คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4566/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีระหว่างผู้ร้องสอดกับจำเลยทั้งสองบังคับให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดแล้ว จึงถือได้ว่าผู้ร้องสอดอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนของตนได้ก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 มีสิทธิที่จะได้รับโอนที่ดินพิพาทก่อน อันเป็นทรัพยสิทธิที่สามารถใช้ยันบุคคลภายนอกได้ทั่วไป ผลของคำพิพากษาคดีนี้อาจมีผลกระทบสิทธิในการบังคับคดีของผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดเป็นผู้มีส่วนได้เสียในมูลความแห่งคดีนี้ และมีความจำเป็นที่จะต้องร้องสอดเข้ามาเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิที่มีอยู่ คำร้องของผู้ร้องสอดต้องด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 57 (1) ผู้ร้องสอดจึงมีสิทธิเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้
ในชั้นบังคับคดีของคดีก่อนมีประเด็นว่า ผู้ร้องสอดมีสิทธิบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาได้เพียงใด ส่วนคดีนี้มีประเด็นว่า จำเลยทั้งสองต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินหรือไม่ เป็นคนละประเด็นกัน คู่ความทั้งสองคดีก็ไม่ใช่รายเดียวกัน โดยโจทก์ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
โจทก์และจำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1083 และ 1084 เนื้อที่รวม 44 ไร่เศษ โจทก์ได้รับโอนที่ดิน เนื้อที่ 12 ไร่ แล้ว คงเหลือที่ดินอีก 32 ไร่เศษ ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งสองได้ทำบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน โดยบันทึกดังกล่าว ข้อ 2.1 ระบุว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองต่างทราบดีอยู่แล้วว่าที่ดินส่วนที่เหลือ 32 ไร่เศษ อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ในคดีระหว่างผู้ร้องสอดกับจำเลยทั้งสอง โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงว่าเมื่อคดีนี้ถึงที่สุดแล้ว จำเลยทั้งสองจะไปทำการโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ โดยจำเลยทั้งสองจะแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ข้อ 5.1 (ไม่น้อยกว่า 90 วัน) ข้อ 2.3 ระบุว่า หากคดีถึงที่สุดแล้ว ปรากฏว่าผู้ร้องสอดเป็นฝ่ายชนะคดี อันจะทำให้การโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายเป็นพ้นวิสัย โจทก์ยินยอมรับเงินค่ามัดจำตามสัญญาและตามบันทึกฉบับนี้คืน โดยไม่คิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสอง ดังนั้น เมื่อในคดีดังกล่าวศาลฎีกาได้พิพากษาให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเนื้อที่ 51 ไร่ 2 งาน 29 ตารางวา ให้แก่ผู้ร้องสอด จึงถือว่าผู้ร้องสอดชนะคดี แม้ที่ดินจะเหลือเพียง 32 ไร่เศษ ก็มิใช่กรณีที่ทำให้การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเสียทั้งหมด ถือได้ว่าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยแต่เพียงบางส่วน เมื่อที่ดินส่วนที่ยังเหลือ 32 ไร่เศษ ยังเป็นประโยชน์แก่ผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดย่อมมีสิทธิที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาในส่วนที่เหลือดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 218 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนายบำรุง ร่วมกันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1083 เนื้อที่ 13 ไร่ 1 งาน 37 ตารางวา และที่ดินโฉนดเลขที่ 1084 เนื้อที่ 19 ไร่ 1 งาน 91 ตารางวา ให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้จำเลยทั้งสองรับชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือ 133,600,000 บาท จากโจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้เพราะเหตุพ้นวิสัย ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินมัดจำพร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 75,041,095 บาท กับชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 20,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 765,430,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวบางส่วนให้แก่โจทก์ได้เพราะเหตุพ้นวิสัย ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงในส่วนที่อยู่ในวิสัยให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินตามราคาซื้อขายที่ดินในส่วนที่พ้นวิสัยที่จะโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ โดยให้โจทก์นำเงินที่จำเลยทั้งสองต้องคืนดังกล่าวหักออกจากราคาที่ดินที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยทั้งสองก่อน แล้วให้โจทก์ชำระราคาส่วนที่เหลือ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นราคาที่ดินส่วนที่เพิ่มขึ้นในส่วนของที่ดินที่จำเลยทั้งสองไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ได้ในราคาตารางวาละ 58,000 บาท หากจำเลยทั้งสองไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวแก่โจทก์ได้เพราะเหตุพ้นวิสัย หรือไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ได้เต็มตามเนื้อที่ดินทั้งหมดเพราะเหตุพ้นวิสัยและโอนกรรมสิทธิ์ได้เพียงบางส่วน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าปรับเป็นเงิน 81,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1)
