คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5323/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ทำนองว่า การที่โจทก์ที่ 3 ไม่บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 6 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างจึงขาดสาระสำคัญและศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ ทำให้การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดเพราะผลของการกระทำของจำเลยที่ 6 ลูกจ้างเป็นการนอกประเด็นตามคำฟ้องและประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งทำให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 ก็ตาม แต่ในชั้นฎีกาจำเลยที่ 1 อ้างว่าไม่ต้องรับผิดเพราะเหตุที่ฟ้องของโจทก์ที่ 3 ไม่ได้ตั้งข้อหาเพื่อเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะนายจ้างต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 6 กระทำในฐานะลูกจ้าง เป็นการบรรยายฟ้องไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์มาตรา 172 แห่ง ป.วิ.พ. เป็นฟ้องที่ไม่ชอบ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ประกอบกับในคดีผู้บริโภคไม่มีเรื่องคำฟ้องไม่ชัดแจ้งหรือฟ้องเคลือบคลุม เนื่องจาก พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 20 ให้ศาลมีอำนาจแก้ไขได้ หากศาลเห็นว่าคำฟ้องนั้นไม่ถูกต้องหรือขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ทั้งไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่คู่ความจะมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหานี้ตามมาตรา 225 วรรคหนึ่ง, 252 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 51 ปัญหานี้จำเลยที่ 1 จะได้รับอนุญาตให้ฎีกา แต่เมื่อเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาก็ไม่อาจวินิจฉัยให้ได้
แม้ข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ที่ 1 ว่า นับแต่เกิดเหตุ โจทก์ที่ 3 ไม่สามารถช่วยเหลือตนเอง พูดไม่ได้ ไม่สามารถทำตามคำสั่ง ไม่สามารถกินอาหารหรือลุกไปขับถ่ายด้วยตนเอง ปัจจุบันโจทก์ที่ 3 อยู่ในการดูแลรักษาของสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ แต่ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งศาลให้โจทก์ที่ 3 เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถก็ต้องถือว่าโจทก์ที่ 3 เป็นบุคคลที่มีความสามารถตามกฎหมาย ประกอบกับในการดำเนินคดีนี้ของโจทก์ที่ 3 ผู้เยาว์ มีโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาผู้ใช้อำนาจปกครองดำเนินคดีแทนมาตั้งแต่ต้น และตามคำฟ้อง โจทก์ที่ 2 แสดงชัดแจ้งว่าโจทก์ที่ 2 ฟ้องจำเลยทั้งหกในสองฐานะคือในฐานะส่วนตัวกับในฐานะที่เป็นมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ที่ 3 ผู้เยาว์ จึงเป็นคำฟ้องของโจทก์ที่ 3 โดยโจทก์ที่ 2 ผู้เป็นมารดาฟ้องแทนอีกด้วย กรณีจึงเป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยความสามารถของบุคคลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 แล้ว ไม่มีความจำเป็นที่ศาลจะต้องมีคำสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถของโจทก์ที่ 3 อีก
เหตุความเสียหายแก่ร่างกายและจิตใจของโจทก์ที่ 3 ในคดีนี้เกิดขึ้นจากการที่โจทก์ที่ 3 เรียนวิชาว่ายน้ำซึ่งเป็นวิชาบังคับที่อยู่ในความควบคุมดูแลของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เกิดเหตุและจำเลยที่ 6 เป็นครูผู้สอน จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับใบอนุญาต จำเลยที่ 3 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้รับใบอนุญาต จำเลยที่ 4 เป็นผู้จัดการ และจำเลยที่ 5 เป็นผู้อำนวยการของโรงเรียนจำเลยที่ 1 อันเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการให้บริการหรือมาตรฐานในการเรียนการสอนที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของจำเลยทั้งหกซึ่งเป็นฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 29 ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5
จำเลยทั้งหกไม่อาจพิสูจน์ได้ว่า ในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้มีการให้บริการหรือดำเนินการตามมาตรฐานในการเรียนการสอนวิชาว่ายน้ำแก่เด็กเล็กตามภาระการพิสูจน์ และเมื่อตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 24 กำหนดให้จำเลยที่ 2 ผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้แทนของนิติบุคคลโรงเรียนจำเลยที่ 1 มีอำนาจในการแต่งตั้งผู้อำนวยการเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบการบริหารจัดการโรงเรียน แต่งตั้งผู้จัดการเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบงานด้านงบประมาณและการบริหารงานทั่วไป ตามมาตรา 37 และ 40 อันเป็นสถานะเจ้าของโรงเรียน จำเลยที่ 4 เป็นผู้จัดการมีหน้าที่และความรับผิดชอบด้านงานงบประมาณและการบริหารงานทั่วไปของโรงเรียนตามมาตรา 40 (1) และ (2) จำเลยที่ 5 เป็นผู้อำนวยการมีหน้าที่และความรับผิดชอบด้านวิชาการของโรงเรียน