คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3688/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หากเจ้าของเดิมอุทิศที่ดินให้แก่วัดโจทก์และที่ดินตกเป็นที่ธรณีสงฆ์ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง การโอนที่ธรณีสงฆ์จะต้องทำตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 คือ โอนโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา แม้ที่ดินจะได้มีการโอนต่อกันมาหลายทอดจนถึงจำเลยทั้งสอง เมื่อการโอนมิได้ทำตามกฎหมายจึงเป็นการโอนที่ต้องห้ามชัดแจ้ง ย่อมเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งมีชื่อเป็นเจ้าของโฉนดพิพาท และขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยทั้งสองครอบครองอยู่ได้ โดยหาจำต้องฟ้องเจ้าของเดิมและผู้รับโอนคนก่อนจำเลยทั้งสองไม่ ฟ้องโจทก์ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนชื่อจำเลยทั้งสองออกจากโฉนดเลขที่ ๙๗๗ ตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองชลบุรี (เมือง) จังหวัดชลบุรี ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินและการครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวแก่โจทก์ กับให้ขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์และห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินอีกต่อไป
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดพิพาทเนื้อที่ ๑ ไร่ ๑ งาน ๓๕ ตารางวา และครอบครองอยู่จริง เดิมที่ดินโฉนดพิพาทมีเนื้อที่ ๑๕ ไร่ ๒ งาน ๒๖ ตารางวา เป็นของนายบุญคง ไชยวงศ์ และนางวาด วรรัตน์ บุคคลทั้งสองไม่เคยตกลงยกหรืออุทิศที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ และไม่เคยส่งมอบการครอบครองแก่โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โดยจำเลยที่ ๑ รับซื้อฝากจากนางสำเภา จิตรจรูญ แล้วนำมาขายต่อให้แก่จำเลยที่ ๒ ครึ่งหนึ่ง จำเลยทั้งสองจึงมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน โจทก์ทราบถึงการได้มา การครอบครอง และการจัดสรรที่ดินโฉนดพิพาทของจำเลยทั้งสองมานานกว่า ๑๐ ปีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อแรกของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองโดยไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๕ หรือไม่ พิเคราะห์แล้วโจทก์ฟ้องอ้างว่าเดิมที่ดินโฉนดพิพาทเลขที่ ๙๗๗ ตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองชลบุรี (เมือง) จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ประมาณ ๑๙ ไร่ ๑ งาน ๘ ตารางวา เป็นของนายบุญชู ไชยวงศ์ และนางวาดหรือหวาด วรรัตน์ เมื่อปี ๒๔๙๙ นายบุญชูและนางวาดอุทิศที่ดินตามโฉนดดังกล่าวให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทวัดในพระพุทธศาสนา มีผลทำให้ที่ดินดังกล่าวตกเป็นที่ธรณีสงฆ์ ต่อมาผู้มีชื่อเป็นเจ้าของในโฉนดได้โอนต่อกันอีกหลายทอดจนถึงจำเลยทั้งสอง โดยผู้รับโอนทุกทอดทราบดีว่าได้มีการอุทิศที่ดินให้แก่โจทก์แล้ว ปี ๒๕๑๐ จำเลยทั้งสองแบ่งแยกที่ดินเป็นแปลงย่อยอีก ๑๐๘ แปลง คงเหลือเนื้อที่ดินในโฉนดพิพาทประมาณ ๑ ไร่ ๑ งาน ๓๕ ตารางวา ซึ่งจำเลยทั้งสองมีชื่อถือกรรมสิทธิ์และครอบครองอยู่จึงเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนชื่อจำเลยทั้งสองออกจากโฉนดพิพาทและขับไล่ออกจากที่ดินพิพาท เห็นว่า หากเจ้าของเดิมในที่ดินตามโฉนดพิพาทอุทิศที่ดินตามโฉนดดังกล่าวให้แก่โจทก์และที่ดินตกเป็นที่ธรณีสงฆ์ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง การโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์จะต้องกระทำตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๓๔ คือ โอนกรรมสิทธิ์โดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา แม้ที่ดินดังกล่าวจะได้มีการทำนิติกรรมและจดทะเบียนโอนต่อกันมาหลายทอดจนถึงจำเลยทั้งสอง แต่เมื่อการโอนดังกล่าวมิได้กระทำตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๓๔ จึงเป็นการโอนที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งมีชื่อเป็นเจ้าของโฉนดพิพาทและขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยทั้งสองครอบครองอยู่ได้ โดยหาจำต้องฟ้องเจ้าของเดิมและผู้รับโอนคนก่อนจำเลยทั้งสองไม่ กรณีไม่ต้องห้ามตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๕ ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ วินิจฉัย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ให้ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ วินิจฉัยตามประเด็นที่โจทก์อุทธรณ์แล้วพิพากษาใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่.

Share