โจทก์ไม่ยื่นคำให้การแก้คำร้องสอด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 101,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 81,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 8 ตุลาคม 2558) (ที่ถูก 29 กันยายน 2558) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ยกคำขออื่นและคำร้องของผู้ร้องสอด ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับผู้ร้องสอดให้เป็นพับ
โจทก์ จำเลยทั้งสองและผู้ร้องสอดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนและยกอุทธรณ์ของผู้ร้องสอด คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 200 บาท แก่ผู้ร้องสอด ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์อื่นนอกจากนี้ให้เป็นพับ
โจทก์ จำเลยทั้งสองและผู้ร้องสอดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของนายบำรุง ตามคำสั่งศาล โดยนายบำรุงมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 1083 และ 1084 ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกัน มีเนื้อที่รวม 63 ไร่ 2 งาน 29 ตารางวา และมีถนนนวลจันทร์ตัดผ่านแบ่งที่ดินออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 อยู่ด้านทิศตะวันตกเนื้อที่รวม 18 ไร่ 2 งาน 34 ตารางวา ส่วนที่ 2 อยู่ด้านทิศตะวันออกเนื้อที่รวม 44 ไร่ 3 งาน 95 ตารางวา เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2544 จำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเฉพาะส่วนที่ 1 ด้านทิศตะวันตก เนื้อที่ 18 ไร่ 2 งาน 34 ตารางวา ให้แก่พันตรีอาณันย์ แต่ไม่มีการปฏิบัติตามสัญญา วันที่ 4 กรกฎาคม 2544 จำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทั้งสองส่วนกับผู้ร้องสอด โดยจำเลยทั้งสองกันที่ดินในส่วนด้านทิศตะวันออกไว้ 12 ไร่ คงเหลือที่ดินที่จะซื้อจะขาย 51 ไร่ 2 งาน 29 ตารางวา ซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาทในคดีนี้ด้วย โดยที่ดินต้องมีส่วนที่ติดถนนนวลจันทร์ไม่น้อยกว่า 53 เมตร วันที่ 7 สิงหาคม 2544 พันตรีอาณันย์พาบริษัทปริญสิริ (2000) จำกัด มาทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทั้งสองแปลงกับจำเลยทั้งสอง โดยพันตรีอาณันย์และนางสาวสิริลักษณ์ เป็นผู้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยทั้งสอง ต่อมาวันที่ 25 ตุลาคม 2544 ผู้ร้องสอดฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนที่ 1 ด้านทิศตะวันตก เนื้อที่ 18 ไร่ 2 งาน 34 ตารางวา ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินให้แก่นางสาวสิริลักษณ์ ซึ่งบริษัทปริญสิริ (2000) จำกัด ได้นำที่ดินไปทำโครงการหมู่บ้านจัดสรรขายแก่บุคคลภายนอกแล้ว ทำให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 1083 คงเหลือเนื้อที่ 13 ไร่ 1 งาน 37 ตารางวา และที่ดินโฉนดเลขที่ 1084 คงเหลือเนื้อที่ 31 ไร่ 1 งาน 91 ตารางวา ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องผู้ร้องสอด กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินที่รับไว้ตามสัญญาพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้ร้องสอด ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2548 ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทั้งสองแปลงเนื้อที่ 44 ไร่เศษ ให้แก่โจทก์ โดยที่ดินแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ที่ดินโฉนดเลขที่ 1084 มีด้านหน้าติดถนนนวลจันทร์ โดยหน้ากว้างนับจากแนวเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 1083 มีหน้ากว้าง 53 เมตร ความยาววัดไปทางทิศใต้ให้ได้เนื้อที่ 12 ไร่ ราคาตารางวาละ 15,000 บาท เป็นเงิน 72,000,000 บาท และที่ดินส่วนที่เหลือของที่ดินโฉนดเลขที่ 1084 กับที่ดินทั้งหมดของที่ดินโฉนดเลขที่ 1083 เนื้อที่รวม 32 ไร่เศษ ราคาตารางวาละ 12,000 บาท เป็นเงิน 153,600,000 บาท มีข้อตกลงว่าโจทก์ชำระเงินมัดจำในวันทำสัญญา 27,000,000 บาท ส่วนราคาที่ดินที่เหลือของที่ดินส่วนเนื้อที่ 12 ไร่ 45,000,000 บาท จะชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ และโจทก์ตกลงชำระมัดจำสำหรับราคาที่ดินส่วนเนื้อที่ 32 ไร่เศษ อีก 20,000,000 บาท ภายใน 7 วัน นับแต่วันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเนื้อที่ 12 ไร่ จากนั้นจำเลยทั้งสองจะแจ้งกำหนดเวลาโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนเนื้อที่ 32 ไร่เศษ และโจทก์จะชำระราคาที่ดินที่เหลือในวันจดทะเบียนโอน ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ต่อมาวันที่ 15 และ 16 มีนาคม 2548 จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1084 ให้แก่โจทก์ถือกรรมสิทธิ์รวมเนื้อที่ 12 ไร่ โดยมีค่าตอบแทน ตามบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวม มีค่าตอบแทน และสำเนาโฉนดที่ดิน คงเหลือที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน 32 ไร่ 3 งาน 28 ตารางวา ต่อมาวันที่ 29 มีนาคม 2548 โจทก์และจำเลยทั้งสองทำบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินว่า เมื่อคดีที่ผู้ร้องสอดฟ้องจำเลยทั้งสองถึงที่สุดแล้ว จำเลยทั้งสองจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ หากคดีถึงที่สุดโดยผู้ร้องสอดเป็นฝ่ายชนะคดี อันทำให้การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายเป็นพ้นวิสัย โจทก์ยินยอมรับเงินค่ามัดจำคืนโดยไม่คิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสอง ตามบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ต่อมาคดีหมายเลขแดงที่ 1794/2546 ถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันดำเนินการยื่นขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1083 และ 1084 เนื้อที่ 51 ไร่ 2 งาน 29 ตารางวา โดยมีส่วนที่ติดถนนนวลจันทร์ไม่น้อยกว่า 53 เมตร แล้วจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนที่แบ่งแยกให้แก่ผู้ร้องสอดหรือบุคคลที่ผู้ร้องสอดกำหนดโดยปราศจากภาระผูกพัน และรับชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือ 240,400,000 บาท จากผู้ร้องสอด ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หากการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวตกเป็นพ้นวิสัย ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินมัดจำ 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นพิพากษา (วันที่ 18 เมษายน 2546) และร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 20,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 25 ตุลาคม 2544) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องสอด ก่อนศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาจำเลยทั้งสองมีหนังสือขอปรับราคาที่ดินเพิ่มขึ้นและบอกเลิกสัญญา โดยโจทก์ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องสอดว่า ผู้ร้องสอดมีสิทธิร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) หรือไม่ เห็นว่า การที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีหมายเลขดำที่ 5263/2544 หมายเลขแดงที่ 1794/2546 ของศาลชั้นต้น บังคับให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดแล้ว จึงถือได้ว่าผู้ร้องสอดอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนของตนได้ก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 มีสิทธิที่จะได้รับโอนที่ดินพิพาทก่อน อันเป็นทรัพยสิทธิที่สามารถใช้ยันบุคคลภายนอกได้ทั่วไป ผลของคำพิพากษาคดีนี้อาจมีผลกระทบสิทธิในการบังคับคดีของผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดเป็นผู้มีส่วนได้เสียในมูลความแห่งคดีนี้ และมีความจำเป็นที่จะต้องร้องสอดเข้ามาเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิที่มีอยู่ คำร้องของผู้ร้องสอดต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) ผู้ร้องสอดจึงมีสิทธิเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้ ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องสอดมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องสอดข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ในประเด็นที่จำเลยทั้งสองต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับชั้นบังคับคดีของคดีหมายเลขแดงที่ 1794/2556 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า การจะบังคับให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้องสอดตกเป็นพ้นวิสัย หากผู้ร้องสอดประสงค์จะดำเนินการบังคับคดีต่อไป ต้องเรียกให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติการชำระหนี้ในลำดับถัดไป คือ การเรียกคืนเงินมัดจำและชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เมื่อศาลฎีกายังไม่ได้มีคำพิพากษาเปลี่ยนแปลง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมผูกพันโจทก์ จำเลยทั้งสองและผู้ร้องสอด ซึ่งเป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาล จึงต้องฟังเป็นยุติว่าการที่จำเลยทั้งสองปฏิบัติการชำระหนี้ด้วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1083 และ 1084 รวมเนื้อที่ 51 ไร่ 3 งาน 29 ตารางวา ให้แก่ผู้ร้องสอด ย่อมตกเป็นพ้นวิสัย ประเด็นดังกล่าวในคดีนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 วรรคแรก เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์ไม่ได้ยกขึ้นกล่าวไว้ในศาลล่างทั้งสอง โจทก์ก็มีสิทธิยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง (เดิม) ในชั้นบังคับคดีของคดีก่อนมีประเด็นว่า ผู้ร้องสอดมีสิทธิบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาได้เพียงใด