แต่งตั้งและถอดถอน ครู บุคลากรทางการศึกษา และเจ้าหน้าที่ของโรงเรียน ควบคุมปกครองครู บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนของโรงเรียน ตามมาตรา 39 (1) (2) และ (3) ทั้งจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ยังมีฐานะเป็นคณะกรรมการบริหารโรงเรียนโดยตำแหน่ง มีอำนาจหน้าที่ออกระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ของโรงเรียน ให้คำแนะนำการบริหารและการจัดการโรงเรียนด้านบุคลากร แผนงาน งบประมาณ วิชาการ กิจกรรมนักเรียน อาคารสถานที่ กำกับดูแลให้มีระบบการประกันคุณภาพภายในโรงเรียน ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการ ตามมาตรา 30 และ 31 (1) (2) (3) (4) และ (5) อันเป็นหน้าที่ควบคุมดูแลการบริหารกิจการโรงเรียนให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งรวมถึงความปลอดภัยของนักเรียนตามนโยบายการบริหารและเป็นหน้าที่โดยตรงตามกฎหมาย ส่วนการบริหารงานโรงเรียนจำเลยที่ 1 ในความเป็นจริงจำเลยที่ 2 หรือจำเลยที่ 5 จะมีการมอบหมายให้บุคคลอื่นทำแทนหรือมีการกำหนดอำนาจหน้าที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ก็เป็นเรื่องการบริหารภายในขององค์กรจำเลยที่ 1 เอง ไม่อาจลบล้างอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมายได้ ทั้งจำเลยที่ 2 ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 แต่งตั้งจำเลยที่ 3 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนตามมาตรา 41 เป็นเพราะจำเลยที่ 2 ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้เพราะเหตุใด จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จึงยังคงมีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 6 การที่จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ปล่อยปละละเลยให้การเรียนการสอนวิชาว่ายน้ำเด็กเล็กไม่เป็นไปตามคำสั่งและนโยบายโดยในชั่วโมงเรียนมีจำนวนครูผู้สอนไม่ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 6 ทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 3 การไม่กำกับดูแลให้มีพนักงานอยู่ประจำห้องที่ควบคุมกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเพื่อช่วยดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณสระว่ายน้ำ รวมถึงการคัดเลือกบุคลากรที่มีประสบการณ์ในการทำงานไม่เหมาะสมกับการดูแลเด็กเล็กในการเรียนการสอนวิชาว่ายน้ำ ซึ่งโดยสภาพย่อมคาดเห็นได้ว่าอาจเกิดภยันตรายได้ตลอดเวลา การละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนในกรณีเช่นนี้ย่อมถือได้ว่ามีส่วนประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 3 โดยตรง เป็นการละเมิดต่อโจทก์ที่ 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 แล้ว สำหรับจำเลยที่ 3 ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนจำเลยที่ 2 ผู้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 40 นั้น ย่อมถือเสมือนว่าเป็นผู้แทนนิติบุคคล ตามมาตรา 24 และมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดไว้เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 การกระทำใด ๆ ของจำเลยที่ 3 จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 กระทำด้วยตนเองและศาลได้วินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ที่ 3 แล้ว ประกอบกับจำเลยที่ 3 นำสืบว่า ไม่มีหน้าที่ในการบริหารกิจการจำเลยที่ 1 โดยมีหน้าที่เพียงแต่งตั้งหรือถอดถอนบุคลากรของจำเลยที่ 1 ตามที่คณะกรรมการบริหารจำเลยที่ 1 เสนอมาเท่านั้น ซึ่งโจทก์ทั้งสามไม่อาจหักล้างให้ฟังเป็นอย่างอื่น นอกจากนี้ยังไม่ปรากฏพฤติการณ์ใดที่แสดงว่าจำเลยที่ 3 กระทำการละเมิดเป็นส่วนตัวกับโจทก์ที่ 3 ด้วย จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 3
ขณะเกิดเหตุละเมิดโจทก์ที่ 3 ยังเป็นเด็กเล็กไม่สามารถทำงานได้ตามกฎหมายแรงงาน และก่อนหน้านั้นไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้มอบหน้าที่ให้โจทก์ที่ 3 ช่วยทำการงานหรือดำเนินกิจการในครัวเรือน โจทก์ที่ 3 จึงไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องทำงานให้เป็นคุณแก่ครัวเรือน กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 445 และมาตรา 1567 (3) ที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จะมีสิทธิเรียกค่าขาดแรงงานตามฟ้องได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินค่าใช้จ่ายอันโจทก์ทั้งสามต้องเสียไปนับถึงวันฟ้อง 448,859 บาท ค่าใช้จ่ายรายเดือนในการดูแลรักษาโจทก์ที่ 3 ต่อไปในอนาคตเดือนละ 47,898 บาท นับแต่วันฟ้องจนโจทก์ที่ 3 อายุ 60 ปี รวมเวลา 52 ปี 4 เดือนเศษ เป็นเงิน 29,888,352 บาท ค่าเสียหายเพื่อการเสียความสามารถประกอบการงานของโจทก์ที่ 3 โดยสิ้นเชิงในอนาคต เป็นเงิน 15,000 บาท ต่อเดือนตั้งแต่โจทก์ที่ 3 อายุ 22 ปี จนถึงอายุ 60 ปี เป็นเวลา 38 ปี เป็นเงิน 6,840,000 บาท ค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินที่ทำให้โจทก์ที่ 