คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5282/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มูลกรณีที่โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นผลสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 เด็ดขาด และโจทก์จำต้องยื่นขอรับชำระหนี้ตามฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 1 ในคดีล้มละลายเพื่อรักษาสิทธิของตนตามกฎหมายล้มละลาย หาใช่กรณีโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีเอาแก่จำเลยที่ 1 หรือเป็นการฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลผู้มีอำนาจควบคุมการดำเนินงานของนิติบุคคลให้รับผิดชำระหนี้ที่นิติบุคคลมีต่อผู้บริโภคโดยไม่ได้ฟ้องบังคับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลให้รับผิดแต่อย่างใด ดังนั้น การที่โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ในเหตุดังกล่าวจึงหาทำให้สิทธิในการดำเนินคดีเพื่อบังคับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดในมูลคดีตามฟ้องต้องถูกลบล้างไปเพราะการถอนฟ้องไม่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จึงยังคงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามฟ้อง ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 44

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าซ่อมแซมถนนเป็นเงิน 2,478,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรธนาพัฒน์เฮ้าส์ สาทร – นราธิวาส (โซน E) และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 เพื่อขอรับชำระหนี้ในคดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต และจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบธุรกิจก่อสร้างทาวเฮาส์จัดสรรขายพร้อมที่ดินโครงการธนาพัฒน์เฮาส์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 จนถึงวันที่ 27 กรกฎาคม 2554 (โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 25 สิงหาคม 2557) โจทก์เป็นผู้ซื้อทาวเฮาส์โครงการข้างต้นจากจำเลยที่ 1 จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2551 ภายหลังจากนั้นโจทก์พบว่าถนนสายหลักและถนนซอยอีก 3 ซอย รวม 5 สาย ซึ่งเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กชำรุดแตกร้าวร้อยละ 90 โจทก์กับผู้ซื้อบ้านประมาณ 30 ราย แจ้งให้จำเลยที่ 1 ซ่อมแซมแก้ไข จำเลยที่ 1 ซ่อมแซมแก้ไขแล้ว แต่ยังคงชำรุดแตกร้าว ต่อมาวันที่ 12 เมษายน 2554 มีการจดทะเบียนตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรธนาพัฒน์เฮ้าส์ สาทร – นราธิวาส (โซน E) นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรดังกล่าวจึงบอกกล่าวแจ้งให้จำเลยที่ 1 ซ่อมแซมแก้ไขความชำรุดบกพร่อง จำเลยที่ 1 ซ่อมแซมแก้ไขแต่โจทก์อ้างว่ายังคงมีความชำรุดบกพร่อง และอ้างว่านิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรธนาพัฒน์เฮ้าส์ สาทร – นราธิวาส (โซน E) เพิกเฉย โจทก์จึงฟ้องบังคับจำเลยทั้งสามให้ร่วมกันชดใช้ค่าซ่อมแซมความเสียหายของถนนทั้งห้าสายเป็นเงิน 2,478,000 บาท และชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในเหตุไม่ได้ใช้ถนนคอนกรีตเสริมเหล็กในสภาพเรียบร้อย 500,000 บาท แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ปฏิเสธความรับผิด และระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 เด็ดขาด เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 เพื่อไปขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า เมื่อโจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 เพื่อขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ยังต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 44 บัญญัติว่า ในคดีที่ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งถูกฟ้องเป็นนิติบุคคล หากข้อเท็จจริงปรากฏว่านิติบุคคลดังกล่าวถูกจัดตั้งขึ้นหรือดำเนินการโดยไม่สุจริต หรือมีพฤติการณ์ฉ้อฉลหลอกลวงผู้บริโภค … และทรัพย์สินของนิติบุคคลมีไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ตามฟ้อง เมื่อคู่ความร้องขอหรือศาลเห็นสมควร ให้ศาลมีอำนาจเรียกหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้นหรือบุคคลที่มีอำนาจควบคุมการดำเนินการของนิติบุคคล … เข้ามาเป็นจำเลยร่วม และให้มีอำนาจพิพากษาให้บุคคลเช่นว่านั้น ร่วมรับผิดชอบในหนี้ที่นิติบุคคลมีต่อผู้บริโภคได้ด้วย … และปรากฏข้อเท็จจริงว่าภายหลังโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้อง ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 และจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ไปแล้วก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็ปรากฏจากทางพิจารณาว่า มูลกรณีที่โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นผลสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 เด็ดขาดและโจทก์จำต้องยื่นขอรับชำระหนี้ตามฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 1 ในคดีล้มละลายเพื่อรักษาสิทธิของตนตามที่พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 