ส่วนคดีนี้มีประเด็นว่า จำเลยทั้งสองต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินหรือไม่ เป็นคนละประเด็นกัน คู่ความทั้งสองคดีก็ไม่ใช่รายเดียวกัน โดยโจทก์ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และผู้ร้องสอดประการต่อไปว่า จำเลยทั้งสองต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1083 และ 1084 เนื้อที่รวม 44 ไร่เศษ โดยที่ดินแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ที่ดินตามสัญญาข้อ 2.1.1 คือ ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1084 มีด้านหน้าติดถนนนวลจันทร์ โดยหน้ากว้างของที่ดินนับต่อจากแนวเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 1083 มีหน้ากว้าง 53 เมตร และความยาวให้วัดไปทางด้านทิศใต้ โดยให้วัดได้เนื้อที่รวม 12 ไร่ และที่ดินตามสัญญาข้อ 2.1.2 คือ ที่ดินส่วนที่เหลือของโฉนดที่ดินเลขที่ 1084 และที่ดินทั้งหมดของโฉนดเลขที่ 1083 เนื้อที่ดินรวม 32 ไร่เศษ ต่อมาโจทก์ได้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 1084 เนื้อที่ 12 ไร่ แล้ว คงเหลือที่ดินอีก 32 ไร่เศษ ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งสองได้ทำบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน โดยบันทึกดังกล่าว ข้อ 2.1 ระบุว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองต่างทราบดีอยู่แล้วว่าที่ดินส่วนที่เหลือ 32 ไร่เศษ อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ในคดีหมายเลขดำที่ 5263/2544 หมายเลขแดงที่ 1794/2546 ของศาลชั้นต้น ระหว่างผู้ร้องสอดกับจำเลยทั้งสอง โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงว่าเมื่อคดีนี้ถึงที่สุดแล้ว จำเลยทั้งสองจะไปทำการโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ โดยจำเลยทั้งสองจะแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ข้อ 5.1 (ไม่น้อยกว่า 90 วัน) ข้อ 2.3 ระบุว่า หากคดีถึงที่สุดแล้ว ปรากฏว่าผู้ร้องสอดเป็นฝ่ายชนะคดี อันจะทำให้การโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายเป็นพ้นวิสัย โจทก์ยินยอมรับเงินค่ามัดจำตามสัญญาและตามบันทึกฉบับนี้คืน โดยไม่คิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสอง ดังนั้น เมื่อในคดีหมายเลขดำที่ 5263/2544 หมายเลขแดงที่ 1794/2546 ของศาลชั้นต้น ศาลฎีกาได้พิพากษาให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเนื้อที่ 51 ไร่ 2 งาน 29 ตารางวา ให้แก่ผู้ร้องสอด จึงถือว่าผู้ร้องสอดชนะคดี แม้ที่ดินจะเหลือเพียง 32 ไร่เศษ ก็มิใช่กรณีที่ทำให้การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเสียทั้งหมดตามข้ออ้างของโจทก์ อีกทั้งยังได้ความว่าผู้ร้องสอดได้ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1083 และ 1084 เนื้อที่ 18 ไร่ 2 งาน 34 ตารางวา ระหว่างจำเลยทั้งสองกับนางสาวสิริลักษณ์ ตามคดีหมายเลขดำที่ 3115/2545 ของศาลชั้นต้น จึงยังฟังไม่ได้ว่าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเสียทั้งหมด ถือได้ว่าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยแต่เพียงบางส่วน เมื่อที่ดินส่วนที่ยังเหลือ 32 ไร่เศษ ยังเป็นประโยชน์แก่ผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดย่อมมีสิทธิที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาในส่วนที่เหลือดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 218 วรรคสอง เมื่อที่ดินพิพาทในคดีนี้เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว และตามบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ข้อ 2.3 ระบุว่า หากคดีถึงที่สุดผู้ร้องสอดเป็นผู้ชนะคดี อันจะทำให้การโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายเป็นพ้นวิสัย โจทก์ยินยอมรับเงินมัดจำตามสัญญาและตามบันทึกคืนโดยไม่คิดดอกเบี้ย โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 1083 เนื้อที่ 13 ไร่ 1 งาน 37 ตารางวา และโฉนดเลขที่ 1084 เนื้อที่ 19 ไร่ 1 งาน 91 ตารางวา ให้แก่โจทก์ตามฟ้องได้ โจทก์คงมีสิทธิเพียงรับเงินมัดจำคืนโดยไม่คิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองตามข้อ 2.3 ของบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำขอให้จำเลยทั้งสองโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการต่อไปว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยทั้งสองมีหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองไม่โอนโดยบอกเลิกสัญญา จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาดังวินิจฉัยข้างต้น จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าปรับแก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ข้อ 9.1 เป็นเงิน 81,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนที่ยกอุทธรณ์ของผู้ร้องสอด คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 200 บาท แก่ผู้ร้องสอด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share