3 ต้องทนทุกข์ทรมาน เป็นผู้ทุพพลภาพสูญเสียความสามารถในการช่วยเหลือตนเองสูญเสียบุคลิกภาพไปตลอดชีวิต เป็นเงิน 10,000,000 บาท ค่าสินไหมทดแทนในการขาดแรงงานของบุคคลภายนอก หากโจทก์ที่ 3 ร่างกายปกติย่อมช่วยเหลือการงานแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้ เป็นเงินเดือนละ 500 บาท ตั้งแต่โจทก์ที่ 3 อายุ 14 ปี จนบรรลุนิติภาวะเป็นเงิน 36,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินค่าเสียหายรวม 47,213,211 บาท นับแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2556 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 3,442,630 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 47,213,211 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยทั้งหกเป็นผู้ประกอบธุรกิจให้บริการทางด้านการศึกษาแต่กระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้ประกอบธุรกิจอันเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ขอให้พิพากษาให้จำเลยทั้งหกร่วมกันจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริง
จำเลยทั้งหกให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 12,644,127.55 บาท แก่โจทก์ที่ 3 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 12,204,384 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 16 มิถุนายน 2557) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ร่วมกันชำระเงิน 32,182.19 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนด ค่าทนายความ 30,000 บาท ยกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำหรับจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ ทั้งนี้ศาลสงวนสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษาในส่วนของค่าเสียหายที่ต้องชำระแก่โจทก์ที่ 3 ภายใน 3 ปี นับแต่วันพิพากษา
โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันชำระเงิน 12,695,619.05 บาท แก่โจทก์ที่ 3 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 12,252,384 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 16 มิถุนายน 2557) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นที่โจทก์ทั้งสามได้รับการยกเว้นโดยให้นำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ กับให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ 3 จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ฎีกาโดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 3 ขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 3 อายุ 6 ปี 7 เดือน เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชน มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับใบอนุญาต จำเลยที่ 3 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 4 เป็นผู้จัดการ จำเลยที่ 5 เป็นผู้อำนวยการ จำเลยที่ 6 เป็นครูสอนว่ายน้ำของโรงเรียนจำเลยที่ 1 วันที่ 27 มิถุนายน 2556 โจทก์ที่ 3 เรียนวิชาว่ายน้ำที่สระว่ายน้ำของโรงเรียนร่วมกับเพื่อนชั้นเรียนเดียวกัน โดยมีจำเลยที่ 6 เป็นครูผู้สอน ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 6 ละเลยต่อหน้าที่ปล่อยให้โจทก์ที่ 3 และเพื่อนนักเรียนซึ่งเป็นเด็กเล็กเล่นน้ำอยู่ในสระเพียงลำพังโดยมิได้ฝากให้บุคคลอื่นดูแลอันเป็นความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 3 จมน้ำได้รับอันตรายสาหัสไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ และจำเลยที่ 6 กระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างต้องร่วมรับผิดด้วย โดยจำเลยที่ 1 และที่ 6 ไม่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาในประเด็นนี้จึงยุติ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาประการแรกว่า คำฟ้องไม่ได้บรรยายว่าจำเลยที่ 6 กระทำละเมิดในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 6 หรือไม่ เห็นว่า ในปัญหานี้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ จึงไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี แม้จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ทำนองว่า การที่โจทก์ที่ 3 ไม่บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 6 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างจึงขาดสาระสำคัญและศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ ทำให้การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดเพราะผลของการกระทำของจำเลยที่ 6 ลูกจ้างเป็นการนอกประเด็นตามคำฟ้องและประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งทำให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 ก็ตาม แต่ในชั้นฎีกาจำเลยที่ 1 อ้างว่าไม่ต้องรับผิดเพราะเหตุที่ฟ้องของโจทก์ที่ 3 ไม่ได้ตั้งข้อหาเพื่อเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะนายจ้างต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 