บาท นับแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2549 ของต้นเงิน 928,183.50 บาท นับแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2549 ของต้นเงิน 1,350,000 บาท นับแต่วันที่ 12 มกราคม 2550 ของต้นเงิน 832,792 บาท นับแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550 ของต้นเงิน 2,000,000 บาท นับแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550 ของต้นเงิน 2,950,000 บาท นับแต่วันที่ 7 มีนาคม 2550 ของต้นเงิน 1,259,800 บาท นับแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2550 ของต้นเงิน 3,789,530 บาท นับแต่วันที่ 13 กันยายน 2550 ของต้นเงิน 3,759,610.25 บาท นับแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2550 ของต้นเงิน 2,598,500.75 บาท นับแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2550 ของต้นเงิน 2,359,800.91 บาท นับแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2550 ของต้นเงิน 2,958,900 บาท นับแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551 ของต้นเงิน 2,995,890.25 บาท นับแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2551 และของต้นเงิน 2,950,680.95 บาท นับแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2551 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 3 กันยายน 2551) ของเช็คทุกฉบับรวมกันต้องไม่เกิน 7,889,466.55 บาท กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความให้ 50,000 บาท ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ร่วมชำระเงิน 31,521,668.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 20,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า ลายมือชื่อของนายอิน ในเช็คพิพาทเป็นลายมือชื่อปลอมหรือไม่ เห็นว่า พันตำรวจตรีหญิงจุฑารัตน์ยืนยันว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทไม่ใช่ลายมือชื่อของนายอิน เพราะคุณสมบัติของการเขียน รูปลักษณะของลายมือชื่อแตกต่างกัน ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดว่าการตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบลายมือชื่อของบุคคลจะต้องตรวจพิสูจน์กับตัวอย่างลายมือชื่อของบุคคลนั้นที่ลงไว้ในเอกสารต่างๆ ในระยะเวลาเดียวกัน จำเลยที่ 3 มิได้ถามค้านพยานปากนี้ และจำเลยที่ 3 มิได้นำพยานมาสืบให้เห็นว่าพันตำรวจตรีหญิงจุฑารัตน์ทำการตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องประการใด หรือการตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบลายมือชื่อบุคคลจะต้องตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบกับลายมือชื่อในระยะเวลาเดียวกัน แต่เป็นความเข้าใจของจำเลยที่ 3 เองว่าจะต้องตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบกับลายมือชื่อที่ลงไว้ในระยะเวลาเดียวกันจึงยกขึ้นกล่าวในฎีกา เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาแสดงให้เห็นได้ว่าการตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบทำไม่ถูกต้อง ก็ต้องรับฟังว่าพันตำรวจตรีหญิงจุฑารัตน์ได้ทำการตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบลายมือชื่อในเช็คพิพาทโดยถูกต้องแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จากคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 3 ต่อนางสาวธารา ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์เป็นพยานของโจทก์เบิกความว่า เคยเห็นลายมือชื่อของนายอิน ตั้งแต่ปี 2543 ถึงปัจจุบัน ลายมือชื่อในเอกสาร เป็นลายมือชื่อของนายอิน ไม่แน่ใจว่าเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของนายอิน หรือไม่ และเบิกความว่า เช็คเลขที่ 8622054 ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายคือนายอิน มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เช็คทั้งสองฉบับวันที่ใกล้เคียงกัน แล้วจำเลยที่ 3 สรุปว่าเอกสารดังกล่าวมีระยะเวลาใกล้เคียงกับเช็คพิพาท ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าลายมือชื่อที่ลงในเช็คพิพาทเป็นลายมือชื่อของนายอิน เห็นว่า นางสาวธาราเบิกความเกี่ยวกับลายมือชื่อของนายอิน ที่ลงไว้ในเอกสารต่างๆ ตามที่ทนายจำเลยที่ 3 นำมาถามค้านแล้วเบิกความไปตามความคิดเห็นของตนเองว่าลายมือชื่อของนายอิน ที่เห็นนั้นน่าจะเป็นลายมือชื่อของนายอิน หรือไม่ แต่ไม่ได้เบิกความยืนยันว่าลายมือชื่อในเช็คพิพาทเป็นลายมือชื่อของนายอิน เป็นกรณีที่จำเลยที่ 3 สรุปเอาเองซึ่งมิใช่พยานหลักฐานในอันที่จะยืนยันได้ว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทเป็นลายมือชื่อของนายอิน ที่แท้จริง เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่มีพยานหลักฐานอื่นนอกเหนือจากนี้ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทของนายอิน เป็นลายมือชื่อปลอม ฎีกาของจำเลยที่ 3 ในประการนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยประการต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า