คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11337/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยเบิกความเท็จสองครั้งในคดีเดียวกันคือชั้นไต่สวนมูลฟ้องครั้งหนึ่งกับชั้นพิจารณาอีกครั้งหนึ่งเป็นเพียงการนำสาระสำคัญของข้อความในเรื่องเดียวกันมูลเหตุเดียวกันมากล่าวซ้ำตามครรลองของเรื่องโดยมีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผลอย่างเดียวคือให้โจทก์ต้องรับโทษทางอาญาในคดีนั้นเท่านั้น แม้จะเป็นการเบิกความคนละคราวคนละวาระกัน การกระทำของจำเลยก็เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 91, 175, 177 วรรคแรก, 177 วรรคสอง และนับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4189/2548 ของศาลชั้นต้น และ 3935/2549 ของศาลอาญาธนบุรี
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175, 177 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฟ้องเท็จว่ากระทำความผิดอาญา จำคุก 6 เดือน และปรับ 6,000 บาท ฐานเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีอาญา จำคุกกระทงละ 1 ปี และปรับ 10,000 บาท รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 2 ปี และปรับ 20,000 บาท รวมเป็นจำคุก 2 ปี 6 เดือน และปรับ 26,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานฟ้องเท็จว่ากระทำความผิดอาญาจำคุก 6 เดือน ฐานเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีอาญา จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสามแล้ว คงจำคุก 1 ปี ไม่ลงโทษปรับและไม่รอการลงโทษ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2553 ต่อมาวันที่ 16 กรกฎาคม 2553 ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายในข้อ 2.1 และสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์ในปัญหาข้อเท็จจริงในข้อ 2.2 ซึ่งโจทก์อาจฎีกาเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 224 แต่ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบ ซึ่งเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ แต่เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 40,000 บาท และศาลอุทธรณ์ภาค 7 ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงแรก 4 เดือน และกระทงที่สอง 8 เดือน โดยไม่รอการลงโทษจำคุก แม้เป็นการแก้ไขมาก แต่ก็ยังคงลงโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี คดีจึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 โจทก์ฎีกาในข้อที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับว่า ขอให้ไม่ลดโทษให้จำเลย เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 7 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์และเมื่อฎีกาของโจทก์ดังกล่าวต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามที่วินิจฉัยมาแล้ว จึงไม่เป็นการจำเป็นที่ศาลฎีกาจะสั่งให้ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อแจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาให้โจทก์ทราบแต่อย่างใด และคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานฟ้องเท็จว่ากระทำความผิดอาญา และฐานเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีอาญา โดยวินิจฉัยว่า จำเลยซึ่งเป็นนายทะเบียนของบริษัทธุรกิจเพื่อการเกษตร จำกัด มีหน้าที่เก็บรักษาสรรพเอกสารต่าง ๆ ของบริษัทรวมทั้งรายงานการประชุมของบริษัท รู้ข้อเท็จจริงอยู่แล้วว่า เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2543 มีการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทเรื่องการลาออกของนายรุ่งเรือง แล้วจะเป็นการประชุมครั้งที่เท่าใดไม่ใช่สาระสำคัญ แต่กลับนำความอันเป็นเท็จฟ้องโจทก์และนายรุ่งเรืองต่อศาลเป็นคดีอาญาว่า โจทก์และนายรุ่งเรืองร่วมกันยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นครั้งที่ 4/2543 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2543 เป็นเท็จ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2543 บริษัทมิได้จัดให้มีการประชุม ทั้งกรรมการบริษัทก็ไม่เคยเรียกประชุม และเบิกความอันเป็นเท็จดังกล่าวต่อศาลในชั้นไต่สวนมูลฟ้องและชั้นพิจารณาในคดีอาญา จำเลยมิได้อุทธรณ์ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติว่า ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2543 มีการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทธุรกิจเพื่อการเกษตร จำกัด และที่ประชุมได้พูดถึงเรื่องการลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทของนายรุ่งเรืองแล้ว แต่จำเลยเจตนานำความเท็จมาฟ้องและเบิกความต่อศาล ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยฟ้องคดีโดยสุจริต มิได้เจตนานำความเท็จมาฟ้องต่อศาลเพื่อให้ผู้ใดต้องได้รับโทษ ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 3/2543 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2543 ยังมิได้พิจารณาเรื่องของนายรุ่งเรืองนั้น จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่จำเลยเบิกความเท็จในชั้นไต่สวนมูลฟ้องกับชั้นพิจารณาเป็นความผิดสองกรรมต่างกันหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จุดประสงค์ของกฎหมายอาญามุ่งหมายลงโทษผู้กระทำความผิดทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แม้จะมีเจตนาเดียวกันก็ตาม จำเลยเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีอาญาในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นความผิดสำเร็จแล้ว ต่อมาจำเลยเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีอาญาในชั้นสืบพยานอีกครั้งหนึ่ง แต่ละกรรมเป็นความผิดสำเร็จแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาดแล้ว จึงเป็นความผิดหลายกรรมนั้น เห็นว่า การที่จำเลยเบิกความเท็จสองครั้งในคดีเดียวกันคือชั้นไต่สวนมูลฟ้องครั้งหนึ่งกับชั้นพิจารณาอีกครั้งหนึ่งเป็นเพียงการนำสาระสำคัญของข้อความในเรื่องเดียวกัน มูลเหตุอันเดียวกันมากล่าวซ้ำตามครรลองของเรื่องโดยมีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผลอย่างเดียวคือให้โจทก์ต้องรับโทษทางอาญาในคดีนั้นเท่านั้น แม้จะเป็นการเบิกความคนละคราวคนละวาระกัน การกระทำของจำเลยก็เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า มีเหตุรอการลงโทษจำคุกหรือรอการกำหนดโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยนำความเท็จมาฟ้องโจทก์และเบิกความเท็จนั้น มิเพียงทำให้โจทก์อาจต้องรับโทษทางอาญา แต่ยังทำให้การรับฟังข้อเท็จจริงในคดีของศาลผิดไปจากความจริงมีผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลยุติธรรมมากด้วย พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องที่ร้ายแรง แม้จะเป็นเรื่องความขัดแย้งภายในบริษัท จำเลยมิได้รับผลประโยชน์ในการกระทำดังกล่าวและไม่ส่งผลกระทบต่อบุคคลภายนอกดังที่จำเลยฎีกา ก็ยังไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกหรือรอการกำหนดโทษให้แก่จำเลย ส่วนที่จำเลยยื่นคำร้องอ้างว่ามีข้อเท็จจริงใหม่ที่ศาลฎีกาสมควรนำมาประกอบการพิจารณาพิพากษา และศาลชั้นต้นรับรวมพร้อมทั้งส่งสำนวนคืนศาลฎีกา โดยไม่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้คู่ความฟังนั้น ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ไม่เป็นสาระแห่งคดีที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงจึงไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน

Share