6 กระทำในฐานะลูกจ้าง เป็นการบรรยายฟ้องไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์มาตรา 172 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เป็นฟ้องที่ไม่ชอบ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ประกอบกับในคดีผู้บริโภคไม่มีเรื่องคำฟ้องไม่ชัดแจ้งหรือฟ้องเคลือบคลุม เนื่องจากพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 20 ให้ศาลมีอำนาจแก้ไขได้ หากศาลเห็นว่าคำฟ้องนั้นไม่ถูกต้องหรือขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ทั้งไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่คู่ความจะมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหานี้ตามมาตรา 225 วรรคหนึ่ง, 252 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 51 แม้ปัญหานี้จำเลยที่ 1 จะได้รับอนุญาตให้ฎีกา แต่เมื่อเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาก็ไม่อาจวินิจฉัยให้ได้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาประการต่อไปว่า โจทก์ที่ 3 เป็นบุคคลไร้ความสามารถจึงไม่มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีหรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ที่ 1 ว่า นับแต่เกิดเหตุ โจทก์ที่ 3 ไม่สามารถช่วยเหลือตนเอง พูดไม่ได้ ไม่สามารถทำตามคำสั่ง ไม่สามารถกินอาหารหรือลุกไปขับถ่ายด้วยตนเอง ปัจจุบันโจทก์ที่ 3 อยู่ในการดูแลรักษาของสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ แต่ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งศาลให้โจทก์ที่ 3 เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถก็ต้องถือว่าโจทก์ที่ 3 เป็นบุคคลที่มีความสามารถตามกฎหมาย ประกอบกับในการดำเนินคดีนี้ของโจทก์ที่ 3 ผู้เยาว์ มีโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาผู้ใช้อำนาจปกครองดำเนินคดีแทนมาตั้งแต่ต้น และตามคำฟ้อง โจทก์ที่ 2 แสดงชัดแจ้งว่าโจทก์ที่ 2 ฟ้องจำเลยทั้งหกในสองฐานะคือในฐานะส่วนตัวกับในฐานะที่เป็นมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ที่ 3 ผู้เยาว์ จึงเป็นคำฟ้องของโจทก์ที่ 3 โดยโจทก์ที่ 2 ผู้เป็นมารดาฟ้องแทนอีกด้วย กรณีจึงเป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยความสามารถของบุคคลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 แล้ว ไม่มีความจำเป็นที่ศาลจะต้องมีคำสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถของโจทก์ที่ 3 อีก ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 3 และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาไปพร้อมกันในประการต่อไปว่า จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้แทนผู้รับมอบใบอนุญาตและในฐานะกรรมการบริหารโรงเรียนต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ และศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมรับผิดต่อโจทก์ชอบหรือไม่ เห็นว่า เหตุความเสียหายแก่ร่างกายและจิตใจของโจทก์ที่ 3 ในคดีนี้เกิดขึ้นจากการที่โจทก์ที่ 3 เรียนวิชาว่ายน้ำซึ่งเป็นวิชาบังคับที่อยู่ในความควบคุมดูแลของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เกิดเหตุและจำเลยที่ 6 เป็นครูผู้สอน จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับใบอนุญาต จำเลยที่ 3 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้รับใบอนุญาต จำเลยที่ 4 เป็นผู้จัดการ และจำเลยที่ 5 เป็นผู้อำนวยการของโรงเรียนจำเลยที่ 1 อันเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการให้บริการหรือมาตรฐานในการเรียนการสอนที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของจำเลยทั้งหกซึ่งเป็นฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 29 ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 คดีนี้แม้ตามสำนวนจะไม่ปรากฏมาตรฐานตามกฎหมายว่า ในการเรียนการสอนวิชาว่ายน้ำเด็กเล็ก โรงเรียนที่จัดให้มีการเรียนการสอนจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง แต่เมื่อได้ความจากทางนำสืบของฝ่ายจำเลยข้างต้นว่า โรงเรียนจำเลยที่ 1 ได้กำหนดมาตรฐานในการเรียนการสอนวิชาว่ายน้ำไว้ว่า ให้มีครูผู้สอนประจำคาบเรียน 2 คน และพนักงานดูแลสระว่ายน้ำ 1 คน และมีการกำหนดแนวทางการเรียนวิชาว่ายน้ำไว้ โดยจำเลยที่ 1 ได้คัดเลือกบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์ในการสอนว่ายน้ำ สระว่ายน้ำมีมาตรฐานสำหรับใช้ในการเรียนการสอนเด็กเล็ก รวมทั้งได้จัดให้มีอุปกรณ์โฟมลอยน้ำ ห่วงยาง สำหรับช่วยชีวิต และมีกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเพื่อรักษาความปลอดภัยในระหว่างการเรียนการสอน จึงต้องถือเอามาตรฐานในการเรียนการสอนวิชาว่ายน้ำที่โรงเรียนจำเลยที่ 1 กำหนดไว้เป็นแนวทางในการวินิจฉัยตามภาระการพิสูจน์ ซึ่งได้ความว่าการที่จำเลยที่ 1 คัดเลือกจำเลยที่ 6 