โจทก์อยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมหรือข้อลงลายมือชื่อโดยปราศจากอำนาจขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า การเบิกความของนางสาวธารา ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 3 เกี่ยวกับลายมือชื่อของนายอิน เป็นการเบิกความไปตามความเห็นหรือความรู้สึกของนางสาวธาราในลายมือชื่อของนายอินตามที่เห็นเท่านั้น กรณีไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานว่าลายมือชื่อที่นางสาวธาราเห็นตามเอกสารที่ทนายจำเลยที่ 3 นำมาถามค้านนั้น เป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของนายอิน หรือเป็นลายมือชื่อปลอม และความเห็นของนางสาวธาราเป็นความเห็นในเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงิน ซึ่งมิใช่เช็คพิพาทในคดีนี้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์รับรู้ถึงการใช้ลายมือชื่อปลอมของนายอิน ในเช็คพิพาท อันจะถือได้ว่าโจทก์อยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมหรือข้อลงลายมือชื่อโดยปราศจากอำนาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1008 ฎีกาในประการนี้ของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยประการต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 3 และโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด เห็นว่าศาลฎีกาได้วินิจฉัยในประเด็นปัญหาก่อนนี้แล้วว่า โจทก์มิได้อยู่ในฐานผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมหรือข้อลงลายมือชื่อโดยปราศจากอำนาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1008 โจทก์จึงฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินตามฟ้องได้ ส่วนปัญหาว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วยหรือไม่นั้นเห็นว่า แม้การที่จำเลยที่ 3 จ่ายเงินตามเช็คพิพาท 43 ฉบับ แก่จำเลยที่ 1 ผู้นำเช็คพิพาทที่ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเป็นลายมือชื่อปลอมมาเบิกเงินจากจำเลยที่ 3 จะเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 3 อันเป็นการกระทำละเมิดและผิดสัญญาฝากทรัพย์ต่อโจทก์ แต่การที่โจทก์มอบให้จำเลยที่ 1 ผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงินของโจทก์เป็นผู้เก็บแบบพิมพ์เช็คและตราประทับของโจทก์ไว้ แล้วจำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาแบบพิมพ์เช็คพิพาท 43 ฉบับ ที่มีการปลอมลายมือชื่อนายอิน ผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็คของโจทก์นำไปเรียกเก็บเงินจากบัญชีของโจทก์ได้ถึง 43 ฉบับ ในช่วงระยะเวลานาน 3 ปี ระหว่างวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2548 ถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551 เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ละเลยไม่ระมัดระวังในการเก็บรักษาควบคุมดูแลแบบพิมพ์เช็คพิพาทและตราประทับของโจทก์ รวมทั้งไม่มีมาตรการในการตรวจสอบเพื่อป้องกันมิให้มีการนำแบบพิมพ์เช็คพิพาทไปปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายแล้วใช้ตราประทับของโจทก์ประทับลงในเช็คพิพาทนำไปเบิกเงินจากจำเลยที่ 3 แต่อย่างใด ทั้งจำเลยที่ 3 ได้ส่งรายการเดินบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ให้แก่โจทก์ทราบทุกเดือน หากโจทก์มีมาตรการการตรวจสอบที่ดี ก็จะทราบถึงความผิดปกติในการใช้เช็คเบิกเงินออกจากบัญชีของโจทก์และสามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาที่รวดเร็วกว่านี้ แต่โจทก์กลับปล่อยปละไม่ตรวจสอบจนเวลาล่วงมาถึง 3 ปี จึงทราบเหตุละเมิดดังกล่าว ถือได้ว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย ดังนั้นการกำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใด ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 223 วรรคหนึ่ง, 438 และ 442 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดให้จำเลยที่ 3 รับผิดต่อโจทก์เป็นเงิน 31,521,668.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จจึงเหมาะสมแล้ว ฎีกาในประการนี้ของจำเลยที่ 3 และของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า หนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในคดีนี้เป็นมูลหนี้ละเมิดที่จำเลยที่ 1 กระทำขึ้นแต่ฝ่ายเดียวเป็นการเฉพาะตัว โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้มีส่วนร่วมรู้เห็นในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ และมูลหนี้ละเมิดไม่อาจให้สัตยาบันได้ ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะนำเงินที่ได้จากการทำละเมิดต่อโจทก์มาซื้อทรัพย์สินหรือฝากไว้ในธนาคารระบุชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของร่วมกัน ก็มิใช่หนี้ร่วมตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ ฎีกาในประการนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และโจทก์กับจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