คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 42/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนซึ่งเป็นคดีขอจัดการมรดกของผู้ตายมีประเด็นว่า โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้คัดค้านมีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลหรือไม่ มีเหตุที่จะต้องตั้งผู้จัดการมรดกหรือไม่ จำเลยและโจทก์ที่ 2 ต้องห้ามเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ และสมควรตั้งจำเลยหรือโจทก์ที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเท่านั้น ไม่มีประเด็นว่าโจทก์ที่ 2 เป็นทายาทผู้ตายและ ก. เป็นบุตรที่แท้จริงของผู้ตายหรือไม่ คดีก่อนกับคดีนี้ จึงมีประเด็นต่างกัน แม้ในคดีก่อนศาลชั้นต้นจะฟังว่าโจทก์ที่ 2 เป็นพี่น้องเดียวกันกับผู้ตาย เป็นทายาทลำดับที่ 3 ไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย และตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นประเด็นที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้วในคดีก่อนและผูกพันโจทก์ที่ 2 และจำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง จึงไม่อาจนำผลของคำวินิจฉัยดังกล่าวมาผูกพันโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ และถือไม่ได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วว่า ก. เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์และฎีกาคัดค้านกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งงดสืบพยาน โดยมีคำขอเพียง ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานแล้วมีคำพิพากษาใหม่ มิได้มีคำขอให้โจทก์ทั้งสองชนะคดีตามฟ้อง จึงเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และฎีกาเพียงชั้นละ 200 บาท ตามตาราง 1 ค่าฤชาธรรมเนียม (2) ท้าย ป.วิ.พ.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์อาคารโรงเรือนบ้านพักอาศัยครึ่งตึกครึ่งไม้สองชั้นเลขที่ 846/23 ให้กลับคืนสู่กองมรดกของผู้ตายเพื่อแบ่งปันให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกทุกคน โดยให้จำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
วันนัดพิจารณา โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้มีการตรวจพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอระหว่างจำเลยกับนายกิตติชนม์และโจทก์ทั้งสองหรือแพทย์หญิงทิพย์วรรณ ซึ่งเป็นพี่น้องบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย เพื่อพิสูจน์ความเป็นบุตรที่แท้จริงของนายกิตติชนม์โดยให้ถือเอาผลการตรวจดังกล่าวเป็นผลแพ้ชนะในคดี หากผลการตรวจดังกล่าวออกมาตรงกัน ให้ถือว่าจำเลยชนะคดี ส่วนจำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การอ้างว่าไม่ได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นสอบถามคู่ความทั้งสองฝ่ายได้ความว่า คู่ความมีคดีพิพาทกันเกี่ยวกับมรดกของผู้ตายรวมคดีนี้ 4 คดี เป็นคดีแพ่ง 3 คดี และคดีอาญา 1 คดี โดยเป็นคดีร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และคดีฟ้องเพิกถอนขับไล่ จำเลยชนะคดีในชั้นอุทธรณ์และอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ส่วนคดีอาญาฐานแจ้งความเท็จ และแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ อยู่ระหว่างไต่สวนมูลฟ้อง ศาลชั้นต้นเห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและเอกสารท้ายคำฟ้อง ซึ่งเป็นคดีเกี่ยวกับการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายที่ปรากฏรายละเอียดแห่งคำวินิจฉัยไว้ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการสอบถามคู่ความเพียงพอที่จะวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้แล้วจึงมีคำสั่งยกคำร้องขอให้ตรวจสารพันธุกรรมของโจทก์ทั้งสองและคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การของจำเลย งดสืบพยานแล้ว พิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยาน และมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองโดยฟังว่าคดีก่อนซึ่งเป็นคดีของศาลจังหวัดตลิ่งชัน จำเลยคดีนี้เป็นผู้ร้องยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ตาย โจทก์ที่ 2 คดีนี้ยื่นคำคัดค้าน ศาลจังหวัดตลิ่งชันวินิจฉัยว่า ผู้ร้องและนายกิตติชนม์ บุตรของผู้ตายเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกลำดับที่ 1 ผู้คัดค้านเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ตาย เป็นทายาทลำดับที่ 3 ไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย คำพิพากษาของศาลจังหวัดตลิ่งชันผูกพันคู่ความ ฟ้องของโจทก์ทั้งสองขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมานั้น ชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามสำเนาคำพิพากษาของศาลจังหวัดตลิ่งชัน และสำเนาคำสั่งศาลฎีกาท้ายคำแก้ฎีกาของจำเลย ปรากฏว่าในคดีขอจัดการมรดกของผู้ตายผู้ร้อง (จำเลยคดีนี้) ยื่นคำร้องว่าเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายมีบุตร 1 คน คือ นายกิตติชนม์ ผู้ร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ส่วนผู้คัดค้าน (โจทก์ที่ 2 คดีนี้) ยื่นคำคัดค้านว่าผู้คัดค้านมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายโดยถือกรรมสิทธิ์รวมและในนามผู้ตาย ผู้ร้องไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเพราะผู้ร้องกับบุตรมิได้ดูแลผู้ตาย ขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย คดีดังกล่าวจึงมีประเด็นว่าผู้คัดค้านมีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลหรือไม่ มีเหตุที่จะต้องตั้งผู้จัดการมรดกหรือไม่ ผู้ร้องและผู้คัดค้านต้องห้ามเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ และสมควรตั้งผู้ร้องหรือผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเท่านั้น ไม่มีประเด็นว่าผู้คัดค้านเป็นทายาทผู้ตายและนายกิตติชนม์เป็นบุตรที่แท้จริงของผู้ตายหรือไม่ ตามที่โจทก์ตั้งเป็นประเด็นในคดีนี้ จึงมีประเด็นต่างกัน แม้ในคดีก่อนศาลชั้นต้นจะฟังว่าผู้คัดค้านเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย เป็นทายาทลำดับที่ 3 ไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นประเด็นที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้วในคดีก่อนและผูกพันโจทก์ที่ 2 และจำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด จึงไม่อาจนำผลของคำวินิจฉัยดังกล่าวมาผูกพันโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ได้ และถือไม่ได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วว่า นายกิตติชนม์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นไม่พิจารณาสั่งคำร้องของโจทก์ทั้งสองที่ขอท้าตรวจพันธุกรรมและคำร้องของจำเลยที่ขออนุญาตยื่นคำให้การ และงดสืบพยาน แล้วมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาเหตุผลอื่นของโจทก์ทั้งสอง เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
อนึ่ง โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์และฎีกาคัดค้านกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งงดสืบพยาน โดยมีคำขอเพียงให้ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกามีคำพิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานแล้วมีคำพิพากษาใหม่ มิได้มีคำขอให้โจทก์ทั้งสองชนะคดี ตามฟ้อง จึงเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และฎีกาเพียงชั้นละ 200 บาท ตามตาราง 1 ค่าฤชาธรรมเนียม (2) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินมาแก่โจทก์ทั้งสองปัญหาข้อนี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 (เดิม)
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องของโจทก์ทั้งสองและของจำเลยแล้วดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานต่อไป แล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลนอกจากที่สั่งคืนให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่

Share