ซึ่งจบการศึกษาเพียงหลักสูตรวิชาพลศึกษาโดยไม่ได้ผ่านการฝึกสอนและอบรมวิธีการสอนการว่ายน้ำหรือปฐมพยาบาลมาเป็นครูผู้สอนวิชาว่ายน้ำย่อมไม่ใช่มาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับการเรียนที่เหมาะสม ประกอบกับข้อเท็จจริงยุติโดยจำเลยที่ 6 ไม่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยที่ 6 ละเลยต่อหน้าที่ปล่อยให้โจทก์ที่ 3 และเพื่อนนักเรียนซึ่งเป็นเด็กเล็กเล่นน้ำอยู่ในสระเพียงลำพังโดยมิได้ฝากให้บุคคลอื่นดูแลอันเป็นความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 3 จมน้ำได้รับอันตรายสาหัส อันแสดงถึงผลโดยตรงของการคัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ว่ายังไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะดูแลรักษาความปลอดภัยในการเรียนการสอนวิชาว่ายน้ำของนักเรียนที่เป็นเด็กเล็กได้ นอกจากนี้ในการรักษาความปลอดภัย แม้จะปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้จัดให้มีกล้องโทรทัศน์วงจรปิดรักษาความปลอดภัยบริเวณสระว่ายน้ำ แต่ทางนำสืบของฝ่ายจำเลยกลับไม่ปรากฏว่าในขณะเกิดเหตุมีพนักงานของจำเลยที่ 1 คนใดได้เฝ้าสังเกตการณ์เพื่อรักษาความปลอดภัยในขณะที่มีการเรียนการสอน แสดงให้เห็นว่ามาตรการดังกล่าวไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างจริงจังในทางปฏิบัติ ส่วนที่ฝ่ายจำเลยอ้างว่า เครื่องเล่นเทปที่บันทึกภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดถูกคนร้ายลักไปไม่สามารถนำส่งเป็นพยานหลักฐานต่อศาลได้ ก็ไม่ปรากฏว่ามีการแจ้งความไว้ต่อเจ้าพนักงานตำรวจจึงเป็นพิรุธ ทั้งที่ฝ่ายจำเลยน่าจะทราบดีว่าภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่อาจทำให้ศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 6 ไม่เป็นการละเมิดได้ ตามพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้มีการกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับการเรียนการสอนวิชาว่ายน้ำไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติกลับปล่อยปละละเลยไม่ได้ควบคุมดูแลตามวิสัยและพฤติการณ์ให้เกิดการนำมาปฏิบัติหรือใช้บังคับอย่างจริงจังจนเกิดเหตุละเมิดต่อโจทก์ที่ 3 จำเลยทั้งหกจึงไม่อาจพิสูจน์ได้ว่า ในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้มีการให้บริการหรือดำเนินการตามมาตรฐานในการเรียนการสอนวิชาว่ายน้ำแก่เด็กเล็กตามภาระการพิสูจน์ และเมื่อตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 24 กำหนดให้จำเลยที่ 2 ผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้แทนของนิติบุคคลโรงเรียนจำเลยที่ 1 มีอำนาจในการแต่งตั้งผู้อำนวยการเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบการบริหารจัดการโรงเรียน แต่งตั้งผู้จัดการเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบงานด้านงบประมาณและการบริหารงานทั่วไป ตามมาตรา 37 และ 40 อันเป็นสถานะเจ้าของโรงเรียน จำเลยที่ 4 เป็นผู้จัดการมีหน้าที่และความรับผิดชอบด้านงานงบประมาณและการบริหารงานทั่วไปของโรงเรียน ตามมาตรา 40 (1) และ (2) จำเลยที่ 5 เป็นผู้อำนวยการมีหน้าที่และความรับผิดชอบด้านวิชาการของโรงเรียน แต่งตั้งและถอดถอน ครู บุคลากรทางการศึกษา และเจ้าหน้าที่ของโรงเรียน ควบคุมปกครองครู บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนของโรงเรียน ตามมาตรา 39 (1) (2) และ (3) ทั้งจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ยังมีฐานะเป็นคณะกรรมการบริหารโรงเรียนโดยตำแหน่ง มีอำนาจหน้าที่ออกระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ของโรงเรียน ให้คำแนะนำการบริหารและการจัดการโรงเรียนด้านบุคลากร แผนงาน งบประมาณ วิชาการ กิจกรรมนักเรียน อาคารสถานที่ กำกับดูแลให้มีระบบการประกันคุณภาพภายในโรงเรียน ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการ ตามมาตรา 30 และ 31 (1) (2) (3) (4) และ (5) อันเป็นหน้าที่ควบคุมดูแลการบริหารกิจการโรงเรียนให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยซึ่งรวมถึงความปลอดภัยของนักเรียนตามนโยบายการบริหารและเป็นหน้าที่โดยตรงตามกฎหมาย ส่วนการบริหารงานโรงเรียนจำเลยที่ 1 ในความเป็นจริงจำเลยที่ 2 หรือจำเลยที่ 5 จะมีการมอบหมายให้บุคคลอื่นทำแทนหรือมีการกำหนดอำนาจหน้าที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ก็เป็นเรื่องการบริหารภายในขององค์กรจำเลยที่ 1 เอง ไม่อาจลบล้างอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมายได้ ทั้งจำเลยที่ 2 ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 แต่งตั้งจำเลยที่ 3 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนตามมาตรา 41 เป็นเพราะจำเลยที่ 2 ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้เพราะเหตุใด จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จึงยังคงมีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 6 การที่จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ปล่อยปละละเลยให้การเรียนการสอนวิชาว่ายน้ำเด็กเล็กไม่เป็นไปตามคำสั่งและนโยบายโดยในชั่วโมงเรียนมีจำนวนครูผู้สอนไม่ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 