และ 91 บัญญัติกำหนดไว้ หาใช่กรณีโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีเอาแก่จำเลยที่ 1 หรือเป็นการฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลผู้มีอำนาจควบคุมการดำเนินงานของนิติบุคคลให้รับผิดชำระหนี้ที่นิติบุคคลมีต่อผู้บริโภคโดยไม่ได้ฟ้องบังคับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลให้รับผิดแต่อย่างใด ดังนั้น การที่โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ในเหตุดังกล่าวจึงหาทำให้สิทธิในการดำเนินคดีเพื่อบังคับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดในมูลคดีตามฟ้องต้องถูกลบล้างไปเพราะการถอนฟ้องไม่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จึงยังคงต้องร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ในเหตุดังกล่าวไปแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังต้องผูกพันรับผิดตามฟ้องต่อโจทก์ ซึ่งชอบที่จะยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาใหม่ตามรูปคดีก็ตาม แต่เมื่อคู่ความได้นำสืบพยานหลักฐานจนเสร็จสิ้นแล้ว และเพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปโดยรวดเร็ว ศาลฎีกาจึงเห็นควรพิจารณาพิพากษาประเด็นที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมกันรับผิดตามฟ้องต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 44 เป็นบทบัญญัติพิเศษที่กำหนดให้ผู้เป็นหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้นหรือบุคคลที่มีอำนาจควบคุมการดำเนินงานของนิติบุคคลร่วมรับผิดชอบในหนี้ที่นิติบุคคลมีต่อผู้บริโภค แต่ความรับผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่านิติบุคคลที่ถูกฟ้องถูกจัดตั้งขึ้นหรือดำเนินการโดยไม่สุจริต หรือมีพฤติการณ์ฉ้อฉลหลอกลวงผู้บริโภค … และทรัพย์สินของนิติบุคคลมีไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ตามฟ้อง เมื่อปรากฏว่าข้ออ้างของโจทก์ที่ว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาซื้อขายบ้านเป็นการดำเนินธุรกิจโดยไม่สุจริต เป็นกรณีเพียงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ซ่อมแซมรอยแตกร้าวของถนนภายในหมู่บ้านตามวิธีการที่โจทก์ต้องการ หาใช่การดำเนินธุรกิจในลักษณะฉ้อฉลหรือตั้งขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจโดยไม่สุจริต และเมื่อความชำรุดเสียหายของถนนตามที่โจทก์เบิกความกล่าวอ้าง เป็นเพียงถนนที่มีรอยแตกร้าวไม่สวยงาม หาใช่ความชำรุดเสียหายในลักษณะทรุดตัวหรือแตกหักจนไม่อยู่ในสภาพใช้งานได้ และนายวิชัย พยานโจทก์ซึ่งอ้างว่ารอยแตกร้าวของพื้นคอนกรีตแตกทะลุถึงพื้นดินก็มีความเกี่ยวพันเป็นเพื่อนกับโจทก์ และยอมรับว่าข้อดังกล่าวเป็นเพียงการคาดหมายจากการมองด้วยสายตามิได้ทำการตรวจพิสูจน์ตามหลักการทางวิศวกรรม ซึ่งเมื่อนำมารับฟังประกอบข้อเท็จจริงที่ได้ความจากคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ที่ว่า ภายหลังโจทก์บอกกล่าวแจ้งให้จำเลยที่ 1 ซ่อมแซมความเสียหาย จำเลยที่ 1 ได้ทำการซ่อมแซมรอยแตกร้าวของถนนตามที่โจทก์บอกกล่าว แต่โจทก์ยังคงอ้างว่าถนนมีรอยแตกร้าว ทั้งเมื่อนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรธนาพัฒน์เฮ้าส์ สาทร – นราธิวาส (โซน E) แจ้งให้จำเลยที่ 1 ซ่อมแซมแก้ไข จำเลยที่ 1 ก็ทำการซ่อมแซมรอยแตกร้าวของถนน ส่งมอบให้นิติบุคคลดังกล่าวตรวจรับมอบไว้โดยไม่ได้โต้แย้ง และที่ประชุมวิสามัญลงมติไม่ดำเนินคดีต่อจำเลยที่ 1 นอกจากนั้นจำเลยที่ 1 ยังเสนอที่จะปูยางแอสฟัลต์ทับผิวถนนคอนกรีตดังกล่าว โดยโจทก์ตกลงยินยอมด้วย แต่สมาชิกบางรายคัดค้านจึงยังไม่ได้ดำเนินการ ซึ่งนับเป็นข้อเท็จจริงที่ส่อแสดงว่าจำเลยที่ 1 มิได้ละเลยหรือเพิกเฉยไม่นำพาต่อหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจหมู่บ้านจัดสรร กรณีจึงไม่อาจรับฟังว่าจำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจหรือดำเนินการโดยไม่สุจริต
สำหรับข้ออุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งมีส่วนได้เสียในผลกำไรของจำเลยที่ 1 ได้ยักย้ายถ่ายเทเงินของจำเลยที่ 1 ในลักษณะเงินยืมให้เป็นประโยชน์แก่บริษัทธนาพัฒน์พร็อพเพอร์ตี้ ดิเวลล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ผู้ถือหุ้นใหญ่ของจำเลยที่ 1 กับบริษัทธนาพัฒน์ เรียลเอสเตท จำกัด เพื่อให้ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 มีไม่เพียงพอชำระหนี้แก่โจทก์นั้น เห็นว่า เป็นข้อที่โจทก์เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์โดยไม่ได้กล่าวในฟ้องตั้งประเด็นไว้ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันแล้วมาโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 ย่อมไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย และเมื่อข้อเท็จจริงไม่อาจรับฟังว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลดำเนินธุรกิจโดยไม่สุจริตแล้ว โจทก์จึงหาอาจขอให้บังคับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันรับผิดตามฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามาจึงชอบแล้ว ข้ออ้างโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share