6 ทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 3 การไม่กำกับดูแลให้มีพนักงานอยู่ประจำห้องที่ควบคุมกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเพื่อช่วยดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณสระว่ายน้ำ รวมถึงการคัดเลือกบุคลากรที่มีประสบการณ์ในการทำงานไม่เหมาะสมกับการดูแลเด็กเล็กในการเรียนการสอนวิชาว่ายน้ำซึ่งโดยสภาพย่อมคาดเห็นได้ว่าอาจเกิดภยันตรายได้ตลอดเวลา การละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนในกรณีเช่นนี้ย่อมถือได้ว่ามีส่วนประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 3 โดยตรง เป็นการละเมิดต่อโจทก์ที่ 3 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 แล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น สำหรับจำเลยที่ 3 ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนจำเลยที่ 2 ผู้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 40 นั้น ย่อมถือเสมือนว่าเป็นผู้แทนนิติบุคคล ตามมาตรา 24 และมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดไว้เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 การกระทำใด ๆ ของจำเลยที่ 3 จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 กระทำด้วยตนเองและศาลได้วินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ที่ 3 แล้ว ประกอบกับจำเลยที่ 3 นำสืบว่า ไม่มีหน้าที่ในการบริหารกิจการจำเลยที่ 1 โดยมีหน้าที่เพียงแต่งตั้งหรือถอดถอนบุคลากรของจำเลยที่ 1 ตามที่คณะกรรมการบริหารจำเลยที่ 1 เสนอมาเท่านั้น ซึ่งโจทก์ทั้งสามไม่อาจหักล้างให้ฟังเป็นอย่างอื่น นอกจากนี้ยังไม่ปรากฏพฤติการณ์ใดที่แสดงว่าจำเลยที่ 3 กระทำการละเมิดเป็นส่วนตัวกับโจทก์ที่ 3 ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ไม่ให้จำเลยที่ 3 รับผิดมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาต่อไปว่า การที่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยเรื่องค่าขาดแรงงานในครัวเรือนชอบหรือไม่ เห็นว่า ค่าเสียหายที่เป็นค่าขาดแรงงานในครัวเรือนนี้ ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 รับผิดแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นเงิน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 อุทธรณ์โต้แย้งว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 3 อายุ 6 ปี 7 เดือน ยังไม่สามารถทำงานในครัวเรือนของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้ จึงไม่ต้องรับผิด การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยในประเด็นนี้จึงไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ฟังขึ้น แต่เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้วจึงเห็นควรวินิจฉัยปัญหานี้ตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก่อน สำหรับค่าเสียหายในส่วนนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 445 และมาตรา 1567 (3) แสดงให้เห็นว่า หากบิดาหรือมารดาซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองได้มอบหน้าที่ให้บุตรทำการงานอันใดอันหนึ่งในครัวเรือนแล้วปรากฏว่ามีบุคคลใดทำละเมิดต่อชีวิตหรือร่างกายของบุตรซึ่งมีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องทำการงานให้แก่บิดามารดา ผู้ทำละเมิดจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคือค่าขาดแรงงานในครัวเรือนให้แก่บิดามารดาที่ต้องขาดแรงงานนั้นด้วย แต่เมื่อคดีนี้ขณะเกิดเหตุละเมิดโจทก์ที่ 3 ยังเป็นเด็กเล็กไม่สามารถทำงานได้ตามกฎหมายแรงงาน และก่อนหน้านั้นไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้มอบหน้าที่ให้โจทก์ที่ 3 ช่วยทำการงานหรือดำเนินกิจการในครัวเรือน โจทก์ที่ 3 จึงไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องทำงานให้เป็นคุณแก่ครัวเรือน กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 445 ที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จะมีสิทธิเรียกค่าขาดแรงงานตามฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 มาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาต่อไปว่า ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนสูงมากไม่เหมาะสมหรือไม่ เห็นว่า ในคดีละเมิดการกำหนดค่าสินไหมทดแทนที่จะพึงใช้โดยสถานใด เพียงใดนั้น ให้ศาลพิจารณาตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 สำหรับค่าเครื่องผลิตออกซิเจน เห็นได้ว่า จากการทำละเมิดส่งผลให้โจทก์ที่ 3 ได้รับอันตรายที่สมองโดยตรงและต้องมีการฟื้นฟูโดยทำกายภาพบำบัดเพื่อส่งผลไปยังสมอง เครื่องผลิตออกซิเจนย่อมเป็นอุปกรณ์สำคัญที่จะช่วยระบบการหายใจของโจทก์ที่ 3 ให้สะดวกขึ้นและทำให้การฟื้นฟูสมองทำได้ดีขึ้น ทั้งยังช่วยประคับประคองการมีชีวิตของโจทก์ที่ 3 ต่อไปในอนาคตไม่ให้ได้รับความลำบากมาก แม้โจทก์ที่ 3 จะไม่มีหลักฐานที่อ้างว่าได้ซื้อมาเพื่อใช้ในการรักษาพยาบาลมาแสดง แต่เมื่อเครื่องผลิตออกซิเจนเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในการรักษาพยาบาลโจทก์ที่ 3 จึงเชื่อว่าโจทก์ที่ 3 ต้องเสียค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปจริง ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ที่ 3 จึงชอบแล้ว ส่วนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าพาหนะและค่าเดินทางในระหว่างพักรักษาของโจทก์ที่ 3 นั้น การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้ฝ่ายจำเลยรับผิดอีกจำนวน 120,000 บาท จึงซ้ำซ้อนกันดังข้ออ้างของฝ่ายจำเลย ศาลฎีกาเห็นควรไม่กำหนดให้ สำหรับค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาโจทก์ที่ 3 ในอนาคต แม้ปัจจุบันโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบิดามารดาจะเป็นผู้ดูแลโจทก์ที่ 3 แต่น่าเชื่อว่าเป็นเพราะสาเหตุที่โจทก์ที่ 3 ยังเป็นเด็กเล็กและมีสภาพทางสมองพิการต้องเจาะคอใส่ท่อช่วยหายใจและเจาะท้องใส่ท่ออาหารย่อมต้องการความเอาใจใส่ดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้บิดามารดาย่อมเป็นผู้ดูแลได้ดีที่สุดโดยจะเห็นได้จากการที่โจทก์ที่ 2 ต้องลาออกจากงานมาเพื่อดูแลโดยเฉพาะ ประกอบกับค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นค่าเสียหายโดยตรงจากการทำละเมิดและเกิดขึ้นจริงได้ในอนาคต หากโจทก์ที่ 3 มีอาการดีขึ้นพอสมควรจนโจทก์ที่ 2 สามารถกลับไปทำงานเลี้ยงชีพได้ตามปกติหรือโจทก์ที่ 3 มีอาการแย่ลงจนโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถดูแลโดยลำพังได้ การจ้างผู้ดูแลจึงมีความจำเป็น ทั้งการรักษาโจทก์ที่ 3 โดยใช้วิธีกายภาพบำบัดเป็นสิ่งที่จำเป็นตามคำแนะนำของแพทย์ บางครั้งอาจต้องใช้นักกายภาพบำบัดที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะตามสภาพร่างกายของโจทก์ที่ 3 ในขณะนั้น การที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ยังไม่มีการว่าจ้างผู้ดูแลหรือนักกายภาพบำบัดโจทก์ที่ 3 ในปัจจุบัน จึงไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่ 3 ที่จะได้รับค่าเสียหายในส่วนนี้หมดไป เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด สภาพร่างกายของโจทก์ที่ 3 ที่เจ็บป่วยเป็นคนมีภาวะสมองพิการติดตัว วิธีการรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ ระยะเวลาการรักษาที่คาดว่าจะใช้เวลานานเป็นพิเศษหรืออาจถึงตลอดชีวิต และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจสังคมในปัจจุบันที่นับวันมีแต่จะสูงขึ้น ประกอบกับศาลชั้นต้นยังไม่กำหนดค่าเตียงคนไข้และค่าใช้จ่ายรายการที่ซ้ำกัน ให้ฝ่ายจำเลยต้องรับผิดด้วยแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายเป็นค่าดูแลรักษาให้แก่โจทก์ที่ 3 ในอนาคตเดือนละ 30,000 บาท เป็นเวลา 20 ปี นับว่าเป็นจำนวนและระยะเวลาที่เหมาะสมแล้ว สำหรับค่าทนทุกข์ทรมานอันเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินและค่าเสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงในอนาคตของโจทก์ที่ 3 นั้น เห็นว่า การที่โจทก์ที่ 3 ได้รับบาดเจ็บมีภาวะสมองพิการและแพทย์หญิงอาภาศรีประเมินว่าไม่น่าจะหายเป็นปกติ โจทก์ที่ 3 จึงต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายปีหรืออาจถึงตลอดชีวิต เสียโอกาสที่จะเจริญเติบโตในสภาพร่างกายที่สมบูรณ์เหมือนเด็กทั่วไป ต้องเจ็บปวดทนทุกข์ทรมานเป็นอันมาก เป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินซึ่งโจทก์ที่ 3 มีสิทธิเรียกได้จากฝ่ายจำเลยผู้ทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446 วรรคหนึ่ง ส่วนค่าเสียหายที่เป็นค่าประกอบการงานสิ้นเชิงในอนาคตของโจทก์ที่ 3 นั้น แม้โจทก์ที่ 3 ยังเป็นเด็กและไม่สามารถช่วยตัวเองได้ แต่การที่โจทก์ที่ 3 มีภาวะสมองพิการย่อมทำให้โจทก์ที่ 3 สูญเสียความสามารถที่จะประกอบอาชีพต่อไปได้โดยสิ้นเชิง โจทก์ที่ 3 จึงได้รับความเสียหายและมีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444 โดยไม่คำนึงว่าจะต้องมีอาชีพแต่อย่างใด สำหรับข้ออ้างของฝ่ายจำเลยที่ว่า หลังเกิดเหตุฝ่ายจำเลยได้พาโจทก์ที่ 3 ไปส่งโรงพยาบาลทันที ติดตามดูแลเอาใจใส่รวมถึงออกค่าใช้จ่ายหรือค่ารักษาพยาบาล พฤติการณ์จึงไม่ร้ายแรงนั้น เมื่อเหตุละเมิดเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 6 บุคลากรโรงเรียนจำเลยที่ 1 การแก้ไขหรือบรรเทาความเสียหายย่อมเป็นสิ่งที่ฝ่ายจำเลยควรจะต้องกระทำตามหน้าที่ความรับผิดชอบและศีลธรรมจรรยา และเป็นเพียงเหตุหนึ่งที่ศาลจะนำมาประกอบดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดเท่านั้น ประกอบกับในการกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 3 ศาลชั้นต้นได้นำเหตุดังกล่าวมาพิจารณาก่อนกำหนดค่าเสียหายแล้ว กับทั้งค่าเสียความสามารถประกอบการงานในอนาคตเดือนละ 9,000 บาท เป็นเวลา 15 ปี ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดมานั้นก็ใกล้เคียงกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายและน้อยกว่าระยะเวลาที่โจทก์ที่ 3 เรียกร้องตามคำฟ้องมากเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายจำเลยอยู่แล้ว นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงการที่โจทก์ที่ 3 ถูกทำละเมิดจนสมองพิการติดตัว ต้องเจาะคอใส่ท่อช่วยหายใจและเจาะท้องใส่ท่ออาหาร มีอาการเกร็งชักจากภาวะสมองที่ผิดปกติต้องรักษาด้วยการกินยาแก้เกร็งและชักไปตลอด และต้องทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่องนั้น สภาพร่างกายดังกล่าวที่เกิดกับเด็กที่มีอายุไม่เกิน 7 ปี โดยสามัญสำนึกย่อมเห็นได้ว่า โจทก์ที่ 3 ได้รับความทนทุกข์ทรมานแสนสาหัสที่ต้องอยู่ในสภาพแบบนี้ไปตลอดชีวิตประกอบด้วยแล้ว จำนวนค่าเสียหายของค่าเสียความสามารถประกอบการงานและค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 รับผิดมานั้นจึงเหมาะสมทั้งจำนวนและระยะเวลาแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 3 รวมเป็นเงิน 12,132,384 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 882,506.29 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 13,014,890.29 บาท หักด้วยเงินจำนวน 448,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 จ่ายเป็นค่าพาหนะและค่าพยาบาลให้โจทก์ที่ 2 ในฐานะมารดาโจทก์ที่ 3 เหลือจำนวนที่ต้องรับผิด 12,566,890.29 บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัด ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 3 ที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาประการสุดท้ายว่า จำเลยทั้งหกต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษแก่โจทก์ที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า เหตุที่โจทก์ที่ 3 จมน้ำเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 6 เท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าจำเลยที่ 6 ยังมีความหวังดีต่อนักเรียนและต้องการสั่งสอนนักเรียนให้มีวิชาความรู้เหมือนครูทั่วไป ดังจะเห็นได้จากกรณีไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีนักเรียนคนอื่น ๆ ได้รับอันตรายจากการเรียนวิชาว่ายน้ำด้วย จึงไม่ใช่การจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ประกอบกับหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ก็ได้ช่วยเหลือโจทก์ที่ 3 ในการติดต่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลและจำเลยที่ 1 ก็ได้ช่วยออกค่าใช้จ่ายที่เป็นค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์ที่ 3 และค่าใช้จ่ายอื่นๆตลอดมาเป็นจำนวนมากพอสมควร ไม่ได้ทอดทิ้งให้โจทก์ทั้งสามเผชิญปัญหาที่เกิดขึ้นเพียงลำพัง แม้การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จะไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 6 หรือจัดให้มีพนักงานควบคุมดูแลรักษาความปลอดภัยอยู่ประจำห้องโทรทัศน์วงจรปิดให้เป็นไปตามคำสั่งและนโยบาย หรือคัดเลือกบุคลากรไม่เหมาะสมกับวิชาว่ายน้ำของเด็กเล็กที่มีการเปิดการเรียนการสอน แต่ก็ไม่ถึงกับมีลักษณะเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายเพราะเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ยังมีความปรารถนาดีต่อนักเรียนทุกคนให้ได้รับการสั่งสอนวิชาความรู้ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจอันเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ประกอบกับจำเลยที่ 1 มีการเปิดการเรียนการสอนมาเป็นเวลาเกือบ 27 ปี โดยไม่ปรากฏข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการประพฤติมิชอบหรือก่อความเสียหายให้เกิดแก่นักเรียนหรือผู้ปกครองซึ่งเป็นผู้บริโภคต่อหน่วยงานราชการที่ควบคุมดูแล การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานการเรียนการสอนที่กำหนดไว้เคร่งครัดจึงเป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อธรรมดา ที่ศาลอุทธรณ์ไม่กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่โจทก์ที่ 3 จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ที่ 3 ฟังไม่ขึ้น สำหรับปัญหาข้ออื่นตามฎีกาของโจทก์ที่ 3 และฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 เมื่อไม่ได้รับอนุญาตให้ฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ร่วมกันชำระเงิน 12,566,890.29 บาท แก่โจทก์ที่ 3 พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 12,132,384 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยศาลสงวนสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษาภายในกำหนดสามปีนับแต่วันพิพากษา ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลระหว่างโจทก์ที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ให้เป็นพับ และค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีการะหว่างโจทก์ที่ 3 กับจำเลยทั้งหกให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share